"...ก่อนที่จะมีไวรัส เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวแล้ว ทั้งการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ดี ซึ่งความจริงแล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะมีนโยบาย spending policy (นโยบายการใช้จ่ายเงิน) ออกมาด้วยซ้ำ เช่น ตอนนี้คนหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการลงทุนภาครัฐเข้าไปในพื้นที่..."
เป็นสถานการณ์ที่ยากจะประเมินว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายเมื่อใด
ล่าสุด (11 มี.ค.) ไวรัสแพร่กระจายไปใน 84 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อสะสม 118,782 คน เสียชีวิต 4,023 คน รักษาหายแล้ว 61,176 คน และแม้ว่าการแพร่ระบาดในจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดจะถูกควบคุมได้แล้ว แต่ในหลายประเทศไวรัสยังคงแพร่ระบาดและทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในอิตาลี อิหร่าน และเกาหลีใต้
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-29 ก.พ.2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยลดลง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป 81% ในห้วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษ
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า หากการระบาดของไวรัสยุติลงในเดือน พ.ค. ภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาฟื้นตัว 3 เดือน และคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 จะหายไป 10 ล้านคน หรือลดลงมาอยู่ที่ 30 ล้านคน จากปีก่อน 39.8 ล้านคน ซึ่งทำให้ไทยสูญรายได้ 4 แสนล้านบาท
ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่า ไวรัส COVID-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยลดลงมาอยู่ที่ 32.5 ล้านคน หรือลดลงจากปีก่อน 7.3 ล้านคน
เมื่อรวมกับห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดเมือง (Supply Disruption) อุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่อ่อนแอลง และสถานการณ์ภัยแล้งที่จะกระทบจีดีพี 0.5% จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตเพียง 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 1.7%
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโต 0.5% โดยมีปัจจัยลบต่างๆ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหายไป 8.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งทำให้รายได้หายไป 4.1 แสนล้านบาท เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งทำให้การส่งออกไทยปีนี้หดตัว 5.6% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 1% และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว
“สถานการณ์รอบนี้ไม่เหมือนปี 2540 เนื่องจากรอบนี้เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ปี 2540 มาจากปัญหากลไกเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่ไม่สมดุล ซึ่งแก้ยากกว่าและฟื้นตัวได้ช้ากว่ามาก” ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ พร้อมประเมินว่า “มีความเป็นไปได้ภาครัฐจะออกงบประมาณเพิ่มเติม”
หาดบางแสนแหล่งท่องเที่ยวดัง จ.ชลบุรี ขอบคุณภาพ mgronline.com
ส่วน ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย คาดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก จะทำให้ครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 4 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 2.78 แสนล้านบาท รวมทั้งประเมินว่า การส่งออกไทยปีนี้น่าจะหดตัว 1.9% และภัยแล้งจะทำให้ภาคเกษตรได้รับความเสียหาย 5.8 หมื่นล้านบาท
“ขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งหากใช้เวลา 6 เดือนเต็ม มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเพียง 1.5% ส่วนภาพการลงทุนของเอกชนในปีนี้ไม่สดใสนัก และมีแนวโน้มจะชะลอเพิ่มเติม เพราะราคาน้ำมันลดลงแรง” พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ยังคาดว่า ภาครัฐจะเดินหน้ามาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย และการต่อยอดมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน และประคับประคองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี
นอกจากนี้ สำนักเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.25-0.50% จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นระดับต่ำมากอยู่แล้ว
ท่ามกลางผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ส่งผลตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาตรการดูแลผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2 ชุดมาตรการใหญ่
ได้แก่ มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 1.25 แสนล้านบาท พร้อมมาตรการภาษี 4 มาตรการย่อย
และเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ครม.ได้เห็นชอบ มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 โดยอัดฉีดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และมีมาตรการภาษีอีก 5 มาตรการย่อย ซึ่งทำให้ภาครัฐสูญรายได้ 1.65 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.ยังสั่งส่วนราชการหั่น ‘งบประจำ’ ลง 10% เพื่อนำไปจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน สั่งให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมสัมมนาในประเทศภายใน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3 หมื่นล้านบาท ลดค่าไฟฟ้า 3% และอนุมัติกรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท สำหรับเยียวยาการเลิกจ้าง เป็นต้น
ครม.อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือท่องเที่ยว รับมือผลกระทบ 'ไวรัสโคโรน่า'
สรรพากร’ ชงหั่นเป้าเก็บภาษี หลังมาตรการสู้โควิดทำสูญรายได้ 1.65 แสนล.
ครม.ไฟเขียวอัดสินเชื่อ 1.8 แสนล.-พักหนี้ สู้ไวรัส กันงบ 2 หมื่นล้านดูแล ‘เลิกจ้าง’
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผลประชุมครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563
“มาตรการที่ครม.ออกมาถือว่าดี ถามว่าพอใจไหม ก็พอใจ แต่ยังไม่พอ เพราะปัญหาตอนนี้ คือ เงินที่ผู้ประกอบการจะเอาจ่ายดอกเบี้ยไม่ค่อยจะมี และไม่มีความชัดเจนว่าสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ครม.เห็นชอบไปนั้น จะกู้ที่ไหน กู้อย่างไร” ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท นั้น แม้ ครม.จะเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องไปเจรจากับสถาบันการเงินเอง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จริงๆ และที่ผ่านมาจะเห็นว่าสินเชื่อในลักษณะนี้เอสเอ็มอีจะกู้ไม่ค่อยได้
“ครม.ผ่านหลักการก็จริง แต่การขอสินเชื่อต้องไปขอผ่านแบงก์ ถ้ายื่นเอกสารแล้วไม่ผ่านก็จบเลย และการจะยื่นเอกสารขอกู้ให้แบงก์อนุมัติ มันไม่ง่ายเลย ดังนั้น จะต้องมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อด้วย” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ เสนอว่า นอกจากมาตรการรพักชำระหนี้เงินต้นแล้ว ภาครัฐควรมีมาตรการพักชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการด้วย เพราะทุกวันนี้เงินที่ส่งค่างวดแต่ละเดือนนั้นจะพบว่า 50% เป็นค่าดอกเบี้ย เช่น ถ้าจากค่างวดเดือนละ 1 แสนบาท เงิน 5 หมื่นบาทจะเป็นค่าดอกเบี้ย
“เมื่อเรามีหนี้ เราก็ต้องจ่ายอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่ดอกเบี้ยตรงนี้ ขอให้เลื่อนการจ่ายออกไปก่อนได้ไหม” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ ยังมองว่า มาตรการรัฐที่สั่งให้ทุกส่วนราชการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งในหลักการถือว่าดี แต่ในความเป็นจริง คือ เมื่อหน่วยงานต่างๆยังคงเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ที่ที่มีคนเป็นจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการเดินทาง เพราะยังอยู่ในช่วงที่มีการระบาด ทำให้ในระยะสั้นๆมาตรการนี้อาจยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรนัก
ส่วนมาตรการที่ให้สถานประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างมาหักภาษีได้ 3 เท่านั้น ชัยรัตน์ ระบุว่า “วันนี้ผู้ประกอบการไม่ค่อยไหวแล้วนะ วันนี้เขาพยายามให้คนงานสลับกันหยุดแล้ว ลดเงินเดือนบ้าง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำให้อย่างไรให้ผู้ประกอบการมีเงินสดหมุนเวียน พอหมุนเวียนได้แล้ว การนำค่าจ้างมาหักภาษีได้จะเป็นของแถมอย่างดีเลย”
ชัยรัตน์ บอกว่า แม้ว่าปัจจุบันการระบาดของไวรัสในจีนเริ่มนิ่งแล้ว แต่ในหลายประเทศ เช่น อิหร่าน อิตาลี และเยอรมนี จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิด จึงยังมองได้ ‘ไม่ขาด’ ว่า การแพร่ระบาดจะหยุดได้เมื่อไหร่ ซึ่งก็ได้แต่ภาวนาขอให้การแพร่ระบาดของไวรัสยุติลงโดยเร็วที่สุด
“เมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถหาวัคซีนมาป้องกันเชื้อไวรัสได้ การระบาดจะยุติลงทันที และทุกอย่างจะค่อยๆฟื้นตัว” ชัยรัตน์กล่าว
บรรยากาศบริเวณศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2563
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างช่าติของไทยในปีนี้ ชัยรัตน์ ระบุว่า ล่าสุด สทท.ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 10 ล้านคน หรือลดลงจาก 40 ล้านคนเหลือ 30 ล้านคน จากสถานการณ์ไวรัสที่น่าจะยืดเยื้อไปถึงปลายปี จากเดิมที่เราคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเดือนมิ.ย.นี้
“เดิมทีเดียวเราประเมินว่านักท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 39 ล้านคน จากเดิม 41 ล้านคน แต่เราก็ต้องลดคาดการณ์ลงมาเรื่อยๆ และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะยาวออกไปอย่างนี้ เราก็กดลงมาเหลือ 30 ล้านคนแล้ว แต่ถ้าไวรัสมันยาวถึงช่วงไฮซีซั่นเดือนต.ค.แล้ว ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จบเลย ที่หวังว่าจะได้ 30 ล้านคน คงไม่ถึงแล้ว” ชัยรัตน์กล่าว
