อดีตข้าราชการ ‘ธนารักษ์’ ยื่นคำแถลงการณ์ต่อ 'องค์คณะ' ศาลปกครองสูงสุด สู้คดีร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 512 ล้านบาท ปมแก้สัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณ ‘สถานีขนส่งหมอชิต’ เป็นเหตุให้ราชการเสียหาย
..................................
จากกรณีที่อธิบดีกรมธนารักษ์ มีคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 เรียกให้ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ นายยืนยง ทัศนศรี อดีต ผอ.กองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ และนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิด 512.06 ล้านบาท กรณีร่วมกันแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จตุจักร เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
ต่อมาปลัดกระทรวงการคลังมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ 4/2558 ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งของกรมธนารักษ์ แต่นายนิพัทธ และนายยืนยง ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งกรมธนารักษ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมธนารักษ์ดังกล่าว โดยแยกฟ้องเป็น 2 คดี ต่อมาในปี 2562 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้นายนิพัทธ และนายยืนยง ร่วมกันชดใช้สินไหมฯ ซึ่งทั้ง 2 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายยืนยง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เจ้าหน้าที่ ที่ต้องร่วมรับผิดชอบในการละเมิดกรณีการแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จำนวน 512.06 ล้านบาท ตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ได้ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือในคดีหมายเลขดำที่ อผ. 191/2562 เพื่อประกอบการพิจารณาขององค์คณะ ศาลปกครองสูงสุด
สำหรับคำแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า คดีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ 990/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 507/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 วินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดียังคงต้องรับผิดตามคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย จากการกระทำละเมิดกรณีการแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ (ต่อไปจะเรียกย่อว่าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ) ระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กับ บริษัท ซันเอสเตรท (ต่อไปจะเรียกย่อว่า บริษัท BKT)
อันเป็นเหตุให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง ไม่สามารถบังคับให้ BKT จ่ายค่าชดเชยงานก่อสร้างฐานรากของอาคารที่จะก่อสร้างบนโรงจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าพร้อมดอกเบี้ย จากหลักประกันสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 271/2554 ลงวันที่ 19 ก.ค.2554 ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย และขอชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
1.สรุปความเป็นมา ที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เนื้อที่ 63 ไร่ เดิมบริษัท ขนส่ง จำกัด ใช้ประโยชน์เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร กรมธนารักษ์ได้เจรจาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและให้บริษัท ขนส่ง จำกัด ออกจากพื้นที่ชั่วคราว เพื่อนำที่ดินแปลงนี้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแก้ไขปัญหาจราจร โดยมีการจัดทำสัญญา 2 ฉบับ ดังนี้
1.1 สัญญาฉบับแรก เป็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ระหว่างกรมธนารักษ์กับกรุงเทพมหานคร โดยกรมธนารักษ์ได้ให้กรุงเทพมหานครเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ 40 ไร่ เพื่อนำไปให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ต่อไปนี้เรียกย่อว่า บริษัท BTSC) ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งอาคารจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า
โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ในการก่อสร้างอาคารจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าดังกล่าว บริษัท BTSC จะต้องก่อสร้างฐานรากเพิ่มเติม สำหรับใช้รองรับอาคาร 5 ชั้น ที่จะก่อสร้างบนอาคารจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของ BTSC เพื่อชดเชยให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารที่เพิ่มเติม
1.2 สัญญาฉบับที่สอง ระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัทซันเอสเตรท (หรือ BKT) โดยกรมธนารักษ์ ได้นำที่ดินที่ออกเปิดประมูลหาผู้ลงทุน ซึ่ง บริษัท BKT เป็นผู้ชนะการประมูลและได้รับสิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ 23 ไร่ โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัท BKT ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมค่าเช่าที่ราชพัสดุให้กรมธนารักษ์รวมทั้งรับภาระเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างฐานรากดังกล่าว ในข้อ 1.1 แทนกรมธนารักษ์ พร้อมกับเป็นผู้ก่อสร้างอาคารชดเชย 5 ชั้น ที่จะก่อสร้างบนอาคารจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า เพื่อให้บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เช่าใช้ประโยชน์ต่อไป
@‘อธิบดี’สั่งแก้ไข‘ร่างสัญญา’ ปมวางหลักประกันสัญญาฯ
2.ปัญหาที่เกิดขึ้น การแก้ไขร่างสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ ระหว่างกรมธนารักษ์ กับ บริษัท BKT โดยมีสาเหตุ รวม 3 ประการ
ประการที่ 1 กระทรวงการคลัง ได้ตอบข้อหารือกรมธนารักษ์ ว่าการหาผลประโยชน์โดยจัดให้เช่าที่ราชพัสดุ ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ดังนั้น การประมูลโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ
ประการที่ 2 สำหรับโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จำเป็นต้องให้ผู้ชนะการประมูลลงนามในสัญญาทันที เพื่อหาผู้รับภาระค่าใช้จ่ายค่าฐานรากและก่อสร้างอาคารชดเชย คณะทำงานที่กรมธนารักษ์แต่งตั้ง จึงได้กำหนดเงื่อนไขในร่างสัญญาให้ผู้ชนะการประมูล “วางหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารในวันลงนามในสัญญาหรือวันที่ส่งมอบพื้นที่ (วันปักผัง)” โดยให้ยึดหลักประกันซองไว้เป็นหลักประกันสัญญา
สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ได้มีการแก้ไขร่างสัญญาโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลต้องวางหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารในวันลงนามในสัญญาเท่านั้น โดยยึดหลักประกันซองเป็นหลักประกันสัญญา ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถคิดหลักประกันร้อยละ 10 จากราคาค่าก่อสร้างอาคารได้ อธิบดีกรมธนารักษ์ จึงเห็นสมควรให้แก้ไข
ผู้ฟ้องคดี จึงได้ปรึกษาอัยการผู้ตรวจร่างสัญญา และได้รับคำแนะนำว่า การแก้ไขร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางราชการ หรือเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปถือว่าเป็นอำนาจของอธิบดีกรมธนารักษ์ ทั้งนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
อธิบดีกรมธนารักษ์ จึงได้สั่งการให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขร่างสัญญา โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลสามารถวางหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารใน “วันลงนามในสัญญาหรือในวันที่ส่งมอบพื้นที่” โดยให้ยึดหลักประกันซองไว้เป็นหลักประกันสัญญาเหมือนร่างสัญญาฉบับเดิม
ประการที่ 3 กรมธนารักษ์และบริษัท BKT ได้ลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2539 และบริษัท BKT ได้ปฏิบัติตามสัญญา หลังจากนั้น ได้มีผู้ร้องเรียนว่า โครงการนี้มีการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ป. (ขณะนั้น) จึงได้ทำการสอบสวนโดยมีประเด็นการทุจริต ผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แก้ร่างสัญญาฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
จึงเป็นเหตุให้ บริษัท BKT ไม่มั่นใจว่าจะมีการยกเลิกสัญญา จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 9 มี.ค.2542 ถึงกรมธนารักษ์ เพื่อขอให้ยืนยันสถานะของสัญญา และมีหนังสือลงวันที่ 18 มี.ค.2542 ถึงกรมธนารักษ์ยืนยันว่า พร้อมจะลงนามในบันทึกข้อตกลงยินยอมจ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารให้แก่บริษัท BTSC ต่อไป แต่กรมธนารักษ์ ก็ไม่ได้มีหนังสือยืนยัน จึงเป็นเหตุให้บริษัท BKT หยุดชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคารไว้ก่อน
3.ผลการสอบวินัย สำนักงาน ป.ป.ป. ได้ชี้มูลความผิด กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอธิบดีกรมธนารักษ์ หลังจากนั้นกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสอบวินัยผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติม กรณีที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขร่างสัญญา คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า การแก้ไขร่างสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุดังกล่าวในข้อ 2. เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ
เนื่องจากในขณะนั้นบริษัท BKT ยังไม่ได้ออกแบบแปลนการก่อสร้างอาคารชดเชยและอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงการคลัง ทำให้ไม่สามารถคำนวณราคาค่าก่อสร้างอาคารและมูลค่าหลักประกันสัญญา เพื่อจะนำมาวางเป็นหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารได้ ประกอบกับกรมธนารักษ์ ก็ได้ยึดหลักประกันซองไว้เป็นหลักประกันสัญญาอยู่แล้ว ผู้ฟ้องคดี จึงไม่ได้ทำผิดวินัย ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบและสั่งยุติเรื่อง
@ถูกตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดฯ 4 ครั้ง
4.ผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่ตัวผู้ฟ้องคดี ถึง 4 ครั้ง
4.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยในข้อ 3 กรมธนารักษ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด (ชุดที่ 1) ในปี 2543 ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า มีการแก้ไขร่างสัญญา และเกิดความเสียหายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารที่บริษัท BTSC แต่เห็นว่าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตยังดำเนินการต่อไป จึงยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับความเสียหายและไม่มีความรับผิดทางละเมิด
4.2 บริษัท BTSC ได้ก่อสร้างฐานรากอาคารชดเชยเสร็จ และบริษัท BTSC ได้มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ทวงถามให้ชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคาร เนื่องจากบริษัท BKT หยุดชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคาร กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ม.ค.2543 แจ้งให้บริษัท BKT ชำระค่าฐานรากอาคารให้แก่บริษัท BTSC จำนวน 766,604,712.96 บาท ซึ่งบริษัท BKT ก็ได้มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ขอทราบถึงสถานะสัญญา กรมธนารักษ์ไม่ตอบยืนยัน
แต่ขณะเดียวกัน กรมธนารักษ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด (ชุดที่ 2) ในปี 2544 ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า การที่บริษัท BKT หยุดชำระค่าก่อสร้างฐานราก มีสาเหตุจากกรมธนารักษ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือ ไม่ยืนยันว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท BKT นำไปพัฒนาตามสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหรือไม่
ประกอบกับเห็นว่า ค่าก่อสร้างฐานรากอาคารเป็นความรับผิดจากมูลสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับกรุงเทพมหานคร (สัญญาตามข้อ 1.1) มิใช่เป็นความรับผิดจากมูลละเมิดที่เกิดจากการแก้ไขร่างสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดทางละเมิด และเมื่อส่งเรื่องให้กระทรวงการคลัง (โดยกรมบัญชีกลาง) ตรวจสอบ ก็ไม่มีข้อทักท้วง กรมธนารักษ์จึงสั่งยุติเรื่อง
4.3 ในปี 2545 บริษัท BTSC และกรุงเทพมหานคร ได้นำคดีมาฟ้องบริษัท BKT กรมธนารักษ์ และกระทรวงการคลัง ให้ชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคารต่อศาลปกครอง กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังกลับต่อสู้คดี โดยกล่าวอ้างว่า การก่อสร้างฐานรากอาคารไม่ถูกต้องตามแบบแปลนและยังไม่ได้ตรวจรับมอบอาคาร จึงเป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง จ่ายค่าก่อสร้างฐานรากให้แก่บริษัท BTSC และเพิกถอน บริษัท BKT
จนกระทั่งคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ.271/2554 ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท BKT ยังมีผลผูกพัน เมื่อกรมธนารักษ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา บริษัท BKT มีสิทธิยึดหน่วงการชำระค่าฐานราก แต่หากกรมธนารักษ์ปฏิบัติตามสัญญา โดยส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท BKT ก็มีสิทธิทวงถามค่าฐานราก
ดังนั้น เมื่อกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้รับมอบทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างฐานรากอาคารโดยปริยายแล้ว จึงให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคารจำนวน 607 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยให้บริษัท BTSC นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยประมาณ 500 ล้านบาทเศษ) ซึ่งกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังได้นำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ และให้หาผู้กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
กรมธนารักษ์ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด (ชุดที่ 3) ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า กรมธนารักษ์มีคำสั่ง ที่ 282/2543 ลงวันที่ 28 ส.ค.2543 และคำสั่ง ที่ 375/2544 ลงวันที่ 27 ก.ย.2544 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด (คือคณะกรรมการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ที่กล่าวมาแล้ว) ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด มีอำนาจสอบสวนว่ามีบุคคลใดที่ทำให้เกิดความเสียหายและความเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการฯ สอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิดในปี พ.ศ. 2555 จึงทำให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนขาดอายุความสิบปี นับแต่วันกระทำละเมิด ตามมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับความผิด แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายกรมธนารักษ์จึงเสนอกระทรวงการคลัง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดอีกชุด (ชุดที่ 4)
คณะกรรมการชุดที่ 4 ได้พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกต้องรับผิดทางละเมิด โดยให้รับผิดชำระค่าก่อสร้างฐานรากและดอกเบี้ย เต็มตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกรมบัญชีกลางโดยคณะกรรมการรับผิดทางแพ่งเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องสัญญาจ้างทำของ เมื่อกรมธนารักษ์ได้รับมอบทรัพย์สินงานก่อสร้างฐานรากอาคารจากบริษัท BTSC และกรมธนารักษ์ได้จ่ายค่าก่อสร้างฐานรากพร้อมดอกเบี้ยแล้ว
จึงมีมติให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย โดยมีเงื่อนไขว่า หากกรมธนารักษ์ได้รับเงินค่าเสียหาย (ค่าดอกเบี้ย) คืนจากบริษัท BKT หรือจากผู้ลงทุนรายใหม่ ให้กรมธนารักษ์จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีกับพวก ซึ่งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นกรรมการเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้งว่า
“เมื่อการจัดทำสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (ในขณะนั้นมีการตีความว่าการจัดทำสัญญาฉบับนี้ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ พ.ศ.2535) การแก้ไขร่างสัญญาฉบับนี้ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินคือฐานรากอาคารแล้ว ผู้ฟ้องคดีกับพวกไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น”
กรมธนารักษ์ จึงออกคำสั่งที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวก รวม 3 คน จ่ายค่าเสียหายในส่วนของดอกเบี้ย (ประมาณ 500 ล้านบาทเศษ) ผู้ฟ้องคดี จึงอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์เห็นว่า “กรณีนี้เป็นเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมธนารักษ์ชำระหนี้
เนื่องจากกระทำผิดสัญญากับบริษัท BTSC ความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมมิใช่ความเสียหายที่เกิดจาก บริษัท BKT มิได้ส่งมอบหลักประกันสัญญาในวันลงนามในสัญญาแต่อย่างใด และกรมธนารักษ์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท BKT จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัท BKT หยุดจ่ายค่าฐานราก แม้ผู้ฟ้องคดีกับพวกจะแก้ไขร่างสัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดในวันส่งมอบหลักประกันสัญญาก่อสร้างอาคาร ก็มิได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมธนารักษ์ในมูลกรณีนี้
จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกกระทำการละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมธนารักษ์ ซึ่งกระทรวงการคลัง ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการเห็นพ้องด้วย แต่เนื่องจากกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติราชการในเรื่องนี้ว่า หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องผูกพันตามความเห็นของกระทรวงการคลัง กรณีความรับผิดทางละเมิด
ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหลักการดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมายและขาดหลักธรรมาภิบาลของทางราชการ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้
@มติ ครม.ปี 61 สั่งเดินหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ‘หมอชิต’
5.สถานะโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2555 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงนี้ต่อไป โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนการเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ พ.ศ. 2535 และมีการตราพระราชบัญญัติ ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาใช้บังคับแทน
กระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่ง ที่1668/2560 ลงวันที่ 7 พ.ย.2560 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเห็นสมควรให้บริษัท BKT ได้สิทธิการพัฒนาโครงการฯ ตามสัญญาเดิม
และคณะกรรมการฯ ได้มีการเจรจากับบริษัท BKT ซึ่งบริษัท BKT ก็ได้ตกลงยินยอมจะจ่ายเงินค่าก่อสร้างฐานรากอาคารพร้อมดอกเบี้ยที่กรมธนารักษ์เคยจ่ายให้บริษัท BTSC ไปแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเต็มตามจำนวน (จำนวน 1,119,276,554.45 บาท) คืนให้แก่กรมธนารักษ์ทั้งหมด และกระทรวงการคลังได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังรายงาน และให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุต่อไป
สำหรับร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุที่มีการยกร่างใหม่เพื่อนำมาใช้ลงนามกับบริษัท BKT ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ปัจจุบันได้มีการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยในส่วนของการวางหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคาร ตามที่เกิดปัญหาข้างต้น (ในข้อ 2.) นั้น ร่างสัญญาฉบับใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับเดิมได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัท BKT ไปออกแบบแปลนการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จก่อน แล้วนำมาประเมินราคาค่าก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้ในการคิดหลักประกันสัญญาร้อยละสิบของมูลค่าอาคาร
หลังจากนั้นจึงจะให้นำหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารมาวางพร้อมกับจัดทำสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการลงนามในร่างสัญญาดังกล่าว และกรมธนารักษ์ได้ให้บริษัท BKT ไปดำเนินการต่ออายุหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ใช้เป็นหลักประกันซองการประมูลในครั้งแรก ซึ่งบริษัท BKT ได้ดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2565 ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ใช้หลักประกันซองดังกล่าวแทนหลักประกันสัญญาการก่อสร้างอาคารตามโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุไปพลางก่อน
@ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง‘ข้อพิพาท’-สิทธิเรียกร้อง‘เกินอายุความ’
6.การกระทำละเมิดและอายุความ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า
6.1 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังชดใช้ค่าก่อสร้างฐานรากอาคารพร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัท BTSC นั้น เห็นว่า ความเสียหายดังกล่าว เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ตามมาตรา 72 ให้สิทธิบริษัท BKT เป็นผู้พัฒนาที่ราชพัสดุแปลงนี้ต่อไป บริษัท BKT ก็ตกลงยินยอมชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคารพร้อมดอกเบี้ยให้แก่กรมธนารักษ์
ดังนั้น หากในปี 2542 ที่บริษัท BKT มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์สอบถามสถานะของสัญญา โดยบริษัท BKT พร้อมจะลงนามในบันทึกข้อตกลงยินยอมจ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารให้แก่บริษัท BTSC อยู่แล้ว (รายละเอียดตามที่กล่าวในข้อ 2 วรรคท้าย) ซึ่งหากกรมธนารักษ์ยืนยันสถานะของสัญญาว่ายังมีผลผูกพัน บริษัท BKT ก็คงชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคารตามงวดงานให้แก่บริษัท BTSC ต่อไป ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
แต่เมื่อกรมธนารักษ์ไม่ยืนยันสถานะสัญญาหรือส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท BKT ตามสัญญา จึงเป็นเหตุให้ บริษัท BKT หยุดการจ่ายค่าก่อสร้างฐานรากอาคารให้บริษัท BTSC ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักของสัญญาต่างตอบแทน และเป็นความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท BTSC นับแต่ปี 2545 ถึงปี 2555 โดยผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังแพ้คดี การผลักภาระค่าดอกเบี้ยจากฐานราก ให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล ดังนั้น การที่กรมธนารักษ์มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจากดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ
6.2 สัญญาโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตได้มีการแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างอาคาร และมีการลงนามสัญญาในวันที่ 8 ส.ค.2539 ซึ่งกรมธนารักษ์ยืนยันว่า เป็นการกระทำละเมิดต่อกรมธนารักษ์อันเนื่องมาจากการแก้ไขร่างสัญญา กรณีต้องถือว่าวันที่ 8 ส.ค.2539 เป็นวันทำละเมิด หรืออย่างช้าที่สุด เมื่อบริษัท BTSC ได้มีหนังสือถึงกรมธนารักษ์ทวงถามให้ชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคาร
และกรมธนารักษ์ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 3 ม.ค.2543 แจ้งให้บริษัท BKT ชำระค่าก่อสร้างฐานรากอาคาร จำนวน 766,604,712.96 บาท ซึ่งถือว่ากรมธนารักษ์ได้รู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว กรณีต้องถือว่าวันที่ 3 ม.ค.2543 เป็นวันทำละเมิด
ดังนั้น การที่กรมธนารักษ์มีคำสั่ง ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการแก้ไขร่างสัญญาการก่อสร้างอาคาร จึงต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกินสิบปี นับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จากรายละเอียด ข้อเท็จจริง และความเห็นดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งกรมธนารักษ์ ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557
@ย้อนคดีพิพาทสั่ง 3 เจ้าหน้าที่ร่วมชดใช้สินไหมฯ 512 ล้าน
ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.269/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.271/2554 ลงวันที่ 19 ก.ค.2554 พิพากษาให้กรมธนารักษ์ และกระทรวงการคลัง ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าชดเชยงานก่อสร้างฐานรากของโรงจอดรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต จำนวน 648.02 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของต้นเงิน 607.22 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
โดยกรมธนารักษ์ต้องจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้แก่ BTSC เป็นเงิน 1,119.28 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 607.22 ล้านบาท และดอกเบี้ย 512.06 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 (คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1022/2555 ลงวันที่ 27 ก.ค.2555) กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดในกรณีดังกล่าว
ต่อมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติเสียงข้างมากให้ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ นายยืนยง ทัศนศรี อดีตผู้อำนวยการ กองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ และนายดำรงศักดิ์ บุญเกิด ซึ่งร่วมกันแก้ไขร่างสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร (วันที่ลงนามในร่างสัญญา คือ 8 ส.ค.2539) ที่ถือเป็นการกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมชดใช้สินไหมเป็นจำนวนเงิน 512.06 ล้านบาท
จากนั้นอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้มีคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 630/2557 ลงวันที่ 2 ต.ค.2557 เรียกให้ นายนิพัทธ นายยืนยง และนายดำรงศักดิ์ ร่วมกันชดใช้สินไหมทดแทนความรับผิดทางละเมิด เป็นเงิน 512.06 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดทั้ง 3 ราย ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งกรมธนารักษ์ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 ยกอุทธรณ์ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งกรมธนารักษ์ ทั้งนี้ เมื่อได้รับหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์แล้ว นายนิพัทธ และนายยืนยง ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯเพิกถอนคำสั่งของกรมธนารักษ์ดังกล่าว โดยแยกกันฟ้องเป็น 2 คดี
โดยคดีของนายนิพัทธ นั้น เมื่อปี 2562 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 962/2558 คดีหมายเลขดำที่ 506/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 โดยพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของปลัดกระทรวงการคลัง (ปลัดกระทรวงการคลัง) ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เฉพาะในส่วนที่ให้นายนิพัทธ ชดใช้ค่าสินไหมเกินกว่าจำนวน 204.82 ล้านบาท และในส่วนที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือเท่ากับว่านายนิพัทธต้องชดใช้ค่าสินไหมฯ 204.82 ล้านบาท ให้กรมธนารักษ์
ส่วนคดีของนายยืนยง นั้น เมื่อปี 2562 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 990/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 507/2562 ลงวันที่ 14 พ.ค.2562 โดยพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของปลัดกระทรวงการคลัง (ปลัดกระทรวงการคลัง) ที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 เฉพาะในส่วนที่ให้นายยืนยง ชดใช้ค่าสินไหมเกินกว่าจำนวน 38.4 ล้านบาท และในส่วนที่ให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือเท่ากับว่านายยืนยงต้องชดใช้ค่าสินไหมฯ 38.4 ล้านบาท ให้กรมธนารักษ์