“…จำเลยเบิกความว่าไม่เคยร่วมประกอบธุรกิจใดกับนายวิชัย จึงไม่มีเหตุที่นายวิชัยจะต้องโอนเงินจำนวนมากให้แก่จำเลย แต่จำเลยได้รับโอนเงินดังกล่าวซึ่งไม่มีหนี้ต้องชำระตามข้อตกลงและการรับโอนเงินโดยไม่มีมูลหนี้จำนวนสูง ย่อมเป็นการตอบแทนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะเงินให้เปล่าเป็นค่าตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่รู้เฉพาะนายวิชัย นายรัชฎา และจำเลย…”
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ กรณีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต โดยศาลเห็นว่า เส้นทางการเงินดังกล่าวเป็นไปด้วยความเปิดเผย ไม่ปิดบัง หรือซุกซ่อน หรืออำพรางแต่อย่างใด นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ตลอดเวลา ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลภายหลังได้ ไม่ใช่เป็นการปกปิดหรืออำพรางได้มา พฤติการณ์จึงเชื่อไม่ได้ว่านายพานทองแท้ได้เงินจำนวน 10 ล้านบาทดังกล่าวจากการสมคบคิดกันฟอกเงิน (อ่านประกอบ : ไม่รู้ว่าเงินจากการทำผิด! ละเอียดคำพิพากษายกฟ้อง‘พานทองแท้’คดีฟอกเงินกรุงไทย)
ประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาดังกล่าวคือ หนึ่งในผู้พิพากษา เปิดเผยหลังอ่านคำพิพากษาจบว่า คดีนี้มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ราย และมีความเห็นแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรยกฟ้อง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา จึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่ระบุว่า ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
จึงทำให้นายพานทองแท้ รอดพ้นความผิดมาได้ในชั้นต้น โดยขณะนี้ฝ่ายอัยการกำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวอยู่
ทำไมผู้พิพากษาอีกรายถึงเห็นว่าควรลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปีคดีนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นแย้งคำพิพากษามานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบกัน ดังนี้
น.ส.ศิริพร กาญจนสูตร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ไม่เห็นพ้องด้วยกับผู้พิพากษาองค์คณะที่พิพากษายกฟ้อง อาศัยอำนาจตามมาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงได้ทำความเห็นแย้งไว้หลังคำพิพากษา
@‘พานทองแท้’ปัดไม่รู้ว่าเงิน 10 ล.ได้มาจากการทุจริตกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร
คดีนี้จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2) หรือไม่ จำเลย (นายพานทองแท้) ให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต เนื่องจากจำเลยไม่รู้เห็ฯ หรือเกี่ยวข้องกับผู้ขอสินเชื่อ การขอ และอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทดังกล่าว และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาแล้วว่า บิดาจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิด จำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อจำนวนข้างต้น และจำเลยไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วย
จำเลยมิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ (อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) กับพวกในการนำนิติบุคคล บุคคลมาใช้ในการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กระบวนการฟอกเงินเสร็จสิ้นคราวที่บริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัทในเครือกฤษดามหานคร) โอนเงินส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเข้าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (หาชน) นำไปซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในนามของนายวิชัย การโอนเงินทอดต่อไปจึงถือว่าพ้นขั้นตอนการฟอกเงิน จำเลยจึงไม่เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด เนื่องจากมิได้มีส่วนรู้เห็นกับบริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ฯ และนายวิชัยในการฟอกเงิน