ขณะที่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า มาตรการที่ครม.อนุมัติออกมาล่าสุด น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้ แต่คงไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก
พิพัฒน์ ระบุว่า มาตรการที่ครม.ออกมา มีจุดประสงค์ใหญ่ 2 เรื่อง คือ 1.เยียวยาผลกระทบ และ 2.กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ของการเยียวยาจะพบว่าไม่ได้ช่วยมากมายอะไรขนาดนั้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ต้องยอมรับ Shock มันใหญ่เกินไป เพราะนักท่องเที่ยวหายไปที 60% มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก
“นโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมามี 2-3 รูปแบบหลัก โดยเฉพาะการให้สินเชื่อในลักษณะซอฟท์โลนนั้น ยังมีข้อสังสัยว่าแบงก์จะปล่อยสินเชื่อให้ตามโปรแกรมหรือเปล่า เพราะวันนี้แบงก์ได้รับการอุดหนุนดอกเบี้ย 1% เพื่อมาปล่อยกู้ 2% ก็จริง แต่ต้องรับความเสี่ยงหนี้เสีย ไม่รู้ว่าแบงก์จะปล่อยกู้หรือเปล่า” พิพัฒน์กล่าว
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
สำหรับมาตรการด้านภาษีเพื่อเสริมสภาพคล่อง เช่น การลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% นั้น พิพัฒน์ เห็นว่า อาจไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการมากนัก ในเมื่อรายได้ที่จะเข้ามา 100 บาท เพื่อจะให้หัก 1.5 บาทนั้น แทบจะไม่เลย ส่วนการให้สถานประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่านั้น ถือว่าช่วยให้รักษาการจ้างงานได้บ้าง
ส่วนผลของมาตรการในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น พิพัฒน์ มองว่า น่าผิดหวัง และเห็นว่าภาครัฐควรมีนโยบายใช้จ่ายเงินลงไปในระดับพื้นที่ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กที่แต่ละพื้นที่ต้องการ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน หรือการจ่ายเงินลงไปในพื้นที่เพื่อรับมือหากไวรัสแพร่ออกไป เป็นต้น
“เพราะก่อนที่จะมีไวรัส เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวแล้ว ทั้งการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ไม่ดี ซึ่งความจริงแล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะมีนโยบาย spending policy (นโยบายการใช้จ่ายเงิน) ออกมาด้วยซ้ำ เช่น ตอนนี้คนหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการลงทุนภาครัฐเข้าไปในพื้นที่” พิพัฒน์กล่าว
พิพัฒน์ เสนอว่า “รัฐบาลควรเพิ่มการขาดดุลภาครัฐ เพื่อนำอัดเงินลงไปใช้จ่ายในพื้นที่ ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก อีกทั้งต้องยอมรับว่างบปี 2563 ดีเลย์มานานมาก โดย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณจะพบว่าเงินหายไปจากระบบ 2.6 แสนล้านบาท” พร้อมทั้งเห็นด้วยกับการรัฐบาลตัดลดงบประจำเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
พิพัฒน์ ย้ำว่า วันนี้ Shock ที่กระทบเศรษฐกิจไทยใหญ่มาก และหากจะทำงบกลางปี ก็ต้องดูก่อนว่ามีโครงการที่จะใช้เงินหรือไม่ โดยต้องไปถามท้องถิ่น ถามพื้นที่ว่า แต่ละพื้นที่ต้องการโครงการอะไรบ้าง ซึ่งต้องเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจะช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ในอนาคต
“วันนี้เรารู้อยู่แล้วว่าปัญหาของธุรกิจ คือ การขาดสภาพคล่อง แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้การขาดสภาพคล่องลุกลามกลายเป็น solvency คือ ธุรกิจไม่มีตังก์มาจ่ายหนี้ สุดท้ายเมื่อบริษัทเจ๊งไป ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ถ้าร้านปิดไป 1 เดือน ก็อาจจะบอกว่านี่เป็นปัญหาสภาพคล่อง แต่ถ้าปิดไป 2-3 เดือน ธุรกิจไปต่อไม่ได้ก็คือเจ๊ง” พิพัฒน์กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage