"...เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงคดีของ นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าว มีความเหมือนสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ ศาลปกครองสูงสุด ก่อนหน้านี้ เป็นอย่างมาก ทั้งหลักการทางกฎหมาย ข้อเท็จจริงในคดี ทั้งในส่วนกระบวนการจัดประกวดราคาของคณะกรรมการคัดเลือก การยืนยันว่า รายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจของบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวกได้ รวมถึงประเด็นเรื่องของเวลา ที่ไม่ถือเป็นสาระสำคัญของคดีนี้..."
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจติดตามนำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง!
สำหรับกรณี บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดี ต่อ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดในขณะนี้ ว่า บทสรุปบรรทัดสุดท้ายคดีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร?
ในหลายตอนก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นแนวคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีกรณีเอกชนถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐอันเป็นผลมาจากการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนดลงทะเบียนเข้าร่วมการเสนอราคาที่เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว โดยพบนัยยะสำคัญของการตัดสินคดีส่วนใหญ่ว่า ข้อกำหนดเรื่องเวลา ถือเป็นสาระสำคัญของการเข้าร่วมประมูลไม่ว่าจะมาช้าหรือมาสายกี่วินาที หรือนาทีก็ตาม ถือเป็นแนวคำวินิจฉัยคดีมาโดยตลอด
หากจะมีการเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยใหม่ ว่าเวลาไม่ถือเป็นสาระสำคัญ จึงเข้าองค์ประกอบหรือเงื่อนไขตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ประธานศาลปกครองสูงสุด สามารถนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาตาม มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ระบุไว้ว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 94 ที่ระบุว่า ในคดีที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดต่อไปนี้ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นนั้นก็ได้ ได้แก่ (1) คดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ (2) คดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ (3) คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด (4) คดีที่มีทุนทรัพย์สูง
ส่วนคดีข้อพิพาทโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดในขณะนี้ จะเดินทางไปขั้นตอนที่ต้องมีการเสนอเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยตัดสินคดีใหม่จากที่ผ่านมาหรือไม่ ณ จนถึงเวลานี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้เช่นกัน (อ่านประกอบ : เอกชนแพ้ทั้ง 5 คดี! แนวคำวินิจฉัยศาล ปค.สูงสุด ยื่นประมูลไม่ทันเวลา, ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที)
อย่างไรก็ดี หากใครติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวคดีนี้มาโดยตลอด จะพบว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองข้อเสนอด้านราคา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ รับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกับไปดูรายละเอียดคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ ศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าว
พบข้อสังเกตที่น่าสนใจเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลในการออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 อันเป็นวันที่มีการกำหนดให้มีการยื่นซองข้อเสนอ มีผู้เข้ายื่นข้อเสนอ ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) กลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ผู้ฟ้องคดี
โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดสถานที่ในการรับซองข้อเสนอแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือซึ่งใช้เป็นห้องยื่นข้อเสนอ ห้องรับรองชาวต่างประเทศซึ่งใช้เป็นห้องพักคอย และห้อง Navy Club ซึ่งใช้เป็นห้องเก็บเอกสารข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว
ในการลงทะเบียนแสดงตนเพื่อเตรียมยื่นเอกสาร ผู้ฟ้องคดีได้มาลงทะเบียนตรงจุดลงทะเบียนหน้าห้องรับรองกองบัญชาการทองทัพเรือ เป็นกลุ่มแรกเมื่อเวลา 12.20 นาฬิกา กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส(BBS Joint Venture) มาลงทะเบียนเป็นกลุ่มที่สองเมื่อเวลา 12.56 นาฬิกาและกลุ่ม GrandConsotum มาลงทะเบียนเป็นกลุ่มสุดท้ายเมื่อเวลา 13.19 นาฬิกา
ในขณะที่มีการลงทะเบียนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการรับและตรวจสอบปริมาณหรือจำนวนเอกสารข้อเสนอ และเอกสารข้อเสนอยังอยู่ในความครอบครองของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละกลุ่ม
ภายหลังจากลงทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดให้ผู้ยื่นข้อเสนอไปพักคอยยังห้องรับรองชาวต่างประเทศ
เมื่อถึงเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งผู้ยื่นข้อเสอที่มีความพร้อมที่จะเข้ายื่นซองข้อเสนอ ให้เข้ายื่นซองข้อเสนอและตรวจสอบเอกสาร สำหรับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นให้คอยอยู่ในห้องพักคอย
กลุ่มกิจการ่วมค้าบีบีเอส (ฺฺBBS Joint Venur) ได้เข้ายื่นข้อเสอเป็นรายแรก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกลุ่ม Grand Consortium ได้เข้ายื่นข้อเสนอเป็นรายถัดมา ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งในการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอของกลุ่ม Grand Consortium ได้มีการจัดทำหนังสือยอมรับซองแบบมีเงื่อนไขในประเด็นเรื่องหลักฐานการซื้อเอกสารการคัดเลือก
ผู้ฟ้องคดีได้เข้ายื่นข้อเสนอเป็นสำดับสุดท้ายในเวลาประมาณ 16.45 นาฬิกา เสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา ในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอและตรวจสอบเอกสารของผู้ฟ้องคดี ไม่ได้มีการให้ออกหนังสือยอมรับซองแบบมีเงื่อนไขแต่อย่างใด
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้นำเอกสารข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม ไปจัดเก็บ ณ ห้อง Nay Club และมีการออกเอกสารแบบฟอร์มตรวจสอบการจัดเก็บข้อเสนอโครงการฯ ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย โดยในรายของผู้ฟ้องคดีมีการระบุในเอกสารแบบฟอร์มฯ ว่า เวลาที่มายื่น/ลงทะเบียน 12.20 นาฬิกา เอกสารซองที่ ๐ฉบับจริง จำนวน 1 กล่อง (6 แฟ้ม) สำเนาจำนวน 40 กล่อง เอกสารซองที่ 1 ฉบับจริง จำนวน 4 กล่อง สำเนาจำนวน 80 กล่อง เอกสารซองที่ 2 ฉบับจริงจำนวน 4 กล่อง สำเนาจำนวน 61 กล่อง เอกสารซองที่ 3 ฉบับจริงจำนวน 1 กล่อง สำเนาจำนวน 1 กล่อง และเอกสารซองที่ 4 ฉบับจริงจำนวน 1 กล่อง สำเนาจำนวน 10 กล่อง ระบุหมายเหตุไว้ในเอกสารว่า เอกสารซองที่ 1 อยู่ที่ห้องรับข้อเสนอเพื่อรอเปิดในเวลา 16.00 นาฬิกา ระบุชื่อและลายมือชื่อผู้ยื่นข้อเสนอ นายทรงธรรม ณ สงขลา ระบุชื่อและลายมือชื่อผู้รับซอง นาวาเอกธีรพงศ์ กระจ่างเนตร
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 กรรมการและเลขานุการของผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562 ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติเห็นชอบให้แจ้งผลการยื่นข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติรับข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีดังนี้
เอกสารซอง ที่ 0 ฉบับจริง จำนวน 1 กล่อง เอกสารซองที่ 1 ฉบับจริง จำนวน 4 กล่อง เอกสารซองที่ 2 ฉบับจริงจำนวน 3 กล่อง และเอกสารซองที่ 4 ฉบับจริงจำนวน 1 กล่อง และมีมติไม่รับข้อเสนอฉบับจริงและฉบับสำเนากล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และข้อเสนอฉบับจริงและฉบับสำเนากล่องที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา)
โดยระบุเหตุผลว่า ปรากฎข้อเท็จจริงจากคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสอซึ่งรายงานมาภายหลังวันยื่นข้อเสนอว่าเอกสารดังกล่วเป็นเอกสารที่ได้ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน ข้อ 31 (1)ประกอบ (3) โดยมีพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายนิ่งจากผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้แทนของผู้ฟัองคดีได้นำข้อเสนอกล่องที่ 6 และข้อเสนอกองที่ 9 เข้ามายังจุดลงทะเบียน ซึ่งตั้งอยู่หน้าห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ล่าช้ากว่าที่กำหนด
พร้อมกันนั้นได้แจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ให้เข้าร่วมการเปิดข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ในวันที่ 1 เมษายน 2562 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้อง Navy Club กองบัญชาการกองทัพเรือ ผู้พ้องคดีทั้ง 5 มีหนังสือ ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 คัดค้านมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเปิดข้อเสนอซองที่ 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด
เมื่อพิจารณาบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ประกอบข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในชั้นนี้แล้ว เห็นได้ว่าหลักการสำคัญของการดำเนินการเพื่อคัดเลือกหรือให้ได้มาซึ่งคู่สัญญาของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของรัฐ และในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกคู่สัญญานั้น
หลักกฏหมายดั่งเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักการให้มีการดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรม การพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการในกรณีนี้ และการปรับใช้ข้อกำหนดใดๆ ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จึงต้องยึดถือและให้สอดคล้องกับหลักการและหลักกฎหมายดังกล่าวเป็นสำคัญ
ในกรณีนี้ ถึงแม้ข้อ 31(1) ของเอกสารคัดเลือกฯ กำหนดให้มีการปิดการรับซองข้อเสนอในวันที่ 21 มีนาคุม 2562 เวลา 15.00 นาฬิกา และ (3) กำหนดว่าผู้ถูกฟ้องคดีและ/หรือบุคคลที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายจะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้ในข้อ 31 (1) ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของการดำเนินการยื่นข้อเสนอในคดีนี้เห็นได้ว่า การดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอในคดีนี้เป็นกระบวนการยื่นข้อเสนอในโครงการขนาดใหญ่ เป็นที่คาดหมายได้ตรงกันว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากการจะกำหนดให้มีการรับเอกสารเมื่อใด โดยวิธีการใด จึงต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน และต้องทำหนดเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการตรวจรับเอกสารเช่นว่านั้นให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับทราบเป็นการล่วงหน้า
แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกระบวนการรับและตรวจปริมาณของเอกสารอย่างชัดเจน และกลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกระบวนการให้ผู้ยื่นข้อเสนอแสดงตนว่าประสงค์จะเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอด้วยการให้ลงทะเบียนก่อน แล้ว หลังจากนั้นจึงมีกระบวนการรับและตรวจสอบเอกสารในลำดับถัดไป โดยการเรียกให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการรับและตรวจสอบเอกสารทีละราย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้เริ่มมีการตรวจเอกสารของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส (BBS Joint Venture) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา เป็นรายแรก
จากนั้นจึงดำเนินการรับและตรวจสอบเอกสารของกลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มของผู้ฟ้องคดีตามลำดับ ซึ่งการที่ปรากฎข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนี้ ไม่ได้ความว่าได้มีการขยายระยะเวลาซึ่งต้องกระทำเป็นลายลักษณ์ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ข้อ 31 (3) แต่มีความหมายที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ไม่ได้ยึดถือการขนหรือลำเลียงเอกสารใดให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนกายในเวลา 15.00 นาฬิกา เพราะโดยสภาพผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายจะต้องลำเลียงเอกสารมาเป็นระยะๆ ในระหว่างนั้น
อีกทั้งการที่ปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นนี้ว่า ในการเข้ายื่นเอกสารรายของผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการตรวจสอบและรับเอกสารจนครบถ้วนเรียบร้อยในวันนั้นแล้ว
โดยมีการออกเอกสารแบบฟอร์มตรวจสอบการจัดเก็บข้อเสนอโครงการฯ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีว่าได้ลงทะเบียนก่อนเวลา 15.00 นาฬิกา และไม่ปรากฏว่าได้มีการทักท้วงหรือท้วงติงเกี่ยวกับเอกสารของผู้ฟ้องคดีในวันนั้นแต่อย่างใด
ส่วนการอ้างถึงรายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอก็ไม่ได้ปรากฏว่าเป็นการทำรายงานขึ้นในขณะนั้น กรณีเป็นเพียงการอ้างถึงรายงานดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง
เช่นเดียวกับการอ้างถึงภาพถ่ายนิ่งที่ใช้อ้างว่ามีการลำเลียงเอกสารกล่องที่ 6 และเอกสารกล่องที่ 9 ผ่านจุดลงทะเบียนหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการทหารเรือในเวลา 15.09 นาฬิกานั้น ก็เป็นอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้รับมาในภายหลังวันที่มีการปิดรับซองเอกสารแล้ว
ประกอบกับเมื่อพิจารณาว่า เอกสารกล่องที่ 6 เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ซึ่งมีเอกสารฉบับจริงทั้งหมด จำนวน 4 กล่อง และเอกสารกล่องที่ 9 เป็นซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา ซึ่งมีเอกสารจำนวน 1 กล่อง ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ส่วน ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้จะต้องมีการเปิดซองของเอกสาร ณ ขณะนั้นด้วยแต่อย่างใด
โดยหลังจากที่มีการตรวจและรับเอกสารดังกล่าวแล้วก็จะนำไปเก็บรักษาในความครอบครองของของผู้ถูกฟ้องคดี ณ ห้อง Navy Club ซึ่งผู้ยื่นข้อข้อเสนอไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือ ล่วงรู้ถึงรายละเอียดข้อมูลของเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 และเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนออื่นได้
ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการนำเอกสารกล่องที่ 6 และเอกสารกล่องที่ 9 ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีผ่านจุดลงทะเบียน หน้าห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือเมื่อเวลา 15.09 นาฬิกา จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟัองคดีจะนำมาใช้พิจารณาว่ามีข้อบกพร่องในการยื่นข้อเสนอที่เป็นสาระสำคัญ
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาใช้ดุลยพินิจปฏิเสธไม่รับซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 ทั้งฉบับตัวจริงและสำเนา จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้ายกฎหมาย ซึ่งการปฏิเสธไม่รับเอกสารในส่วนดังกล่าวอันเป็นผลให้ ผู้ฟ้องคดีไม่อาจเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกนั้น หาใช่เป็นเพียงการที่ผู้ฟ้องคดีเสียโอกาสดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างเท่านั้น
หากแต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรรม โดยหากกระบวนการคัดเลือกในครั้งนี้ได้ดำเนินการต่อไปในขั้นตอนต่างๆ โดยศาลไม่ได้พิจารณาถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง เพราะผู้ฬองคดีย่อมไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญาของรัฐอย่างสิ้นเชิง
