“...ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร และทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส...”
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับของกระทรวงกลาโหม และฉบับของพรรคประชาชน ภายหลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมการเมืองและการทหารอย่างกว้างขวาง เพื่อเปรียบเทียบร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ
@ ฉบับพรรคเพื่อไทย ‘กินแดน’ กองทัพ
ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทยกับคณะ ซึ่งอยู่ระหว่างเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ดังนี้
- ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลให้เหมาะสมและกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพล (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25)
- กำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารไปกระทำการบางเรื่องและให้สิทธิข้าราชการทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้กระทำการดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35)
- ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ก่อการกบฏหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งให้พักราชการตามกฎหมาย (เพิ่มมาตรา 35/1)
- แก้ไของค์ประกอบของสภากลาโหมให้เหมาะสมโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหม และให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นสมาชิกสภากลาโหมเพิ่มเติม รวมทั้งตัดตำแหน่งสมาชิกสภากลาโหมบางตำแหน่งที่เห็นว่าไม่จำเป็น ปรับที่มาของสมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42)
- แก้ไขเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 และมาตรา 45)
เหตุผล
โดยที่คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการเท่านั้น
ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร และทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส
จึงเป็นการสมควรที่จะให้คณะรัฐมนตรีได้มีหน้าที่และอำนาจ ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วได้ องค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีอยู่ก็ไม่มีความเหมาะสม จึงควรปรับองค์ประกอบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ส่วนสภากลาโหม ก็มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ทั้งที่ภารกิจของราชการทหารมีความเกี่ยวข้องกับส่วนราชการอื่นด้วย โดยเฉพาะด้านการใช้งบประมาณ จึงควรให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย
โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตัดองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหมในส่วนของกองทัพออกบางส่วน เหตุเพราะการมีตัวแทนของส่วนราชการแต่ละกองทัพส่วนราชการละหนึ่งคนหรือสองคนก็เพียงพอและเหมาะสมแล้ว และผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นทหารชั้นนายพลควรเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามบางประการ จึงสมควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารชั้นนายพลไว้ด้วย
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พบว่านายทหารระดับสูงมีการใช้กำลังพลไปในทางที่ขัดต่อรัฐธธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงควรกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างรอการสอบสวนได้ โดยมิต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@ ให้อำนาจ ‘ครม.’ แต่งตั้งนายทหารชั้น ‘นายพล’
ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ด้วย และให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้ว เสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณา แต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสอง และระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ในการประชุมคณะกรรมการหากมีจำนวนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
เมื่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำรายชื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง พร้อมรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติต่อไป
คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อใดรายชื่อหนึ่งหรือทุกรายชื่อ แล้วส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำเสนอต่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้พิจารณาทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ได้รับแต่งตั้งใหม่ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
@ เปิดสเปก ‘นายพล-ผบ.เหล่าทัพ’
การกำหนดคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพลที่จะได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อย่างน้อยต้องไม่เป็นผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงกลาโหม
(3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดผิดลหุโทษ”
@ ล้อมคอก ‘กองทัพ’ ยึด ‘อำนาจ’
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 35 ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการดังต่อไปนี้
(1) เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
(2) เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ
(3) เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา
(4) เพื่อกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น
ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยทหารหรือกฎหรือกฎหมายทหาร
การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
@ ยื่นดาบ ‘นายกฯ’ ฟัน ‘พักราชการ’ ทหารกบฏ
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
“มาตรา 35/1 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใด ได้กระทำการหรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1) ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
@ ‘นายกฯ’ นั่ง ‘ปธ.สภากลาโหม’ - เพิ่มสัดส่วนการเมือง
“มาตรา 42 ให้มี ‘สภากลาโหม’ ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภากลาโหม
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม
(3) จเรทหารทั่วไป
(4) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(5) ปลัดกระทรวงการคลัง
(6) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(7) เสนาธิการทหาร
(8) ผู้บัญชาการทหารบก
(9) เสนาธิการทหารบก
(10) ผู้บัญชาการทหารเรือ
(11) เสนาธิการทหารเรือ
(12) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(13) เสนาธิการทหารอากาศ
(14) อธิบดีกรมบัญชีกลาง
(15) สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม จำนวนไม่เกินสามคนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ให้รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นเลขาธิการสภากลาโหมโดยตำแหน่งและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นรองเลขาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเชิญบุคคลอื่นเข้าชีแจงและแสดงความคิดเห็นต่อสภากลาโหมเฉพาะเรื่องใดก็ได้”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 44 สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (15) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ
ในกรณีสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (15) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกซึ่งได้แต่งตั้งไว้เดิม”
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 45 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภากลาโหม ตามมาตรา 42 (15) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(6) สมาชิกสภากลาโหมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการกระทำหรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภากลาโหม”
มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
@ ฉบับกองทัพ-เพิ่มอำนาจตัวเอง
ขณะที่ร่างของกระทรวงกลาโหมที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2567 จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2567
ชื่อการรับฟัง
การรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ผู้ได้รับผลกระทบ : หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม, หน่วยงานของรัฐ,ประชาชนทั่วไป
ความเป็นมา (สภาพปัญหาและเป้าหมาย)
พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๑ ก.พ.๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการจัดองค์กรและการบริหารราชการ ของ กห. ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์และระบบการบริหารราชการของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
ในปัจจุบัน โดยให้ รมว.กห. มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติและมีอำนาจออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ การแบ่งส่วนราชการในสังกัด กห.
คำอธิบายหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดมาตรการสำคัญไว้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ดังนี้
1.บทนิยามที่สำคัญ
1.1 ข้าราชการทหาร หมายถึง ข้าราชการทหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า ทหารประจําการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร
1.2 ข้าราชการพลเรือนกลาโหม หมายถึง ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการในกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งที่มิใช่อัตราทหารและไม่มีชั้นยศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง
1.3 ทหารกองประจําการ หมายถึง ทหารกองประจําการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการและรับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด
1.4 นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม หมายถึง นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 ที่กำหนดความหมายไว้ว่า นักเรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนของทางราชการทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
1.5 เจ้าหน้าที่ทางทหาร หมายถึง ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
1.6 การใช้กําลังทหาร หมายความว่า การใช้ทหารตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ข้าราชการพลเรือนกลาโหมและเจ้าหน้าที่ทางทหาร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
2.บททั่วไป (หมวด 1 มาตรา 6 - มาตรา 9)
2.1 กำหนดประเภทของข้าราชการกระทรวงกลาโหม แบ่งออกเป็น สองประเภท ได้แก่ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนกลาโหม รวมถึงอำนาจหน้าที่และการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อกระทำการหรือพิจารณาหรือสอบสวนกรณีใด ๆ เกี่ยวกับราชการของกระทรวงกลาโหมก็ได้
2.2 อำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ปราบปรามการกบฏและการจลาจล โดยจัดให้มีและใช้กำลังตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามที่กฎหมายกำหนด ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ พัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคงตลอดจนสนับสนุนภารกิจอื่นของรัฐในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติและการช่วยเหลือประชาชน
รวมถึงปฏิบัติการอื่นที่เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เพื่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือปฏิบัติการอื่นใด ตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามมติคณะรัฐมนตรี และต้องบริหารราชการให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3.การแบ่งส่วนราชการ (หมวด 2 มาตรา 10 – มาตรา 23) กำหนดให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กองทัพไทย (กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) ซึ่งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนราชการ ดังนี้
3.1 สำนักงานรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และการประสานนโยบายระหว่างกระทรวง มีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ เว้นแต่สำนักงานจเรทหารทั่วไปในสำนักงานรัฐมนตรีให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
3.2 จเรทหารทั่วไป มีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม
3.3 สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับงานนโยบายและยุทธศาสตร์ งานราชการประจำทั่วไปของกระทรวง และราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงซึ่งมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการอื่นใด มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.4 กองทัพไทย มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพไทย การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.5 กองบัญชาการกองทัพไทย มีหน้าที่ควบคุมอำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแลการดำเนินงานของส่วนราชการในกองทัพไทยในการเตรียมกำลัง การป้องกันราชอาณาจักรและการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา โดยอาจตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับแผนเพื่อรักษาเอกราชและผลประโยชน์แห่งชาติ
3.6 กองทัพบก มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพบก การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพบกตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.7 กองทัพเรือ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพเรือตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
3.8 กองทัพอากาศ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
4.การจัดระเบียบราชการทั่วไป (หมวด 3 มาตรา 24 – มาตรา 32)
4.1 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วย สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
4.2 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้มอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
@ ตั้งบอร์ด 7 อรหันต์ แต่งตั้ง ‘นายพล’
4.3 กำหนดให้การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยที่ส่วนนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการ
4.4 กําหนดให้กระทรวงกลาโหมกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการส่งกําลังบํารุงร่วมและมาตรฐานยุทโธปกรณ์ตามความต้องการของกองทัพไทย โดยให้มีคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้งขึ้นรับผิดชอบการดำเนินการส่งกําลังบํารุงร่วม หรือมาตรฐานยุทโธปกรณ์ แล้วแต่กรณี และให้รับผิดชอบการวางแผน พัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการบริหารราชการทั่วไปของกระทรวงกลาโหม ให้สามารถติดต่อเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
5. การจัดระเบียบการปฏิบัติราชการทหาร (หมวด 4 มาตรา 33 - มาตรา 41) กำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้ ดังนี้
5.1 การใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติราชการทหาร หรือการวางกำลัง เพื่อเตรียมการยุทธให้เป็นไปตามข้อบังคับแผนและคำสั่งปฏิบัติการทางทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
5.2 การปฏิบัติหน้าที่เพื่อการรบหรือการสงคราม การปราบปราม การกบฏหรือเมื่อได้ประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ และเมื่อการรบหรือการสงคราม หรือการปราบปรามกบฏสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบจากสภากลาโหมพิจารณาสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารที่ได้กำหนดหรือแต่งตั้ง
5.3 การใช้กำลังทหารในการเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ส่วนการใช้กำลังทหารหรือการอื่นใดเพื่อป้องกัน ระงับ หรือ ปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือเกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยเร็ว มิให้เหตุการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากระทรวงกลาโหม และเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี
5.4 กําหนดให้ทหาร ข้าราชการพลเรือนกลาโหม และผู้ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่กับทหารในภารกิจเพื่อความมั่นคงของประเทศ อาจได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
6. หมวด 5 คณะผู้บริหาร (มาตรา 42 – มาตรา 47)
6.1 กำหนดให้มี ‘สภากลาโหม’ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม จเรทั่วไป ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมเป็นเลขาและรองเลขาธิการ
ทั้งนี้ สมาชิกสภากลาโหมดังกล่าวมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระ
@ ยึดอำนาจ ‘รมว.กลาโหม’ จัดสรรงบประมาณ
6.2 กําหนดให้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม
6.2.1 นโยบายการทหาร
6.2.2 นโยบายการระดมสรรพกําลังเพื่อการทหาร
6.2.3 นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาในกระทรวงกลาโหม
6.2.4 การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
6.5.5 การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
6.2.6 เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกําหนดให้เสนอสภากลาโหม
@ ผุด ‘คณะผู้บัญชาการทหาร’ ให้คำปรึกษา
6.3 กําหนดให้มี ‘คณะผู้บัญชาการทหาร’ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสนาธิการทหาร โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะผู้บัญชาการทหาร มีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องการเตรียมกําลัง การสั่งการใช้กําลัง การเคลื่อนกําลังทหาร และการเตรียมพร้อม ตลอดจนรับผิดชอบในการควบคุมอํานวยการยุทธในภาพรวม รวมทั้งควบคุมบังคับบัญชากองกําลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้นในกรณีที่มีสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
@ ฉบับ ‘ประชาชน’ กองทัพอยู่ใต้ ‘รัฐบาลพลเรือน’
ก่อนหน้านี้ พรรคประชาชน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดย เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข พรรคก้าวไกลในขณะนั้น กับคณะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อให้กองทัพมีความทันสมัย โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน
เหตุผล
โดยที่ปัจจุบัน ทหารและกองทัพมีอำนาจทางการเมืองผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางอำนาจของกองทัพให้อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ เช่น อำนาจของ ‘สภากลาโหม’ ในการกำหนดนโยบายและพิจารณางบประมาณทางการทหาร อำนาจของ ‘คณะกรรมการแต่งตั้งนายพล’ ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างการบริหารจัดการและการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับหน่วยงานส่วนราชการอื่น ควรที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการและการใช้อำนาจเพื่อให้สอดดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องตราพระระราชบัญญัตินี้
ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....’
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า ‘เจ้าหน้าที่ทางทหาร’ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“’เจ้าหน้าที่ทางทหาร’ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้ง เพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหกของมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และใช้ความต่อไปนี้แทน
“อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาทหารผู้นั้นจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการด้วยระบบคุณธรรรมด้วยการเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้วเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 30 ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ กระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการส่งกำลังบำรุงร่วมและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทย ซึ่งต้องคำนึงถึงความจำเป็นยิ่งยวด ความประหยัด มาตรฐาน ขีดความสามารถในการรบ ทั้งนี้ ในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส เปิดเผย ศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติเฉพาะ พิจารณาถึงการส่งกำลังบำรุง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้มีการจ้างงานภายในประเทศ โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ นั้นด้วยทุกขั้นตอน”
@ รมว.กลาโหม มีอำนาจประกาศ-ยกเลิก ‘กฎอัยการศึก’
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 34 ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อการรบหรือการสงคราม การปราบปราม การกบฎ หรือเมื่อได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหมมีอำนาจกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ทางทหารได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจเมื่อการรบหรือการสงคราม หรือการปราบปรามการกบฏสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหม พิจารณาสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารที่ได้กำหนด หรือแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหมมีอำนาจกำหนดพื้นที่ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติการทางทหารเป็นยุทธบริเวณและกำหนดพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นเขตภายใน”
มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 37 เพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหมมีอำนาจอนุมัติให้กระทรวงกลาโหมจัดและวางกำลังในพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงกลาโหมได้ตั้งแต่ยามปกติ
มาตรา 38 การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยการเสนอความเห็นของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดหน่วยงานในกระทระทรวงกลาโหม และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหาร รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารนั้น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี”
มาตรา 10 ให้ยกเลิกชื่อหมวด 5 คณะผู้บริหาร แห่งพระราชบัญญัติจัตระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด 5 คณะที่ปรึกษา”
มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 42 ให้มี ‘สภากลาโหม’ ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
(1) รัฐนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภาโหม
(2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม
(3) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(4) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(5) ผู้บัญชาการทหารบก
(6) ผู้บัญชาการทหารเรือ
(7) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(8) สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม จำนวนไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งตามมติของคณะรัฐมนตรี
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งบุคคลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นว่ามีความเหมาะสม เป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมากกว่าหนึ่งคนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานเรียงตามลำดับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเชิญบุคคลอื่นเข้าชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นต่อสภากลาโหมเฉพาะเรื่องใดก็ได้”
มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 43 สภากลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) นโยบายการทหาร
(2) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร
(3) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม
(4) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
(5) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
(6) เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้สภากลาโหมเสนอความเห็น
มาตรา 44 สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (8) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ
ในกรณีสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (8) พ้นจากตำเเหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือยู่ของสมาชิกซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา 45 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (8) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(6) สมาชิกสภากลาโหมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการกระทำหรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภากลาโหม”
มาตรา 13 ให้ยกเลิกวรรคสี่ของมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
@ สุญญากาศ ‘สภากลาโหม’
มาตรา 14 ให้สมาชิกสภากลาโหมที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภากลาโหม ในวาระเริ่มแรกหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่ายังไม่มีสภากลาโหมและให้อำนาจหน้าที่ทั้งหมดของสภากลาโหมยังไม่มีผลใช้บังคับ
อย่างไรก็ตามครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ให้ชะลอร่างพ.ร.บ.ฉบับพรรคประชาชนไว้ก่อน เพื่อรอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมของกระทรวงกลาโหมเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
อ่านประกอบ :
- เว็บสภาเปิดฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯ กห.เนื้อหาห้ามใช้ทหารยึดอำนาจ-ทำผิด กม.
- เปิดร่าง'พ.ร.บ.จัดระเบียบฯกลาโหม'ฉบับ'เพื่อไทย' รื้อเกณฑ์ตั้ง'นายพล'-ห้าม'ทหาร'ยึด'อำนาจ'
- เว็บระบบกลางทางกฎหมาย เปิดฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม ‘ฉบับกองทัพ’
- ครม.รุมค้าน พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม ฉบับ ‘ประชาชน’ - ตีกลับสภา ฯ