จำเลยเป็นเพื่อนสนิทกับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ (บุตรนายวิชัย) ซึ่งนายวิชัยสั่งจ่ายเช็คแก่จำเลย 10 ล้านบาท จำเลยมิได้รู้เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติโดยมิชอบ อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจำเลยรับโอนเงิน จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
นายรัชฎา ร่วมลงทุนกับจำเลย 10 ล้าบาท เพื่อนำเข้ารถลัมโบร์กินีมาใช้และจำหน่ายต่อ และขอให้นายวิชัย (บิดานายรัชฎา) สั่งจ่ายเช็คจำนวนดังกล่าวแก่จำเลย ต่อมาจำเลยล้มเลิกโครงการจึงสั่งจ่ายเช็ค จำนวน 10 ล้านบาทคืนแก่นายวิชัยแล้ว โดยไม่ได้มีเจตนาพิเศษ เพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สิน หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนหรือหลังกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือเพื่อปกปิด หรืออำพราง ลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 (1) (2)
@เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฯ-เส้นทางการเงินมัด
เห็นควรวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่จำเลยรับโอนมาจากนายวิชัย เป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติโดยมิชอบ อันเป็นความผิดมูลฐานของความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ โจทก์ (พนักงานอัยการคดีพิเศษ 3) มีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความยืนยันข้อเท็จจริง และพยานเอกสาร ว่า ระหว่างวันที่ 8 ก.ย. 2546-11 ก.ย. 2546 และระหว่างวันที่ 7 พ.ย. 2546-26 ก.พ. 2547 ธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานครรวม 1.4 หมื่นล้านบาท โดยมิได้วิเคราะห์ถึงฐานทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ วัตถุประสงค์โครงการ รวมถึงมีการประเมินราคาที่ดินหลักประกันสูงเกินมูลค่าที่แท้จริง เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย อัยการสูงสุด (อสส.) จึงยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร กับพวก (รวมนายวิชัย และกลุ่มกฤษดามหานคร) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ ความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายวิชัย กับพวก
ดังนั้นเงินที่นายวิชัย กับพวก ได้รับจากการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 3 (4) (5) ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบแผนผังเส้นทางการเงินกรณีนี้พบว่า เงินที่จำเลยรับโอนมีเส้นทางการเงินจากธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติสินเชื่อให้แก่เครือกฤษดามหานคร จากนั้นได้สั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งฯ จำนวน 10.5 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้อหุ้นวิสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในนามของนายวิชัย และนายวิชัยได้ขายหุ้นดังกล่าวได้รับเงินซึ่งหักค่าธรรมเนียมแล้ว 11,693,635 บาท เข้าบัญชีธนาคารไทยธนาคาร
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 นายวิชัยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยธนาคาร จากบัญชีกระแสรายวันจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2547 จำเลยได้นำเช็คเข้าฝากบัญชีธนาคารกรุงเทพ ทั้งนี้จากการตรวจสอบบัญชีของนายวิชัยภายหลังมีเงินจากการขายหุ้นมาเข้าบัญชีดังกล่าวแล้วไม่มีเงินจำนวนอื่นเข้าบัญชีอีก
นอกจากนี้อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตรวจสอบเส้นทางเดินของเงินกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยทุจริต และตรวจสอบเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่จำเลยรับโอนมาจากนายวิชัย พบว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามเส้นทางเงินที่มาจากการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ
(นายพานทองแท้ ชินวัตร (ซ้าย) ขณะเข้าฟังความเห็นของอัยการ โดยท้ายที่สุดอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้อง, ภาพจาก https://hilight.kapook.com/)
@‘โอ๊ค’ยังโต้เอาเงินมาลงทุนธุรกิจนำเข้ารถ-คืนไปหมดแล้ว
จำเลยโต้แย้งพยานหลักฐานของดีเอสไอว่า แผนผังเส้นทางการเงินดังกล่าวไม่เป็นความ โดยจำเลยให้การรับว่ามีการโอนเงินจริง แต่บริษัท แกรนด์ฯ ชำระค่าหุ้นแก่บริษัทกิมเอ็งฯ ในนามของนายวิชัย โดยไม่มีหลักฐานว่าจำเลยรู้เห็นว่าเงินที่จำเลยรับมาจากนายวิชัยเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อทุจริต จึงเป็นเงินดีซึ่งเปลี่ยนสภาพแล้ว จำเลยไม่ได้รู้เห็นที่เครือกฤษดามหานคร ได้รับอนุมัติสินเชื่อโดยทุจริตจากธนาคารกรุงไทย จำเลยรับเงินจำนวน 10 ล้านบาท
หลังจากการขายหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เงินสินเชื่อทุจริตจึงเปลี่ยนสภาพมาเป็นเงินจากการซื้อขายหุ้น และเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่จำเลยรับมาจากนายวิชัย เป็นเงินที่นายรัชฎา บุตรนายวิชัยร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อขายรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ และให้นายวิชัยโอนเงินให้แก่จำเลยแทน แต่เมื่อศึกษาแนวทางธุรกิจแล้วมีความยุ่งยาก จึงยกเลิกโครงการ และจำเลยสั่งจ่ายเช็ค 10 ล้านบาทคืนแก่นายวิชัยตามที่นายรัชฎาแจ้งมาแล้ว จำเลยมิได้โอนคืนด้วยสาเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเอกสารลับร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
@ผู้พิพากษาชี้เข้าใจไปเองว่าเงินที่โอนหลายทอดไม่เข้าข่ายฟอกเงิน
เห็นว่า ที่จำเลยให้การว่าเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่จำเลยรับมาจากนายวิชัยได้เปลี่ยนสภาพเงินที่ได้รับจากการทุจริตกลายเป็นที่ได้จากการขายหุ้นและโอนมาหลายทอด จึงพ้นขั้นตอนของการฟอกเงิน และเปลี่ยนสภาพเป็นเงินดี เป็นความเข้าใจเอาเองของจำเลย แต่เงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัยโอนให้แก่จำเลยแทนนายรัชฎาบุตรชาย ตามแผนผังเส้นทางการเงิน และโอนเปลี่ยนมือมาหลายทอด เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่นายวิชัยกับพวกได้รับมาจากธนาคารกรุงไทย จากการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาท เป็นเงินที่มาจากความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 3 (4) (5)
@ยก‘วิชัย’เคยโอนเช็ค 26 ล.ให้แต่ยกเลิกก่อนแสดงถึงความใกล้ชิด
ประการต่อไปว่า จำเลยรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการขอและอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย และรับเงิน 10 ล้านบาท โดยรู้ว่าเป็นเงินส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติโดยมิชอบอันเป็นความผิดมูลฐานในความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ โดยจากการวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่นายวิชัยขายหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งฯ ต่อมาได้สั่งจ่ายเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพของจำเลย ต่อมาจำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทจากบัญชีออมทรัพย์ เข้าบัญชีกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพ โดยพนักงานธนาคารกรุงเทพเบิกความยืนยันว่า เงินดังกล่าวเป็นก้อนเดียวกัน
