"...มีรายงานข่าวว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง มาจนถึงปัจจุบัน นับรวมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2567 รวมระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว ..."
กรณี นายทวีป บุตรโพธิ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาตไทย รับนาฬิกา TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA 0910 SERIED RZE9871 จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท ของเจ้าหน้าที่รัฐ
มีบทสรุปเป็นทางการไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ว่า นายทวีป บุตรโพธิ์ จำเลย มีความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 มาตรา 103, 103/1 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2), 7
จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ส่วนโทษจำคุกได้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข้อมูลผลคำพิพากษาคดีนี้ ต่อสาธารณชน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาทันที ถึงมาตรฐานในการไต่สวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เชิงเปรียบเทียบกับคดียืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีเข้าข่ายการรับจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท ว่า เป็นไปตามมาตรฐาน หลักการเดียวกันหรือไม่?
ทำไมกรณี นายทวีป บุตรโพธิ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดนสอบสวนชี้มูล ส่งเรื่องฟ้องศาลฯ ดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว
แต่กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องยังค้างคาอยู่ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. นานถึง 6 ปี โดยไม่กล้าวินิจฉัยว่า การอ้างว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท มาสวมใส่โดยไม่ยอมส่งคืนหลังจากผู้ที่อ้างว่าให้ยืมเสียชีวิตไปแล้ว นานกว่า 10 เดือน แต่เมื่อถูกพบเห็นจากภาพข่าวจึงรีบนำไปคืน เข้าข่ายการรับผลประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาทด้วยหรือไม่?
เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา เปรียบเทียบข้อมูลรายละเอียดการไต่สวนคดี นายทวีป บุตรโพธิ์ และ คดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ของป.ป.ช. มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ คดี นายทวีป บุตรโพธิ์
(1) คดีนี้ ป.ป.ช.รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ในช่วงปี 2563 ก่อนจะมีมติชี้มูลความผิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566
(2) จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พบว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ นายทวีป บุตรโพธิ์ เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป ได้รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA0910 SERIED RZE9871 ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท
(2) หลังจากรับนาฬิกาดังกล่าวมาแล้ว ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง โดยมิได้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นในการรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนต่อผู้บังคับบัญชา
(3) จนกระทั่งมีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. นายทวีป บุตรโพธิ์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 2562 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา และส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการส่งมอบ คืนภายหลังได้รับทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน
(4) ผู้ร้องเรียนกล่าวหานายทวีป เป็นผู้ให้ทรัพย์สินนี้แก่นายทวีป เอง
@ ทวีป บุตรโพธิ์
ผลการพิจารณาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของ นายทวีป บุตรโพธิ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ก่อนส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ก่อนที่เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้เป็นทางการ
นับรวมระยะเวลาในการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. จนกระทั่งศาลฯ มีคำพิพากษาตัดสิน ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 รวมระยะเวลากว่า 4 ปี
@ คดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ส่วนการไต่สวนกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ การอ้างว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท มาสวมใส่โดยไม่ยอมส่งคืนหลังจากผู้ที่อ้างว่าให้ยืมเสียชีวิตไปแล้ว นานกว่า 10 เดือน แต่เมื่อถูกพบเห็นจากภาพข่าวจึงรีบนำไปคืน เข้าข่ายการรับจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาทด้วยหรือไม่
ปรากฏเป็นข่าวในช่วงเดือนธ.ค. 2561 หลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 ให้ข้อกล่าวหากรณีการครอบครองนาฬิกาหรู และแหวนมารดา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตกไป โดยพล.อ.ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วว่า นาฬิกาทั้งหมด 22 เรือน ยืมจากนายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ ที่เป็นเพื่อนสนิท และได้คืนไปหมดแล้ว ไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน
ส่วนกรณีการตรวจสอบว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทตามกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาฯ ป.ป.ช. ในขณะนั้น ยืนยันว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะทำงานอีกคณะหนึ่ง ยังไม่ได้สรุปผล
d
ต่อมา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เปิดประเด็นตั้งคำถามครั้งแรกในการจัดกิจกรรมวันต่อต้อนคอร์รัปชั่นสากล ประเทศไทย ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง เมื่อวันที่ 09 ธันวาคม 2564 ว่า คดียืมนาฬิกามูลค่า 3 ล้านบาทต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 เดือนเป็นอย่างน้อยตั้งแต่ผู้ให้ยืมเสียชีวิต การยืมแบบนี้นั้นถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่?
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. (ในขณะนั้น) ตอบคำถามว่า ในประเด็นการกล่าวหาเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในกรณีเรื่องการยืมนาฬิกาเพื่อนนั้น ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการวินิจฉัยไปแล้วว่าการยืมทรัพย์สินตัวนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของเขาเอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องลงรายการในบัญชีทรัพย์สิน เรื่องนี้จบไปแล้ว
"ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่าแล้วการยืมนั้นเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในมาตรา 103 ตามกฎหมายเดิมหรือไม่ เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องได้มีการตรวจสอบรายละเอียดรวมทั้งมูลค่า มีการขอทราบข้อเท็จจริงไปยังกรมศุลกากรกรณีที่มีบุตรสาวของทางผู้ให้ยืมนาฬิกาไปเสียค่าปรับนาฬิกา เพราะฉะนั้นขั้นตอนในกระบวนการเหล่านี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและมันจะมีข้อกฎหมายตามมาว่าการให้ยืมนั้นถือเป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่"
นายนิวัติไชย ยังกล่าวด้วยว่า "นี่ถือเป็นประเด็นกฎหมายที่สำคัญ เพราะว่าการยืมมันจะมีอยู่สองกรณีคือยืมแบบมีมูลค่า เช่น เวลาที่เราไปเช่าสินค้าหรือเช่ารถยนต์ในทางธุรกิจ มันก็จะมีลักษณะของการประกอบธุรกิจซึ่งมันมีมูลค่าอยู่ แต่ในกรณีที่เพื่อนซึ่งให้ยืมกันเอง การคิดมูลค่า ตรงนี้นั้นจะสามารถคิดมูลค่าเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องน้ำใจ หรือว่าเขามีสิ่งของซึ่งเขาอาจจะให้ยืมไปก่อนหรืออะไรต่าง ๆ นั้นตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยพอสมควร"
"ในปัจจุบันเราก็ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ความจริงนั้นมีการเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นนั้นยังไม่ตกผลึก ก็เลยต้องให้มีการไปตรวจสอบว่าในประเด็นที่มีการเสียค่าปรับที่ศุลกากรนั้นมีมูลค่าเท่าไรกันแน่ ซึ่งเข้าใจว่าทางศุลกากรส่งรายละเอียดมาให้แล้ว แต่คงต้องตรวจสอบอีกว่าเรื่องนี้ไปถึงไหน สรุปหรือยัง" นายนิวัติไชย ระบุ
หลังจากนั้น ในช่วงเดือนมี.ค. 2565 ปรากฏข่าวว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 1" รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายกรณียืมนาฬิกาหรู จำนวน 25 เรือน ของเพื่อนมาใช้ ในประเด็นข้อกล่าวหาสุดท้าย ว่าการยืมนาฬิกาหรูแบบนี้ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่
พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องยืมนาฬิกา จำนวน 22 เรือน มาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และเมื่อใช้เสร็จก็ได้คืนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการยืมใช้คงรูป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 640, 641 ดังนั้น การได้รับประโยชน์ใช้สอยจากนาฬิกาจึงเป็นประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายที่ผู้ยืมพึงมีสิทธิได้รับ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 เห็นควรไม่รับเรื่อง
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง มาจนถึงปัจจุบัน
นับรวมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2567 รวมระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว
ทั้งหมดเป็นข้อมูลรายละเอียดช่วงระยะเวลาในการพิจารณาคดีนายทวีป บุตรโพธิ์ และ คดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในเรื่องระยะเวลาในการไต่สวนคดีของป.ป.ช. เกี่ยวกับประเด็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท
ส่วนรายละเอียดในคดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้ง 2 คดี แล้ว จะพบข้อสังเกตเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
นายทวีป บุตรโพธิ์ ได้รับนาฬิกาหรู จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับนาฬิกา ที่อ้างว่ามาจากการยืมเพื่อน
ทั้งกรณี นายทวีป และ พล.อ.ประวิตร ต่างได้รับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท เหมือนกัน
สอง.
จำนวนนาฬิกาหรู ที่ นายทวีป ได้รับมามี 1 เรือน ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีจำนวน กว่า 22 เรือน
ขณะที่ นาฬิกาที่พล.อ.ประวิตร อ้างว่ายืมจากเพื่อนนั้นแต่ละเรือนมูลค่าหลายแสนจนถึง หลายล้านบาท
แต่ทั้งสองกรณีก็ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าสูงกว่า สามพันบาท
สาม.
หลังได้รับนาฬิกาหรู นายทวีป บุตรโพธิ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เก็บไว้กับตนเองเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีการคืนให้กับผู้เกี่ยวข้องหลังถูกตรวจสอบเหมือนกัน
สี่.
มีเงื่อนงำประเด็นหนึ่งที่สำนักข่าวอิศรา ตั้งคำถามมาตลอด คือ ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ข้อ 5 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ตามนิยามของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. หมายรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย) จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ โดยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติซึ่งให้โดยเสน่หาตามจำนวนที่เหมาะสมตามฐานานุรูป หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3 พันบาท หรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
ขณะที่ข้อ 7 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับมาแล้ว โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ โดยทันทีที่สามารถกระทำได้ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชมีคำสั่งว่า ไม่สมควรรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าว ก็ให้คืนทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ผู้นั้นทันที กรณีไม่สามารถคืนให้ได้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดโดยเร็ว ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าส่วนราชการ ให้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน
เมื่อพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ข้างต้น เทียบกับข้อเท็จจริงในการยืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร เห็นได้ว่า พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าข่ายนิยามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้นจึงไม่สามารถรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทได้ แต่หากรับมาแล้ว มีความจำเป็นต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ดังนั้น พล.อ.ประวิตร จึงต้องแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกหน่วยราชการให้ทราบ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น หรือความเหมาะสม หรือสมควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ หากไม่สมควรจึงให้คืน
กรณี นายทวีป ภายหลังทราบเรื่องได้เร่งดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยสั่งการโดยพลันกับทั้งได้ส่งคืนนาฬิกาดังกล่าวให้กับผู้ร้องเรียนได้รับไปแล้ว หน่วยงานสังกัดจำเลยได้ลงโทษทางวินัยในขั้นรุนแรงอันไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด
ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตร ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่า มีการดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยสั่งการโดยพลัน และถูกลงโทษทางวินัยด้วยหรือไม่
@ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล นี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ว่าพลันที่ สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข้อมูลผลคำพิพากษาคดีนายทวีป ต่อสาธารณชน จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาทันที ถึงมาตรฐานในการไต่สวนคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเชิงเปรียบเทียบกับคดียืมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ว่าเป็นไปมาตรฐาน หลักการเดียวกันหรือไม่
ทำไม กรณี นายทวีป โดนชี้มูล ส่งเรื่องฟ้องศาลฯ ดำเนินคดีโดนลงโทษ จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท
แต่กรณี พล.อ.ประวิตร เวลาผ่านมานานถึง 6 ปี เรื่องยังค้างวาระอยู่ที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
อันนำมาซึ่งคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของ ป.ป.ช. ในการตรวจสสอบคดี‘นาฬิกา’ ทั้ง 2 กรณี แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
- ทำความเข้าใจช่องทางถอด กก.ป.ป.ช. ปมตีตกคดีนาฬิกาหรู-‘พรเพชร’ตัวแปรสำคัญ?
- 'ศรีสุวรรณ'ล่า 2 หมื่นชื่อชงถอดถอน 5 กก.ป.ป.ช.ข้างมากตีตกคดีนาฬิกา'บิ๊กป้อม'
- ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’
- เบื้องหลัง กก.ป.ป.ช. เสียงข้างมาก ลงมติ 5:3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม' ยืมเพื่อนไม่ผิด!
- ยืมเพื่อนไม่ผิด! ป.ป.ช.มติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม'
- ปิดม่านมหากาพย์นาฬิกาเพื่อน‘บิ๊กป้อม’ ป.ป.ช.ตีตก-เหลือปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พัน?