บ.รับเหมาของจีน ‘ไชน่าฮาร์เบอร์’ เข้าพบ ‘สุริยะ’ สนใจลลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ พร้อมสานต่อไฮสปีดไทยจีนต่อยาวถึงหนองคาย รวมมอเตอร์เวย์สายใหม่ วงในเผยเตรียมดันร่างพ.ร.บ. SEC เข้าที่ประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจพิเศษสัปดาห์นี้ กางโรดแมปปี 68 พ.ร.บ.ต้องบังคับใช้ ปี 69 เริ่มประมูลเฟสแรก วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 ธันวาคม 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 ผู้แทนจากบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีข้อหารือถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์)
โดยทางบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ แสดงความจำนงที่จะลงทุนในโครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นๆที่ประเทศไทยจะผลักดันทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายใหม่ๆด้วย เพราะมีศักยภาพในการดำเนินโครงการต่างๆ
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการผลักโครงการแลนด์บริดจ์ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สำหรับตัวร่างพ.ร.บ.พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมกันในสัปดาห์นี้ โดยจะมีการเชิญสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาให้ข้อมูล ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลก็ช่วยมาดูด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ณ ขณะนี้ ภายในปี 2568 รัฐบาลจะต้องผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. SEC มีผลบังคับใช้ให้ได้ ส่วนในปี 2569 จะต้องเปิดประมูลระยะที่ 1 ของโครงการให้ได้ ซึ่งมีวงเงินประมาณการลงทุนโครงการ 522,844.08 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ บริษัท ไชน่า เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัท ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่มีทางการจีนถือหุ้นใหญ่
โดยโครงการสำคัญของไทยที่ไชน่า ฮาร์เบอร์ เข้ามารับงาน อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยเข้ามาในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งมีพันธมิตรประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีทีแทงค์เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK), งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นงานส่วนที่2 โครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กำหนด ราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกสัญญาที่ 2 ทางยกระดับ ช่วงห้างเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ระยะทาง 5.3 กม. ซึ่งมาในนามกิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เสนอราคาต่ำสุดที่ 6,440 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งในปี 2567 บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ มีรายได้รวมอ้างอิงจากเว็บไซต์ https://rocketreach.co/ อยู่ที่ 3,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท เนื้องานสำคัญของโครงการประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย
1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
2.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
3.เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
อ่านประกอบ