"...การใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำที่ผ่านมา ยังไม่มีปัญหามากนัก ส่วนมากเกิดความล่าช้าในการซ่อมเมื่อเครื่องเสีย ผู้ดูแลไม่เข้าใจระบบ เมื่อเครื่องเสียต้องโทรหาศูนย์ระบบที่กรุงเทพ เขาจะเช็คในระบบว่าเสียตรงไหน แล้วจะแจ้งให้ผู้ดูแลแก้ไขเอง หากผู้ดูแลไม่รู้เรื่องไฟฟ้า ก็จะเป็นปัญหาในการซ่อมหรือต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องลงมาแก้ไขเอง จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นผลดีต่อชุมชนมากกว่าผลเสีย..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 37,500,000 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีน้ำดื่มที่สะอาด 15 แห่ง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาจัดซื้อเครื่องกรองน้ำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 2 ล้านบาท ณ จุดที่ติดตั้งอยู่บริเวณ ศูนย์เด็กกำพร้าดารุลฮาซานาต ถนนบูหงาลำไพ ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
เบื้องต้น ได้รับแจ้งข้อมูลจากผู้เคยใช้น้ำจากเครื่องรองน้ำระบบพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ว่า เคยไปรับน้ำมาดื่ม แต่พบว่าสภาพน้ำไม่ค่อยดีเท่าไร มีกลิ่นเหมือนสารคลอรีน น้ำออกจะมันๆนิดหนึ่ง ส่วนชาวบ้านที่พักอาศัยรอบบริเวณก็จะมาใช้บริการบ้าง แต่ปัจจุบันศูนย์เด็กกำพร้าขาดคนดูแลเด็กได้ปิดตัวลงไปแล้ว และไม่ทราบว่าเครื่องกรองน้ำยังใช้งานได้หรือไม่ (อ่านประกอบ : ล่อง 3 จว.ชายแดนใต้! ตามไปดูเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ตัวละ 2 ล. พบเสียจริงบางจุด)
คราวนี้ มาดูข้อมูลในพื้นที่จุดอื่นกันบ้าง?
จุดที่ลงตรวจสอบใหม่ คือ วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ ต.กอตอตือระ อ.รามัน ต.ยะลา ได้รับการยืนยันจาก นายยามิน ตือระปุปิ ผู้ดูแลเครื่องกรองน้ำฯ กล่าวว่า ปัญหาที่มีตอนนี้ส่วนมากเป็นเรื่องการดำเนินการของภาคส่วนราชการที่ไม่บูรณาการกัน เมื่อมีการขอความช่วยเหลือในเรื่องการบริหารจัดการ ก็ไม่ได้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร
"การใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำที่ผ่านมา ยังไม่มีปัญหามากนัก ส่วนมากเกิดความล่าช้าในการซ่อมเมื่อเครื่องเสีย ผู้ดูแลไม่เข้าใจระบบ เมื่อเครื่องเสียต้องโทรหาศูนย์ระบบที่กรุงเทพ เขาจะเช็คในระบบว่าเสียตรงไหน แล้วจะแจ้งให้ผู้ดูแลแก้ไขเอง หากผู้ดูแลไม่รู้เรื่องไฟฟ้า ก็จะเป็นปัญหาในการซ่อมหรือต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องลงมาแก้ไขเอง จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่โดยรวมก็ถือว่าเป็นผลดีต่อชุมชนมากกว่าผลเสีย" นายยามิน ระบุ
@ นายยามิน ตือระปุปิ
นายยามิน ยังเล่าให้ฟังว่า เป็นผู้ดูแลให้บริการน้ำดื่มกับชุมชน มีการทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านสามารถกินน้ำในราคาที่สบายใจ มีเงินก็จ่ายไม่มีก็ไม่เป็นไร งานมัสยิด งานบุญไม่เก็บ แค่ซื้อขวดแล้วบรรจุน้ำได้เลย ถ้าเป็นงานเลี้ยงส่วนบุคคลก็จะบริการเหมือนกัน จะให้เอาภาชนะมารับน้ำที่ที่จุดบริการได้เลย ส่วนเรื่องเงินแล้วแต่จะบริจาค 5 บาท 10 บาท ไม่ได้หวังที่ว่าจะทำธุรกิจโดยตรง ถือเป็นการช่วยชาวบ้านได้มีน้ำดื่มที่สะอาดมากกว่า