นอกจากนี้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินระหว่างนายวิชัย และจำเลย บัญชีการรับเงินและโอนเงินไม่ปรากฏนิติสัมพันธ์กัน เนื่องจากการตรวจสอบธุรกิจนำเข้ารถยนต์ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ไม่มีธุรกิจที่จำเลยร่วมลงทุนกันจริงกับนายรัชฎาบุตรนายวิชัย ทั้งจำเลยโอนย้ายเงินจากบัญชีที่รับโอนไปบัญชีอื่น และยังโอนเงินจากบัญชีที่โอนไปอีกบัญชีหนึ่ง
เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยรับโอนเงินจากนายวิชัยโดยไม่มีมูลหนี้ ทั้งก่อนการโอนเงิน 10 ล้านบาท ยังปรากฏว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายวิชัยได้โอนเงินตามเช็คแก่จำเลย 26 ล้านบาท แต่ต่อมาเช็คดังกล่าวได้ถูกยกเลิก ด้วยเหตุผลการฝากเงินชำระหนี้ค่าหุ้นแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนาชาติ ที่จำเลยไม่รับฝากชำระ เช็คจึงถูกยกเลิกไป อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยกับนายวิชัยมีการติดต่อกันใกล้ชิด
ทั้งจำเลยซึ่งเป็นบุตรนายทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น จำเลยมีความสนิทสนทกับนายรัชฎา และไปมาหาสู่กันถึงบ้าน การที่ธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร ทั้งที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จึงเป็นการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบแก่นายวิชัยกับพวก ด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนายรัชฎากับจำเลย หากไม่มีการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์จากบิดาจำเลย ธนาคารกรุงไทยจะไม่อนุมัติสินเชื่อโดยผิดหลักเกณฑ์ของธนาคาร ต่อมาปรากฏว่าเครือกฤษดามหานครไม่สามารถชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทยได้
(นายพานทองแท้ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร (มารดา, ซ้าย) หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯยกฟ้องคดีฟอกเงินกรุงไทย, ภาพจาก http://www.nakorn-nakara.com/)
@พบการวางแผนทำธุรกิจนำเข้ารถไม่ได้ทำข้อตกลงเหมือนธุรกิจปกติ
ที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ให้การในชั้นสอบสวน และเบิกความต่อศาล สรุปได้ว่า จำเลยพูดคุยในกลุ่มเพื่อนฝูงว่าประสงค์จะทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย นายรัชฎาซึ่งร่วมวงพูดคุยด้วย ใช้เวลาตัดสินเพียง 1 คืนโทรศัพท์มาแจ้งขอร่วมทำธุรกิจกับจำเลย และโอนเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่จำเลย โดยขณะนั้นเป็นเพียงการพูดคุยและวางแผนในการทำธุรกิจ แต่ยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จึงผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจปกติ ทั้งเงินที่จำเลยรับโอนมารวมระยะเวลา 1 ปี ที่จำเลยโอนเงินคืน ก็ไม่ปรากฏการทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหลักฐานระหว่างกัน
แม้จำเลยและนายรัชฎาจะเป็นผู้ร่ำรวย แต่การทำธุรกิจปกติจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ การร่วมลงทุน จำนวนเงินที่ร่วมลงทุน และรายละเอียดที่สำคัญต่าง ๆ ให้ชัดเจน และการทำธุรกิจที่นายเฉลิม แผลงศร พยานฝ่ายจำเลย เบิกความกลับไม่ปรากฏหลักฐานการศึกษา แผนงานโครงการที่ชัดเจน การประชุมไม่จัดทำบันทึกรายงานการประชุม และที่นายเฉลิมไปศึกษาการทำธุรกิจนั้นเป็นเพียงพนักงานขายของบริษัทที่นำรถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย หากจำเลยมีความประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายจริง จำเลยจะว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจได้โดยง่าย และในขณะนั้นจำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริหารกิจการของตนเองหลายบริษัท
@พยานหลักฐานชี้ชัดเงิน 10 ล.ไม่ใช่เงินลงทุนนำเข้ารถหรู
ข้อที่จำเลยเบิกความจึงเจือสมพยานโจทก์ ที่ศาลรับฟังคำเบิกความของจำเลยประกอบพยานหลักฐานโจทก์ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233 วรรคสองว่า จำเลยไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเข้ารถยนต์ซุปเปอร์คาร์ร่วมกับนายรัชฎา
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยประสงค์ร่วมกับนายรัชฎาประกอบธุรกิจนำเข้ารถยนต์ซุปเปอร์คาร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจริง ทั้งในช่วงแรกที่จำเลยให้ถ้อยคำก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยให้ถ้อยคำว่า เงิน 10 ล้านบาท เป็นเงินทำธุรกิจรถยนต์เข้ามาจำหน่ายร่วมกับนายรัชฎา แต่จำเลยมาให้ถ้อยคำภายหลัง ดังนั้นเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่จำเลยรับโอนมาจากนายวิชัย จึงไม่ใช่เป็นเงินที่นายรัชฎาร่วมลงทุนทำธุรกิจรถยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
@‘โอ๊ค’นำเงินไปปนกับเงินตัวเองแยกไม่ออกเงินใดปกติ เงินใดผิดกฎหมาย
จึงควรวินิจฉัยประการต่อไปว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาทที่จำเลยรับโอนมาจากนายวิชัย เป็นเงินที่จำเลยรับมาชำระหนี้อย่างใดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเบิกความว่าไม่เคยร่วมประกอบธุรกิจใดกับนายวิชัย จึงไม่มีเหตุที่นายวิชัยจะต้องโอนเงินจำนวนมากให้แก่จำเลย แต่จำเลยได้รับโอนเงินดังกล่าวซึ่งไม่มีหนี้ต้องชำระตามข้อตกลงและการรับโอนเงินโดยไม่มีมูลหนี้จำนวนสูง ย่อมเป็นการตอบแทนที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะเงินให้เปล่าเป็นค่าตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่รู้เฉพาะนายวิชัย นายรัชฎา และจำเลย
จำเลยยังเบิกความรับว่า จำเลยเบิกถอนเงินจากบัญชีที่รับโอนมาไปใช้จ่าย หากต้องการคืนเงิน 10 ล้านบาทแก่นายรัชฎา จำเลยมีเงินสำรองจำนวนอื่นจ่ายคืนได้ทันที จึงแสดงให้เห็นว่า เงิน 10 ล้านบาทที่จำเลยได้รับมา จำเลยได้นำไประคนปนกันกับเงินของจำเลยที่อยู่ในบัญชีอื่น และนำมาใช้จ่ายส่วนตัว จึงไม่รู้ว่าเงินใดเป็นเงินปกติ เงินใดเป็นเงินผิดกฎหมาย
จึงต้องวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่เบิกถอนเงินในลักษณะเป็นการใช้จ่ายส่วนตัว คราวละไม่มาก จึงไม่ใช่บัญชีธุรกิจที่จะใช้ในการลงทุนประกอบธุรกิจ ที่จำเลยเบิกความว่าสามารถนำเงินของจำเลยจำนวนอื่นมาคืนเมื่อใดก็ได้ก็เป็นความผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจ และการประกอบธุรกิจปกติ พฤติการณ์จึงเป็นการรับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สิที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มาแหล่งที่ตั้ง การโอนซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิด
@พิพากษาคุก 4 ปี
จำเลยจึงรู้หรือควรรู้ว่าเงิน 10 ล้านบาทที่ได้รับมาจากนายวิชัยเป็นเงินส่วนหนึ่งของสินเชื่อธนาคารกรุงไทยที่อนุมัติให้เครือกฤษดามหานคร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5 (1) (2) พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
อ่านประกอบ :
ไม่รู้ว่าเงินจากการทำผิด! ละเอียดคำพิพากษายกฟ้อง‘พานทองแท้’คดีฟอกเงินกรุงไทย
‘พานทองแท้’รอด! ศาลยกฟ้องคดีฟอกเงินกู้กรุงไทย-เผยความเห็นแย้งควรสั่งคุก 4 ปี
EXCLUSIVE:เส้นทางเช็ค26ล.คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย ก่อน อัยการ-DSI สั่งไม่ฟ้อง ‘โอ๊ค-แม่เลขาฯพจมาน’
ศาลนัดพิพากษาคดีฟอกเงิน 25 พ.ย.- ‘โอ๊ค’ยันคำเดิม!ได้เช็ค 10 ล.ลงขันทำธุรกิจ
ดีเอสไอ ส่งสำนวนฟ้อง 'พานทองแท้' กับพวกฟอกเงินกรุงไทย
คณะทำงานดีเอสไอสอบเพิ่ม‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงินหลังถูกร้อง-ทั้งที่สรุปสั่งฟ้องแล้ว
ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/