"...ผู้ให้เช่าจะต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ สําหรับการซ่อมบํารุงรถ, น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์, น้ำมันเบรก, แบตเตอรี่, น้ำกลั่นแบตเตอรี่, สารหล่อเย็นหม้อน้ำ, ยางรถ และอะไหล่สิ้นเปลืองสําหรับการเปลี่ยนตามกําหนดการซ่อมบํารุง เพื่อให้รถเช่ามีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานครบจํานวนตามสัญญา, รถลากสัมภาระและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว รวมทั้งน้ำมันหล่อลื่นที่มีการถ่ายออก ผู้ให้เช่าต้องรีบดําเนินการขนย้ายออกนอกอาคารซ่อมบํารุง ไม่อนุญาตให้จัดเก็บในพื้นที่อาคารซ่อมบํารุงแม้จะมีภาชนะใส่ที่มิดชิดก็ตาม ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดจากการซ่อมบํารุงทั้งหมด.."
"คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูง ..มีกําลังฉุดลากสัมภาระ (Tractive Effort) ไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุตปอนด์ (at coefficient traction 0.8 with dry concrete) ... ชุดต่อลากสัมภาระทางด้านหลัง (Towing Coupling) เป็นแบบ E-Hitch โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IATA AIRPORT HANDLING MANUAL AHM916 เพื่อใช้ต่อพ่วงกับ Dolly และสามารถลากจูงขบวนสินค้าต่อพ่วงจํานวน 6 Dolly เฉลี่ยน้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม..."
คือ ข้อมูลสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูงสัมภาระ ของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำสัญญาเช่าจากบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (Panus Assembly) ในเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดงาน หรือ TOR โครงการการเช่าซื้อรถลากสัมภาระ ในส่วนสัญญาแรก จำนวน 24 คัน ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานรถลากจูงสัมภาระของบริษัท การบินไทยฯ ซึ่งคนในการบินไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารถลากจูงที่เช่ามาใช้งานใหม่ น่าจะเป็นรถจากประเทศจีน ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ารถลากจูงรุ่นดั้งเดิมที่การบินไทยซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา (อ่านประกอบ:เปิด TOR รถลากจูงบินไทย เช่าจาก บ.พนัสฯ ระบุชัดต้องลากได้ 5,000 ฟุตต่อปอนด์, ตามไปดู 'บินไทย' พิสูจน์มาตรฐานรถลากจูง เช่าจาก บ.พนัสฯ 54 คัน ของออสเตรเลีย-ประกอบจีน)
คราวนี้ มาดูข้อมูลในส่วนของ ภาระและความรับผิดชอบของบริษัทพนัสฯ ต่อการให้เช่ารถลากจูงสัมภาระกันบ้าง?
โดยในทีโออาร์ ระบุความรับผิดชอบของบริษัทพนัสฯ ในฐานะผู้ให้เช่ารถ ที่สำคัญดังต่อไปนี้
-ผู้ให้เช่าต้องจัดหาพนักงานเพื่อทําการซ่อมบํารุงรถลากจูง ไม่ต่ำกว่า 3 คน แบ่งเป็น หัวหน้างาน 1 คน และช่างซ่อมบํารุง 2 คน ให้มาประจําสถานีที่ซ่อมบํารุงตลอด 24 ชั่วโมง
โดยพนักงานของผู้ให้เช่าต้องจัดทําประวัติบุคคลตามแบบฟอร์มของผู้เช่า พร้อมแจ้งที่อยู่ปัจจุบันให้เป็นลายลักษณ์ อักษร พร้อมทั้งแนบแผนที่ที่พักอาศัยและแจ้งให้ผู้เช่าทราบทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรณีผู้เช่าตรวจพบไม่ตรงกับ ที่แจ้งไว้ จะส่งตัวคืนทันที
-ต้องจัดหาเครื่องแบบ และอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม ในการทํางาน พ.ศ. 2554 หรือฉบับล่าสุด โดยผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
- ต้องรับผิดชอบความเสียหายอันเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของผู้เช่า อันเกิดจากการกระทําหรืองดเว้นกระทําโดยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของพนักงานของผู้ให้เช่า
- ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชํารุดบกพร่องหรือโดยอาการกลไกของรถเช่าในวงเงิน ดังต่อไปนี้
1. ไม่เกิน 10,000 USD สําหรับความเสียหาย การสูญเสียของทรัพย์สิน การบาดเจ็บ การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นทุกครั้ง
2. ไม่เกิน 25,000 USD สําหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เครื่องบินทุกครั้ง
*โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้นํามารวมเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ (ดูภาพประกอบ)
ส่วนในรายละเอียดการซ่อมบำรุงนั้นใน TOR ระบุชัดเจนว่า
1. ผู้ให้เช่าจะต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ สําหรับการซ่อมบํารุงรถ, น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์, น้ำมันเบรก, แบตเตอรี่, น้ำกลั่นแบตเตอรี่, สารหล่อเย็นหม้อน้ำ, ยางรถ และอะไหล่สิ้นเปลืองสําหรับการเปลี่ยนตามกําหนดการซ่อมบํารุง เพื่อให้รถเช่ามีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานครบจํานวนตามสัญญา
2. รถลากสัมภาระและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว รวมทั้งน้ำมันหล่อลื่นที่มีการถ่ายออก ผู้ให้เช่าต้องรีบดําเนินการขนย้ายออกนอกอาคารซ่อมบํารุง ไม่อนุญาตให้จัดเก็บในพื้นที่อาคารซ่อมบํารุงแม้จะมีภาชนะใส่ที่มิดชิดก็ตาม
3. ผู้ให้เช่าจะต้องทําแผน กําหนดช่วงเวลาในการซ่อมบํารุงรักษารถลากจูง เพื่อขอความเห็นชอบจากผู้เช่าก่อนนําไปซ่อมบํารุง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้รถลากจูงของผู้เช่า
4. ผู้เช่าได้จัดเตรียมสถานที่สําหรับการซ่อมบํารุงตามรอบระยะเวลาการใช้งาน และการซ่อมทั่วไปให้ผู้ให้เช่าที่อาคาร G-7 ภายในเขตหวงห้ามของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) พื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร โดยผู้ให้เช่าต้อง ดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัย รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยของผู้เช่าโดยเคร่งครัด และควบคุม การใช้สาธารณูปโภค น้ำและไฟฟ้า ของอาคารอย่างประหยัด ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ซ่อมใหญ่หรือ Overhaul รถที่อาคาร G-7
5.ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดจากการซ่อมบํารุงตามข้อ 1,2 และ 3 (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งเบาะแสจากแหล่งข่าวในการบินไทยว่า ในทีโออาร์แม้จะมีการกำหนดให้ฝ่ายเอกชน เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาพนักงานรวมไปถึงการออกค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงรถอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่ที่ผ่านมามีการพบเห็นการใช้พนักงานการบินไทยเข้าไปช่วยทำงาน และบางครั้งก็มีใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของการบินไทย รวมถึงรถลากจูงด้วยและการบินไทยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายบางครั้งด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะมีการยืนเรื่องให้หน่วยงานตรวจสอบรับเรื่องไปตรวจสอบเป็นทางการต่อไป
ขณะที่เจ้าหน้าบริษัทการบินไทย ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การดำเนินงานโครงการเช่ารถลากจูงดังกล่าว เป็นไปตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้ทุกประการ โดยฝ่ายเอกชนมีการส่งพนักงานมาประจำทั้งสิ้น 3 คน ส่วนค่าซ่อมบำรุงนั้น ฝ่ายเอกชนเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง บริษัท พนัสฯ เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการนี้ทั้งหมดเพิ่มเติม
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ระบุว่า จะรีบส่งประเด็นข้อสังเกตที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอให้ผู้บริหารรับทราบเพื่อทำการชี้แจงข้อมูลเป็นทางการต่อไป
อ่านประกอบ :
เปิด TOR รถลากจูงบินไทย เช่าจาก บ.พนัสฯ ระบุชัดต้องลากได้ 5,000 ฟุตต่อปอนด์
ตามไปดู 'บินไทย' พิสูจน์มาตรฐานรถลากจูง เช่าจาก บ.พนัสฯ 54 คัน ของออสเตรเลีย-ประกอบจีน
สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?
บินไทยยันรถลากจูงกระเป๋า มีประสิทธิภาพปลอดภัยระดับสากล-รับเช่าจริง 54 คัน
คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR
เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/