"...การยืมนั้นเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในมาตรา 103 ตามกฎหมายเดิมหรือไม่ เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องได้มีการตรวจสอบรายละเอียดรวมทั้งมูลค่า มีการขอทราบข้อเท็จจริงไปยังกรมศุลกากรกรณีที่มีบุตรสาวของทางผู้ให้ยืมนาฬิกาไปเสียค่าปรับนาฬิกา เพราะฉะนั้นขั้นตอนในกระบวนการเหล่านี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและมันจะมีข้อกฎหมายตามมาว่าการให้ยืมนั้นถือเป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) :เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้มีการจัดกิจกรรมวันต่อต้อนคอร์รัปชั่นสากล ประเทศไทย ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง ซึ่งในระหว่างการจัดงานได้มีการบรรยายสรุปภารกิจการทำงานของ ป.ป.ช.
โดยในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวนั้น นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้สอบถาม ป.ป.ช. ให้ชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการยืนทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงว่าจะต้องตีความอย่างไร จะเป็นการให้หรือไม่
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ : ถ้าหากผมยืมรถราคาสิบล้านบาทมาขับ ผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือว่าเป็นนักการเมืองนั้น ผมไปยืมขับ ใช้ทุกวัน ผมอ้างว่ายืมเพื่อน แบบนี้จะถือว่าเป็นการให้หรือไม่
ซึ่งกรณีนี้นั้นถือเป็นกรณีต่อเนื่องมาจากคดีซึ่งหลายคนคิดว่าจบไปแล้ว ซึ่งก็คือ คดียืมนาฬิกา ที่ก็มีการวินิจฉัยไปหลายเรื่อง ทั้งเรื่องไม่อยู่ในบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่ยังค้างอยู่ตั้งแต่การแถลงข่าวในสมัยที่ นายวรวิทย์ สุขบุญ ยังคงเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.อยู่ ก็คือ คดียืมนาฬิกามูลค่า 3 ล้านบาทต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 เดือนเป็นอย่างน้อยตั้งแต่ผู้ให้ยืมเสียชีวิต
การยืมแบบนี้นั้นถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่?
เพราะเท่าที่ผมทราบนั้นเรื่องนี้ค้างการวินิจฉัย ป.ป.ช.ตั้งแต่การแถลงข่าวคราวนั้นที่บอกว่าทรัพย์สินที่ยืนมาเป็นทรัพย์สินคงรูป ไม่ต้องลงในบัญชีทรัพย์สิน แต่ว่าเรื่องการยืมทรัพย์สินที่มีมูลค่า 3 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 เดือนเป็นการให้หรือไม่นั้น ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีการชี้แจงเลย ประเด็นนี้ค้างอยู่นานแล้ว ไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่สามารถชี้ข้อกฎหมายตรงนี้ออกมาไม่ได้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. : ในประเด็นการกล่าวหาเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในกรณีเรื่องการยืมนาฬิกาเพื่อนนั้น ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการวินิจฉัยไปแล้วว่าการยืมทรัพย์สินตัวนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของเขาเอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องลงรายการในบัญชีทรัพย์สิน เรื่องนี้จบไปแล้ว
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่าแล้วการยืมนั้นเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในมาตรา 103 ตามกฎหมายเดิมหรือไม่
เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องได้มีการตรวจสอบรายละเอียดรวมทั้งมูลค่า มีการขอทราบข้อเท็จจริงไปยังกรมศุลกากรกรณีที่มีบุตรสาวของทางผู้ให้ยืมนาฬิกาไปเสียค่าปรับนาฬิกา
เพราะฉะนั้นขั้นตอนในกระบวนการเหล่านี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและมันจะมีข้อกฎหมายตามมาว่าการให้ยืมนั้นถือเป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่
นี่ถือเป็นประเด็นกฎหมายที่สำคัญ เพราะว่าการยืมมันจะมีอยู่สองกรณีคือยืมแบบมีมูลค่า เช่น เวลาที่เราไปเช่าสินค้าหรือเช่ารถยนต์ในทางธุรกิจ มันก็จะมีลักษณะของการประกอบธุรกิจซึ่งมันมีมูลค่าอยู่
แต่ในกรณีที่เพื่อนซึ่งให้ยืมกันเอง การคิดมูลค่า ตรงนี้นั้นจะสามารถคิดมูลค่าเป็นเงินได้หรือไม่
เพราะบางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องน้ำใจ หรือว่าเขามีสิ่งของซึ่งเขาอาจจะให้ยืมไปก่อนหรืออะไรต่าง ๆ นั้น
ตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยพอสมควร
ในปัจจุบันเราก็ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ความจริงนั้นมีการเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นนั้นยังไม่ตกผลึก ก็เลยต้องให้มีการไปตรวจสอบว่าในประเด็นที่มีการเสียค่าปรับที่ศุลกากรนั้นมีมูลค่าเท่าไรกันแน่ ซึ่งเข้าใจว่าทางศุลกากรส่งรายละเอียดมาให้แล้ว แต่คงต้องตรวจสอบอีกว่าเรื่องนี้ไปถึงไหน สรุปหรือยัง