"...เมื่อ ป.ป.ช. มีคำตอบชัดเจนแล้วว่าการกระทำความผิดของนางบุญยิ่ง และนายวิวัฒน์ มิได้เกิดขึ้นในช่วงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นเอกชนจึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาบังคับใช้ในกรณีนี้..."
พลันที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาจำคุก นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.พรรคกล้าธรรม และ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ กำนันตุ้ย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี และพวก มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ในคดีระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน
- ศาลพิพากษาคดีมันฯ สั่งจำคุก 'นายกฯตุ้ย- สส.บุญยิ่ง'คนละ 6 ปี 8 ด. - 'มนัส' โดน 10 ปี
- จริงหรือ? 'กำนันตุ้ย-บุญยิ่ง'โดนชี้มูลคู่ 'ผัว-เมีย' ถูกยื่นฟ้องคดีมันฯ-เจ้าตัวให้ไปถามศาล
- เบื้องลึก! มติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริตระบายมันฯ 'บุญยิ่ง' สส.พปชร.โดนด้วย -ลูกสาวรอด
มีคำถามขึ้นมาทันทีว่า คำพิพากษาดังกล่าวกระทบต่อ เก้าอี้ สส. ของนางบุญยิ่ง และนายก อบจ.ของนายวิวัฒน์หรือไม่?
คำถามลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนตอนที่นายวิวัฒน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ราชบุรี เมื่อศาลอาญา คดีทุจริต ฯ ได้ประทับรับฟ้อง นางบุญยิ่งและนายวิวัฒน์ในคดีเดียวกันนี้
ทางผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้ทำหนังสือหารือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายวิวัฒน์ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตหรือไม่
ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือตอบผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสรุปดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะกระทำความผิดนายวิวัฒน์ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเข้าดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ราชบุรี ซึ่งมีสถานะเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นการเข้ารับตำแหน่งภายหลังจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และศาลได้มีคำสั่งประทับฟ้องไว้
ดังนั้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาใช้บังคับนายวิวัฒน์ได้
นายวิวัฒน์ จึงไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
เมื่อ ป.ป.ช. มีคำตอบชัดเจนแล้วว่าการกระทำความผิดของนางบุญยิ่ง และนายวิวัฒน์ มิได้เกิดขึ้นในช่วงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นเอกชนจึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาบังคับใช้ในกรณีนี้
จึงต้องกลับมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของบุคคลทั้งสอง
สำหรับ นางบุญยิ่ง คงต้องดูรัฐธรรมนูญว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สส.มาตรา 97(6) ที่ระบุว่า คำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายศาล
หรือ 97(9) ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯดังนั้น เมื่อดูบททั้งหมดไม่เข้าเงื่อนไขที่จะให้นางบุญยิ่งพ้นจากตำแหน่ง สส.
สำหรับนายวิวัฒน์นั้น ต้องดู พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 36 ในเรื่องการพ้นจากตำแหน่ง (7) ระบุไว้แต่เพียงว่า ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
เมื่อดูบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าว นายวิวัฒน์ จึงยังคงดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ต่อไปได้จนกว่าคดีที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุก จะถึงที่สุดและมีผลเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ
ถึงตอนนั้นคงไม่มีคำโต้แย้งใด ๆ ถึงการพ้นตำแหน่งของบุคคลทั้งสอง แต่ในระหว่างนี้ผลของคดีในศาลชั้นต้นทำให้ชีวิตในทางการเมืองของบุคคลทั้งสองแขวนอยู่บนเส้นด้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
หมายเหตุ ภาพประกอบปก จากhttps://www.sanook.com/news/politic/