'ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์' นักวิชาการ สจล. แจงรอบ 2 การันตีเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ 3 จว.ชายแดนใต้ มีคุณภาพ เผยอุปกรณ์หลักซื้อต่อจาก บ.กรุนฟอร์ส รุ่น combo 11 ราคา 1.15 ล้าน ต้นทุนชิ้นส่วนที่เหลือบวกอาคารโรงเรือนอยู่ 6- 7 แสน หักค่าดำเนินการให้สถาบัน 10 % เรื่องคุณภาพน้ำเคลียร์หมด ก่อนออกแบบระบบส่ง มอ.-อย. ทดสอบแล้ว ไฟดับ-ตก ยังสามารถใช้งานได้ 20 ชม.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 37,500,000 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและสนับสนุนงบประมาณ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีน้ำดื่มที่สะอาด ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาจัดซื้อเครื่องกรองน้ำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เครื่องละ 2 ล้านบาท ถือว่ามีราคาสูงมาก ดำเนินการทั้งหมด 15 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 30 ล้านบาท บวกค่าที่ปรึกษาโครงการเพิ่มอีก 7,500,000 บาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 37,500,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำหลายจุด ที่นำไปติดตั้งไว้เริ่มมีปัญหาขัดข้องในขั้นตอนการใช้งานเกิดขึ้น (อ่านประกอบ : ล่อง 3 จว.ชายแดนใต้! ตามไปดูเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ตัวละ 2 ล. พบเสียจริงบางจุด)
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2562 ผศ.ดร.ภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์ประจำคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบและติดตั้งระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วงเงิน 37,500,000 บาท ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงรายละเอียดส่วนประกอบเครื่องกรองน้ำ ตัวละ 2 ล้านบาท ว่า ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องซื้อมาจาก บริษัท กรุนฟอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น combo 11 ราคาตอนซื้ออยู่ที่ 1.15 ล้านบาท ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ชุดกรองอัลตร้าฟิลเตรชั่น ระบบทำความสะอาดเมมเบรน ชุดกำเนิดรังสียูวี เป็นต้น โดยได้วิเคราะห์ราคาเปรียบเทียบด้านเทคนิคแล้ว พบว่า บริษัท กรุนฟอร์สฯ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 2,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะที่ราคาของอุปกรณ์ที่ทำการประดิษฐ์ขึ้นมาเองนั้น มีราคาอยู่ที่ 600,000-700,000 บาท รวมพวกอาคารโรงเรือน หรือ ตู้คอนเทนเนอร์เข้าไปด้วยแล้ว และมีการหักค่าจ้างให้ สจล. 10 % ตามขั้นตอนของการทำวิจัย ราคาเครื่องทั้งหมดจะอยู่ที่ตัวละ 2 ล้านบาท
ผศ.ดร.ภูริศ กล่าวชี้แจงต่อว่า ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำนั้น ได้ทำการส่งผลน้ำดิบจากจุดติดตั้งเครื่องกรองน้ำทั้ง 15 แห่ง ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) และสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการทดลองก่อนออกแบบระบบเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย ขณะที่การออกแบบโครงการ มีการสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ช่วงไฟไม่ดับหรือไฟตกเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ก็สามารถใช้งานได้ถึง 20 ชั่วโมง
ส่วนการดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำนั้น ผศ.ดร.ภูริศ ชี้แจงว่า ได้สร้างทีมเฉพาะกิจ 1 ทีม มีสมาชิก 7 คน มีความเชี่ยวชาญพิเศษสามารถซ่อม หรือ บำรุงรักษาเครื่องได้ และเข้าไปดูแลเครื่องกรองน้ำทั้ง 15 แห่งอยู่เป็นประจำด้วย
"ส่วนที่มีคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มีการถอดอุปกรณ์บางส่วนของเครื่องทั้ง 8 แห่ง ที่ไม่สามารถใช้งานได้มาเป็นอุปกรณ์สำรองสำหรับ 7 แห่งที่ยังใช้งานได้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะในการทำโครงการมีการสำรองอุปกรณ์ไว้อยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็ต้องรออุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เกิน 2 สัปดาห์สามารถใช้งานได้ครบทุก 15 แห่ง"
ผศ.ดร.ภูริศ ยังกล่าวยืนยันด้วยว่า "เครื่องกรองน้ำที่ใช้ในโครงการนี้ หากเปรียบเทียบกำลังการผลิต จะพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกรองน้ำตัวละ 5 แสนบาท ที่มีการพิสูจน์เรื่องความคุ้มค่าไปแล้วก่อนหน้านี้ แถมขนาดเครื่องยังใหญ่กว่าถึง 6 เท่าด้วย"
อ่านประกอบ :
คนพื้นที่3จว.ใต้ สวนคำชี้แจง สจล.! แฉไส้ในเครื่องกรองฯ 2ล. เป็นค่า solar cell แค่ 9 หมื่น
ซื้อปั๊มจากบ.-อุปกรณ์ประดิษฐ์เอง! สจล.แจงใช้งบเครื่องกรองใต้ตัวละ2 ล. ค่าที่ปรึกษา7.5ล.
'สนธิรัตน์' รับลูกข่าว 'อิศรา' สั่งสอบเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์ 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล.
พนง.ยันมีส่วนร่วมแค่จำหน่ายตัวปั๊มน้ำ! ตามไปดูบ.ขายเครื่องกรองแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ2ล.
เปิดตัว บ.ขายเครื่องกรองน้ำแสงอาทิตย์จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.-เคยขายปั้มประปานครหลวง 1.5 ล.
วิจารณ์ขรม! พพ. ซื้อกรองน้ำแสงอาทิตย์แจก 3 จว.ใต้ แพงตัวละ 2 ล้าน
ใหญ่กว่าศอ.บต.ซื้อ6เท่า! นักวิชาการแจงเครื่องกรองน้ำ 3จว.ใต้ ตัวละ 2 ล.– มุ่งช่วย ปชช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/