"...ประเทศไทยมีค่าความเข้มงวดในมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมุมมองของบริษัทข้ามชาตินั้นเห็นว่า ความเสี่ยงต่อการตรวจสอบบัญชีสำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุด และยังมีสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างเอื้อต่อการวางแผนภาษีระหว่างประเทศด้วย..."
"ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก บริษัทเหล่านี้น่าจะมีจำนวนประมาณหลักพันแห่ง ดังนั้น งานวิจัยฉบับนี้ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินและเครือข่ายความเป็นเจ้าของของบริษัทข้ามชาติในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนตั้งแต่ปี 2548-2559 พบว่า บริษัทข้ามชาติในอาเซียนมีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติและเศรษฐศาสตร์ โดยการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติลง 10 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลทำให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแห่งลงทุนถึง 10.3 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย"
คือ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฎในผลงานวิจัยเรื่อง “การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ สำคัญแค่ไหนสำหรับประเทศไทยและอาเซียน” ที่มีการจัดงานแถลงข่าวนำเสนอผลงานวิจัยเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2562 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีนายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ดำเนินการแถลงผลการวิจัยต่อสาธารณะในครั้งนี้
นายอธิภัทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการวิจัยว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีค่าความเข้มงวดในมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่เหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมุมมองของบริษัทข้ามชาตินั้นเห็นว่า ความเสี่ยงต่อการตรวจสอบบัญชีสำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุด และยังมีสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างเอื้อต่อการวางแผนภาษีระหว่างประเทศด้วย (ดูภาพประกอบ)
นายอธิภัทร ยังกล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวนั้น ทำให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หรือเรียกว่า พ.ร.บ. Transfer Pricing ซึ่งมีผลบังใช้ในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา
"ในความเห็นส่วนตัวของผม เชื่อมั่นว่าการออกกฎหมายฉบับนี้ นั้นจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำข้อมูลของรัฐบาลเพื่อตรวจสอบบริษัทข้ามชาติของมีสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายนั้นเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ จึงยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติมากนัก ต้องรอไปจนถึงช่วงสิ้นเดือน พ.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดการยื่นภาษีนิติบุคคลก่อน จึงจะทราบว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพในการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติมากน้อยแค่ไหน" นายอธิภัทรระบุ
สำหรับข้อสรุป ของงานวิจัยฉบับนี้ ที่เสนอแนะไปยังรัฐบาล คือ การให้ออกนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี 2 ประการ ดังต่อไปนี้
1.รัฐบาลควรเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาษีต่างประเทศ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างชาติ มีแรงจูงใจในการลดการรายงานกำไรในประเทศไทย และส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
2.รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบบัญชีซึ่งงานวิจัยได้ชี้ว่าระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบบัญชีมีประสิทธิผลอย่างมากในการลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติ
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับข้อสังเกตกรณีบริษัท facebook ที่มีสาขาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่มีบริษัทอยู่ในประเทศไทย แต่เข้ามาบริหารกิจการในประเทศไทยด้วย กรณีนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากการไม่ได้เก็บภาษีตรงนี้หรือไม่
นายอธิภัทร กล่าวว่า "กรณีนี้ก็เข้าข่ายเป็นการหลบเลี่ยงภาษีประเภทหนึ่ง โดยใช้จุดอ่อนการเก็บภาษีของประเทศไทยที่ไปมุ่งเน้นว่าต้องมีสถานประกอบการในประเทศไทย จึงสามารถเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติได้ ส่วนเหตุผลที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้เลือกประเทศสิงคโปร์นั้นก็เพราะว่าลักษณะทางกฎหมายของสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศดินแดนภาษีต่ำหรือ Tax Haven ที่เสียภาษีต่ำและไม่เปิดเผยข้อมูลธุรกิจเหมือนกับในประเทศอื่นๆ
“สมมติผมมีเพจๆหนึ่ง ถ้าผมจะโฆษณาในกลุ่ม เวลาผมจ่ายเงินถ้าผมไม่ได้จ่ายเงินไปที่เฟซบุ๊กในประเทศไทย แต่จ่ายเงินไปที่เฟซบุ๊กในสิงคโปร์หรือเนเธอร์แลนด์ก็ว่าไป เงินก็ไม่ได้เข้าประเทศไทย เราก็เก็บภาษีตรงนี้ไม่ได้” นายอธิภัทรกล่าว
นายอธิภัทร ยังกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ ก็คือการเก็บภาษีจากการบริโภคหรือที่เรียกกันว่า Vat ด้วย
"อย่างกรณีที่คนไทยเป็นสมาชิก Netflix สังเกตดูว่าเวลาที่มีการใช้บริการนั้นตัวใบเสร็จก็จะออกไปให้ในนามของ Netflix เนเธอร์แลนด์ ซึ่งทางเขาก็ไม่ได้มาเสียภาษีให้กับประเทศไทยแต่อย่างไร ทั้งที่ ความจริงแล้วการบริโภคนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไปมองกันว่าเขาไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยพยายามจะทำตอนนี้ก็คือการเอาบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เข้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทให้บริการในประเทศไทย เพื่อจะคิดภาษีผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในต่างประเทศนั้นก็มีการพิสูจน์แล้วว่าการนำบริษัทพวกนี้ไปจดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการนั้นได้ผลเนื่องจากทางบริษัทข้ามชาติเองก็คิดว่าเขาคงไม่คุ้มที่จะถูกสังคมประณาม"
นายอธิภัทร ยังกล่าวย้ำถึงหลักการแก้ไขการเก็บภาษีว่า "จะต้องดูไปที่การให้บริการของบริษัทข้ามชาติด้วยว่าให้บริการเมืองไทยได้ผลประกอบการเป็นเท่าไร กำไรเป็นเท่าไร แล้วเอามาปรับโครงสร้างในการเก็บภาษี จึงจะมีความเหมาะสมในการเก็บภาษีมากกว่าการที่จะมุ่งเน้นไปที่การเก็บภาษี โดยไปมองแค่หลักเกณฑ์ว่าต้องมีสถานประกอบการของบริษัทในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว"
เมื่อถามว่า ในประเทศไทยนั้นมีบริษัทใหญ่ๆบางรายที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่เป็น Tax Haven ตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากการเก็บภาษีบ้างหรือไม่
นายอธิภัทร กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Tax Haven นั้นสำคัญขึ้นเรื่อยๆ
"จากข้อมูลการลงทุนนอกประเทศ ในส่วนนักลงทุนไทยเองจะพบว่าไปลงทุนกันในประเทศที่เป็น Tax Haven แล้วเกิน 5 ประเทศ ความยากก็คือ เช่นเขาไปประเทศมอริเชียส เราก็รู้ว่าเขาไปมอริเชียส แต่ไม่รู้แล้วว่าเขาจะไปที่ไหนต่อ ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นอุปสรรคมากที่จะเข้าใจแรงจูงใจในการลงทุนของธุรกิจนั้นๆว่าเขาจะลงทุนไปทำไม จะเลี่ยงภาษีหรือไม่ เพราะติดตามเส้นทางการลงทุนได้ยากมาก"
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลสาระสำคัญเกี่ยวกับ ผลงานวิจัยเรื่อง "การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ สำคัญแค่ไหนสำหรับประเทศไทยและอาเซียน” ที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าสุด และมีข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่หน่วยงานซึ่งมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/