"ในช่วงที่น้ำไม่ขาดก็จะมีชาวบ้าน 100 กว่าหลังคาเรือนมาเอาน้ำจากตรงนี้ เขามาเติมเองไม่ต้องบริการให้เขา ส่วนค่าใช้จ่าย แล้วแต่เขา ถังละ 5 บาท 10 บาท เขาไม่มี เราก็ไม่ว่าอะไรเป็นการช่วยเหลือ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เราต้องมีทุกเดือน คือ ค่าไฟฟ้า เพราะเราใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็จริง แต่ปั๊มน้ำดิบเราต้องใช้ไฟฟ้าจากบ้าน"
นายยามิน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ปัญหาอีกอย่างของที่เจอ คือ น้ำอาจจะขาดในช่วงฤดูร้อน น้ำดิบจากต้นทางไม่มี ส่วนปัญหาของตัวเครื่องเสียไม่ค่อยมี แต่จะมีเรื่องของอายุการใช้งานของสาร เช่น คาร์บอน เมื่อใช้ไปนานๆคุณภาพจะเสื่อมจะต้องมีการเปลี่ยน เจ้าหน้าที่จะมาสอนวิธีการเปลี่ยน และหลอด UV มีการฝึกให้เราใช้สารส้มใช้ถุงมืออะไรแบบนี้ โดยรวมเครื่องกรองน้ำของที่นี่จะสามารถเดินเครื่องจริงๆประมาณ 80% เพราะมีปัญหาน้ำขาด"
"การซ่อมแซมแต่ละครั้งแรกๆ ในระยะ 1 ปี อยู่ในระยะประกันเขาจะเตรียมอุปกรณ์ตั้งไว้สารอะไรต่างๆ แต่ของเราไม่ได้เสียในระยะ 1 ปี แต่เขาจะชดระยะประกันให้ 2 ปี เขาจะเอาเครื่องที่เขาประกันซ่อมให้เราบางเครื่องถ้าเดินเครื่องตลอด 100% เขาจะประกัน ระยะ 1 ปี หลายครั้งที่มีปัญหาผมก็จะซ่อมเองเพราะผมทำเป็น เรื่องไฟฟ้าผมพอมีความรู้ "
"เครื่องกรองน้ำชุดนี้ ใช้ระบบที่เทคโนโลยีสูง พื้นที่ทั่วไปการซ่อมบำรุง ทำเองไม่ได้ เขาใช้ระบบ sim card online ไปที่ศูนย์กรุงเทพฯ เมื่อเราโทรไปแจ้งปัญหาเขาก็จะดูหน้าจอตามระบบมอเตอร์ ระบบนี้ดีพอสมควร แต่คนในพื้นที่ไม่สามารถทำได้ ต้องรอศูนย์ กทม. เช็ค ก่อน ถ้าอาการไม่หนักเขาจะสอนเราทำ แต่ถ้าอาหารหนัก เขาต้องเปลียนอะไหล่ จึงตรงนี้ที่ทำให้เกิดความล่าช้า ก็ทำให้เกิดปัญหา โชคดีจุดของผมๆมีพื้นฐานของการซ่อมไฟฟ้าบ้างแต่ถ้าจุดที่ผู้ดูแล ไม่มีทักษะในการไฟฟ้าก็ถือว่าแย่หน่อย " นายยามินกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นายยูโซ๊ะ สายามะ ผู้ดูแลเครื่องกรองน้ำที่ ม.4 ต.ปล่อยหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ยืนยันว่า เครื่องกรองน้ำที่จุดนี้ ไม่มีปัญหาชาวบ้านสามารถใช้บริการน้ำเป็นปกติ ยินดีถ้าจะเข้ามาตรวจสอบเครื่องกรองน้ำที่ชุมชน
ส่วน นายกามัง เวะยีแส ผู้ดูแลกรองน้ำที่ ม.2 ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี กล่าวว่า "ถ้าจะเข้ามาตรวจสอบเครื่องกรองน้ำต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงก่อน ตอนนี้เครื่องสามารถใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร 5 ปี ชาวบ้านยังใช้น้ำได้ปกติ ตอนนี้จะมีการรวมตัวจากเครือข่ายที่ดูแลเพื่อสอนวิธีการทำตลาดให้กับชุมชนเพื่อเกิดรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน ซึ่งบางจุดสามารถทำได้แล้วแต่บางจุดยังต้องเรียนรู้ไปก่อน"
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์ประจำคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วงเงิน 37,500,000 บาท ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงรายละเอียดส่วนประกอบเครื่องกรองน้ำ ตัวละ 2 ล้านบาท ว่า ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องซื้อมาจาก บริษัท กรุนฟอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น combo 11 ราคาตอนซื้ออยู่ที่ 1.15 ล้านบาท ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ชุดกรองอัลตร้าฟิลเตรชั่น ระบบทำความสะอาดเมมเบรน ชุดกำเนิดรังสียูวี เป็นต้น โดยได้วิเคราะห์ราคาเปรียบเทียบด้านเทคนิคแล้ว พบว่า บริษัท กรุนฟอร์สฯ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 2,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะที่ราคาของอุปกรณ์ที่ทำการประดิษฐ์ขึ้นมาเองนั้น มีราคาอยู่ที่ 600,000-700,000 บาท รวมพวกอาคารโรงเรือน หรือ ตู้คอนเทนเนอร์เข้าไปด้วยแล้ว และมีการหักค่าจ้างให้ สจล. 10 % ตามขั้นตอนของการทำวิจัย ราคาเครื่องทั้งหมดจะอยู่ที่ตัวละ 2 ล้านบาท
ผศ.ดร.ภูริศ กล่าวชี้แจงต่อว่า ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำนั้น ได้ทำการส่งผลน้ำดิบจากจุดติดตั้งเครื่องกรองน้ำทั้ง 15 แห่ง ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) และสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการทดลองก่อนออกแบบระบบเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย ขณะที่การออกแบบโครงการ มีการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ช่วงไฟไม่ดับหรือไฟตกเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ก็สามารถใช้งานได้ถึง 20 ชั่วโมง
ส่วนการดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำนั้น ผศ.ดร.ภูริศ ชี้แจงว่า ได้สร้างทีมเฉพาะกิจ 1 ทีม มีสมาชิก 7 คน มีความเชี่ยวชาญพิเศษสามารถซ่อม หรือ บำรุงรักษาเครื่องได้ และเข้าไปดูแลเครื่องกรองน้ำทั้ง 15 แห่งอยู่เป็นประจำด้วย
"ส่วนที่มีคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มีการถอดอุปกรณ์บางส่วนของเครื่องทั้ง 8 แห่ง ที่ไม่สามารถใช้งานได้มาเป็นอุปกรณ์สำรองสำหรับ 7 แห่งที่ยังใช้งานได้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะในการทำโครงการมีการสำรองอุปกรณ์ไว้อยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็ต้องรออุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เกิน 2 สัปดาห์สามารถใช้งานได้ครบทุก 15 แห่ง"
ผศ.ดร.ภูริศ ยังกล่าวยืนยันด้วยว่า "เครื่องกรองน้ำที่ใช้ในโครงการนี้ หากเปรียบเทียบกำลังการผลิต จะพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกรองน้ำตัวละ 5 แสนบาท ที่มีการพิสูจน์เรื่องความคุ้มค่าไปแล้วก่อนหน้านี้ แถมขนาดเครื่องยังใหญ่กว่าถึง 6 เท่าด้วย" (อ่านประกอบ : นักวิชาการ สจล. โต้ข้อมูลพื้นที่ 3 จว.ใต้ แจงยิบสเปคเครื่องกรองน้ำ 2 ล. เหมาะสมแล้ว)
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับจากในพื้นที่ ชาวบ้านยืนยันว่า ปัญญาสำคัญของการใช้งานในขณะนี้ อยู่ที่ความล่าช้าในการซ่อมแซมเครื่อง รวมถึงปัญหาการขาดน้ำในพื้นที่
อ่านประกอบ :
ล่อง 3 จว.ชายแดนใต้! ตามไปดูเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ตัวละ 2 ล. พบเสียจริงบางจุด
คนพื้นที่3จว.ใต้ สวนคำชี้แจง สจล.! แฉไส้ในเครื่องกรองฯ 2ล. เป็นค่า solar cell แค่ 9 หมื่น
ซื้อปั๊มจากบ.-อุปกรณ์ประดิษฐ์เอง! สจล.แจงใช้งบเครื่องกรองใต้ตัวละ2 ล. ค่าที่ปรึกษา7.5ล.
'สนธิรัตน์' รับลูกข่าว 'อิศรา' สั่งสอบเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล.
พนง.ยันมีส่วนร่วมแค่จำหน่ายตัวปั๊มน้ำ! ตามไปดูบ.ขายเครื่องกรองแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ2ล.
เปิดตัว บ.ขายเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.-เคยขายปั้มประปานครหลวง 1.5 ล.
วิจารณ์ขรม! พพ. ซื้อกรองน้ำแสงอาทิตย์แจก 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล้าน
ใหญ่กว่าศอ.บต.ซื้อ6เท่า! นักวิชาการแจงเครื่องกรองน้ำ 3จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.– มุ่งช่วย ปชช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/