ฝ่ายภาพลักษณ์สื่อสารองค์กรการบินไทยฯ ทำหนังสือแจง 'อิศรา' ปมถูกร้องเรียนปัญหามาตรฐานรถลากจูงขนย้ายสัมภาระกระเป๋าเดินทางผู้โดยสาร ยันมีประสิทธิภาพให้บริการเพียงพอความต้องลูกค้า ช่วยประหยัดค่าใช้จากการซ่อมบำรุง เผยข้อมูลเช่า 2 สัญญา 54 คัน ใช้งานยาว 5 ปี บริษัทฯ คู่สัญญา ควบคุมดูแลเข้มงวด มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวกรณีรถลากจูงขนย้ายสัมภาระกระเป๋าเดินทางผู้โดยสาร ที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาเช่ามาใช้งานจากเอกชนรายหนึ่ง ถูกร้องเรียนว่ามีปัญหาขัดข้องในการใช้งานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กำลังเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ สามารถเข้าได้แค่เกียร์ 1 รถบางคันระหว่างการใช้งานเกิดปัญหาเครื่องยนต์ดับโดยไม่ทราบสาเหตุ จนต้องใช้รถลากจูงอีกคันมาค้นย้ายออกไป แถมรถบางคันยังเกิดสนิมขึ้น ทั้งที่ เพิ่งมีการนำรถเข้ามาใช้งานไม่นานนัก (อ่านประกอบ : เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ)
ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2562 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับรถลากจูงขนย้ายสัมภาระกระเป๋าเดินทางมีปัญหาขัดข้อง ซึ่งส่งผลต่อการให้บริการขนสัมภาระเดินทางของผู้โดยสารการบินไทย "เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ" นั้น
ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณสำนักข่าวอิศรา ที่กรุณาเป็นสื่อกลางสะท้อนความห่วงใยถึงการบินไทย
ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว และขอเรียนชี้แจงดังนี้
1. รถลากจูงสัมภาระผู้โดยสารที่ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น บริษัท การบินไทยฯ ให้บริการ เป็นรถไฟฟ้าที่ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีสภาพและคุณภาพการใช้งานอยู่ในระดับดี ส่วนรถไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานนานจะมีการซ่อมบำรุงเป็นระยะๆ ไม่มีปัญหาเรื่องระบบเกียร์ ซึ่งจะดูแลการซ่อมบำรุงโดยทีมวิศวกรและช่างซ่อมบำรุงที่มีประสบการณ์ของฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น จึงไม่พบปัญหากับการลากจูงสัมภาระผู้โดยสารแต่ประการใด
2. รถลากจูงสินค้า (Cargo) ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้นเช่าเพื่อลากจูงสินค้า (Caro) นั้น เป็นการเช่าใช้งาน ดังนี้
2.1 การเช่ารถลากจูงสินค้าพร้อมการซ่อมบำรุง จำนวน 24 คัน เพื่อทดแทนรถลากจูงรุ่นเก่าที่ชำรุด โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ระยะเวลา 5 ปี
2.2 การเช่ารถลากจูงสินค้าพร้อมการซ่อมบำรุง เพิ่มอีก 30 คัน เพื่อทดแทนรถลากจูงรุ่นเก่าที่ชำรุด โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ระยะเวลา 5 ปี
หลังจากที่ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น เช่ารถลากจูงสินค้ามาให้บริการ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซ่อมบำรุง และการบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเพียงพอต่อความต้องการของการบินไทย และสายการบินลูกค้า
อนึ่ง การเช่ารถลากจูงดังกล่าวให้บริการลากจูงอุปกรณ์สำหรับรองรับตู้หรือแผ่นที่ใส่สินค้า (Pallet Dolly) โดยให้บริการลากจูงสินค้าจากคลังสินค้าไป และกลับยังอากาศยาน โดยไม่ได้นำรถประเภทนี้ไปใช้ในการลากจูงกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามรายละเอียดประกอบการว่าจ้าง (TOR) ระบุให้รถลากจูงสินค้าชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสามารถลากจูงสินค้ารวมอุปกรณ์ลากจูงและต่อพ่วงได้รวมกันไม่น้อยกว่า 15,000 กิโลกรัม และจะต้องได้รับการตรวจสอบก่อนการให้บริการในทุกๆ วัน หากพบข้อขัดข้อง บริษัทผู้รับจ้างจะต้องแก้ไขในทันที โดยมีรถสำรองให้ใช้งานได้ตลอดเวลา
อีกทั้งบริษัทฯ ได้ควบคุมดูแลการใช้รถลากจูงสัมภาระของผู้โดยสาร และรถลากจูงสินค้า ให้เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล (ดูหนังสือชี้แจงประกอบ)
อนึ่ง ก่อนหน้าที่บริษัทการบินไทย ฯ จะหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในบริษัทการบินไทยฯ ว่า ก่อนหน้าที่บริษัทการบินไทยฯ จะทำสัญญาเช่ารถลากจูงขนย้ายสัมภาระกระเป๋าเดินของใหม่มาใช้งาน บริษัทการบินไทยฯ ได้จัดซื้อรถลากจูงที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการใช้งานรถประสบปัญหาเรื่องอะไหล่ในการซ่อมบำรุง ทางบริษัทการบินไทยฯ จึงได้ตั้งเรื่องเช่ารถลากจูงจากบริษัทเอกชนรายหนึ่งมาใช้งาน 24 คัน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 30 คัน ภายใต้สัญญาเช่าเดิม
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการนำรถลากจูงของใหม่มาใช้งานปรากฎว่า รถลากจูงถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องมาตราฐานว่าด้อยกว่าที่กำหนดไว้ในทีโออาร์(เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง) หรือไม่ อาทิ 1. รถลากจูงที่การบินไทยเช่ามานั้นสามารถลากดอลลีย์ (รถขนกระเป๋า) ได้แค่ 2-4 คัน แต่ในทีโออาร์ระบุว่าต้องลากได้จำนวน 6 คัน 2.ความเร็วขณะลากสัมภาระต่ำกว่าที่กำหนดในทีโออาร์ 3. รถลากจูงไม่สามารถขึ้นหรือลงเนินในสนามบินได้ขณะลากสัมภาระ ต้องให้รถอีกคันมาช่วยดัน และ 4.รถลากจูงนั้นใช้น้ำมันแทนที่จะเป็นแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความปลอดภัยในสนามบินได้ (อ่านประกอบ : คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR)
ทั้งนี้ ข้อมูลการทำสัญญาเช่ารถลากจูง จาก 24 คัน เป็น 30 คัน ที่ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในบริษัทการบินไทยฯ ตรงกับ ข้อมูลคำชี้แจงของ ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร ที่ระบุว่า รถลากจูงสินค้า (Cargo) ชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้นเช่าเพื่อลากจูงสินค้า (Caro) นั้น เป็นการเช่าใช้งาน ดังนี้
2.1 การเช่ารถลากจูงสินค้าพร้อมการซ่อมบำรุง จำนวน 24 คัน เพื่อทดแทนรถลากจูงรุ่นเก่าที่ชำรุด โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ระยะเวลา 5 ปี
2.2 การเช่ารถลากจูงสินค้าพร้อมการซ่อมบำรุง เพิ่มอีก 30 คัน เพื่อทดแทนรถลากจูงรุ่นเก่าที่ชำรุด โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ระยะเวลา 5 ปี
แต่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ว่า บริษัทเอกชนรายใด เป็นคู่สัญญาเช่ารถลากจูงสินค้าพร้อมการซ่อมบำรุง ทั้ง 2 สัญญา ดังกล่าว
อ่านประกอบ
คนบินไทย ส่งคลิปสอบรถลากกระเป๋าเพิ่ม ชี้เป้าใช้เครื่องยนต์จีน แฉคุณสมบัติต่ำกว่าTOR
เสี่ยงทรัพย์สินผู้โดยสารเสียหาย! คนบินไทย ร้องสอบมาตรฐานรถลากจูงขนกระเป๋าปัญหาเพียบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/