โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ ‘ขนส่งหมอชิต’ ยังเดินหน้าไม่ได้ หลังล่าช้ามาเกือบ 30 ปี ล่าสุด ‘ธนารักษ์’ แจ้ง BKT ปรับรูปแบบโครงการฯ-ทำ EIA ใหม่ หลัง ‘คมนาคม’ ยกเลิกแผนสร้าง ‘สถานีขนส่งฯ’ ติดปัญหาเวนคืนที่ดินฯสร้างถนนออก 'วิภาวดีรังสิต'
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน ก่อนที่จะมีการลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการฯ ต่อไป นั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ ว่า หลังจาก ครม. มีมติเมื่อเดือน ต.ค.2561 ให้เดินหน้าโครงการฯ โดยให้คู่สัญญาเดิม คือ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) หรือเดิมคือ บริษัท ซันเอสเตท จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโครงการฯนั้น แต่จนถึงปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังเดินหน้าไม่ได้
ทั้งนี้ เนื่องจากตามสัญญาเดิมกำหนดให้ BKT ทำการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ และให้ย้ายสถานีขนส่งฯกลับมาที่เดิม ซึ่งมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินฯ เพื่อทำถนนออกไปทางถนนวิภาวดีรังสิต แต่ปรากฏว่าชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการเวนคืนที่ดินฯ จึงทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการโครงการฯได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ส.ค.2567 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายขนส่งจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมธนารักษ์ ซึ่งในที่สุดกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ได้ยกเลิกแนวทางที่จะสร้างสถานีขนส่งฯในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตแล้ว และมอบหมายให้กรมธนารักษ์แจ้งคู่สัญญา คือ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด ให้แก้ไขสัญญาเดิม เพื่อให้ออกแบบโครงการใหม่
“เนื่องจากการออกแบบโครงการใหม่นั้น จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ อีกทั้งโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการ PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จึงทำให้โครงการเป็นไปอย่างล่าช้า” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า ความล่าช้าของโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ไม่เกี่ยวกับคดีฟ้องร้องระหว่างกรมธนารักษ์กับอดีตข้าราชการ 3 ราย กรณีเรียกให้ชดใช้สินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิด 512.06 ล้านบาท กรณีร่วมกันแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จตุจักร เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 คณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ เสนอ ครม. เห็นชอบการเดินหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต และแก้ไขสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ระหว่างกรมธนารักษ์ และ BKT
โดยคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 72 เห็นว่า แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมงานฯ ปี 2535 ดังนั้น สัญญาฯ ระหว่างกรมธนารักษ์กับ BKT จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน แต่เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา BKT ไม่มีเหตุผิดสัญญาแต่ประการใด การที่สัญญาฯชะงักลง เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการ ตาม พ.รบ. ร่วมงานฯ ปี 2535 จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จึงไม่มีเหตุเพียงพอในการบอกเลิกสัญญา
และประการสำคัญ คือ หากยกเลิกสัญญาอาจทำให้มีความเสียหายกับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และอาจนำไปสู่การฟ้องดำเนินคดี ตลอดจนการเรียกค่าสินไหมทดแทนค่าชดเชยความเสียหาย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องรอให้คดีถึงที่สุด และที่สำคัญที่สุด คือ หากบอกเลิกสัญญา จะทำให้เอกชนขาดความเชื่อมั่นในการร่วมลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงอื่นๆ กับทางราชการในอนาคต
คณะกรรมการฯ ตามมาตรา 72 เสนอว่า ในการให้สัญญามีผลบังคับต่อไปนั้น เนื่องจากปัจจุบันข้อเท็จจริง สถานการณ์ ข้อบังคับตามกฎหมายได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น สัญญาเดิมกำหนดให้ BKT ได้รับสิทธิการเช่า 30 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง แต่การปรับ FAR (Floor Area Ratio : สัดส่วนการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ต่อพื้นที่ดิน) จาก 10 : 1 เป็น FAR 8 : 1 ทำให้ BKT ไม่สามารถก่อสร้างอาคารตามสัญญาเดิมได้การให้สัญญาฯ มีผลใช้บังคับต่อไปไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้น คณะกรรมการฯ ตามมาตรา 72 เห็นว่า การแก้ไขสัญญาเป็นแนวทาง การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดภายใต้หลักการที่ทางราชการได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปตัวเงินและทรัพย์สินไม่น้อยกว่าเดิม จึงมีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาแก้ไขสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ฉบับลงวันที่ 8 ส.ค.2539 พร้อมทั้งเสนอร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้ ครม.พิจารณาด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการปรับรูปแบบโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต และกรอบการแก้ไขสัญญาฯ นั้น กรมธนารักษ์ ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบโครงการฯ ตามที่ BKT เสนอ และเห็นว่าโครงการที่ BKT เสนอมีความเหมาะสม จากนั้น กรมธนารักษ์ ได้เสนอรูปแบบโครงการฯและกรอบการแก้ไขสัญญาฯให้คณะกรรมการฯ ตามมาตรา 72 พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 72 ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ
โดย BKT เสนอโครงการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง (FAR 8 : 1) พื้นที่โครงการ 712,350 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 26,916 ล้านบาท (เดิมพื้นที่ 888,046 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 18,190 ล้านบาท) ให้ BKT ชำระค่าฐานรากที่กรมธนารักษ์ได้จ่ายให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวน 1,119.28 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยค่าเสียโอกาสเทียบเท่าพันธบัตรรัฐบาล 3 ปี เป็นเงิน 173.83 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,293.1 ล้านบาท
การก่อสร้างทางยกระดับเข้า-ออก สถานีขนส่งหมอชิตกับถนนพหลโยธิน ,ค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์ 550 ล้านบาท และค่าเช่าอาคารเมื่อเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จปีละ 5.35 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการลงนามสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ระหว่างกรมธนารักษ์ และ BKT เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2539 ปรากฏว่าผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่โครงการยังเดินหน้าไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
(ที่มา : เอกสารประกอบการเสนอโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตต่อ ครม. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561)
อ่านประกอบ :
อดีตขรก.‘ธนารักษ์’แถลงฯสู้คดีชดใช้ฯ 512 ล. ปมแก้สัญญาพัฒนาที่ราชพัสดุ‘ขนส่งหมอชิต’