"...ในทางไต่สวนเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ตามขอบเขตงาน (TOR) การจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 12 รายการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำมาใช้ในการประกวดราคานั้น โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานบุคคลยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้แล้วนำมาใช้..."
นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และพวก ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหา เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาทเศษ
พ้นบ่วงข้อกล่าวหาเป็นทางการไปแล้ว
ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ในช่วงเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ภายหลังฝ่ายอัยการมีความเห็นแย้งในสำนวนคดีของ ป.ป.ช. โดยมีการรวมคดี 2 สำนวนเป็นคดีเดียวกัน มีจำเลย 12 ราย นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ จำเลยที่ 1 นายชาญฉกรรจ์ วีระขจร จำเลยที่ 2 บริษัทบางกอก เดค-คอน จำกัด จำเลยที่ 3 นางนภัสสรณ์ ทิพย์อัครยอด จำเลยที่ 4 นางธนนันท์ ซาโต จำเลยที่ 5 นายเอกศิษฐ์ ทิพย์อัครยอด จำเลยที่ 6 บริษัทกิมเส็งก่อสร้าง จำกัด จำเลยที่ 7 นางสาวสมพร น้อยโรจน์ จำเลยที่ 8 นายนิคม เพียรดี จำเลยที่ 9 บริษัทฟาโก เทคโนโลยี่ จำกัด จำเลยที่ 10 นายสิวาชัย กลิ่นสุคนธ์ จำเลยที่ 11 นายเชาวนะ ไตรมาศ เป็นจำเลยที่ 12
ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานและมีคำวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ปราศจากน้ำหนักที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2568 มีมติ 4 ต่อ เสียง ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่พิพากษายกฟ้อง นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และพวก กรณีกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาทเศษ โดยนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเสียงข้างน้อย 1 เสียง ส่วน นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. ลาประชุมไม่ได้ร่วมลงมติด้วย
ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
น่าสนใจว่า แนวคำวินิจฉัยคดีนี้ ของศาลฯ เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลผลคำพิพากษาคดีนี้ พบว่า ในการตัดสินคดีนี้ ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานและมีคำวินิจฉัยว่า นายเชาวนะ ไตรมาศ จำเลยที่ 12 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กับพวก กำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย
ในทางไต่สวนเกี่ยวกับการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ตามขอบเขตงาน (TOR) การจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 12 รายการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำมาใช้ในการประกวดราคานั้น โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานบุคคลยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นผู้จัดทำเอกสารฉบับนี้แล้วนำมาใช้
ส่วนรายละเอียดเนื้อหาในเอกสาร โจทก์มีนาย ส. (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล) พนักงานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เบิกความเป็นพยานถึงเอกสารคุณลักษณะ คุณสมบัติเฉพาะครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) แบบที่ 1 , เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) แบบที่ 2 และ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) ที่มีข้อความว่า "..ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกับตัวเครื่องที่เสนอ..." หรือ "...ซึ่งถูกพัฒนาโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ และเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องที่เสนอ..." หรือ "..และเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกับตัวเครื่องที่เสนอ" หรือ "..โดยพัฒนามาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีลิขสิทธิ์ถูกต้องจากเจ้าของผลิตภัณฑ์" หรือ "..ต้องถูกพัฒนาโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เสนอ" พร้อมนาย ส. ให้ความเห็นว่า "ค่อนข้างล็อกสเปก" นั้น
นาย ส. ได้เบิกความตอบทนายจำเลย ขออนุญาตถามขยายความว่า มีความหมายว่าคุณสมบัติตาม TOR นั้น มีคอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ เป็นการขัดแย้งกับฟ้องโจทก์ที่กล่าวไว้ว่าเป็นการระบุคุณลักษณะให้คอมพิวเตอร์ยี่ห้อเดียวเท่านั้นที่เข้าแข่งขันได้
นอกจากนี้แล้ว โจทก์ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดคุณลักษณะของคอมพิวเตอร์เข้าไต่สวนให้ความเห็น กับคดีได้ความจากพันตำรวจโท ณ (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล) พนักงานไต่สวนผู้เชี่ยวชาญ เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ว่า ได้สอบคำให้การนาย พ. ไว้ได้ความว่า พยานเป็นตัวแทนสินค้ายี่ห้อเดล ยี่ห้องเอชพี ยี่ห้อเลอโนโว และยี่ห้องเอเซอร์
การไม่ยื่นซอง เพราะเหตุบริษัทไม่มีความพร้อมที่จะยื่นซองเพราะเงื่อนไข 60 วัน ในการส่งมอบถือว่าระยะสั้นมากต้นทุนที่หาได้จากตัวแทนจำหน่ายในขณะนั้นราคาสูงมาก ดูราคาแล้วมีกำไรน้อย จึงไม่ยื่นเสนอราคา
ทั้งสอบคำให้การนาย ป. ซึ่งเป็นผู้ซื้อของประกวดราคา ให้การได้ความว่า พนักงานของบริษัทไม่พร้อมที่จะรับงาน ไม่มีการสานต่อยื่นใบเสนอราคา ประกอบกับสอบคำให้การนาย ณ. ผู้ซื้อซองประกวดราคา ให้การไว้ได้ความทำนองเดียวกันและสอบคำให้การนาย ย. (ขอสงวนชื่อ-นามสกุล) ว่า เหตุที่ไม่ได้ยื่นใบเสนอราคานั้น เพราะซื้อใบเสนอราคาช้ากว่ารายอื่น ทำให้ไปติดต่อกับบริษัทเจ้าของยี่ห้อคอมพิวเตอร์ล่าช้ากว่า
เห็นได้ว่าตามคำให้การพยานบุคคลเหล่านี้ต่างไม่รู้จักกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน น่าเชื่อว่าได้ให้การไว้ตามเหตุการณ์จริง จึงมีความน่าเชื่อถือ
เมื่อประมวลรับฟังเข้าด้วยกันแล้วบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการประกวดราคาตามฟ้อง หามีลักษณะการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ของสำนักงานศาลรัฐธธรรมนูญ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย
พยานหลักฐานโจทก์จึงปราศจากน้ำหนักที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีก
พิพากษายกฟ้อง
ก่อนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีการนำผลคำพิพากษาดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2568 และมีมติ 4 ต่อ 1 เสียง ไม่อุทธรณ์สู้คดีตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว นับเป็นการปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ระบุไปข้างต้น จะพบว่า คดีนี้ มีปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่การขาดประจักษ์พยานบุคคล และหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ในเรื่องการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางรายได้
ส่วนข้อสังเกตนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติไม่อุทธรณ์สู้ต่อในคดีนี้หรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันได้ชัดเจนในขณะนี้
แต่ไม่ว่าอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ที่ ป.ป.ช.สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการสอบสวนคดีอื่นๆ ในอนาคตต่อไปได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว