‘สนข.’ เปิดรับฟังความเห็น ‘ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้’ ปูทางพัฒนาพื้นที่ SEC ใน 4 จังหวัดภาคใต้-'แลนด์บริดจ์' ให้อำนาจ 'บอร์ดนโยบายฯ' คุมเบ็ดเสร็จ
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น ท่าเรือฝั่งอันดามัน ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) โดย สนข.จะเปิดรับฟังฯไปจนถึงวันที่ 20 เม.ย.2568
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. ประกอบด้วย 8 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 71 มาตรา โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.การกำหนดความหมาย บทนิยาม (ร่าง มาตรา 3)
2.การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (ร่าง มาตรา 4)
3.หมวด 1 บททั่วไป (ร่าง มาตรา 5-8)
-กำหนดให้พื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งอันดามัน และกำหนดวัตถุประสงค์ต่างๆ ให้เพื่อให้บรรลุถึงการจัดตั้งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่าง มาตรา 5)
-กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ (ร่าง มาตรา 6)
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ร่าง มาตรา 7)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง (ร่าง มาตรา 8)
4.หมวด 2 คณะกรรมการนโยบาย (ร่าง มาตรา 9-12)
-กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง 16 กระทรวงหลัก เป็นกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง (ร่าง มาตรา 9)
-กำหนดหน้าที่และอำนาจคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมทั้งหน้าที่และอำนาจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ร่าง มาตรา 10)
-กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (ร่าง มาตรา 11)
5.หมวด 3 สำนักงาน (มาตรา 13 - 27)
-กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นหน่วยงานธุรการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น (ร่าง มาตรา 13)
-กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่าง มาตรา 14)
-กำหนดให้มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นเลขาธิการ การจ้างและการพ้นจากตำแหน่ง (ร่าง มาตรา 15–18)
-กำหนดหน้าที่และอำนาจเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่าง มาตรา 19)
6.หมวด 4 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่าง มาตรา 28 – 37)
-กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงาน และแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่สะดวกและรวดเร็ว (ร่าง มาตรา 28)
-กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค (ร่าง มาตรา 29-31)
-กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (ร่างมาตรา 32)
-กำหนดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และการใช้ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ร่าง มาตรา 33-35)
-กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือสัมปทานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสำคัญด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (ร่าง มาตรา 36)
-กำหนดเกี่ยวกับการขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐมาปฏิบัติงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ชั่วคราวหรือโอนย้ายได้ (ร่าง มาตรา 37)
7.หมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ร่างมาตรา 38–63)
-กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้สามารถกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเมืองอัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และวิถีชุมชน การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์กลางอาหารฮาลาล การแปรรูปอาหาร แปรรูปยางพารา และพืชเศรษฐกิจอื่น หุ่นยนต์
ศูนย์กลางทางการเงิน กลุ่มพลังงานสะอาด (Green Energy) นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร โดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในเขตดังกล่าว (ร่าง มาตรา 38)
-กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กำหนดให้พื้นที่ใดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ร่างมาตรา 39 – 60)
-กำหนดเกี่ยวกับมาตรการสำหรับกรณีที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กำหนด (ร่าง มาตรา 61)
8.หมวด 6 กองทุน (ร่าง มาตรา 62 – 65)
-กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และกำหนดถึงองค์ประกอบและการจัดการกองทุน (ร่างมาตรา 62–65)
9.หมวด 7 การกำกับดูแล (มาตรา 66)
-กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่าง มาตรา 66)
10. หมวด 8 บทกำหนดโทษ (ร่าง มาตรา 67)
-กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้ชื่อ เครื่องหมาย หรือถ้อยคําในประการที่น่าจะทำให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยมิได้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ร่าง มาตรา 67)
11.บทเฉพาะกาล (ร่าง มาตรา 68–71)
-กำหนดให้ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองตามมาตรา 39 ไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง (ร่าง มาตรา 68)
-กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ไปพลางก่อนในวาระเริ่มแรก และดำเนินการจัดให้มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (ร่างมาตรา 69-70)
-กำหนดเกี่ยวกับการโอนโครงการภายใต้การดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนใดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (ร่าง มาตรา 71)
“ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วย จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงพื้นที่อื่นในภาคใต้ที่อาจกำหนดเพิ่มเติม จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาคฝั่งอันดามัน รวมทั้งมุ่งเน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย
การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะกำหนดถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมแปรรูป พืชเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพ รวมถึงการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่ด้วยในปัจจุบันกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้นยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าวที่จะกำหนดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินการในพื้นที่เป็นการเฉพาะ รวมทั้งกฎหมายบางฉบับที่บังคับใช้ยังมีข้อจำกัดในการวางแผนพัฒนาและบริหารพื้นที่แบบองค์รวม
การพัฒนาด้านต่างๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ทำให้เกิดการขาดการบูรณาการ ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้มี พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อที่จะได้มีหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อย่างชัดเจนแน่นอน กำหนดกิจกรรมอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ โดยบูรณาการทั้งในส่วนของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยและเชื่อมโยงกัน
รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้” สนข. ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ….
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …