ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสู้โควิด-19 ระยะ 1 อัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.8 แสนล้านบาทอุ้มเอสเอ็มอี คืนค่ามิเตอร์ไฟฟ้าให้รายละ 300-1,000 บาท พร้อมกันงบ 2 หมื่นล้าน เยียวยาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยมาตการที่ครม.เห็นชอบดังกล่าวเป็นมาตรการระยะที่ 1 และจะมีมาตรการระยะที่ 2 และ 3 ออกมาต่อไป เนื่องจากบางมาตรการยังไม่ถึงเวลาที่ควรทำ และทุกมาตรการต้องใช้งบประมาณ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
“มาตรการที่ครม.เห็นชอบเป็นมาตรการระยะที่ 1 เท่านั้น และจะต้องมีมาตรการกระยะที่ 2 ที่ 3 ต่อไป เพราะมีหลายอย่างที่ยังไม่ควรทำ หรือยังทำไม่ได้ ก็ไปรอระยะ 2 ระยะ 2 ซึ่งรัฐบาลจะรับฟังความเห็นจากประชาชนทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อน และอย่างลืมว่าทุกมาตรการต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบในการใช้เงินของรัฐให้ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ส่วนกรณีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเตรียมออกมาเคลื่อนไหวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องออกมาเรียกร้อง ให้ฟังว่าครม.มีมติช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง และผู้ประกอบการต้องหาทางที่จะเข้ามารับการช่วยเหลือจากมาตรการเหล่านี้ให้ได้ เช่น จะมาติดต่อสอบถาม หากยังมีปัญหาตรงไหนก็จะกลับมาที่รัฐบาลเองว่าต้องเพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง โดยอะไรที่ทำได้ก่อนก็ต้องทำไป ส่วนในวันข้างหน้าจะมีมาตรการระยะที่ 2 และ 3 ออกมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าตัวเลขเป็นเท่าไหร่ ส่วนการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้านั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ก็พบว่ามิเตอร์ไฟฟ้ามีหลายขนาด ดังนั้น บางคนจะได้คืนเงินค่าประกันมิเตอร์ 300 บาท บางคนได้ 500 บาท บางคนได้ 1,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามขนาดมิเตอร์ โดยจะมีการคืนเงินให้ไปตามนั้น ส่วนสถานประกอบการขนาดใหญ่จะไม่คืนค่าประกันให้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระยะที่ 1 เพื่อดูแลผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นการชั่วคราวและตามความจำเป็น ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่
1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากไวรัสโคโรนา โดยสินเชื่อพิเศษดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 1.5 แสนล้านบาท
2.มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโนนา ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปสนับสนุน
3.มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเกี่ยวกับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ต่างๆที่เอื้ออำนวยต่อการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธปท.ได้มีการออกประกาศมาแล้วและมีผลบังคับใช้แล้ว
4.กองทุนประกันสังคม (สปส.) จะปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ระยะเวลา 3 ปี วงเงินสินเชื่อรวม 3 หมื่นล้านบาท ให้กับสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสปส. โดยสปส.จะกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆเอง
อุตตม สาวนายน
5.มาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ 1.มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ ประกอบการ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563
2.มาตรการลดภาระดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท โดยนำรายจ่ายดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 มาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งจะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และให้จัดทำบัญชีเดียว
3.มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน โดยให้สถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี นำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สถานประกอบการช่วยดูแลพนักงาน
4.มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยกรณีที่ยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน ส่วนกรณียื่นแบบ ณ สรรพากร จะได้คืนภายใน 45 วัน
นายอุตตม กล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่นๆที่ครม.เห็นชอบ ได้แก่ มาตรการบรรเทาการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะไปพิจารณาแนวทางดำเนินการและเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมจะพิจารณาลดการนำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 3-6 เดือน โดยกองทุนฯและกระทรวงแรงงานจะไปพิจารณาว่าจะลดการนำเงินสมทบในอัตราเท่าไหร่ และเป็นเวลากี่เดือน
ส่วนมาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียมและค่าเช่า หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและรัฐวิสาหกิจจะไปพิจารณาลด เลื่อน หรือชะลอการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่า การจ่ายค่าตอบแทบในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้กรมธนารักษ์ไปพิจารณาลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ เป็นต้น
สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนนั้น ครม.เห็นชอบให้นักลงทุนหรือประชาชนที่ซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 เพิ่มเป็น 4 แสนบาท จากเดิม 2 แสนบาท สำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 โดยกระทรวงการคลังพร้อมจะพิจารณาขยายเงื่อนเวลาออกไปให้อีก
นายอุตตม กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบให้กำหนดวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เช่น ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการที่ถูกกระทบและทำให้พนักงานได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร โดยกระทรวงการคลังจะไปหารือกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับจัดสรรวงเงิน และการกำหนดขอบเขตการใช้เงิน
“ในหลักการวันนี้ครม.อนุมัติแล้ว เบื้องต้น 2 หมื่นล้านบาท และหากเกิดผลกระทบ เราก็จะได้มีเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้จ่ายได้ตามความจำเป็น โดยจะต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป”
นายอุตตม ระบุว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัสดุผลิตหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 6 เดือน
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดูแลปัญหาภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.การคืนเงินประประกันการใช้ไฟฟ้า หรือค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ประชาชน 21.5 ล้านราย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยคืนได้ตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.เป็นต้นไป ซึ่งนายกฯให้พิจารณาว่า ควรคืนค่าประกันให้กับประชาชนรายย่อยที่มีขนาดมิเตอร์เล็กเป็นกลุ่มแรก
2.การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า โดยตรึงอัตราค่าเอฟที (Ft) เดือนพ.ค.2563 ในอัตรา -11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วยจากค่าไฟฟ้าฐาน คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,534 ล้านบาท
3.จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) โดยรายละเอียดส่วนลดจะปรากฏในบิลที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับ พร้อมทั้งขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า สำหรับกิจการเฉพาะอย่าง เช่น ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย และไม่คิดค่าปรับตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน โดยผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล
4.การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ 72 จังหวัด วงเงินรวม 4,064 ล้านบาท โดยให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินภายใต้โครงการชุมชนปี 2563 จำนวนกว่า 6,600 โครงการ วงเงินรวม 2,494 ล้านบาท และให้พิจารณานำงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2562 และ 2563 วงเงินรวม 1,570 ล้านบาท มาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการจ้างงานในพื้นที่เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในประเทศ
ทีมโฆษกรัฐบาลแถลงผลประชุมครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563
นางนฤมล ยังระบุว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
โดยในส่วนงบรายจ่ายประจำนั้น ให้หน่วยรับงบประมาณปรับลดการใช้จ่ายงบหรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงาน สำหรับงบประมาณในลักษณะรายจ่ายประจำที่มิใช่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศให้ได้ประมาณ 10% ของงบประจำ เพื่อไปดำเนินการที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน และให้ปรับแผนการเดินทางไปราชการต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการภายในประเทศแทน
ส่วนงบประมาณรายจ่ายลงทุนนั้น ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาโอนหรือเปลี่ยนแปลงงบที่จัดสรรในลักษณะค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่แน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนมี.ค.2563 ไปดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่น เพื่อช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือสถานการณ์ภัยแล้ง
เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนโดยใช้แรงงานจากภาคเกษตร หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการจากงานจ้างเหมาเป็นงานดำเนินการเองเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่สำนักงบประมาณยังไม่ได้จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณนั้น ให้หน่วยรับงบประมาณชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย 1. รายการที่นายกฯหรือครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว และ2.รายการที่มีคำขอของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันหรือบันทึกใบสั่งซื้อ (PO) ได้ทันภายในวันที่ 10 มี.ค.2563 ให้ยกเลิกโครงการ/รายการ และแจ้งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มี.ค.2563 เพื่อนำงบประมาณส่งคืน และนำไปใช้ในโครงการสำคัญเร่งด่วนตามมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาไวรัสและภัยแล้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีภารกิจ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสและภัยแล้ง และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เสนอขอรับการจัดสรรตามระเบียบฯที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มี.ค.2563
รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 กรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท มีการจัดสรรงบรายจ่ายประจำไว้ที่ 2.39 ล้านล้านบาท และเมื่อหักลบงบเงินเดือนข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 7.7 แสนล้านบาท จะทำให้งบรายจ่ายประจำอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากลดงบรายจ่ายประจำลง 10% เพื่อนำจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน เม็ดเงินส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้ทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดจัดการประชุมสัมมนาภายในประเทศภายในเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 เพื่อช่วยพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้สำนักงานธนานุเคราะห์กู้เงินประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและรองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีงบ 2563 สำนักงานธนานุเคราะห์คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรับจำนำประมาณ 1.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4 หมื่นราย โดยวงเงินรับจำนำคาดว่าจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
‘ประยุทธ์’ เบรกแจกเงินคนละ 2,000 บาท เปลี่ยนเป็นคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าแทน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage