"...ในกรณีของจีน จีนเน้นการควบคุมโรคก่อน แต่ระหว่างนี้เขาอัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจอย่างเพียงพอ พอควบคุมไวรัสได้แล้ว เขาจึงมีมาตรการเข้าไปกระตุ้นออกมา ซึ่งไทยเอง ถ้าวันนี้เราไปกระตุ้นอิมแพคก็ไม่เยอะ เพราะคนไม่มีอารมณ์ที่จะไปใช้จ่าย นั่งอยู่บ้านกันหมด..."
นับเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อตั้งรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มสูบ
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1.00% มาอยู่ที่ระดับ 0.00-0.25% จากเดิม 1.00-1.25% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 มี.ค. หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้เรียกประชุมฉุกเฉินและมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.5%
เฟดยังประกาศเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ หวังลดแรงกระแทกของไวรัสโควิด-19 ที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมๆกับเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินการธนาคาร โดยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นสำหรับสถาบันการเงินลงอีก 1.25% เหลือ 0.25%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเฟดมีการประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง 2 ครา ในห้วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ลงสู่ระดับ 0.00-0.25% แต่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มีการเรียกประชุม กนง. นัดฉุกเฉินแต่อย่างใด โดยกำหนดการประชุมกนง.ครั้งหน้ายังคงเดิม คือ วันที่ 25 มี.ค.นี้
“การดำเนินการของเฟด สะท้อนความกังวลต่อสถานการณ์ในตลาดเงินของสหรัฐ ซึ่งจะต้องติดตามการตอบรับของตลาด และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป” จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. เผยกับผู้สื่อข่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งต่างคาดการณ์ว่า การประชุม กนง.ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-0.50% ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 1.00% ต่อปี แต่เมื่อเฟดลดดอกเบี้ยลงมาแรงระดับนี้ อาจทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก็ได้
“เรายังมองว่าถ้า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้ง น่าจะลด 0.25% อยู่ แต่ถามว่ามีโอกาสลดมากกว่านั้นหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าจะปิดประตูเลยคงไม่ได้” กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
กำพล ระบุว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งรวม 1.50% ลงมาอยู่ระดับใกล้ 0% และเป็นการลดดอกเบี้ยในการประชุมนอกรอบ สะท้อนว่าเฟดประเมินว่าสถานการณ์การระบาดของของไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่เคยมองไว้
“เฟดมีการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายการเงิน ทั้งในแง่ของดอกเบี้ยที่ลดลงมาใกล้ 0% และกลับมาทำคิวอีด้วย อีกทั้งมีการเตรียมเรื่องสภาพคล่องต่างๆเพื่อรองรับผลกระทบของไวรัส สะท้อนว่าเขามองว่าผลกระทบเยอะ ส่วนบ้านเราที่ลดดอกเบี้ยไป 1 ครั้ง เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อรับมือมือกับไวรัสโควิด-19 นั้น อาจจะไม่พอ” กำพลกล่าว
กำพล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆนี้ SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 0.3% ซึ่งเป็นกรณีฐาน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระจายมากน้อยเพียงใดทั้งในโลกและในไทย
พร้อมทั้งระบุว่า SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (technical recession) เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสรุนแรงกว่าที่คาดไว้มาก จากเดิมเราคาดว่าการระบาดจะอยู่เฉพาะในจีนและเอเชีย แต่ตอนนี้กระจายไปสหรัฐและยุโรปแล้ว
“เมื่อมาถึงจุดนี้ ทุกคนก็ต้องเตรียมเรื่องการรัดเข็มขัด และเตรียมสภาพคล่องที่จะมาเดินธุรกิจต่อ เพราะในช่วงครึ่งแรกปีนี้ เราจะไปหวังสร้างรายได้น่าจะค่อนข้างลำบาก ดังนั้น เราก็ต้องมารัดกุมเรื่องรายจ่าย เพื่อที่ว่าอย่างน้อยๆ เราจะได้มีสภาพคล่องหมุนเวียนกันไปได้ และผมเห็นว่าภาครัฐต้องเข้ามาช่วยตรงนี้เพิ่มขึ้น” กำพลกล่าว
กำพล อดิเรกสมบัติ
กำพล เสนอว่า นอกจากมาตรการของบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ณ ขณะนี้ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และต้องจบสถานการณ์ให้เร็วที่สุด โดยประชาชนเองก็ต้องเข้ามาร่วมมือด้วย เมื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดได้แล้ว จึงค่อยมากระตุ้นเศรษฐกิจ
“กรณีของจีน จีนเน้นการควบคุมโรคก่อน แต่ระหว่างนี้เขาอัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจอย่างเพียงพอ พอควบคุมไวรัสได้แล้ว เขาจึงมีมาตรการเข้าไปกระตุ้นออกมา ซึ่งไทยเอง ถ้าวันนี้เราไปกระตุ้นอิมแพคก็ไม่เยอะ เพราะคนไม่มีอารมณ์ที่จะไปใช้จ่าย นั่งอยู่บ้านกันหมด” กำพลระบุ
กำพล ย้ำว่า SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 โดยระหว่างนี้ภาครัฐจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ โดยการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจและครัวเรือนในประเทศก่อน เพราะนี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถหารายได้เพิ่มได้ เนื่องจากไม่มีใครใช้จ่าย ทุกคนต่างก็รัดเข็มขัดกันหมด
ส่วน เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศราว่า ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่า การประชุมกนง.รอบหน้า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% จากเดิมที่ว่าจะลดดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
“ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 0.5% และดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงก็จะส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ภาคเอกชน” เชาว์กล่าว
เชาว์ ยังระบุว่า ศูนย์วิจัยได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ เศรษฐกิจไทยหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ส่วนไตรมาส 3 จะฟื้นตัวหรือไม่ ยังต้องประเมินสถานการณ์กันต่อไป ส่วนการรับมือกับไวรัสโควิด-19 นั้น ตนเห็นว่าทุกคนควรดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด
“ตอนนี้เราควรดูแลสุขภาพให้ดีที่สุดน่าจะดีกว่า เพราะว่าถ้าป่วยไปจะทำอะไรไม่ได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บุคคลรอบข้างป่วยตามไปด้วย ส่วนธุรกิจนั้น ถ้าเป็นธุรกิจทั่วๆไป การดูแลสภาพคล่อง และการรักษาสภาพคล่องเอาไว้น่าจะสำคัญที่สุด” เชาว์กล่าว
เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองบริเวณขาเข้าและขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ ขอบคุณภาพ : ประชาสัมพันธ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ด้าน กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า หาก กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจริง ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน และตอนนี้ภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ออกมามากแล้ว จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรมาตรการเหล่านี้ไปถึงภาคธุรกิจมากกว่า
“ผมไม่แน่ใจว่าถ้า กนง. ลดดอกเบี้ยลงมาจะช่วยอะไรหรือไม่ เพราะตอนนี้รัฐบาลมีมาตรการออกมาเยอะแล้ว แต่มีการสื่อสารอย่างไรให้ลงไปถึงผู้ปฏิบัติ ทำให้ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้จริงๆ ตรงนี้เป็นตัวที่น่ากังวลมากกว่า ส่วนเรื่องลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่กนง.ต้องไปว่ากัน” กลินท์กล่าว
กลินท์ ยังมองว่า วันนี้ประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนโดยตรง และตอนนี้คงไม่มีใครมีอารมณ์ที่จะออกไปลงทุน จึงต้องหยุดเอาไว้ก่อน
“ตอนนี้คนกำลังพูดคุยกันว่าชีวิตเขาจะปลอดภัยอย่างไร คนกังวลโควิดมาก ส่วนเศรษฐกิจที่ช็อกกันทั้งโลก ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรม การขนส่ง และการท่องเที่ยว เราต้องมองหาว่าถ้าอีก 2 เดือน ไวรัสจบหรือลดพีค แผนฟื้นตัวจะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมพร้อมไว้อย่างไร เช่น ตอนนี้โอกาสอยู่เรื่องอาหาร เพราะอย่างไรคนก็ต้องกิน” กลินท์กล่าว
กลินท์ ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 2% วงเงินสินเชื่อรวม 1.5 แสนล้านบาท น่าจะพยุงให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าแบงก์จะนำสินเชื่อไปปล่อยต่อหรือไม่ เพราะความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้กู้ด้วย
กลินท์ เสนอว่า วันนี้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น การทำความสะอาดสำนักงาน โรงงาน และเวลามีการประชุมก็ต้องดูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ขณะที่ประชาชนเองก็ควรจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปที่ในที่มีคนหนาแน่นอย่างน้อย 1-2 เดือน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/