"...สศช.จะทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม อาทิ การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ภัยแล้ง และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม..."
เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างหนักหนาเอาการ
เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับมรสุมลูกใหญ่ๆพร้อมกันหลายลูก ทั้งการระบาดไวรัสโคโรน่า งบประมาณปี 2563 ล่าช้า และสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็ทยอยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 กันทั่วหน้า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (2019-nCoV) และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณ ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้จาก 2.7% เหลือ 2.1%
และเมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาระบุว่า เดิมศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะเติบโตในกรอบ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 2.7% แต่การระบาดของไวรัสโคโรน่าและพ.ร.บ.งบปี 2563 ที่ล่าช้านั้น เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตในกรอบล่าง หรือเติบโตที่ 2.5%
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งตัวเลขจีดีพีจะต่ำกว่า 2.7% แต่จะหยุดที่ 2.5% หรือดีกว่านั้น เราต้องขอคอนเฟิร์มตัวเลขอีกที โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าว่าจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากน้อยเพียงใด” เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว
เชาว์ ยังกล่าวว่า นอกจากไวรัสโคโรน่าแล้ว ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ พ.ร.บ.งบปี 2563 ที่ล่าช้า และยังไม่รู้ว่าจะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด เพราะต้องรอรัฐบาล รอสภาฯ และรอศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ทางศูนย์ฯคาดว่าจะสร้างความเสียหายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
เมื่อถามถึงแนวโน้มการส่งออกในปี 2563 เชาว์ บอกว่า "ไตรมาส 1/2563 ตัวเลขอาจยังไม่ดีขึ้น เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสในจีน จะมีผลต่อกำลังซื้อสินค้าของชาวจีน และยังรวมถึงซัพพลายเชนในจีนที่สั่งซื้อสินค้าไทยด้วย"
ในขณะที่สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเช่นกัน โดยปรับลดจีดีพีจาก 2.7% เหลือ 2.3% และมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไตรมาส 1/2563 จะเติบโตต่ำกว่า 2% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส จากปัจจัยต่างชาติชะลอลงทุน งบประมาณล่าช้า และการระบาดของไวรัสโคโรน่าในจีน
ส่วนหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์เดิม 2.8% เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า และงบปี 2563 ที่ล่าช้า ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยสำคัญ และเตรียมทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% ต่อปี หลังจากประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าคาด
อ่านประกอบ :
กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1% รับมือ 3 ปัจจัยลบฉุดศก.โตต่ำกว่า 2.8%
เช่นเดียวกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จากเดิมที่คาดไว้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.7-3.7% หรือมีค่ากลาง 3.2% ในการแถลงตัวเศรษฐกิจไทยปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 ในวันที่ 17 ก.พ.นี้
“สศช.จะทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม อาทิ การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ภัยแล้ง และความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม” สศช.รายงานที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
จะมีก็เพียงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ยังคงประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปี 2563 ที่ 2.8% เติบโตจากปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.5% โดยปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน Brexit และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยลบที่โหมกระหน่ำเศรษฐกิจไทย จะพบว่าในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจออกมา 3 ชุด ได้แก่ มาตรการ ‘ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย’ ,มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 และมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ามาตรการส่วนใหญ่เป็นการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เช่น การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงิน 3.8 แสนล้านบาท และการให้สินเชื่อผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว 1.25 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนลงทุน เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ครม.อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือท่องเที่ยว รับมือผลกระทบ 'ไวรัสโคโรน่า'
ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการ กระตุ้นลงทุนเอกชน 1.1 แสนล. ดันจีพีดีโต 0.25%
ครม.เคาะแพคเกจช่วย SME ยกระดับดูแลเป็นวาระแห่งชาติ
ผลจากมาตรการดังกล่าว รัฐบาลคาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการฯมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะมือวิกฤตต่างๆได้อย่างน้อย 3-6 เดือน ในขณะที่มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนเอกชนนั้น อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ประเมินว่า จะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาทในปีนี้
เช่นเดียวกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ที่ตั้งเป้าให้รัฐวิสาหกิจลงทุนในช่วงไตรมาส 1/2563 เป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเร่งรัดลงทุน 5G ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนในปีนี้ 1.3 แสนล้านบาท และจะเป็นกำลังหลักในการพยุงเศรษฐกิจ
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และอุตตม สาวนายน รมว.คลัง มอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2563
แต่ก็คำถามว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาล จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
"ถ้าคนใช้สินเชื่อไปเร่งผลิต เร่งจ้างงาน เร่งลงทุน ก็เป็นเรื่องดี แต่ตอนนี้ถามว่า ถ้าผลิตแล้วจะเอาขายใคร โดยเฉพาะในภาวะที่การส่งออกจะยังหดตัวไปอีก 6 เดือนอีกทั้งกำลังการผลิตก็ยังเหลืออยู่ ดังนั้น การไปบอกให้เขาลงทุน ซื้อเครื่องจักร ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในทางทฤษฎีมันสวยหรู" อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อย่างไรก็ดี อมรเทพ เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการฯที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และไวรัสโคโรน่า เพราะวันนี้ผู้ประกอบการฯรายเล็กที่มีสายป่านสั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก หากคนเหล่านี้ไปไม่ไหวหรือต้องปิดกิจการไป ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง
“มาตรการให้สินเชื่อ การผ่อนคลายเรื่องหนี้ เป็นสิ่งที่จะประคองคนที่โดนผลกระทบให้อยู่รอดจนพ้นวิกฤตไปได้ก็จริง แต่เรามาช่วยกันคิดด้วยว่า เมื่อทุกอย่างฟื้นแล้ว ผู้ประกอบการฯของเราจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งอย่างไร” อมรเทพ กล่าว
อมรเทพ อธิบายว่า วันนี้วิกฤตไวรัสโคโรน่า หรืองบประมาณล่าช้า เป็นวิกฤตระยะสั้น เช่น ผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า เรารู้กันอยู่แล้วว่าอีกไม่เกิน 2 ไตรมาส ทุกอย่างจะฟื้นตัว ส่วนงบประมาณที่ยังไม่ผ่านสภาฯนั้น อีกไม่นานก็จะผ่านสภาฯอย่างแน่นอน และสถานการณ์ภัยแล้งก็คงจะคลี่คลายไปตามภาวะธรรมชาติ
ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการฯมีความเข้มแข็ง และสามารถผลิตสินค้าใหม่ๆออกมาขายได้หรือไม่ เมื่อการส่งออกฟื้นตัวและสถานการณ์ไวรัสคลี่คลาย
“วันนี้เราต้องมาช่วยกันคิดว่า ถ้านักท่องเที่ยวกลับมา การส่งออกฟื้น เราจะฟื้นจริงหรือไม่ มีของใหม่ๆไปขายหรือไม่ และต้องมาตั้งคำถามว่า เราไปพึ่งจีนมาเกินไปไหม เราจะพึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้ต่อไปหรือ และจะดูแลทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างไร เพื่อให้เงินตกอยู่กับคนไทยมากขึ้น หรือเราจะต้องมองตลาดคนไทยมากขึ้น เป็นต้น” อมรเทพกล่าว
ขณะที่ ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการฯที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆนั้น ทุกฝ่าย รวมถึงธนาคารพาณิชย์จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้เสีย (NPLs) ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าสภาพคล่องในระบบการเงินมีสูงมาก แต่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจมีสภาพคล่องด้วย
"การเสริมสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจ เป็นคีร์สำคัญในการรับมือกับปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้" ทิตนันทิ์ย้ำ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/