อีกทั้งเมื่อได้พิเคราะห์ถึงว่า การดำเนินการก่อสร้างตามโครงการนี้ต้องมีระยะเวลาการดำเนินการตามสมควร หาใช่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาอันสั้นแต่อย่างใดไม่ การให้กระบวนการคัดเลือกคู่สัญญาของรัฐสามารถดำเนินการโดยเปิดเผย โปรงใส และมีการเปิดโอกาสให้มีการเข้าร่วมแข่งขันที่เป็นธรรม จึงหาได้ถึงขนาดเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะแต่อย่างใดไม่
กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะให้มีการทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา ของผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับพิจารณาเอกสารดังกล่าว ของผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไป
จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดี แจ้งตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กผอ.ทร.182/2562 ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา ของผู้ฟ้องคดี
(อ่านฉบับเต็มที่นี่ http://bit.ly/35LOLSQ)
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ ศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินไว้ ก่อนหน้าที่ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีนี้ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา
ขณะที่ ในการนัดพิจารณาคดีดังกล่าว นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า จากที่ได้ศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกาศของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ข้อเท็จจริงในคดีแล้ว เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ การจะดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรับเอกสาร ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน มีการแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประมูลทราบล่วงหน้า เพื่อความโปร่งใส แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีกระบวนการรับและตรวจเอกสารโดยวิธีการใดอย่างชัดเจน
ในวันที่ 21 มี.ค. 62 ซึ่งเป็นวันยื่นข้อเสนอมีเพียง ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลลงทะเบียนก่อน และให้ไปพักรอในห้องพักคอย ทำให้ บริษัทธนโฮลดิ้งสามารถทำการจัดและเพิ่มเอกสารบางรายการได้ จนเมื่อใกล้เวลา จึงให้บริษัทที่ประสงค์จะยื่นข้อเสนอไปยื่นเอกสาร ซึ่งเป็นกระบวนการรับและมีการตรวจเอกสารที่ละราย โดยรายแรกยื่นในเวลา 15.00 น. แสดงให้เห็นว่ากระบวนยื่นข้อเสนอดังกล่าวไมได้ยึดถือการขน ลำเลียงเอกสาร ให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.00 น.
นายเชี่ยวชาญ แถลงต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด ยื่นเอกสารแล้วมีการตรวจรับโดยไม่มีการทักท้วง หรือออกใบรับอย่างมีเงื่อนไขให้แต่อย่างใด จึงถือได้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้มีการตรวจสอบเอกสารจนครบถ้วนแล้ว ส่วนที่มีการอ้างถึงรายงานคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอ รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนในเวลา 15.09 น. ก็เป็นการอ้างเอกสารที่เกิดขึ้นภายหลัง และเมื่อพิจารณาเอกสารกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจแล้วก็ไม่ใช่เอกสารที่กำหนดให้ต้องมีการเปิดซอง ณ ขณะนั้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถที่จะนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือล่วงรู้ข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ ดังนั้น รายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจของบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวก จึงเสนอให้องค์คณะศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงคดีของ นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าว มีความเหมือนสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของ ศาลปกครองสูงสุด ก่อนหน้านี้ เป็นอย่างมาก
ทั้งหลักการทางกฎหมาย ข้อเท็จจริงในคดี ทั้งในส่วนกระบวนการจัดประกวดราคาของคณะกรรมการคัดเลือก การยืนยันว่า รายงานของคณะทำงานรับและจัดเก็บเอกสาร รวมถึงภาพถ่ายการลำเลียงเอกสารจึงไม่อาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอด้านราคาและแผนธุรกิจของบริษัทธนโฮลดิ้งกับพวกได้ รวมถึงประเด็นเรื่องของเวลา ที่ไม่ถือเป็นสาระสำคัญของคดีนี้
ข้อมูลนี้ จึงนับเป็นข้อสังเกตใหม่อีกหนึ่งประเด็น เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาคดีนี้ของศาลปกครองสูงสุด ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!
(อ่านข่าวประกอบ : ตุลาการแถลงคดีศาลปค.สูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯ ชนะคดีอู่ตะเภา-ทร.แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้าง, ชัดๆ จุดยืนคำแถลง'กลุ่มซีพีVS.ทร.' คดีอู่ตะเภา2แสนล. 'ให้ปย.รัฐมาก-ทำลายระบบซื้อจ้าง')
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลปค.สูงสุด อ้างจราจรติดขัดยื่นประมูลสาย 39 วิฯ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/