"...คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูง ..มีกําลังฉุดลากสัมภาระ (Tractive Effort) ไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุตปอนด์ (at coefficient traction 0.8 with dry concrete) ... ชุดต่อลากสัมภาระทางด้านหลัง (Towing Coupling) เป็นแบบ E-Hitch โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IATA AIRPORT HANDLING MANUAL AHM916 เพื่อใช้ต่อพ่วงกับ Dolly และสามารถลากจูงขบวนสินค้าต่อพ่วงจํานวน 6 Dolly เฉลี่ยน้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม..."
" การเช่ารถลากจูงของการบินไทย ที่ดำเนินการไปแล้วมี 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการเช่าจำนวน 24 คัน เริ่มเช่าในช่วงปี 2560 ประมาณเดือน ก.ย. สัญญามีระยะเวลา 5 ปี ส่วนการเช่าในระยะที่ 2 อยู่ในช่วงเดือน ก.ย. 2562 จำนวน 30 คัน สัญญาประมาณ 5 ปี เช่นกัน"
"สรุปแล้วขณะนี้การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระที่เช่าจาก Bliss Fox ทั้งสิ้นประมาณ 54 คัน และเป็นรถยี่ห้อ Harlan ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกประมาณ 27 คัน เท่ากับว่า การบินไทยมีรถลากจูงสัมภาระประมาณ 81คัน อย่างไรก็ดี รถลากจูงสัมภาระยี่ห้อ Harlan นั้นขณะนี้มีอายุการใช้งานมากแล้วและการซ่อมบำรุงก็ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นด้วย คงจะทยอยปลดการใช้งานไป"
"ขอเรียนว่าทั้งรถรุ่น Harlan และรถรุ่น Bliss-Fox นั้นต่างก็มีค่าแรงดึงที่เหมือนกันก็คือประมาณ 6,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2,721 กิโลกรัม"
ทั้งหมดนี่ คือ คำสาระสำคัญในชี้แจงล่าสุด จากผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นของบริษัท การบินไทยฯ ที่ให้ต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ที่ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาร้องเรียนมาตรฐานรถลากจูงสัมภาระของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งคนในการบินไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารถลากจูงที่เช่ามาใช้งานใหม่ น่าจะเป็นรถจากประเทศจีน ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ารถลากจูงรุ่นดั้งเดิมที่การบินไทยซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ ทางผู้บริหารฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น ยืนยันว่า การบินไทยไม่ได้เช่ารถลากจูงสัมภาระมาจากประเทศจีนตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เป็นรถลากจูงจากออสเตรเลีย ยี่ห้อ Bliss-Fox F1-40 ส่วนเอกชนที่การบินไทย ได้ทำสัญญาเช่ารถลากจูงด้วยนั้น คือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ (Panus Assembly) (อ่านประกอบ : ตามไปดู 'บินไทย' พิสูจน์มาตรฐานรถลากจูง เช่าจาก บ.พนัสฯ 54 คัน ของออสเตรเลีย-ประกอบจีน, เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียดงาน หรือ TOR โครงการการเช่าซื้อรถลากสัมภาระ ในส่วนสัญญาแรก จำนวน 24 คัน ที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของรถลากสัมภาระ พบว่ามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ขอบเขตของการเช่ารถลากจูงรถลกสัมภาระ
1.1 เช่ารถลากจูงสัมภาระ ต้องเป็นรถใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน จํานวน 24 คัน/วัน โดยต้องเป็นรถจากโรงงาน ผู้ผลิตเดียวกัน
1.2 บริษัทฯ ทรงไว้ซึ่งสิทธิในการใช้รถเช่าในแต่ละวัน ได้ตามความจําเป็นของภารกิจ ตามที่เห็นสมควร (ระยะเวลาในการ ใช้งานรถเช่า ทุกวันเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมง/คันวัน)
1.3 กําหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี ( 60 เดือน) นับจากวันที่ผู้ให้เช่าส่งมอบรถจํานวน 24 คันและผ่านการตรวจสอบแล้ว
2. คุณลักษณะทั่วไปและคุณลักษณะเฉพาะของรถลากจูง
2.1 มีกําลังฉุดลากสัมภาระ (Tractive Effort) ไม่น้อยกว่า 5,000 ฟุตปอนด์ (at coefficient traction 0.8 with dry concrete)
2.2 ชุดต่อลากสัมภาระทางด้านหลัง (Towing Coupling) เป็นแบบ E-Hitch โดยเป็นไปตามมาตรฐาน IATA AIRPORT HANDLING MANUAL AHM916 เพื่อใช้ต่อพ่วงกับ Dolly และสามารถลากจูงขบวนสินค้าต่อพ่วงจํานวน 6 Dolly เฉลี่ยน้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม
3 ความสามารถขับเคลื่อนทําความเร็ว
3.1 ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อไม่ได้ลากสัมภาระ
3.2 ความเร็วไม่ต่ำกว่า 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อลากสัมภาระ 10,000 กิโลกรัม
3.3 ความเร็วไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อลากสัมภาระ 15,000 กิโลกรัม
3.4 สามารถขับเคลื่อนได้บนทางลาดชันที่ระดับ 5 (8.7%) ระยะทาง 30 เมตร ในขณะที่ลากสัมภาระ 10,000 กิโลกรัม
