‘สรรพากร’ เผยมาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ทำรัฐสูญรายได้ 1.65 แสนล้าน เตรียมถก 'สศค.' หั่นเป้าจัดเก็บรายได้จากเดิม 2.11 ล้านล้าน ระบุว่า 5 เดือน ปีงบ 63 เก็บภาษีเกินเป้า 2.2% แต่การจัดเก็บ VAT ติดลบ 2.4% หลังการนำเข้าชะลอตัว
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การดำเนินการมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) จะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ลดลง 1.65 แสนล้านบาท และจะทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบ 2563 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.116 ล้านล้านบาท
ประกอบด้วย 1.มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563 และลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564 แม้ว่าจะทำให้กรมฯจัดเก็บภาษีได้ลดลง แต่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการทั้งระบบตั้งแต่เดือน เม.ย.2563-ก.ย.2564 เป็นเงินประมาณ 87,000 ล้านบาท
2.มาตรการลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี วงเงินรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 มาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า จะทำให้กรมฯสูญเสียรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท
3.มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน โดยให้สถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี นำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนรายจ่ายได้ 3 เท่า เพื่อให้สถานประกอบการรักษาการจ้างงานนั้น หากสถานประกอบการมีการใช้สิทธิเต็ม 100% ของจำนวนลูกจ้างในระบบที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 7-8 ล้านราย จะทำให้กรมฯสูญเสียรายได้ประมาณ 64,000 ล้านบาท
4.มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยกรณีที่ยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน ส่วนกรณียื่นแบบ ณ สรรพากร จะได้คืนภายใน 45 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวกรมฯไม่สูญเสียรายได้ และมีเงื่อนไขว่าผู้ส่งออกที่ได้สิทธิจะต้องเป็นผู้ส่งออกที่มีไม่ประวัติโกงภาษี หรือไม่มีประวัติเสียหาย
5.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณี สำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้กรมฯสูญเสียรายได้ประมาณ 14,000 ล้านบาท
“จากสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ เราคงต้องเตรียมพร้อม อะไรที่ช่วยประชาชนและผู้ประกอบการได้ก็ต้องช่วย และแน่นอนว่ามาตรการภาษีจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ซึ่งกรมฯจะเข้าหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อทบทวนเป้าการจัดเก็บรายได้ที่ตั้งไว้ 2.116 ล้านล้านบาท เพราะที่ผ่านมาเรามีการใช้มาตรการภาษีเยอะมาก โดยในปีงบ 2563 เราจะพยายามจัดเก็บภาษีให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2.009 ล้านล้านบาท” นายเอกนิติกล่าว
นายเอกนิติ กล่าวถึงผลการจัดเก็บภาษีในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบ 2563 (ต.ค.2562-ก.พ.2563) ว่า กรมฯจัดเก็บภาษีได้ 680,919 ล้านบาท เกินเป้า 2,454 ล้านบาท หรือเกินเป้า 2.2% แต่หากนับเฉพาะเดือน ก.พ.2563 การจัดเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 140,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1,377 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 0.97% ส่วนการจัดเก็บ VAT ในเดือน ก.พ.2563 พบว่าติดลบ 4,800 ล้านบาท หรือติดลบ 6.7% ส่งผลให้ 5 เดือน การจัดเก็บ VAT ติดลบ 2.4%
“การจัดเก็บ VAT ในประเทศยังเกินเป้าอยู่ แต่ VAT ที่เก็บจากการนำเข้าสินค้าติดลบมาก เพราะโดนทั้งเรื่องค่าเงินบาทเมื่อต้นปี และตอนนี้คนนำเข้าน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอ ส่งผลให้การจัดเก็บ VAT ในภาพรวม 5 เดือนแรกของปีงบ 2563 ยังติดลบอยู่ 2.4%” นายเอกนิติกล่าว
นายเอกนิติ ยังกล่าวว่า ในส่วนยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล่าสุดมีผู้ยื่นแบบฯแล้ว 4.7 ล้านคน มีผู้ยื่นขอคืนภาษี 2 ล้านคน และมีการคืนภาษีไปแล้ว 80% หรือประมาณ 1.6 ล้านคน
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวอัดสินเชื่อ 1.8 แสนล.-พักหนี้ สู้ไวรัส กันงบ 2 หมื่นล้านดูแล ‘เลิกจ้าง’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage