"...โดยที่ศาลปกครองนำระบบการไต่สวนมาใช้พิจารณาคดีจึงสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นยุติโดยไม่จำต้องผูกพันกับผลของคดีอาญา..."
กำลังเป็นที่มีวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในแวดวงนักฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในคดีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่าทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 คดีถึงที่สุด
แต่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯไม่ผูกพันศาลปกครองให้ผู้ถูกกล่าวหาชนะคดี เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ
เล่นเอาแวดวงนักกฎหมายงง?
แม้ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกข้าราชการของหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเกิดจากการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง แต่ไม่มีมูลความผิดทางอาญา และเป็นคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิด
อะไรคือเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ
และคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ ในที่สุดผู้ถูกกล่าวหารายนี้ต้องถูกไล่ออกจากราชการหรือไม่ ด้วยข้อหาอะไร
ที่มาของคดี
นายทนงศักดิ์ เฝ้ากระโทก ยื่นฟ้องโรงเรียนบ้านหนองสนวนที่ 1 คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาที่ 2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่ 3 และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองสวนที่ 4 ต่อศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
นายทะนงศักดิ์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด( คดีหมายเลชดำ อบ.69/2564 คดีหมายเลขแดง อบ.169 2567 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2567)
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า คำสั่งโรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ในส่วนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในชั้นการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3(ป.ป.ช.) มิได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐาน อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการจัดทำ บันทึกข้อกล่าวหาโดยระบุเพียงการกระทำและพฤติการณ์ทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด โดยไม่มีการระบุถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องหรือพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการสนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดีและไม่มีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ
ผู้ฟ้องคดี จึงได้จัดทำบันทึกแก้ข้อกล่าวหาเท่าที่ได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยไม่ได้รับรู้ว่ามีพยานบุคคล หรือพยานเอกสาร หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องใด ๆ ที่สนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่เป็นไปตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายบัญญัติในการออกคำสั่งทางปกครอง
เมื่อสำนวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทื่ 1( โรงเรียนบ้านหนองสนวน) อาศัยเหตุตามที่ปรากฏในสำนวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มาออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองสวน)มิได้ดำเนินการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และส่งความเห็นไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2(คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา) เพื่อให้มีมติไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 40 ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550
นอกจากนี้พยานหลักฐานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่นำมาใช้พิจารณาการกระทำของผู้ฟ้องคดีก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ กล่าวคือ พยานบุคคล รวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ให้การไปในทางเดียวกันว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามแบบ เพราะนายรัตนชัย บุตรไทย ช่างผู้ควบคุมงาน สั่งการให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่กำหนด
แต่พยานเอกสาร ที่นายรัตนชัย บุตรไทย และนายชูศักดิ์ สายเนตร ผู้ควบคุมงาน ได้จัดทำตามแบบแสดงรายงานการควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 7 ครั้ง ระบุว่า ปฏิบัติงานได้ดีตามปกติ ไม่มีอุปสรรค หรือปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งรายงานดังกล่าวไม่มีการเสนอให้ผู้ฟ้องคดีรับทราบแต่อย่างใด มีเพียงนายรัตนชัย บุตรไทย และนายชูศักดิ์ สายเนตร เท่านั้น ที่ทราบว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนที่กำหนดหรือไม่
การก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบจึงเกิดจากผู้ควบคุมงานที่สั่งการให้ผู้รับจ้างแก้ไขลักษณะของงานจนผิดไปจากแบบแปลนที่กำหนดมิได้เกิดจากการกระทำของผู้ฟ้องคดี
นอกจากนี้ แม้จะมีการแก้ไขแบบแปลนโดยมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุ แต่การที่เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ผู้ว่าจ้างมีคำสั่งแก้ไขงานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นคำเสนอขอแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างในส่วนของการเปลี่ยนแปลงทางเดินเท้าและทางเข้าออกเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และผู้รับจ้างตกลงยินยอมก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กโดยเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกรณีจึงถือได้ว่ามีการตกลงแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโดยแก้ไขแบบแปลนที่แนบท้ายสัญญาจ้าง เลขที่ 14/2550 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ระหว่างเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ ผู้ว่าจ้างและห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ผู้รับจ้าง ได้เกิดขึ้นแล้ว นับตั้งแต่ที่มีคำเสนอสนองต้องตรงกันประกอบกับการแก้ไขดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งงานก่อสร้างที่แก้ไขนั้นมิได้มีปริมาณงานที่ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ได้ประโยชน์จากการได้ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด และผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้มีความรู้ในการอ่านแบบแปลนก่อสร้างและไม่เคยรับทราบเรื่องการแก้ไขงานก่อสร้าง ทั้งผู้ควบคุมงานไม่เคยรายงานปัญหาในการดำเนินงานก่อสร้างต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ผู้ฟ้องคดีได้ออกไปตรวจดูแลการทำงานของผู้รับจ้างด้วยตนเองและในวันตรวจรับงานได้ออกไปตรวจอีกครั้งและพบว่าผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและทางเดินเท้าแล้วเสร็จ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบจุดที่ต้องสร้างทางเดินเท้าเนื่องจากไม่มีช่างออกไปตรวจสอบด้วย และในวันต่อมานายรัตนชัยได้อธิบายและยืนยันว่า การก่อสร้างเป็นไปตามแบบ ผู้ฟ้องคดีจึงเชื่อโดยสุจริตว่างานก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจึงได้ลงนามตรวจรับโครงการดังกล่าวการกระทำของผู้ฟ้องคดีมิได้มีเจตนาที่จะกระทำเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้จึงไม่เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ผลประโยชน์ที่มิควรได้
คำสั่งโรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้น และมีคำบังคับตามคำขอท้ายคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี
ป.ป.ช.ยันมีอำนาจไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดชัดเจน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางเท้าและทางเข้าออกถนนร่วมมิตร ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
การที่ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อตรวจรับงานก็เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ เบิกจ่ายค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ผู้รับจ้างรับไป ทั้งที่การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบแปลนตามสัญญาจ้าง การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคุณแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ผู้รับจ้าง
การที่ผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อตรวจรับงานจ้างโดยไม่ได้ออกไปตรวจงานจ้างจริง ถือว่าผู้ฟ้องคดีมีเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ และเอื้อประโยชน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงครบองค์ประกอบความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เมื่อการที่เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างทั้งที่การก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาย่อมต้องถือว่าเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ได้รับความเสียหายแล้ว
การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการมติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีจึงมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีที่จะต้องถือเอารายงานการไต่สวน ข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย โดยไม่จำต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่อย่างไร โดยการไต่สวนและวินิจฉัยย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมถึงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับกับการไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน
การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนักวิชาการประชาสัมพันธ์ 3 สังกัดเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างขยายผิวจรวจรคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางเท้าและทางเข้าออก ถนนร่วมมิตร ตามคำสั่งเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ ที่ 181/2550 ลงวันที่ 2 เมษายน 2550
ต่อมา นายสมนึก ปุริโส กับพวกรวม 10 คน มีหนังสือลงวันที่19 กรกฎาคม 2550 ร้องเรียนต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กล่าวหาว่า นายรัตนชัย บุตรไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายช่างโยธา 5 เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา กับพวก รวมถึงผู้ฟ้องคดี กระทำการทุจริตในการดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คือ โครงการขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมทางเดินเท้าและทางเข้าออกถนนร่วมมิตร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีมูล จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน ข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ 161/2552 ลงวันที่ 22 เมษายน 2552 โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 และผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยปฏิเสธการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้วทำสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 718 - 90/2558 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการร่วมตรวจการจ้าง โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางเดินเท้าและทางเข้าออก ถนนร่วมมิตร ได้ลงนามตรวจรับการจ้างโครงการดังกล่าวโดยเห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ผู้รับจ้าง ได้ทำการก่อสร้างครบถ้วนเป็นไปตามรูปแบบและข้อกำหนดในสัญญา และเห็นควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างต่อไป ทั้งที่ ผู้รับจ้างทำงานจ้างไม่เป็นไปตามสัญญาและแบบแปลนแนบท้ายสัญญา กรณีจึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดนครราชสีมาเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารกระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมีหนังสือ ลับ ที่ ปช 0034(นม)/0220 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 แจ้งอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาผู้ฟ้องคดีกับพวก และมีหนังสือ ลับ ที่ ปช 0034 (นม)/0221 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 13 - 1 - 308/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 265 - 1 - 5/2558 พร้อมความเห็นให้นายกเทศมนตรีตำบลโนนสมบูรณ์พิจารณาโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี
หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งโรงเรียน บ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่2/2559 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงมีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองขั้นต้น ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาตามคำรับสารภาพของผู้ฟ้องคดี ตามคดีหมายเลขแดง ที่ อท 39/2561 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คดีถึงที่สุดเนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใตยื่นอุทธรณ์
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีนี้
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยแล้ว
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำสั่งโรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการมติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือไม่
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ได้ออกเทศบัญญัติ เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 โดยกำหนดรายละเอียด โครงการ แบบแปลนวงเงินก่อสร้าง (ประมาณราคาก่อสร้าง) โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจร คสล. พร้อมทางเท้าและทางเข้าออก ถนนร่วมมิตร ไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนักวิชาการประชาสัมพันธ์ 3 สังกัดเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางเท้าและทางเข้าออก ถนนร่วมมิตร ตามคำสั่งเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ ที่ 181/2550 ลงวันที่ 2 เมษายน 2550
ต่อมา เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ ผู้ว่าจ้าง และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ได้ทำสัญญาจ้างเลขที่ 14/2550 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 กำหนดให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างทั้งหมด 4 ช่วง ส่วนที่เป็นข้อพิพาทคือช่วงที่ 1 ซึ่งมีเนื้องาน คือจากแยกสุขาภิบาล 1 ฝั่งทิศเหนือ ก่อสร้างขยายผิวจราจร คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างเฉลี่ย 1.50 เมตร ยาว 163 เมตร หนา 0.15 เมตร ปริมาตรคอนกรีตไม่น้อยกว่า 35.40 ลูกบาศก์เมตร หรือพื้นที่ผิวจราจรไม่น้อยกว่า 236 ตารางเมตร ทางเดินเท้าและทางเข้าออก ขนาดกว้างเฉลี่ย 1.90 เมตร หรือพื้นที่ไม่น้อยกว่า 309 ตารางเมตร ฝั่งทิศใต้ ก่อสร้างผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างเฉลี่ย 1.20 เมตร ยาว 163 เมตร หนา 0.15 เมตร ปริมาตรคอนกรีตไม่น้อยกว่า 28.35 ลูกบาศก์เมตร หรือพื้นที่ผิวจราจรไม่น้อยกว่า 189 ตารางเมตร ทางเดินเท้าและทางเข้าออก ขนาดกว้างเฉลี่ย 2 เมตร ยาว 163 เมตร หรือพื้นที่ไม่น้อยกว่า 326 ตารางเมตร โดยในสัญญา ข้อที่ 15 ระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะสั่งให้ผู้รับจ้างทำงานพิเศษซึ่งไม่ได้แสดงไว้ หรือรวมอยู่ในเอกสารสัญญา หากงานพิเศษนั้น ๆ อยู่ในขอบข่ายทั่วไปแห่งวัตถุประสงค์ของสัญญานี้
นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างยังมีสิทธิสั่งให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขแบบรูป และข้อกำหนดต่าง ๆ ในเอกสารสัญญานี้ด้วยโดยไม่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะแต่อย่างใด ผู้รับจ้างเริ่มดำเนินการตามสัญญาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 แต่ในวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโครงการก่อสร้างช่วงที่ 1 ทำหนังสือคัดด้านการก่อสร้างทางเท้าในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากทำให้ผิวถนนแคบและบริเวณสองข้างถนนเป็นชุมชน ถ้าสร้างทางเท้าอาจทำให้ถนนแคบและเกิดอุบัติเหตุได้ จึงขอให้เทศบาลทำถนนเรียบไม่มีทางเท้าให้เหมือนกับถนนบริเวณตลาดเพราะเป็นถนนเส้นเดียวกัน
กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจ้างการก่อสร้างขยายผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางเข้าออก ถนนร่วมมิตร ช่วงที่ 1 เป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงนายกเทศมนตรีตำบลโนนสมบูรณ์ย่อมมีอำนาจตามข้อ 129 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ 15 ของสัญญาจ้างแก้ไขรายละเอียดและแบบแปลนในการก่อสร้างช่วงที่ 1 ของสัญญาดังกล่าว เพื่อประโยชน์แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็คือประโยชน์แก่การจัดทำบริการสาธารณะ
โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่านายกเทศมนตรีตำบลโนนสมบูรณ์ได้สั่งการในหนังสือคัดค้านว่า "ชอบ ได้ความประการใดให้รายงานให้ทราบด้วย" เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานจึงดำเนินการตามแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบทางเท้าตามคำสั่งของนายกเทศมนตรีทันที โดยที่ยังมิได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการแก้ไขแบบรูปทางเท้าในสัญญาแต่อย่างใด อันเป็นความบกพร่องและเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้การก่อสร้างในช่วงที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้ ฝั่งทิศเหนือ ก่อสร้างขยาย ผิวจราจรมีขนาดกว้างเฉลี่ย 1.59 เมตร ยาว 167 เมตร หนา 0.15 เมตร มีปริมาณคอนกรีต 36.68 ลูกบาศก์เมตร หรือพื้นที่ผิวจราจร 244.57 ตารางเมตร ทางเดินเท้า ทางเข้าออก และ งานก่อสร้างขยายผิวจราจรแทนทางเดินทาง มีขนาดกว้างเฉลี่ย 1.93 เมตร ยาว 167 เมตร หรือปริมาณพื้นที่ 309.63 ตารางเมตร และฝั่งทิศใต้ก่อสร้างขยายผิวจราจรมีขนาดกว้างเฉลี่ย 1.27 เมตร ยาว 167 เมตร หนา 0.15 เมตร มีปริมาณคอนกรีต 30.72 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ความกว้างเฉลี่ย ความยาวเฉลี่ย ความหนาและปริมาณพื้นที่ (ตารางเมตร) ปริมาณคอนกรีต (ลูกบาศก์เมตร) มากกว่ารายละเอียดการก่อสร้างที่กำหนดไว้ในสัญญา และสภาพของถนนและทางเท้าที่เปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการร่วมตรวจการจ้างจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 65 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยการตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างในระหว่างการก่อสร้าง และตรวจรับงานเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเข้าตรวจการจ้างเป็นระยะ คือ ก่อนและหลังเวลาปฏิบัติราชการ แต่ไม่ทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมของช่างผู้ควบคุมงาน และไม่ทราบรายละเอียดของสัญญาจ้างโครงการดังกล่าวแต่ประการใด
เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ทำการเข้าตรวจการจ้างทั้งก่อนและหลังปฏิบัติราชการ ไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลใดที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีเข้าตรวจการจ้างในระหว่างที่มีการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จผู้ฟ้องคดีและคณะกรรมการรายอื่นได้รับแจ้งให้เข้าดำเนินการตรวจการจ้างตามหนังสือเทศบาลตำบล โนนสมบูรณ์ ที่ นม 63302/ว 633 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2550 โดยไปร่วมตรวจรับงานจ้าง ในวันที่ 9 สิงหาคม 2550
ผู้ฟ้องคดีได้รับเอกสารในการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย ใบตรวจการจ้างใบรับรองภาพถ่ายงานจ้างเหมา (ไม่มีภาพถ่ายแนบในวันตรวจการจ้าง) และตลับวัด 1 อัน โดยไม่มีรูปแบบ สัญญาจ้าง และรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างจากผู้ควบคุมงาน อีกทั้งผู้ควบคุมงานและประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างเป็นบุคคลเดียวกันไม่ได้เดินทางไปร่วมตรวจการจ้างด้วย ทำให้กรรมการตรวจการจ้างที่เหลือเกิดความไม่มั่นใจประกอบกับมีชาวบ้านในพื้นที่แจ้งด้วยวาจาว่าโครงการมีปัญหาด้านการก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดีและกรรมการตรวจการจ้างรายอื่นจึงไม่ลงลายมือชื่อในใบตรวจการจ้างและใบรับรองภาพถ่ายงานจ้างเหมา
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีได้รับเพื่อประกอบการตรวจการจ้างไม่มีภาพถ่ายงานจ้างเหมาและแบบรูปตามสัญญาจ้าง แม้ผู้ฟ้องคดีจะเข้าไปในสถานที่ตรวจรับและเห็นสภาพการก่อสร้างก็เป็นการยากที่จะชี้ชัดได้ว่าการก่อสร้างส่วนใดที่ไม่เป็นไปตามแบบเนื่องจากไม่มีข้อมูลให้ทำการเปรียบเทียบ ประกอบกับการที่ผู้ฟ้องคดีรับแจ้งข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าโครงการมีปัญหาด้านการก่อสร้าง จึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีเข้าตรวจการจ้าง ณ สถานที่จริงในวันที่ได้มีการนัดหมายแต่ก็มิได้ลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจการจ้างในทันทีเนื่องจากไม่เชื่อมั่นว่าการก่อสร้างว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่
กรณีจึงเห็นได้ว่า ในวันที่ทำการตรวจการจ้างผู้ฟ้องคดีได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจการจ้างตามวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้นอย่างเหมาะสมแล้ว
ต่อมา ผู้ควบคุมงานและเป็นประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งรับรู้ถึงการสั่งการของนายกเทศมนตรีที่เห็นชอบให้แก้ไขแบบก่อสร้างยืนยันว่าการก่อสร้างเป็นไปถูกต้องตามแบบ ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบโดยชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงยอมลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจการจ้างจากพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเป็นนักวิชาการประชาสัมพันธ์ 3 มิได้เป็นผู้มีความรู้ความเขี่ยวชาญในการก่อสร้าง การที่ผู้ฟ้องคดีรับฟังผู้ควบคุมงานซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างด้วยเช่นกันคำขี้แจงดังกล่าวย่อมมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าการก่อสร้างเป็นไปโดยขอบ
นอกจากนี้ ไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์อันใดจากการลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจการจ้างหรือมีเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการอย่างไร การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง ของประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนการลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544
และเมื่อปริมาณงานและพื้นที่ก่อสร้างในช่วงที่ 1 มีมากกว่าที่กำหนดในสัญญาจ้าง ซึ่งเป็น ข้อเท็จจริงที่ไม่มีคู่กรณีใดคัดค้านในส่วนนี้ เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์จึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง เมื่อผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเท่าเดิมตามที่กำหนดในสัญญากรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ได้รับความเสียหายแต่อย่างโด ดังนั้นพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
ส่วนผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือไม่
เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับการยืนยันจากผู้ควบคุมงานและประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปโดยชอบ แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีรับทราบจากประชาชนในพื้นที่มาก่อนแล้วว่าการก่อสร้างดังกล่าวแตกต่างไปจากแบบที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้ฟ้องคดีชอบที่จะขอตรวจดูแบบแปลนการก่อสร้างหรือหลักฐานการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนและนำมาเปรียบเทียบกับการก่อสร้างที่เกิดขึ้น เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจการจ้าง การที่ผู้ฟ้องคดีเชื่อถือคำยืนยันของผู้ควบคุมงานและประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยมิได้ตรวจสอบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจการจ้างตามที่กำหนดไว้ในข้อ 65 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
อย่างไรก็ดี การที่ผู้ฟ้องคดีขาดความรัดกุมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว หาได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์แต่อย่างใด เนื่องจากรูปแบบการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปมีรายละเอียดมากกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเท่าเดิม และสภาพของถนนและทางเท้าที่เปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งโรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการ ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ อท 114/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อท 39/2561 ที่พิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดี (จำเลยที่ 5) ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งเทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ ที่ 181/2550 ลงวันที่ 2 เมษายน 2550 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้างโครงการขยายผิวจราจร คสล. พร้อมทางเท้าและทางเข้าออก ถนนร่วมมิตรตามสัญญาจ้างเลขที่ 14/2550 ลงวันที่18 มิถุนายน 2550 ได้จัดทำ เอกสารใบตรวจการจ้าง ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 ว่า ผู้รับจ้างได้ทำงานถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามรูปแบบและรายละเอียดข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้ว เห็นควรจ่ายเงินจำนวน 1,515,000 บาท ให้แก่ผู้รับจ้าง จนเป็นเหตุให้มีการเบิกจ่วยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 ผู้รับจ้างรับไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จ ด้วยเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลโนนสมบูรณ์ และเป็นการกระทำโดยทุจริต เอื้อประโยชน์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตักทอง 49 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162 (1) (4) คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด นั้น เห็นว่า แม้มาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วย แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีผลบังคับกับการพิจารณาคดีปกครอง และโดยที่ศาลปกครองนำระบบการไต่สวนมาใช้พิจารณาคดีจึงสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นยุติโดยไม่จำต้องผูกพันกับผลของคดีอาญา
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งโรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด หน่วยงานของรัฐต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 88 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 84 หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี
คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดี 3 มีมติชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีจึงต้องผูกหันตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการพิจารณาโทษทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการแก่ผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีกและต้องถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคตีออกจากราชการจึงเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อการออกคำสั่งดังกล่าวมิได้เกิดจากเจตนากลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย หรือจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการออกคำสั่งพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ดังนั้น แม้คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำต้องชำระดอกเบี้ย อันเป็นค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำขอท้ายฟ้อง ประกอบกับเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการคืนสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีตามสมควรแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้เงินเดือนและให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทุกรอบที่มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจนถึงวันออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ รวมทั้งถือปฏิบัติต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีให้ได้รับสิทธิพึงมีตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
เห็นว่า การจ่ายเงินเดือนและเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ผู้ฟ้องคดีพึงได้รับตามสิทธิ เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการปฏิบัติต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับระเบียบกรมบัญชีกลางว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากราชการโดยคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วได้รับการพิจารณายกเลิก เพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น พ.ศ. 2551 ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ศาลจึงไม่จำต้องกำหนดคำบังคับในส่วนนี้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง โรงเรียนบ้านหนองสนวน ที่ 17/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ที่ชำระไว้เกินจำนวน 3,034 บาท แก่ผู้ฟ้องคดี โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามนัยมาตรา 69 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ว่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสมือนว่าไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ
จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า มีการไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่และศาลเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯใช้ในการพิพากษาคดี
แต่คำถามคือ หากคดีอื่นๆคำพิพากษาของศาลทั้งสองมีความแตกต่างกันอีกองค์กรใดจะเป็นผู้ชี้ขาด