“…เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ส่งเอกสาร หรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียกตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจส่งเอกสาร หรือให้ข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมาธิการซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการและเป็นความผิดทางวินัย…”
ที่ผ่านมาเมื่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ‘ไม่มีอำนาจเรียก’ กลายเป็น ‘ยักษ์ไม่มีกระบอง - งูไม่มีพิษ’ เห็นได้จากหลายกรณี เช่น ‘ถวายสัตย์ฯไม่ครบ’ ของพล.อ.ประุยุทธ์ จันทร์โอชา ‘แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน’ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ กรณี ‘ชั้น 14’ ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยิ่งไม่สามารถให้ทั้งคุณ-ให้ทั้งโทษได้ ผู้ที่ถูกเชิญมาชี้แจงมักจะใช้ช่องทางกฎหมายเป็น ‘ข้ออ้าง’ ที่จะไม่มาให้ข้อมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาในวาระแรก หรือ ขั้นรับหลักการไปแล้ว และคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว รอการพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สามในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
@ เปิดหลักการ-เหตุผล ร่าง พ.ร.บ.อำนาจเรียกของ กมธ.ฯ
บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ....
หลักการ
ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
เหตุผล
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129 กำหนดให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาอยู่นั้นได้ และกำหนดผลบังคับทางกฎหมายเป็นมาตรการเชิงบังคับ
โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับ ให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก ซึ่งเปลี่ยนแปลงหลักการและสาระสำคัญเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมาธิการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐสภาตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการมีกลไกและผลบังคับทางกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการในกิจการที่กระทำหรือในการสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@ คำนิยาม เจ้าหน้าที่รัฐ
ร่าง พระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ....
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 มาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคลตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้การใช้อำนาจของคณะกรรมาธิการในการเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นมีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาเรื่องใด ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทยแล้ว
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ....’
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจาษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของกระกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
‘คณะกรรมาธิการ’ หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภาและคณะกรรมาธิการร่วมกันซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมและสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา
‘ประธานคณะกรรมาธิการ’ หมายความว่า ประธานคณะกรรมาธิการสามัญและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา และประธานคณะกรรมาธิการร่วมกันซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมและสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา
‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล ผู้ที่ปฏิบัติงานในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นแต่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ และบุคคลหรือคณะบุคคล บรรดาซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย
มาตรา 5 สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภามีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด
@ ไม่บังคับใช้กับผู้พิพากษา-ตุลาการ-องค์กรอิสระ
มาตรา 6 คณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นรัฐมนตรี ให้ประธานคณะกรรมาธิการมีหนังสือแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงการเรียกดังกล่าวด้วย
การเรียกตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลทราบ และให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการกระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้น สั่งการให้บุคคลในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก
มาตรา 7 ในการดำเนินกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่ของคณะกรรมาธิการเรื่องใด หากคณะกรรมาธิการมีมติให้เรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือเรียกให้บุคคลนั้นส่งเอกสาร หรือเรียกบุคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่คณะกรรมาธิการกำหนด
หนังสือเรียกให้ส่งเอกสาร หรือหนังสือเรียกบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องระบุเหตุแห่งการเรียกนั้น รวมทั้งประเด็นข้อซักถามที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยตามสมควรในกรณีที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือเรียกให้ส่งเอกสาร หรือเรียกมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น อาจขอให้บุคคลนั้นนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
ให้บุคคลที่ได้รับหนังสือตามวรรคหนึ่งจัดส่งเอกสาร หรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่กำหนด เว้นแต่บุคคลนั้นมีเวลาเหลือที่จะปฏิบัติตามหนังสือไม่ถึงสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามวรรคหนึ่ง บุคคลนั้นอาจไม่ปฏิบัติตามหนังสือนั้นก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เมื่อคณะกรรมาธิการได้รับหนังสือแจ้งเหตุจากบุคคลนั้นแล้ว ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งอีกครึ่ง
มาตรา 8 บุคคลที่ได้รับหนังสือเรียกมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต้องมาด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้มีหนังสือขอเลื่อนหรือหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน พร้อมชี้แจงเหตุจำเป็นอย่างชัดเจนต่อคณะกรรมาธิการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเรียก
ในกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วมีมติให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ ให้ถือว่าคำแถลงหรือความเห็นของบุคคลนั้นเป็นคำแถลงหรือความเห็นของผู้ที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือเรียก
ถ้าคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นควรให้บุคคลที่ได้รับหนังสือเรียกตามวรรคหนึ่งต้องมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง ให้มีหนังสือเรียกบุคคลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ในกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วมีมติให้เลื่อนตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 7 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
@ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ส่งเอกสาร-ไม่มาชี้แจง ผิดวินัย
มาตรา 9 การจัดส่งหนังสือเรียกตามมาตรา 7 ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีการตามที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควรก็ได้ ดังต่อไปนี้
(1) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
(2) มอบให้บุคคลอื่นนำส่ง
(3) ส่งทางโทรสาร
(3/1) ส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
(4) วิธีการอื่นใดที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควรเฉพาะกรณี
หลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการจัดส่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด เมื่อได้ดำเนินการจัดส่งตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รับหนังสือเรียกโดยชอบแล้ว
มาตรา 10 ผู้ใดที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือเรียกตามมาตรา 7 ให้มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ ตามระเบียบที่ประธานรัฐสภากำหนด
มาตรา 11 ผู้ที่ให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 7 ต่อคณะกรรมาธิการ หรือผู้ที่จัดทำและเผยแพร่ หรือผู้รับรองความถูกต้องของบันทึกการประชุม รายงานการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษา ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการที่ตนเปิดเผยข้อมูล หรือให้วัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐาน หรือจัดทำและเผยแพร่ หรือรับรองความถูกต้องของบันทึกการประชุม รายงานการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษาโดยสุจริต แล้วแต่กรณี
มาตรา 12 กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
มาตรา 13 นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดไม่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับส่งเอกสาร หรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นตามหนังสือเรียกของคณะกรรมาธิการตามมาตรา 6 วรรคสี่ ให้ประธานคณะกรรมาธิการมีหนังสือแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นให้มาแถลงหรือชี้แจงเหตุผลในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เว้นแต่อยู่นอกสมัยประชุมให้ส่งคำชี้แจงเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภา ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง แล้วแต่กรณี
มาตรา 14 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ส่งเอกสาร หรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียกตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจส่งเอกสาร หรือให้ข้อเท็จจริงหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมาธิการซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการและเป็นความผิดทางวินัย
@ นายกฯ-รัฐมนตรี ไม่ดำเนินการถือว่าจงใจขัดกฎหมาย
เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานคณะกรรมาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีทราบด้วย
การดำเนินการทางวินัยตามวรรคสอง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนรายงานผลการดำเนินการทางวินัยต่อคณะกรรมาธิการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานคณะกรรมาธิการ และแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยให้ประธานคณะกรรมาธิการทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ถ้าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนไม่ดำเนินการทางวินัยหรือไม่ดำเนินการตามวรรคสาม ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ผู้นั้นสังกัดด้วย
มาตรา 14/1 ในกรณีที่บุคคลซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของคณะกรรมาธิการตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ให้ประธานคณะกรรมาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการควบคุม กำกับการประกอบอาชีพ หรือประกอบกิจการของบุคคลนั้นดำเนินการเร่งรัดให้บุคคลนั้นส่งเอกสาร หรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ
ให้หน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่ง รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมาธิการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากประธานคณะกรรมาธิการ
มาตรา 15 ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ระเบียบนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติเห็นชอบในวาระที่สอง-วาระที่สามแล้ว เสมือนเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคณะกรรมาธิการทั้งในสภาล่าง-สภาสูง ในการเรียกเอกสาร-บุคคลมาชี้แจงเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป