“…เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ในส่วนของผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ประกอบกับถ้อยคำของผู้ฟ้องคดี และนายยืนยง ทัศนศรี ซึ่งมีการให้ถ้อยคำไว้อย่างสอดดล้องกัน น่าเชื่อว่าการที่กรมธนารักษ์ไม่ส่งร่างสัญญาที่มีการแก้ไขข้อความไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจร่างอีกครั้ง มิได้เกิดจากการเสนอของผู้ฟ้องคดี หากแต่เป็นความประสงค์ของอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น…”
....................................
จากกรณีที่อธิบดีกรมธนารักษ์ มีคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 เรียกให้ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ นายยืนยง ทัศนศรี อดีตผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ และนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดประโยชน์ กรุงเทพมหานคร กองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์
ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิด เป็นเงินจำนวน 512.06 ล้านบาท กรณีร่วมกันแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จตุจักร เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
ต่อมาปลัดกระทรวงการคลัง มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ 4/2558 ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งของกรมธนารักษ์ แต่นายนิพัทธ นายยืนยง และนายดำรงศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งกรมธนารักษ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมธนารักษ์ดังกล่าว โดยแยกฟ้องเป็น 3 คดี
ต่อมาในปี 2562 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้นายนิพัทธ นายยืนยง และนายดำรง ร่วมกันชดใช้สินไหมฯ เป็นเงิน 256 ล้านบาท (นายนิพัทธ ชดใช้ 204.82 ล้านบาท ,นายยืนยง ชดใช้ 38.40 ล้านบาท และนายดำรงศักดิ์ ชดใช้ 12.80 ล้านบาท) ซึ่งทั้ง 3 ราย ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด นั้น (อ่านประกอบ : อดีตขรก.‘ธนารักษ์’แถลงฯสู้คดีชดใช้ฯ 512 ล. ปมแก้สัญญาพัฒนาที่ราชพัสดุ‘ขนส่งหมอชิต’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ ‘คำวินิจฉัย’ ของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ก่อนที่ศาลฯมีคำพิพากษาของ 3 คดีดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
@ประมาทเลินเล่อร้ายแรง-สั่ง‘อดีตอธิบดีธนารักษ์’ชดใช้ 204 ล.
คดีหมายเลขดำที่ 962/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 506/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 (คดีของนายนิพัทธ พุกกะณะสุต)
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงการคลัง) ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เฉพาะในส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ พุกกะณะสุต) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 204,823,616.60 บาท และในส่วนที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ยื่นฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี นายดำรงศักดิ์ บุญเกิด และนายยืนยง ทัศนศรี รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรมธนารักษ์ โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ภายในระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ... วันที่ 16 ธ.ค.2557 เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และนับเป็นวันแรกที่เริ่มใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมธนารักษ์) ที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันดังกล่าว
คือ ภายในวันที่ 15 มี.ค.2558 ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์อีกต่อไป
การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมายื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว ในวันที่ 27 พ.ค.2558 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมธนารักษ์) ดังกล่าวไว้พิจารณาได้
ประเด็นที่สอง คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การที่ศาลจะวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ ศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่า คำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธมธนารักษ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คนอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นเงินจำนวน 512,059,041.49 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ... ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อกรมธนารักษ์ได้รับผลการตรวจพิจารณาร่างสัญญา (ก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต) จากสำนักงานอัยการสูงสุดตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0017/10414 ลงวันที่ 26 ก.ค.2539 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2539
นายยืนยง ทัศนศรี ผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ ได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 เสนอผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว
โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบหลักประกัน การปฏิบัติตามสัญญาตามร่างสัญญา ข้อ 17.1.1 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามในสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน” และตามร่างสัญญาข้อ 17.1.2 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามในสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน”... และในวันที่ 2 ส.ค.2538 ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ได้สั่งการไว้ท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวว่า “ดำเนินการตามเสนอได้”
หลังจากนั้น กรมธนารักษ์ โดยผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) และบริษัท BKT ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 ส.ค.2539
ทั้งนี้ ในการพิจารณาว่า จะอนุมัติให้มีการแก้ไขร่างสัญญาตามที่เสนอมาหรือไม่ ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ย่อมทราบว่า ร่างสัญญาฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่อยู่ภายได้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
แต่ผู้ฟ้องคดี ก็ยังอนุมัติให้มีการแก้ไขร่างสัญญาตามที่เสนอ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 12 ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอนำหลักประกันสัญญามามอบให้กับหน่วยงานเจ้าของโครงการในวันทำสัญญา
เมื่อผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการลงนามในสัญญาที่ถือว่าไม่ผ่านการตรวจพิจารณาร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย
อีกทั้งหากพิจารณาเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR) ข้อ 11.4 ที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการส่งมอบหลักประกันสัญญา ... จะเห็นได้ว่า กรมธมธนารักษ์ มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่หลักประกันสัญญา ทั้งในกรณีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนรายการ และรวมถึงกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไขของสัญญาด้วย
และเมื่อพิจารณาสัญญา ฉบับลงวันที่ 8 ส.ค.2539 ในข้อ 9.4 ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของบริษัท BKT คู่สัญญาฝ่ายเอกชน...และข้อ 17.4 ที่ได้กำหนดสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ... จากข้อสัญญาดังกล่าว กรมธนารักษ์ จึงย่อมสามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันที เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามที่ระบุในสัญญาหรือภายในเวลาที่กรมธนารักษ์แจ้งให้ทราบ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กค 0419/75 ลงวันที่ 13 ม.ค.2543 แจ้งให้บริษัท BKT นำเงินจำนวน 766,604,712,96 บาท ไปชำระให้แก่กรมธนารักษ์ ภายใน 30 วัน แล้ว แต่บริษัท BKT มิได้ชำระค่าชดเชยให้แก่กรมธนารักษ์ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา
จึงเห็นได้ว่า เหตุผลตามที่ปรากฏในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ที่นายยืนยง ทัศนศรี ผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ เสนอต่อผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ล้วนเป็นเหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR)
เมื่อผู้ฟ้องคดีได้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญาและลงนามในสัญญาต่อไป พฤติการณ์จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
และต้องชำระเงินให้แก่บริษัท BTSC เป็นค่าชดเชยงานก่อสร้างฐานรากของโรงจอด และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สถานีขนส่งหมอชิด เป็นเงินจำนวน 1,119,276,554.45 บาท ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์เพียงใด
เห็นว่า หลังจากที่ผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) แก้ไขร่างสัญญา อันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว มีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อมา บางส่วนเกิดขึ้นจากกรมธนารักษ์ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเช่นกัน จึงให้หักส่วนแห่งความบกพร่องดังกล่าวตามนัยมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ออกร้อยละ 50 ของความเสียหายจำนวน 512,059,041.49 บาท คงเหลือความเสียหายเป็นเงินจำนวน 256,029,520.75 บาท
และเมื่อได้พิจารณาความรับผิดเฉพาะในส่วนของผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลการประมูลที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งตลาดหมอชิต ครั้งที่ 7/2538 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2538 ผู้ฟ้องคดีในฐานะประธานกรรมการ ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า
“การพัฒนาที่ดินแปลงนี้ เดิมกรมธนารักษ์ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535 ประกาศออกมาบังคับใช้อีก 1 ฉบับ จึงได้มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นอีก 7 ท่าน เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535 สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีรับทราบว่าโครงการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้การจัดทำสัญญาต้องผ่านการตรวจร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด
แต่ผู้ฟ้องคดีได้รับร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ผู้ฟ้องคดี ได้มีการแก้ไขข้อสัญญาที่ผ่านการตรวจร่างแล้วตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ส่งร่างสัญญาที่มีการแก้ไขข้อความไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างอีกครั้ง ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายได้
ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) มีหน้าที่ต้องควบคุมการปฏิบัติงานของนายยืนยง ทัศนศรี และนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งต้องปฏิบัติราชการในส่วนของตน ให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้ได้บังคับบัญชาเช่นกัน ได้ใช้ดุลพินิจแก้ไขข้อสัญญาที่ผ่านการตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุด
และไม่ส่งร่างสัญญาที่ผู้ฟ้องคดี ได้แก้ไขข้อความไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างอีกครั้ง และดำเนินการอนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญาและลงนามในสัญญาต่อไป ความรับผิดของผู้ฟ้องคดี (นายนิพัทธ) ย่อมมีส่วนที่ต้องรับผิดมากกว่าเจ้าหน้าที่รายอื่น
จึงให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์ในอัตราร้อยละ 80 ของความเสียหาย จำนวน 256,029,520.75 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 204,823,616.60 บาท
@ชงเรื่องตามที่‘อธิบดีธนารักษ์’สั่งการ ต้องร่วมชดใช้สินไหมฯด้วย
คดีหมายเลขดำที่ 990/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 507/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 (คดีของนายยืนยง ทัศนศรี)
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงการคลัง) ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เฉพาะในส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง ทัศนศรี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า จำนวน 38,404,428.11 บาท และในส่วนที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า คำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คนอย่างลูกหนี้ร่วม เป็นเงินจำนวน 512,059,041.49 บาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ...คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อกรมธนารักษ์ได้รับผลการตรวจพิจารณาร่างสัญญา (ก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต) จากสำนักงานอัยการสูงสุดตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0017/10414 ลงวันที่ 26 ก.ค.2539 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2539
ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) ในฐานะผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ ได้ร่วมกับนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด หัวหน้าฝ่ายจัดประโยชน์กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ได้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี จัดทำบันทึกข้อความลงวันที่ 1 ส.ค.2539 เสนอนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อธิบดีกรมธนารักษ์ ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว
โดยเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาตามร่างสัญญา ข้อ 17.1.1 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน” และตามร่างสัญญาข้อ 17.1.2 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามในสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน”… และในวันที่ 2 ส.ค.2538 อธิบดีกรมธนารักษ์ได้สั่งการไว้ท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวว่า “ดำเนินการตามเสนอได้”
หลังจากนั้น กรมธนารักษ์ โดยอธิบดีกรมธนารักษ์และบริษัท BKT ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 ส.ค.2539
