"... หากจะมีการเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยใหม่ ว่าเวลาไม่ถือเป็นสาระสำคัญ จึงเข้าองค์ประกอบหรือเงื่อนไขตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ประธานศาลปกครองสูงสุด สามารถนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาตามมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ระบุไว้ว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่..."
ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่สาธารณชนให้ความสนใจ และจับตามองอย่างใกล้ชิด!
สำหรับการพิจารณาคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของศาลปกครองสูงสุด กรณี บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดี ต่อ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท
ว่าบทสรุปบรรทัดสุดท้ายของคดีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี หากสาธารณชนยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยสืบค้นข้อมูลคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินคดีกรณีเอกชนถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐอันเป็นผลมาจากการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนดลงทะเบียนเข้าร่วมการเสนอราคาไปแล้ว
เป็นคดีที่กรมทางหลวงชนบท ถูกเอกชนรายหนึ่งฟ้องร้อง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาไม่ทันเวลาลงทะเบียนโดยช้าไปเพียง 39 วินาที อ้างสาเหตุมาจากการจราจรติดขัดมากและมีการชุมนุมประท้วงบริเวณทำเนียบรัฐบาลทำให้รถติดสะสมเป็นวงกว้าง
เบื้องต้น ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า เหตุผลที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทันไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่หลักประกันซองมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามกฎหมาย เห็นควรลดลงเหลือร้อยละ 20 ของหลักประกันซอง เป็นเงินจำนวน 115,000 บาท พิพากษาให้กรมฯ คืนเงินหลักประกันซองให้ผู้มีสิทธิเสนอราคา 460,000 บาท
ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุด จะกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง ให้ กรมทางหลวงชนบท ชนะคดี เพราะเห็นว่า การที่ผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทัน ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ไม่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพการจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร และใช้ข่าวสารดังกล่าววางแผนการเดินทางให้รัดกุมดังเช่นที่วิญญูชนพึงกระทำ และการยึดหลักประกันซองผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ และเสียประโยชน์ที่จะได้รับการแข่งขันการเสนอพัสดุที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้มีสิทธิเสนอราคารายอื่น เป็นมาตรการลงโทษเพื่อให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องเข้าร่วมการเสนอราคา โดยมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด LOG IN เข้าสู่ระบบ มีการเสนอราคา รวมถึงลงลายมือชื่อในแบบ บก. 008 แบบยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เมื่อผู้มีสิทธิเสนอราคาผูกพันตนตามประกาศประกวดราคาของกรมฯ ด้วยความสมัครใจจึงย่อมต้องพิจารณาข้อกำหนดของประกาศอย่างรอบคอบ และเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิเสนอราคาที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ
เมื่อผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาลงทะเบียนไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด โดยมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย จึงเป็นความผิดของผู้มีสิทธิเสนอราคา เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของกรมฯ ทุกประการอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลปกครองจะลดหลักประกันซองแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดเพิ่มเติม พบว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สายสัมพันธ์ ฟ้อง กรมทางหลวงชนบท และปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา
เมื่อตรวจสอบฐานข้อมูลคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดเพิ่มเติม พบว่า ยังมีอีก 4 คดี ตัวอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับกรณีเอกชน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ อันมีสาเหตุมาจากการเดินทางมาลงทะเบียนเข้าร่วมการประกวดราคาไม่ทันตามกำหนด พร้อมถูกสั่งยึดหรือชดใช้หลักประกันซองการเข้าร่วมประกวดราคาเช่นกัน
