คนพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ สวนกลับคำชี้แจง สจล. ทำโครงการแจกเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ตัวละ 2 ล้าน ยันขั้นตอนดำเนินงานมีข้อสังเกตเพียบ ล่าสุดใช้งานแล้วมีปัญหา 8 จาก 15 จุด ข้องใจ พพ.ใช้หลักเกณฑ์อะไรอนุมัติงบ หลังชำแหละไส้ในเครื่อง 2 ล้าน พบเป็นค่าอุปกรณ์พลังงานทดแทน solar cell แค่ 9 หมื่น ส่วนที่เหลือ 1,910,000 บาท เป็นอุปกรณ์เครื่องกรอง-อาคารโรงเรือนหาซื้อได้ตามท้องตลาด จี้เปิดเผยข้อมูลวิจัยก่อนดำเนินงาน ทั้งสภาพน้ำ รวมถึงช่องทางพีอาร์ เหตุทราบเรื่องน้อยมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดการตรวจสอบข้อมูลเชิงการดำเนินงานโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 37,500,000 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีน้ำดื่มที่สะอาด ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาจัดซื้อเครื่องกรองน้ำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 2 ล้านบาท ถือว่ามีราคาสูงมาก ดำเนินการทั้งหมด 15 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 30 ล้านบาท บวกค่าที่ปรึกษาโครงการเพิ่มอีก 7,500,000 บาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 37,500,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำหลายจุด ที่นำไปติดตั้งไว้เริ่มมีปัญหาขัดข้องในขั้นตอนการใช้งานเกิดขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์ประจำคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ ชี้แจงข้อมูลการดำเนินงานโครงการฯ ว่า เป็นการศึกษาต้นแบบระบบกรองน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการสร้างสุขนิสัยที่ดี ลดอัตราการเกิดโรคร้าย และส่งเสริมอาชีพพร้อมสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน ที่เวลามีปัญหาไฟตกบ่อย ต้องดื่มน้ำจากบาดาลที่เป็นน้ำกร่อย ขณะที่เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ราคาเครื่องละ 2,000,000 บาท ดังกล่าว จัดซื้อเครื่องปั๊มน้ำ เครื่องกรองแสง หรือ เครื่องชุดกำเนิดUV ระบบคอนโทรลน้ำ มาจากบริษัท กรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องกรองน้ำพลังแสงอาทิตย์ ส่วนอุปกรณ์ที่เหลือเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาเอง
ปัจจุบันเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นำไปติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ 15 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ 1. สถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามัสรอ 2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ตำบลปล่องหอย 3. มูลนิธิอัลบารอกะห์เพื่อพัฒนาสังคมและการศึกษา 4. สถาบันปอเนาะมูญัมมะอนูรูลญีนาน 5. กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบือมัง 6. มัสยิดซีรอณิลฮูดาบ้านบือยอง 7. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มธนาคารต้นไม้ 8. โรงเรียนรัศมีอิสลามวิทยาลัย 9. ศูนย์เด็กกำพร้าดารุลฮาซานาต 10. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนตำบลจอเบาะ 11. มูลนิธิอัสสาอาดะห์ (ศูนย์เด็กกำพร้า) 12. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านอาตะบือเระ 13. มูลนิธิเสริมสร้างความยุติธรรมและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 14. กลุ่มเกษตรกรผลิตน้ำดื่มช้างเผือก 15. มูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข
เบื้องต้น 7 แห่ง ใช้งานได้ตามปกติ คือ 1.กลุ่มเกษตรกรผลิตน้ำดื่มช้างเผือก 2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนตำบลจอเบาะ 3.มูลนิธิอัลบารอกะห์เพื่อพัฒนาสังคมและการศึกษา 4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ตำบลปล่องหอย 5.มูลนิธิอัสสาอาดะห์ (ศูนย์เด็กกำพร้า) 6.วิสาหกิจ ชุมชนกลุ่มธนาคารต้นไม้ 7.โรงเรียนรัศมีอิสลามวิทยาลัย ส่วนที่เหลือมีปัญหาการใช้งานเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น (อ่านประกอบ : ซื้อปั๊มจากบ.-อุปกรณ์ประดิษฐ์เอง! สจล.แจงใช้งบเครื่องกรองใต้ตัวละ2 ล. ค่าที่ปรึกษา7.5ล., ใหญ่กว่าศอ.บต.ซื้อ6เท่า! นักวิชาการแจงเครื่องกรองน้ำ 3จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.– มุ่งช่วย ปชช.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การดำเนินงานโครงการนี้ในพื้นที่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องกรองน้ำ และกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการขอสนับสนุนงบประมาณที่นำมาใช้ กล่าวคือ ระบบกรองน้ำใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมาก มีการติดตั้ง solar cell เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ และเป็นการสิ้นเปลืองเงินค่าอุปกรณ์เพื่อทำพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช่เหตุ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำหลายจุด ที่นำไปติดตั้งไว้หลายแห่งเริ่มมีปัญหาขัดข้องในขั้นการใช้งานเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่มีปัญหาเกิดขึ้นเล็กน้อยหรือมีปัญหาบางจุดตามที่ผู้รับผิดชอบโครงการจาก สจล.ชี้แจงข้อมูลไปก่อนหน้านี้
แหล่งข่าว ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการสนับสนุนเงินงบประมาณในการดำเนินงานโครงการนี้ มีข้อสังเกตหลายประการเช่นกัน อาทิ พพ.ได้จัดสรรเงินผ่าน สจล. สอดคล้องตามหลักเกณฑ์อะไร เนื่องจากปกติการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีเงื่อนไขหลัก คือ ตามแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทน สังเกตจากเงินงบประมาณ 2 ล้านบาทต่อ แห่งคิดเป็นค่าอุปกรณ์พลังงานทดแทน solar cell ขนาด 1.5 kW วงเงิน 90,000 บาท ส่วนอีก 1,910,000 บาท เป็นการจัดซื้อค่าอุปกรณ์เครื่องกรองน้ำพร้อมอาคารโรงเรือน หรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งสามารถจัดหาได้ในท้องตลาดทั่วไป คิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณที่นำมาใช้พลังงานทดแทนเพียง 4.5% ของมูลค่าโครงการ เท่าที่ทราบมติการใช้เงินกองทุนฯอ้างจากอิงจากเหตุผลในการเก็บภาษีน้ำมันจากประชาชนทั่วประเทศและได้สรุปวัตถุประสงค์การใช้เงินชัดเจน การกล่าวอ้างของทาง สจล. หรือเหตุผลของทางพพ.ก็ดี สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินหรือไม่อย่างไร
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตามที่ทาง สจล.กล่าวอ้างว่ามีการพัฒนางานวิจัยฯแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ ย่อมแสดงว่าทาง พพ. อนุมัติวงเงินค่าที่ปรึกษาอีก 7.5 ล้านบาท ให้ทำการวิจัยแสดงว่าการสนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้เป็นการอนุมัติภายใต้หมวดงานวิจัยด้านพลังงานทดแทนใช่หรือไม่ และทางสจล.ได้รายงานผลวิจัยเป็นงวดงานกับทางพพ.และมีคณะทำงานและบุคคลากรสอดคล้องกับมูลค่างานวิจัยหรือไม่ เพราะหากทาง สจล. มีการทำวิจัยจริงคงต้องสอบถามว่ามีการนำแหล่งน้ำดิบจากทั้ง 15 แห่งมาตรวจสอบและทดสอบก่อนดำเนินการออกแบบหรือไม่และใช้หน่วยงานไหนรับรองผลการวิเคราะห์น้ำ ซึ่งตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนได้ จะต้องมีการสอบถามประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบข้อมูลโครงการนี้มากนัก จึงต้องถามว่า สจล.เผยแพร่ข้อมูลผ่านสาธารณะโดยใช้วิธีใดกันแน่
"การกล่าวอ้างเรื่องความจำเป็นในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตกดับมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการผลิตน้ำดื่มแบบนี้ ในเมื่อจากการสำรวจจุดติดตั้ง 15 แห่ง ในหลายๆแห่ง พบว่าอุปกรณ์ติดตั้งอยู่ในบ้านของเอกชนส่วนบุคคลรวมทั้ง solar cell ขนาด 1.5 kW จะสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยได้ 5 หน่วยไฟฟ้า/วัน(5 kWh/day) หรือคิดเป็นประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 20-25 บาท/วัน แล้วสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ปั้มสูบน้ำในระบบสูบน้ำได้เพียงพอหรือไม่ เรื่องคงจะต้องสอบถามทาง สจล.ว่าได้วิเคราะห์หรือวิจัยเรื่องนี้ไว้อย่างไร ที่สำคัญทาง สจล.เคยลงพื้นที่ขอข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่เกี่ยวกับความถี่ของไฟฟ้าตกดับก่อนออกแบบโครงการหรือไม่ รวมถึงในส่วนของการเตรียมอุปกรณ์สำรองในการบำรุงรักษาทางสจล.ได้วางแผนไว้อย่างไร" แหล่งข่าวระบุ
พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เท่าที่ทราบจากจำนวน 15 แห่งพบว่ามีปัญหาการใช้งานแล้วจำนวน 8 แห่ง และปัจจุบันมีการถอดอุปกรณ์บางส่วนของทั้ง 8 แห่งมาเป็นอุปกรณ์สำรองสำหรับ 7 แห่งที่ยังใช้งานได้ แสดงว่ามีการซื้ออุปกรณ์เกินความจำเป็นและเตรียมการไว้ตั้งแต่แรก โดยใช้ 8 แห่งที่ทำงานไม่ได้เป็นอุปกรณ์สำรองใช่หรือไม่" แหล่งข่าวระบุ
อ่านประกอบ :
ซื้อปั๊มจากบ.-อุปกรณ์ประดิษฐ์เอง! สจล.แจงใช้งบเครื่องกรองใต้ตัวละ2 ล. ค่าที่ปรึกษา7.5ล.
'สนธิรัตน์' รับลูกข่าว 'อิศรา' สั่งสอบเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล.
พนง.ยันมีส่วนร่วมแค่จำหน่ายตัวปั๊มน้ำ! ตามไปดูบ.ขายเครื่องกรองแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ2ล.
เปิดตัว บ.ขายเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.-เคยขายปั้มประปานครหลวง 1.5 ล.
วิจารณ์ขรม! พพ. ซื้อกรองน้ำแสงอาทิตย์แจก 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล้าน
ใหญ่กว่าศอ.บต.ซื้อ6เท่า! นักวิชาการแจงเครื่องกรองน้ำ 3จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.– มุ่งช่วย ปชช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/