3.5 ใช้ระบบส่งกําลังแบบออโตเมติก (Automatic Transmission)
3.6 มีอุปกรณ์นับระยะเวลาใช้งานของรถลากจูง (hour meter)
3.7 มีระบบพาวเวอร์ ช่วยผ่อนแรงในระบบบังคับเลี้ยว
3.8 ระบบเบรกหน้า - หลังแบบ 2 วงจร พร้อมพาวเวอร์ ผ่อนแรง และมีระบบ Parking brake แบบ Manual
3.9 ระบบไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณทั้งด้านหน้า - ด้านหลัง เป็นไปตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก โดยสัญญาณไฟ เลี้ยวให้ติดตั้งทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง พร้อมติดตั้งเสียงสัญญาณเตือนขณะถอยหลัง โดยติดตั้งให้ได้ยิน ชัดเจนในขณะปฏิบัติงาน
3.10 ไฟสัญญาณขณะปฏิบัติงานเป็นแบบหมุนหรือแบบ Flash Light เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO annex 14 low intensity type C (Yellow) พร้อมสวิทซ์เปิด-ปิด
3.11 มีเบาะที่นั่งสําหรับผู้โดยสาร 1 ที่ทางด้านข้างของคนขับ
3.12 มีชุดโครงสร้างหลังคาที่ทําจากวัสดุเหล็ก มีความแข็งแรง ไม่มีชุดประตู ไม่มีกระจกบังลมทั้งด้านหน้า-หลัง ติดตั้งกระจกมองด้านหลังทั้งข้างซ้าย กึ่งกลางและข้างขวา
3.13 ติดตั้งกันชนและกันกระแทก โดยกันชนทําจากเหล็กที่มีความคงทน แข็งแรงพร้อมวัสดุกันกระแทกทําด้วยยางหรือ วัสดุเทียบเท่า ติดตั้งบริเวณกันชนด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง
3.14 ติดตั้งถังดับเพลิง มี Fire Rating เท่ากับ 6A20B ขนาด 10 ปอนด์ จํานวน 1 ถัง
3.15 ผู้ให้เช่าต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานคุณสมบัติของรถเช่าพร้อมรับรองความถูกต้อง แต่หากกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ เอกสารหลักฐานดังกล่าว ผู้ให้เช่าจะต้องนําเอกสารตัวจริงมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของบริษัทฯ ภายในเวลา กําหนด หากไม่นํามาแสดงจะถือว่าขาดคุณสมบัติ
3.16 รถลากจูงต้องผ่านการพิจารณาตรวจข้อมูลคุณลักษณะทางเทคนิคและทดสอบความสามารถจากกองวิศวกรรม (2E) ของผู้ว่าจ้างก่อนการส่งมอบรถเช่า และต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการลากจูงซ้ําทุก 3 เดือน ตลอด ระยะเวลาการเช่า
3.17 จัดทําหมายเลขรถ ตัวอักษรสีม่วง No.91149 ความสูงตัวอักษร 15.5 เซนติเมตร ความหนาตัวอักษร 2 เซนติเมตร เว้น ช่องไฟให้เหมาะสมตามพื้นที่ โดยติดหมายเลขทั้ง 4 ด้าน แบ่งเป็น ตัวรถด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหลังและด้านหน้าตรง ฝากระโปรงรถ
3.18 ตัวถังรถให้ใช้สีขาว (SPU-106) ตามมาตรฐานที่ผู้เช่ากําหนด (ดูภาพประกอบ)
**สามารถอ่าน TOR ฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1yumrnN-EeeziMpmiKc3i8sGI3MCa899F/view
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อร้องเรียนจากคนในการบินไทยว่า รถลากจูงที่การบินไทย เช่ามาใช้งานน่าจะเป็นรถจากประเทศจีนรุ่น JJCC Baggage Towing Tractor 2T-3T จะมีค่า Drawbar Pull หรือแปลว่าค่าแรงดึงที่ข้อลากอยู่ที่ประมาณ 2,000 -3,000 KG
ส่วน รถลากที่การบินไทยใช้อยู่ก่อนหน้านี้ คือ รถลากสัมภาระยี่ห้อ Harlan รุ่น HT 60 โดยรายละเอียดค่าแรงดึงของรถรถยี่ห้อ Harlan นั้นจะอยู่ที่ 6,000 LBS หรือ 2,722 Kg (อ่านประกอบ:สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?)
ขณะที่ในระหว่างการชี้แจงของผู้บริหารการบินไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา มีการยืนยันว่า รถลากจูงสัมภาระที่เช่ามาใช้งานจากบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ (Panus Assembly) ยี่ห้อ Bliss Fox โดยบริษัทพนัสฯ มีกลุ่มกิจการที่เข้าไปซื้อสายงานการผลิตรถลากจูงยี่ห้อ Bliss-Fox ที่เป็นของทางออสเตรเลียเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการประกอบรถนั้น บริษัทพนัสฯ จะสั่งประกอบรถขึ้นในโรงงานที่ประเทศจีน โดยใส่เครื่องยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเอาไว้เป็นเครื่องยนต์หลัก พอรถมาถึงประเทศไทย บริษัทพนัสฯ ก็จะมีการประกอบรถลากจูงสัมภาระให้เหมาะสมและถูกต้องตามเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างอีกที
และเมื่อมีการทดสอบคุณภาพรถให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราดู ทั้งการลากจูงสัมภาระและลากจูงแผ่นสร้างสมดุลที่ใช้บนเครื่องบินจำนวน 6 คันรถ (ดอลลี่) น้ำหนักโดยรวมทั้งสิ้น 17,700 กิโลกรัม หรือ17.7 ตัน มีการขับบนทางราบ ขับรถลงอุโมงค์ และขับรถขึ้นอุโมงค์ ซึ่งการทดสอบรถลากนั้น สามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
สำรวจข้อมูล รถลากสหรัฐ-จีน แบบไหนดีกว่า! หลังบินไทยถูกร้องเรื่องประสิทธิภาพ?
บินไทยยันรถลากจูงกระเป๋า มีประสิทธิภาพปลอดภัยระดับสากล-รับเช่าจริง 54 คัน
คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR
เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/