“…ร่างมาตรา 5 ให้พื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (1) ให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน…”
......................................
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. ซึ่งประกอบด้วย 8 หมวด และบทเฉพาะกาล จำนวน 71 มาตรา มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัดเป็นพื้นที่ SEC ลงทุน‘อุตฯเป้าหมาย’
หมวด 1 บททั่วไป
ร่างมาตรา 5 ให้พื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(1) ให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน
(2) จัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ
(3) จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์
(4) กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่โดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(5) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยอย่างสะดวกปลอดภัย
(6) มุ่งเน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม (3) จะตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง และเฉพาะพื้นที่เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ด้วยก็ได้
ร่างมาตรา 6 ในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ให้รัฐจัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ให้มีความน่าอยู่และทันสมัย โดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมและขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาเมือง ระบบการส่งเสริมนวัตกรรม ระบบพลังงานที่มีความมั่นคง ระบบการบริหารจัดการน้ำระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ ระบบการผลิตสินค้าและการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการอื่นใดที่จำเป็นต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพปลอดภัย มั่นคง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(3) จัดสรรงบประมาณ จัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมและจำเป็น รวมถึงให้การสนับสนุนด้านอื่นเพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
(4) สร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการประกอบกิจการและการอยู่อาศัย โดยลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็ว มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล อาทิ สถานศึกษา สถานพยาบาล สวนสาธารณะ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการเงินไทยและต่างประเทศในการให้บริการทางการเงิน ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีข้อจำกัดเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
@อนุมัติ EIA ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน-ลดอุปสรรคลงทุน
ร่างมาตรา 7 การดำเนินโครงการหรือกิจการใดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชนตามที่มีกฎหมายกำหนด ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้น โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานที่ถูกต้องและมีข้อมูลครบถ้วน
ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงาน และการพิจารณารายงาน โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมจากสำนักงานหรือผู้ขออนุญาต และให้จ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพิ่มเติมเป็นพิเศษได้ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการใด หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่อนุญาตให้มีผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นให้เพียงพอโดยเร็ว โดยมีให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการขอและการออกใบอนุญาต และคุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาใช้บังคับ และจะอนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาหรือจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
ร่างมาตรา 8 ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หากคณะกรรมการนโยบายเห็นว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า มีความซ้ำซ้อนหรือเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการโดยไม่จำเป็น หรือมีปัญหาหรืออุปสรรคอื่นใด ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ
@นายกฯนั่ง'ปธ.บอร์ดนโยบายฯ’-ไม่มีตัวแทนภาคปชช.
หมวด 2 คณะกรรมการนโยบาย
ร่าง มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” ประกอบด้วย
(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(2) รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรรมการ
(4) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการ
(5) ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ
(6) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การกำหนดนโยบายและการดำเนินการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ….
@‘บอร์ดนโยบาย’มีอำนาจกำหนดแนวทาง‘ร่วมทุนเอกชน’
ร่ามาตรา 10 คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
(2) ให้ความเห็นชอบแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงานและแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
(3) ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
(4) ประกาศกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
(5) อนุมัติแผนงาน โครงการ และงบประมาณในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
(6) ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน
(7) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(8) พิจารณาอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานตามมาตรา 36
(9) แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของเลขาธิการตามมาตรา 43 ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการนโยบายตามมาตรา 9 (4) และ (6) ประเภทละหนึ่งคน
(10) แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจหรือคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
(11) กำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงาน และออกระเบียบและข้อบังคับให้สำนักงานปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
(12) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมทั้งแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยต้องรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกรอบระยะเวลาตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(13) ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
การดำเนินการตาม (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) และ (8) เมื่อคณะกรรมการนโยบายได้มีมติอนุมัติ หรือให้ความชอบเรื่องใดแล้ว ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติกรรมการนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม (4) (6) และ (7) เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ร่างมาตรา 11 เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ให้ดำเนินการตามกระบวนการและวิธีการดังกล่าว โดยให้ถือว่าการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือการเอกชนเป็นผู้ลงทุนนั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว
การกำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการตามวรรคหนึ่งจะใช้กับโครงการประเภทหรือลักษณะใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 3 สำนักงาน
ร่างมาตรา 13 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น แต่ในกรณีที่รัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปหรืองบประมาณอื่นใดให้แก่สำนักงาน ให้สำนักงบประมาณมีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณให้แก่สำนักงานได้โดยตรง
ให้สำนักงานเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย…
ร่างมาตรา 15 ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของสำนักงานและขึ้นตรงต่อคณะกรรมการนโยบาย
@จัดทำ‘แผนผัง’พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบสาธารณูปโภค
หมวด 4 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
ร่างมาตรา 28 ให้สำนักงานจัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงาน และแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่สะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดและให้การใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบและเมื่อคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวในการดำเนินการ เว้นแต่คณะกรรมการนโยบายจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
นโยบายและแผนตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของพื้นที่ต่อเนื่องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยให้ยึดหลักการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจ และสิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
ร่างมาตรา 29 เมื่อคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบแผนตามมาตรา 28 แล้วให้สำนักงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบแผนนั้น
แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของพื้นที่ต่อเนื่องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ด้วย และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยระบบดังต่อไปนี้
(1) ระบบสาธารณูปโภค
(2) ระบบคมนาคมและขนส่ง
(3) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(4) ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม
(5) ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ
(6) ระบบบริหารจัดการน้ำ
(7) ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ
(8) ระบบป้องกันอุบัติภัย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ ให้สำนักงานเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าเพื่อสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
@ให้‘สำนักงาน’มีอำนาจจัดหาที่ดิน โดยวิธีการ‘ซื้อ-เช่า-เช่าซื้อ’
ร่างมาตรา 33 ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการโดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ความเหมาะสมทางด้านการเงิน ตลอดจนผลกระทบ และแนวทางหรือมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว และความคุ้มค่าที่ประชาชนในพื้นที่และรัฐจะได้รับ
ตามความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเงินค่าเวนคืน ค่าตอบแทน จะกำหนดให้ผู้รับสัมปทานรับภาระใดๆ ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของสำนักงานก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะเข้าดำเนินการบริหารจัดการที่ดินที่สำนักงานได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ สำนักงานมีอำนาจใช้หรือจัดหาประโยชน์ในที่ดินนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และถ้าเป็นที่ดินที่ได้มาจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือแลกเปลี่ยนกับที่ดินที่ซื้อหรือเช่าซื้อ หรือมีผู้อุทิศให้ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานและให้สำนักงานมีอำนาจขาย แลกเปลี่ยน หรือให้เช่าซื้อได้
ร่างมาตรา 35 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ คณะกรรมการนโยบายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้สำนักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการดำเนินการหรือประกอบกิจการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับที่ดินส่วนนั้น
ในการใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้อำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย และให้หน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหน้าที่และอำนาจของเลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย
ที่ดินที่สำนักงานมีอำนาจใช้ตามวรรคหนึ่ง สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายจะมอบให้บุคคลอื่นใช้โดยมีค่าตอบแทนได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ในกรณีที่ที่ดินที่สำนักงานมีอำนาจเข้าใช้ตามวรรคหนึ่งมีบุคคลอื่นมีสิทธิใช้ประโยชน์อยู่ก่อน ให้สำนักงานจัดหาที่ดินอื่นให้ผู้นั้นใช้แทนหรือจะจ่ายค่าชดเชยหรือให้ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
ร่างมาตรา 36 เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 และนโยบายและแผนตามมาตรา 18 ให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคล ซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย แต่ในกรณีเป็นการดำเนินการภายนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะต้องเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันและต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น....
@มุ่ง 12 อุตฯเป้าหมายพิเศษ-ผ่อนผัน‘ต่างชาติ’ถือหุ้นเกิน 49 ได้
หมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
ร่างมาตรา 38 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ คณะกรรมการนโยบายอาจกำหนดให้มีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน หรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูงด้วย
ในการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมดหรือบางส่วน หรืออุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอาจรวมถึงอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมอื่นใดด้วยก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ที่มีการพัฒนาตามวรรคหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เมืองอัจฉริยะ
(2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล
(3) การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และวิถีชุมชน
(4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์กลางอาหารฮาลาล
(5) การแปรรูปอาหาร แปรรูปยางพารา และพืชเศรษฐกิจอื่น
(6) หุ่นยนต์
(7) ศูนย์กลางทางการเงิน
(8) กลุ่มพลังงานสะอาด (Green Energy)
(9) นิคมอุตสาหกรรม
(10) ศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค
(11) อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ
(12) การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษตามวรรคสอง ให้นําหลักการการออกแบบที่เป็นสากล และการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอํานวยความสะดวกมาประกอบการพิจารณาด้วย
ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษตามวรรคสอง ให้คำนึงถึงการจัดสิ่งอํานวยความสะดวก และการให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และผู้ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้วย
ร่างมาตรา 47 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใด อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามหมวดนี้ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการประกอบกิจการหรือห้องชุดเพื่อการประกอบกิจการ หรือการอยู่อาศัยตามมาตรา 48
(2) สิทธิในการนําคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร
(3) สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร
(4) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน
(5) สิทธิในการพำนักระยะยาว
(6) สิทธิประโยชน์อื่นตามมาตรา 58
ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายจะกําหนดให้แตกต่างกันก็ได้ โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
ร่างมาตรา 48 ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจํากัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิ และจำนวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ร่างมาตรา 56 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกซึ่งประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยจะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติไว้ด้วยก็ได้
ร่างมาตรา 57 ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับสิทธิตามมาตรา 47 (4) มีสิทธิ ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม (1) และ (2) ให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาตกลงร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
ร่างมาตรา 59 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายในการให้สิทธิแก่นิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 49 หรือถือหุ้นทั้งหมดเป็นผู้มีสิทธิในการเข้ามาร่วมลงทุนหรือประกอบกิจการ ซึ่งกฎหมายต่อไปนี้ กำหนดให้ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้พิจารณาให้สิทธิ สัมปทาน โดยพิจารณาความจำเป็น มูลค่าโครงการ แต่ต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจอนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายนั้นมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ทั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
@ตั้ง'กองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้'ให้ทุนพัฒนาพื้นที่
หมวด 6 กองทุน
ร่างมาตรา 62 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
หมวด 7 การกำกับดูแล
ร่างมาตรา 66 ให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานเพื่อการนี้ จะสั่งให้สำนักงานชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือทำรายงานก็ได้
ในกรณีที่เห็นว่าสำนักงานกระทำการใดอันมิซอบ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหาย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้สำนักงานยับยั้งหรือระงับการกระทำการนั้นได้
หมวด 8 บทกำหนดโทษ
ร่างมาตรา 67 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
บทเฉพาะกาล
ร่างมาตรา 68 ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองตามมาตรา 39 ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จนกว่าจะได้ดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จ
ร่างมาตรา 69 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นกรรมการเพิ่มเติม ตามมาตรา 9 (3) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 9 (6) เป็นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งจะต้องจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ
ทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.SEC ที่ สนข. นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นฯจากประชาชน ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.-20 เม.ย.2568 และต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใด และจะมีเนื้อหาแตกต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ อย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …
อ่านประกอบ :
'สนข.'ดัน'ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้' รองรับพัฒนา'พื้นที่ SEC-แลนด์บริดจ์'
‘ไชน่าฮาร์เบอร์’ เข้าพบ ‘สุริยะ’ สนลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’
‘คมนาคม-สนข.’ ตั้งเป้าเสนอ พ.ร.บ. SEC เข้าครม.ภายในปี 67
กสม.จี้ สนข.ศึกษา ‘แลนด์บริดจ์’ ให้ครอบคลุมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม-ข้อมูลต้องชัดเจน