ขณะที่แนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เห็นว่าข้ออ้างที่ฝ่ายเอกชนยื่นอุทธรณ์ ไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยบางกรณีเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายเอกชน ที่ไม่สนใจใส่ใจวางแผนการประกวดราคาเอง พร้อมพิพากษากลับคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ให้ฝ่ายเอกชนแพ้ หรือเห็นว่ายอดเงินประกันซองที่ริบไว้มีราคาสูงไป สั่งคืนให้บางส่วน
สรุปรายละเอียดคดีแต่ละกรณีได้ดังต่อไปนี้
@ คดีบริษัท เจมิไนย แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด ฟ้อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพวก รวม 11 ราย ศาลปกครองสูงสุด ตัดสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2556
เป็นคดีเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียน 5 ชั้น โรงเรียนวัดทรัพย์สโมสร และโรงเรียนวัดพระยาปลา ของ สำนักงานเขตหนองจอก ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2552 ขั้นตอนการประกวดราคากำหนดให้มีการวางหลักประกันซองพร้อมกับยื่นเอกสารทางด้านเทคนิค รวมวงเงิน 2 โครงการ อยู่ที่ 1,484,000 บาท มีการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมาลงทะเบียนเสนอราคาด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 18 มี.ค. 2552 ณ บริษัท พันธวณิช จำกัด อาคารลุมพินีทาวเวอร์ ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร
แต่ปรากฎว่าในวันลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา ผู้ฟ้องคดี มีรายการประมูลงานจ้างกับกทม. หลายรายการ จึงได้มอบหมายให้ นาย อ. ประจำอยู่ที่ตลาดกลางบริษัท พันธวณิช จำกัด เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาประมูลงานจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียน 2 แห่ง และมอบหมายให้ นางสาว จ. ประจำอยู่ที่ตลาดกลาง บริษัทนิวตรอนการประมูล จำกัด เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาประมูลงานรายการอื่น
แต่เอกสารโครงการของบุคคลทั้งสองสลับกัน ตัวแทนทั้งสองราย จึงต้องรีบเดินทางออกมาจากตลาดกลางเพื่อเปลี่ยนสถานที่ใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อไปลงทะเบียนให้ทันตามกระบวนการเสนอราคา
แต่ในส่วนของ นางสาว จ. ระหว่างเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์รับจ้างเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน และยางรั่ว จึงไปถึงสถานที่ไม่ทันกำหนดเวลาลงทะเบียน
ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การที่ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีมาไม่ทันเวลาลงทะเบียน เพื่อเข้าสูกระบวนการเสนอราคาประมูลงานจ้างเหมาก่อสร้าง อาคารเรียน ทั้ง 2 แห่ง เกิดจากความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีที่ไม่มีความรอบคอบในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการเสนอราคาให้ถูกต้อง ตรงกับสถานีในการประมูล
ส่วนการเกิดอุบัติรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถของผู้อื่น และยางรั่ว เป็นเหตุที่เกิดจากความประมาทซึ่งสามารถใช้ความระมัดระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน อีกทั้งเป็นเหตที่เกิดขึ้นภายหลังจากความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีในการจัดเตรียมเอกสารแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นจึงไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด
ขณะที่ข้ออ้างว่า กทม.จัดประกวดราคา จำนวน 45 โครงการ ภายใน 4 วัน ใช้ตลาดกลางประมูลถึง 3 แห่ง โดยมิได้แจ้งสถานที่ประมูลให้ผู้ฟ้องคดีทราบตั้งแต่ต้น ก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะการถูกยึดหลักประกันซองในคดีนี้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของผู้ฟ้องคดีในการจัดเตรียมเอกสารการประมูลสลับสถานที่การประมูลกัน จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงสถานที่ประมูลได้ภายในกำหนดเวลาลงทะเบียน
หากผู้ฟ้องคดีใช้ความระมัดระวังในการจัดเตรียมเอกสาร ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีก็สามารถลงทะเบียนได้ทันภายในกำหนดเวลา และ กทม.มีอำนาจริบหลักประกันซองของผู้ฟ้องคดีได้
@ คดีบริษัท ยิบอินซอย และแย๊คส์ จำกัด ฟ้อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2559
คดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซื้อ TELEPROTECTION EQUIPMENT WITH ACCESSORIES จำนวน 4 รายการ บริษัท ยิบอินซอย และแย๊คส์ จำกัด ได้แจ้งความประสงค์จะเสนอราคาตามประกาศ พร้อมวางหลักประกันซองเป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันการจัดหาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนเงิน 1,542,000 บาท ให้ไว้ต่อผู้ถูกฟ้องคดี
ต่อมา บริษัท ยิบอินซอยฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคา มีการกำหนดการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 29 ต.ค.2552 เวลา 11.00 น.ถึงเวลา 11.30 น. ณ บริษีท บีสไดเมนชั่นจำกัด ซึ่งในวันเวลาดังกล่าว ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 กีดขวางช่องทางจราจรทุกช่องทาง เป็นเหตุให้ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเดินทางไปเสนอราคาได้ทันตามกำหนดวันเวลา ก่อนที่จะถูกแจ้งเรื่องผิดสัญญาการประกวดราคา ชำระเงิน 1,542,000 บาท และผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำหนังสือแจ้งให้ธนาคาร ชำระเงินตามภาระค้ำประกัน ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความเดือนร้อน จึงนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง เพราะเห็นว่าการเดินทางไปไม่ทันเป็นเหตุสุดวิสัย
ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ตัวแทนผู้ฟ้องคดีมาไม่ทันเวลา เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ฟ้องคดีเอง เพราะมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าการประกวดราคาครั้งนี้ มีตัวแทนผู้ฟ้องคดี 1 ใน 2 ราย เดินทางไปถึงสถานที่ตลาดกลาง ก่อนกำหนดเวลาลงทะเบียน 30 นาที แต่ไม่อาจลงทะเบียนได้ เนื่องจากไม่มีหนังสือมอบอำนาจ ผู้แทนรายนี้ จึงไม่อาจเข้าสู่การลงทะเบียนได้ ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ส่งผู้แทนมาลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือพฤติการณ์อื่นใดที่ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดชอบ ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิ์ยึดหนังสือค้ำประกันการจัดหาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่เห็นสมควรให้ลดเบี้ยปรับที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้เรียกเอาจากผู้ฟ้องคดีลง
@ คดี บริษัท ชินทรัพย์วัฒนา จำกัด ฟ้อง กทม. ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2559
เป็นคดีเกี่ยวกับการประมูลจ้างปรับปรุงอาคารสำนักงานเขตจตุจักร วงเงิน 4,943,000 บาท กำหนดวันเวลาลงทะเบียนประมวลงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 29 มิ.ย.2552 ณ บริษัทสวนกุหลาบ เซอรารี่ซีล จำกัด ตั้งอยู่ที่ อาคารพหลโยธิน ชั้น 28 เขตพญาไท กทม. ตั้งแต่เวลา 13.00 ถึง 13.30 น. ทดสอบระยะตั้งแต่เวลา 13.30 ถึง 13.45 น. และเสนอราคาตั้งแต่เวลา 13.45 ถึง 14.15 น. แต่ปรากฎว่า ในวันเวลาดังกล่าวการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธิน บริเวณสถานที่เสนอราคาเป็นอย่างมาก เนื่องจากฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดน้ำท่วม ตัวแทนผู้ฟ้องคดี เดินทางไปล่าช้าประมาณ 15 นาที ก่อนจะถูกตัดสิทธิ์ และแจ้งให้จ่ายค่าปรับหลักประกันซองเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเสนอราคา เป็นจำนวน 247,150 บาท แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าสาเหตุความล่าช้าเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้
เบื้องต้น ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า พื้นที่บริเวนดังกล่าวการจราจรติดขัดอย่างหนัก นั้น เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การจราจรติดขัดตลอดเวลา เมื่อเวลาที่ฝนตกหนักจะยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น ประกอบกับข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตนิยมวิทยาว่า ในระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. 2552 ถึงวันที่ 4 ก.ค.2552 ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นพยานหลักฐานว่าจะมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบ่ายถึงค่ำ ซึ่งตรงกับช่วงเวลานัดหมายเสนอราคาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีน่าจะรู้หรือควรจะรู้แล้วว่าอาจจะมีเหตุฝนตกตามพยากรณ์อากาศที่กล่างอ้าง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการเดินทาง
แต่ผู้ฟ้องคดีก็มิได้หาทางป้องกันอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจราจรติดขัดดังกล่าว โดยการเตรียมแผนการเดินทางเอาไว้เป็นการล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไปลงทะเบียนไม่ทันเวลาเกิดจากเหตุสุดวิสัย หากแต่เกิดจากความประมาณเลินเล่อไม่ระมัดระวังเอาใจใส่ในการเข้าร่วมการประกวดราคา ซึ่งการที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วย
@ คดีบริษัท บีซีดีซี จำกัด ฟ้อง กรมทางหลวงชนบท ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562
เป็นคดีเกี่ยวกับการจ้างเหมาทำถนน ระยะทาง 5.800 กิโลเมตร ในราคากลาง 8,353,000 บาท ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เสนอราคาต้องวางหลักประกันซอง จำนวน 417,650 บาท กำหนดวันเวลาเสนอราคา คือ วันที่ 11 เม.ย.2550 เวลา 13.00 น. ณ อาคารสำนักงานบริหารลูกค้าจังหวัดสระบุรี
แต่เกิดกรณีผู้รับมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดี มีอาการหน้ามืดจะเป็นลม จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในทันที ระหว่างเดินทางไปยังสถานที่เสนอราคาดังกล่าว ซึ่งแพทย์ทำการรักษาวินิจฉัยว่า เกิดจากอาการเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีอาการแทรกซ้อนจากน้ำตาลในเลือดต่ำ หลังการรักษาได้รีบเดินทางไปยังสถานที่เสนอราคา ทั้งพยายามโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อแจ้งเหตุขัดข้องแต่ไม่มีผู้รับสาย ทำให้เข้าเสนอราคางานไม่ทัน ถูกยึดหลักประกันซอง อ้างอีกเช่นกันว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะจากข้อเท็จจริงสำนวนคดีพบว่า มีการมอบอำนาจให้ผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมการเสนอราคางานมากกว่า 1 โครงการ ในวันเดียวกัน ชี้ให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในการเข้าร่วมเสนอ ทั้งที่ เงื่อนไขการจัดซื้อจ้างให้สิทธิเอกชนสามารถส่งผู้แทนเข้าเสนอราคาได้ไม่เกิน 3 คน แต่กลับมอบอำนาจให้บุคคลเดียว ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน
ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นฟ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้องและให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีด้วย
ทั้งหมด นี่คือ ตัวอย่างคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด กรณีเอกชนถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐอันเป็นผลมาจากการที่ผู้เสนอราคามาไม่ทันเวลากำหนดลงทะเบียนเข้าร่วมการเสนอราคาที่เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว หากพิจารณานัยยะสำคัญของการตัดสินคดีจะพบว่า ข้อกำหนดเรื่องเวลา ถือเป็นสาระสำคัญของการเข้าร่วมประมูลไม่ว่าจะมาช้าหรือมาสายกี่วินาที หรือนาทีก็ตาม ถือเป็นแนวคำวินิจฉัยคดีมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี หากจะมีการเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยใหม่ ว่าเวลาไม่ถือเป็นสาระสำคัญ จึงเข้าองค์ประกอบหรือเงื่อนไขตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ประธานศาลปกครองสูงสุด สามารถนำเรื่องเข้าเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาตาม มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ระบุไว้ว่า ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่
ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 94 ที่ระบุว่า ในคดีที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดต่อไปนี้ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นนั้นก็ได้ ได้แก่ (1) คดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ (2) คดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ (3) คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด (4) คดีที่มีทุนทรัพย์สูง
ส่วนคดีข้อพิพาทโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดในขณะนี้
จะเดินทางไปขั้นตอนที่ต้องมีการเสนอเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยตัดสินคดีใหม่จากที่ผ่านมาหรือไม่
โปรดติดตามต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
(อ่านข่าวประกอบ : ตุลาการแถลงคดีศาลปค.สูงสุด เสนอให้กลุ่มซีพีฯ ชนะคดีอู่ตะเภา-ทร.แย้งทำลายระบบจัดซื้อจ้าง, ชัดๆ จุดยืนคำแถลง'กลุ่มซีพีVS.ทร.' คดีอู่ตะเภา2แสนล. 'ให้ปย.รัฐมาก-ทำลายระบบซื้อจ้าง')
อ่านประกอบ :
ย้อนคำพิพากษาศาลปค.สูงสุดริบประกันซอง5แสนยื่นประมูลช้า39 วิฯ เทียบคดีอู่ตะเภา2แสนล.สาย9นาที
ยกเหตุจราจรติดขัด-อย่ายึดถือเวลาสาย9น.! ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีอู่ตะเภาฯ 7พ.ย.นี้
กลุ่มซีพีสู้ต่อ! อุทธรณ์ศาลปค.สูงสุด ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ-ทร.ชิงประกาศผู้ชนะ 24 ก.ย.
กลุ่มซีพีแพ้! ศาลปค.กลาง ยกฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.-ยื่นซองเกินเวลา
รู้ผลแพ้ชนะ 21ส.ค.นี้! ศาล ปค.นัดอ่านคำพิพากษากลุ่มซีพี ฟ้องค้านมติอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.
กลุ่มซีพีฯพ่ายยกแรก! ศาลปค.ฯ ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฟ้องมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ
อุบผลไต่สวนมูลฟ้องค้านมติเลือกเอกชนพัฒนาอู่ตะเภาฯ2แสนล.- รองผบ.ทร. ขอทำข่าวแจก17 พ.ค.นี้
ทร.ยันโครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นธรรม-คาดพิจารณาคุณสมบัติเสร็จก่อนสิ้น พ.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/