ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์ที่ดิน เงินฝาก 166 รายการ 18.4 ล. คดี ‘จันจิรา สุขเกษม’ พวก 34 คนร่วมลักทรัพย์ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล 62.7 ล. ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกรายแรก 1 คน 4 ปี ให้คืนเงิน 1.1 ล. ยังเหลืออีก 2 คดี หลังให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอชดใช้คืน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เผยแพร่ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ราย นางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก กรณีบริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนาเยีย ให้ดำเนินคดี กับนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปทำให้บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายในเบื้องต้น เป็นเงินจำนวน 62,723,417.86 บาท ตามข่าวก่อนหน้านี้ (ข่าวเกี่ยวข้อง:ปปง.ให้ผู้เสียหายยื่นขอรับคืนคดีลูกจ้างสาวลักทรัพย์ บมจ.อุบลไบโอ เอทานอล 62.7 ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรารายงานว่า คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.มีคำสั่งที่ 230/2567 ลงวันที่ 12 พ.ย.2567 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก จำนวน 166 รายการ ราคา 18,452,338.74 บาท ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดที่ดิน ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ 1 งาน 11 ตารางวา มูลค่า 283,620 บาท ในชื่อ น.ส.สาวิตรี และ เงินในบัญชีเงินฝาก ในชื่อ นางสาวจันจิรา และบุคคลต่างๆจำนวน 165 รายการ รวมยอดเงิน 18,168,718.74 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568
@เปิดคำสั่งยึดอายัดทรัพย์
คำสั่งยึดและอายัดทรัพย์มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากสถานีตำรวจภูธรนาเยีย ตามหนังสือที่ ตช.0018 (อบ).(17)3/1363 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เรื่อง ขอให้ดำเนินการกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมกับผู้ถูกกล่าวหากับพวก รวม 27 คน รายนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก ซึ่งเป็น กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะ เป็นปกติธุระและความผิดฐานฟอกเงิน กล่าวคือ
@แจ้งความเอาผิด 3 คดี -คดีแรก 5 ราย ปฏิเสธข้อกล่าวหา 1 ราย ศาลนัดฟังผล 24 เม.ย.
บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนาเยีย ให้ดำเนินคดีกับนางสาวจันจิรา สุขเกษม นายอภิสิทธิ์ บุ้งทอง นายปรีชา บุตพา นายวรจิตร บุ้งทอง และนายกิตติพงษ์ ทองจันทร์ ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป พนักงานสอบสวนรับคําร้องทุกข์เป็นคดีอาญาที่ 92/2566 ลงวันที่ 22 เมษายน 2566 จากการรวบรวมพยานหลักฐานพนักงานสอบสวนสรุปสํานวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดมมีความเห็นสั่งฟ้องนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวมจำนวน 5 ราย ต่อศาลจังหวัดเดชอุดมในคดีหมายเลขดำที่ อ.529/2566 หมายเลขแดงที่ อ 643/2566 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ความผิดฐานลักทรัพย์ โดยนางสาวจันจิรา สุขเกษม จําเลยที่ 1 นายอภิสิทธิ์ บุ้งทอง จําเลยที่ 2 นายปรีชา บุดพา จําเลยที่ 3 นายวรจิตร บุ้งทอง จําเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ ส่วนนายกิติพงษ์ ทองจันทร์ จําเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ ศาลจังหวัดเดชอุดมจึงมีคำสั่งจําหน่ายคดีในส่วนของนายกิติพงษ์ ทองจันทร์ เพื่อให้พนักงานอัยการจังหวัดเดชอุดมยื่นฟ้องเป็นอีกคดีต่างหาก ทั้งนี้ เนื่องจากจําเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอชดใช้เงินค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจนครบจำนวนภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับจากวันฟ้องศาลจังหวัดเดชอุดม จึงนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 24 เมษายน 2568 เวลา 09.00 นาฬิกา
@ ศาลจังหวัดเดชอุดม สั่งจำคุก 1 ราย 4 ปี ให้คืนเงิน 1,178,569 บาท
ส่วนคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายกิติพงษ์ ทองจันทร์ เป็นจําเลย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดเดชอุดมในคดีหมายเลขดำที่ อ641/2566 หมายเลขแดงที่ อ902/2566 ได้มีคําพิพากษาจําคุกนายกิติพงษ์ ทองจันทร์ 4 ปี และให้คืนเงินจำนวน 1,178,569.74 บาท แก่บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) โจทก์ร่วม ปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์
@ กคดีที่ 3 รวม 34 คน พบรับโอนเงินเข้าบัญชี
ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2567 บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาเยีย ให้ดำเนินคดีอาญากับนายวิจิตร คําทา กับพวก รวม 34 คน ในข้อหาลักทรัพย์โดยร่วมกัน กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือรับของโจร โดยมีสาเหตุอันสืบเนื่องจากภายหลังจากที่ได้ดำเนินคดีกับ นางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวม 5 คน ไปแล้ว บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ได้ทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวม 5 คน เบื้องต้นปรากฏความ เคลื่อนไหวทางบัญชี ในขณะและหลังกระทำความผิด เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินและวันเวลาที่เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของ บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ได้โอนออกไปยังบัญชีเงินฝากธนาคาร ของนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวม 5 คน เป็นที่น่าสงสัยได้ว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวที่มีการโอนเงินจาก บัญชีเงินฝากธนาคารของนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวม 5 คน ไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของนายวิจิตร คำทา กับพวก รวม 34 คนเป็นจำนวนหลายครั้ง หลายบัญชี รวมเป็นเงินจำนวนมาก เชื่อว่านายวิจิตร คําทา กับพวก รวม 34 คน ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่รับโอนจากนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก รวม 5 คน น่าจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในการสนับสนุนการช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับ ไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดในคดีหมายเลขดำที่ อ529/2566 หมายเลขแดงที่ อ643/2566 และคดีหมายเลขดำที่ อ641/2566 หมายเลขแดงที่ อ902/2566 ของศาลจังหวัดเดชอุดม บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จํากัด (มหาชน) จึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลกลุ่มผู้กระทำผิดต่อไป อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก ไต่ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
@พบทรัพย์สินเกี่ยวข้องความผิด 166 รายการ
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ที่ประชุม มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.522/2567 ลงวันที่28 สิงหาคม 2567 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนางสาวจันจิรา สุขเกษม และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 582/2567 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เรื่อง มอบหมายพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่ารายนางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) และความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคล ดังกล่าว ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 166 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจาก ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็น ทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัด ทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อ ได้ว่านางสาวจันจิรา สุขเกษม กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว นอกจากนี้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางสาวเจนจิรา สุขเกษม กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันโดยเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (9) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 13/2567 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มความผิดมูลฐานความผิดเกี่ยวกับ การพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันโดยเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินรายนางสาวเจนจิรา สุขเกษม กับพวก
@สั่งยึดอายัดชั่วคราว 166 รายการ 90 วัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 13/2567 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ ราว จำนวน 166 รายการ พร้อมตอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชี ทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้