ทั้งนี้ ในการที่ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) เสนอบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ต่อนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อธิบดีกรมธนารักษ์ ขอแก้ไขเพิ่มเดิมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว นั้น
ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) ย่อมทราบว่าร่างสัญญาฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
แต่ผู้ฟ้องคดีก็ยังเสนอเรื่องต่ออธิบดีกรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการแก้ไขร่างสัญญาตามที่เสนอ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 12 ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอนำหลักประกันสัญญามามอบให้กับหน่วยงานเจ้าของโครงการในวันทำสัญญา
และเมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการลงนามในสัญญาที่ถือว่าไม่ผ่านการตรวจพิจารณาร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย
อีกทั้งหากพิจารณาเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR) ข้อ 11.4 ที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการส่งมอบหลักประกันสัญญา... จะเห็นได้ว่า กรมธนารักษ์มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่หลักประกันสัญญา ทั้งในกรณีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนรายการ และรวมถึงกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไขของสัญญาด้วย
และเมื่อพิจารณาสัญญาฉบับ ลงวันที่ 8 ส.ค.2539 ในข้อ 9.4 ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของบริษัท BKT คู่สัญญาฝ่ายเอกชน...และข้อ 17.4 ที่ได้กำหนดสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ... จากข้อสัญญาดังกล่าว กรมธนารักษ์จึงย่อมสามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามที่ระบุในสัญญาหรือภายในเวลาที่กรมธนารักษ์แจ้งให้ทราบ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กค 0419/75 ลงวันที่ 13 ม.ค.2543 แจ้งให้บริษัท BKT นำเงินจำนวน 766,604,712.96 ไปชำระให้แก่กรมธมธนารักษ์ภายใน 30 วัน แล้ว แต่บริษัท BKT มิได้ชำระค่าชดเชยให้แก่กรมธนารักษ์
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่า เหตุผลตามที่ปรากฏในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ที่ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) เสนอต่ออธิบดีกรมธนารักษ์ ล้วนเป็นเหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR)
เมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์ได้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญาและลงนามในสัญญาต่อไปตามที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ พฤติการณ์จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย จากการที่ไม่สามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและต้องชำระเงินให้แก่บริษัท BTSC เป็นค่าชดเชยงานก่อสร้างฐานรากของโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสถานีขนส่งหมอชิต เป็นเงินจำนวน 1,119,276,554.45 บาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.271/2554
ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์เพียงใด
เห็นว่า ....ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ และเป็นผู้บังคับบัญชาของนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด หัวหน้าฝ่ายจัดประโยชน์กรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้จะได้ร่วมทำบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้วตามร่างสัญญา ข้อ 17.1.1 และข้อ 17.1.2 ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณารายงานการสอบสวน (สว.6) ของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 110/2543 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2553 ซึ่งปรากฏคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) แก้ข้อกล่าวหาไว้ว่า ในการดำเนินการแก้ไขร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร รวมทั้งมีการรายงานเท็จหรือไม่
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ถ้าพิจารณาในด้านวิธีการ หรือกระบวนการแก้ไขร่างสัญญา ตามหลักการปฏิบัติราชการทั่วไปควรจะมีการพิจารณาทบทวนร่างสัญญา โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) และนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ก็ได้เสนอให้อธิบดีพิจารณาแล้ว
แต่เมื่ออธิบดีไม่เห็นด้วยและสั่งการด้วยวาจาให้ดำเนินการแก้ไขร่างสัญญาให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลได้เลย ผู้ฟ้องคดี จึงต้องดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เพราะถือว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และได้ใช้ดุลพินิจสั่งการแล้ว
และในรายงานการสอบสวนดังกล่าว ยังปรากฏถ้อยคำของนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ที่ให้ถ้อยคำไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวน ในฐานะพยานบุคคล ว่า ประเด็นการแก้ไขสัญญาตนขอชี้แจงว่า ร่างสัญญาที่ได้รับส่งคืนมาเป็นแฟกซ์จากสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ไม่ทราบว่าแฟกซ์มาที่ห้องผู้ฟ้องคดีหรือห้องอธิบดี โดยผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) ได้เรียกเข้าไปพบ เพื่อหารือภายใต้หัวข้อที่กำหนดไว้แล้ว แต่ไม่ทราบว่าผู้ฟ้องคดีหรืออธิบดีเป็นผู้กำหนด
หลังจากนั้นได้มีการหารือกัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่างสัญญาในข้อ 17.1.1 และข้อ 17.1.2 โดยได้หารือถึงเหตุผลสำคัญที่จะแก้ไข จึงพบว่า ร่างเดิมที่ส่งไปมีข้อความว่า “ส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน” แต่แฟกซ์ร่างสัญญาที่ส่งกลับมา ไม่มีข้อความดังกล่าว มีแต่เพียงวันลงนามในสัญญา ตนและผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า ร่างสัญญาที่แก้ไขดังกล่าวนั้น ไม่ตรงกับร่างเดิมที่ส่งไปอันจะทำให้เกิดความเป็นไปไม่ได้ตามสัญญา
จึงเข้าไปพบท่านอธิบดีพร้อมกันทั้งสองคน และได้นำเหตุผลชี้แจงอธิบดี เพื่อทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขดังกล่าวและได้เสนอแนะอธิบดีต่อไปว่า ในเรื่องของการแก้ไขนี้ ควรจะได้เรียกประชุมคณะกรรมการร่างสัญญาและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
แต่ท่านอธิบดีแจ้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเกรงว่าจะไม่ทันเวลาในการลงนามในสัญญา ขอให้ไปหาแนวทางแก้ไขวิธีอื่น ตนจึงได้กลับมาโทรศัพท์หารือถึงวิธีการแก้ไขว่าจะทำได้หรือไม่ อย่างไร ได้รับแจ้งว่าสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ ทั้งยังย้ำอีกว่าขนาดลงนามในสัญญาแล้วยังแก้ไขได้ แต่นี่ยังไม่ลงนามทำไมจะแก้ไขไม่ได้
หลังจากนั้น ตนจึงได้ร่วมกับผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) จัดทำร่างบันทึกแก้ไขลงวันที่ 1 ส.ค.2539 โดยมีผู้ฟ้องคดี เป็นผู้ลงนามในบันทึกแก้ไขฉบับนี้
เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ในส่วนของผู้ฟ้องคดี ประกอบกับถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ซึ่งมีการให้ถ้อยคำไว้อย่างสอดล้องกัน น่าเชื่อว่า การที่กรมธนารักษ์ไม่ส่งร่างสัญญาที่มีการแก้ไขข้อความไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างอีกครั้ง
มิได้เกิดจากการเสนอของผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) หากแต่เป็นความประสงค์ของอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น ความรับผิดในส่วนของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ จึงย่อมต้องมีจำนวนน้อยกว่าผู้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญา
จึงให้ผู้ฟ้องคดี (นายยืนยง) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์ในอัตราร้อยละ 15 ของความเสียหายจำนวน 256,029,520.75 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 38,404,428.11 บาท
@สั่งร่วมชดใช้ค่าเสียหาย 5% เหตุมีส่วนร่วมในการเสนอเรื่อง
คดีหมายเลขดำที่ 1022/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 505/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 (คดีของนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด)
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉันออุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เฉพาะในส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์ บุญเกิด) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 12,801,476.04 บาท และในส่วนที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า คำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คนอย่างลูกหนี้ร่วม เป็นเงินจำนวน 512,059,041.49 บาท เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ...คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อกรมธนารักษ์ได้รับผลการตรวจพิจารณาร่างสัญญา (ก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต) จากสำนักงานอัยการสูงสุดตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนที่สุด ที่ อส 0017/10414 ลงวันที่ 26 ก.ค.2539 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2539
ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายจัดประโยชน์กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับนายยืนยง ทัศนศรี ผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี จัดทำบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ให้นายยืนยง ทัศนศรี ลงนามเสนอนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อธิบดีกรมธนารักษ์ ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว
โดยเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ตามร่างสัญญา ข้อ 17.1.1 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามในสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน” และตามร่างสัญญาข้อ 17.1.2 จาก “ในขณะลงนามในสัญญานี้” เป็น “ในขณะลงนามในสัญญาหรือเมื่อส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน”...และและในวันที่ 2 ส.ค.2538 อธิบดีกรมธนารักษ์ได้สั่งการไว้ท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวว่า “ดำเนินการตามเสนอได้”
หลังจากนั้น กรมธนารักษ์ โดยอธิบดีกรมธนารักษ์และบริษัท BKT ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 ส.ค.2539
ทั้งนี้ ในการที่ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) เสนอบันทึกข้อความลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ต่อนายนิพัทธ พุกกะณะสุด อธิบดีกรมธนารักษ์ ขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว นั้น ผู้ฟ้องคดี ย่อมทราบว่าร่างสัญญาฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
แต่ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ก็ยังเสนอเรื่องต่ออธิบดีกรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มี การแก้ไขร่างสัญญาตามที่เสนอ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ของกฎกระทรวง (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอนำหลักประกันสัญญามามอบให้กับหน่วยงานเจ้าของโครงการในวันทำสัญญา
และเมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงนามในสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการลงนามในสัญญาที่ถือว่าไม่ผ่านการตรวจพิจารณาร่างสัญญาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย
อีกทั้ง หากพิจารณาเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR) ข้อ 11.4 ที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการส่งมอบหลักประกันสัญญา... จะเห็นได้ว่า กรมธนารักษ์มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่หลักประกันสัญญา ทั้งในกรณีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนรายการ และรวมถึงกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไขของสัญญาด้วย
และเมื่อพิจารณาสัญญาฉบับ ลงวันที่ 8 ส.ค.2539 ในข้อ 9.4 ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของบริษัท BKT คู่สัญญาฝ่ายเอกชน...และข้อ 17.4 ที่ได้กำหนดสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ... จากข้อสัญญาดังกล่าว กรมธนารักษ์จึงย่อมสามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระตามที่ระบุในสัญญาหรือภายในเวลาที่กรมธนารักษ์แจ้งให้ทราบ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กค 0419/75 ลงวันที่ 13 ม.ค.2543 แจ้งให้บริษัท BKT นำเงินจำนวน 766,604,712.96 ไปชำระให้แก่กรมธมธนารักษ์ภายใน 30 วัน แล้ว แต่บริษัท BKT มิได้ชำระค่าชดเชยให้แก่กรมธนารักษ์
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่า เหตุผลตามที่ปรากฏในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ที่ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) เสนอต่ออธิบดีกรมธนารักษ์ ล้วนเป็นเหตุผลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าประมูลลงทุนโครงการฯ (TOR)
เมื่ออธิบดีกรมธนารักษ์ได้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญาและลงนามในสัญญาต่อไปตามที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ พฤติการณ์จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย จากการที่ไม่สามารถบังคับค่าชดเชยจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาได้ทันทีเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและต้องชำระเงินให้แก่บริษัท BTSC เป็นค่าชดเชยงานก่อสร้างฐานรากของโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสถานีขนส่งหมอชิต เป็นเงินจำนวน 1,119,276,554.45 บาทตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.271/2554
ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์เพียงใด
เห็นว่า... ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดประโยชน์ กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายยืนยง ทัศนศรี ผู้อำนวยการกองจัดประโยชน์ ซึ่งแม้จะได้ร่วมทำบันทึกข้อความ ฉบับลงวันที่ 1 ส.ค.2539 ถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ขอแก้ไขเพิ่มเดิมร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของพนักงานอัยการแล้ว ตามร่างสัญญาข้อ 17.1.1 และข้อ 17.1.2 ก็ตาม
แต่เมื่อพิจารณารายงานการสอบสวน (สว.6) ของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 110/2543 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2543 ซึ่งปรากฏคำชี้แจงของนายยืนยง ทัศนศรี แก้ข้อกล่าวหาไว้ว่า ในการดำเนินการแก้ไขร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร รวมทั้งมีการรายงานเท็จหรือไม่
นายยืนยง ทัศนศรี เห็นว่า ถ้าพิจารณาในด้านวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขร่างสัญญา ตามหลักการปฏิบัติราชการทั่วไปควรจะมีการพิจารณาทบทวนร่างสัญญา โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นผู้ฟ้องคดีและนายยืนยง ทัศนศรี ก็ได้เสนอให้อธิบดีพิจารณาแล้ว
แต่เมื่ออธิบดีไม่เห็นด้วย และสั่งการด้วยวาจา ให้ดำเนินการแก้ไขร่างสัญญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลได้เลย ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) จึงต้องดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เพราะถือว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจตามกฎหมายและได้ใช้ดุลพินิจสั่งการแล้ว
และในรายงานการสอบสวนดังกล่าวยังปรากฏถ้อยคำของผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ที่ให้ถ้อยคำไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวน ในฐานะพยานบุคคล ว่า ประเด็นการแก้ไขสัญญา ตนขอชี้แจงว่า ร่างสัญญาที่ได้รับส่งคืนมาเป็นโทรสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ไม่ทราบว่าโทรสารมาที่ห้องนายยืนยง ทัศนศรี หรือห้องอธิบดี
โดยนายยืนยง ทัศนศรี ได้เรียกเข้าไปพบ เพื่อหารือภายใต้หัวข้อที่กำหนดไว้แล้ว แต่ไม่ทราบว่านายยืนยง ทัศนศรี หรืออธิบดีเป็นผู้กำหนด
หลังจากนั้น ได้มีการหารือกันโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่างสัญญาในข้อ 17.1.1 และข้อ 17.1.2 โดยได้หารือถึงเหตุผลสำคัญที่จะแก้ไข จึงพบว่า ร่างเดิมที่ส่งไปมีข้อความว่า “ส่งมอบพื้นที่หรือที่ดิน” แต่โทรสารร่างสัญญาที่ส่งกลับมาไม่มีข้อความดังกล่าว มีแต่เพียงวันลงนามในสัญญา
ตนและนายยืนยงจึงเห็นว่า ร่างสัญญาที่แก้ไขดังกล่าวนั้น ไม่ตรงกับร่างเดิมที่ส่งไป อันจะทำให้เกิดความเป็นไปไม่ได้ตามสัญญา จึงเข้าไปพบท่านอธิบดีพร้อมกันทั้งสองคน และได้นำเหตุผลชี้แจงอธิบดีเพื่อทราบถึงเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขดังกล่าว
และได้เสนอแนะอธิบดีต่อไปว่า ในเรื่องของการแก้ไขนี้ ควรจะได้เรียกประชุมคณะกรรมการร่างสัญญาและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
แต่ท่านอธิบดีแจ้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเกรงว่า จะไม่ทันเวลาในการลงนามในสัญญา ขอให้ไปหาแนวทางแก้ไขวิธีอื่น ตนจึงได้กลับมาโทรศัพท์หารือถึงวิธีการแก้ไขว่าจะทำได้หรือไม่ อย่างไร ได้รับแจ้งว่า สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ทั้งยังย้ำอีกว่า ขนาดลงนามในสัญญาแล้วยังแก้ไขได้ แต่นี่ยังไม่ลงนามทำไมจะแก้ไขไม่ได้
หลังจากนั้นตน จึงได้ร่วมกับนายยืนยง ทัศนศรี จัดทำร่างบันทึกแก้ไขลงวันที่ 1 ส.ค.2539 โดยมีนายยืนยง ทัศนศรีเป็นผู้ลงนามในบันทึกแก้ไขฉบับนี้
เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ในส่วนของผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ประกอบกับถ้อยคำของผู้ฟ้องคดี และนายยืนยง ทัศนศรี ซึ่งมีการให้ถ้อยคำไว้อย่างสอดดล้องกัน น่าเชื่อว่าการที่กรมธนารักษ์ไม่ส่งร่างสัญญาที่มีการแก้ไขข้อความไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจร่างอีกครั้ง มิได้เกิดจากการเสนอของผู้ฟ้องคดี หากแต่เป็นความประสงค์ของอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น
ความรับผิดในส่วนของผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) ในกรณีนี้ จึงย่อมต้องมีจำนวนน้อยกว่าผู้อนุมัติให้แก้ไขร่างสัญญา รวมทั้งผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี
จึงให้ผู้ฟ้องคดี (นายดำรงศักดิ์) รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมธนารักษ์ในอัตราร้อยละ 5 ของความเสียหายจำนวน 256,029,520.75 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 12,801,476.04 บาท
เหล่านี้เป็นสรุปคำวินิจฉัยของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ในคดีร่วมกันแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตฯ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย และต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุด ‘ศาลปกครองสูงสุด’ จะมีคำพิพากษาทั้ง 3 คดีนี้ออกมาเป็นอย่างไร?
อ่านประกอบ :
30 ปีไม่คืบ! พัฒนาที่ราชพัสดุ‘ขนส่งหมอชิต’สะดุด-‘ธนารักษ์’แจ้ง BKT รื้อโครงการ-ทำ EIA ใหม่
อดีตขรก.‘ธนารักษ์’แถลงฯสู้คดีชดใช้ฯ 512 ล. ปมแก้สัญญาพัฒนาที่ราชพัสดุ‘ขนส่งหมอชิต’