"...เป็นที่น่าสังเกตว่า งบที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรลดลงในปีงบ 2564 นั้น เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี แต่ลดลงน้อยมาก คือ ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับปีงบ 2553 (ต.ค.2552-ก.ย.2553) ที่เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก ซึ่งมีการปรับลดงบของกระทรวงกลาโหมลง 9.1%..."
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงไทย!
ส่งผลให้สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งออกมาประเมินว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/2563 และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะหดตัว 0.5-0.8%
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลทยอยออกชุดมาตรการต่างๆ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่กำลังบ่ายหน้าเข้าสู่วิกฤติรอบใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 1 แสนล้านบาท ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดความผันผวนของตลาดเงินในประเทศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า งบประมาณปี 2564 มีกรอบวงเงินที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณ 5.23 แสนล้านบาท
แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.504 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.008 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.2% คิดเป็นสัดส่วน 75.9% วงเงินงบประมาณ และรายจ่ายลงทุน 6.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.19 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1% คิดเป็นสัดส่วน 21.1% วงเงินงบประมาณ
ขณะที่รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้อยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,829 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% คิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณ
เมื่อพิจารณารายละเอียดการจัดสรรงบให้กับกระทรวงและส่วนราชการต่างๆ พบว่า มีการจัดสรรงบกลางไว้สูงถึง 5.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.55 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน หรือเพิ่มขึ้น 10.7%
ส่วนกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ 3.61 แสนล้านบาท ลดลง 6,663 ล้านบาท หรือลดลง 1.8%
อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย 3.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.53 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.9%
อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 2.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.01 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1%
อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 2.31 แสนล้านบาท ลดลง 168 ล้านบาท หรือลดลง 0.1%
อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม 1.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.89 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.7%
ที่มา : มติครม.วันที่ 17 มี.ค.2563
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า งบที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรลดลงในปีงบ 2564 นั้น เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี แต่ลดลงน้อยมาก คือ ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับปีงบ 2553 (ต.ค.2552-ก.ย.2553) ที่เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก ซึ่งมีการปรับลดงบของกระทรวงกลาโหมลง 9.1% หรือลดจาก 1.701 แสนล้านบาท ในปีงบ 2552 เหลือ 1.54 แสนล้านบาท ในปีงบ 2553
ในขณะที่การจัดสรรงบกลางยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยเพิ่มจากระดับ 4.329 แสนล้าน ในปีงบ 2561 เป็น 5.742 แสนล้านบาท ในปีงบ 2564 เช่นเดียวกับงบกระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเพิ่มจากระดับ 7 หมื่นล้านบาท ในปีงบ 2552 เป็น 1.95 แสนล้านบาท ในปีงบ 2564 หรือเพิ่มขึ้น 178%
นอกจากนี้ การจัดสรรงบปี 2564 ตามแผนบูรณาการ 2.61 แสนล้านบาท จะพบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบตามแผนบูรณาพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ โดยมีการจัดสรรงบให้สูงถึง 1.09 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6.68 หมื่นล้านบาท และแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2.29 หมื่นล้านบาท
แต่ในส่วนของงบตามแผนบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น พบว่าได้รับจัดสรรงบน้อยที่สุดเพียง 758 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่งบบูรณาสำหรับเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุได้รับจัดสรรที่ 1,030 ล้านบาท
ที่มา : มติครม.วันที่ 17 มี.ค.2563
อย่างไรก็ตาม ครม.ได้มีมติให้ทุกส่วนราชการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณปี 2564 ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายสำคัญของรัฐบาล และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่สำคัญการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ระบาดในหลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และยาวนาน
“เพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนของแต่ละกระทรวงให้อยู่ในระดับที่ครม.เห็นชอบไว้ในภาพรวม ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และการปรับปรุงงบประมาณไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพันงบประมาณในปีต่อๆไป” มติครม.ระบุ
ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ สำนักงบประมาณจะเสนอรายละเอียดการปรับปรุงงบประมาณปี 2564 กลับไปให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง จึงต้องติดตามว่าจะมีการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19
อ่านประกอบ :
ชำแหละงบผูกพันปี 63 ‘รบ.บิ๊กตู่’ ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ-เครื่องบินฝึก 14 ลำ 3 หมื่น
เติม 'สภาพคล่อง' หล่อเลี้ยงธุรกิจ ก่อนอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง 'ไวรัส' สงบ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage