"...เมื่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำรายชื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง พร้อมรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติต่อไป คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อใดรายชื่อหนึ่งหรือทุกรายชื่อ แล้วส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำเสนอต่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้..."
....................................
จากกรณีที่เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
โดย ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ดังกล่าว มีสาระสำคัญ เช่น ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลให้เหมาะสม และกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล
การกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารไปกระทำการบางเรื่องและให้สิทธิข้าราชการทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้กระทำการดังกล่าว
และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ก่อการกบฏหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งให้พักราชการตามกฎหมายนั้น (อ่านประกอบ : เว็บสภาเปิดฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯ กห.เนื้อหาห้ามใช้ทหารยึดอำนาจ-ทำผิด กม.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘หลักการ’ และ ‘เนื้อหา’ ของร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยกับคณะ มีรายละเอียด ดังนี้
เหตุผล
โดยที่คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการเท่านั้น
ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร และทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส
จึงเป็นการสมควรที่จะให้คณะรัฐมนตรีได้มีหน้าที่และอำนาจ ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วได้ องค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีอยู่ก็ไม่มีความเหมาะสม จึงควรปรับองค์ประกอบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ส่วนสภากลาโหม ก็มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ทั้งที่ภารกิจของราชการทหารมีความเกี่ยวข้องกับส่วนราชการอื่นด้วย โดยเฉพาะด้านการใช้งบประมาณ จึงควรให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย
โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตัดองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหมในส่วนของกองทัพออกบางส่วน เหตุเพราะการมีตัวแทนของส่วนราชการแต่ละกองทัพส่วนราชการละหนึ่งคนหรือสองคนก็เพียงพอและเหมาะสมแล้ว และผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นทหารชั้นนายพลควรเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามบางประการ จึงสมควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารชั้นนายพลไว้ด้วย
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พบว่านายทหารระดับสูงมีการใช้กำลังพลไปในทางที่ขัดต่อรัฐธธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงควรกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างรอการสอบสวนได้ โดยมิต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@ให้อำนาจ‘ครม.’แต่งตั้งนายทหารชั้น‘นายพล’
ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 การบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ให้กระทรวงกลาโหมกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ด้วย และให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้นแล้ว เสนอคณะกรรมการตามวรรคสามพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณา แต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสอง และระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย ในการประชุมคณะกรรมการหากมีจำนวนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
เมื่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำรายชื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง พร้อมรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติต่อไป คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อใดรายชื่อหนึ่งหรือทุกรายชื่อ แล้วส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำเสนอต่อคณะกรรมการตามวรรคสามได้พิจารณาทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ได้รับแต่งตั้งใหม่ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
การกำหนดคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพลที่จะได้รับแต่งตั้งตามวรรคสอง อย่างน้อยต้องไม่เป็นผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงกลาโหม
(3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดผิดลหุโทษ”
@เขียนชัดห้าม‘ข้าราชการทหาร’ยึด‘อำนาจ’รัฐบาล
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 35 ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการดังต่อไปนี้
(1) เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
(2) เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ
(3) เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา
(4) เพื่อกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น
ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยทหารหรือกฎหรือกฎหมายทหาร
การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
“มาตรา 35/1 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรผู้ใด ได้กระทำการหรือตระเตรียมการเพื่อกระทำการตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง (1) ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้นายทหารผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
@‘นายกฯ’นั่ง‘ปธ.สภากลาโหม’-‘รมว.กลาโหม’รองประธาน
“มาตรา 42 ให้มี “สภากลาโหม” ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภากลาโหม
(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานสภากลาโหม
(3) จเรทหารทั่วไป
(4) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(5) ปลัดกระทรวงการคลัง
(6) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(7) เสนาธิการทหาร
(8) ผู้บัญชาการทหารบก
(9) เสนาธิการทหารบก
(10) ผู้บัญชาการทหารเรือ
(11) เสนาธิการทหารเรือ
(12) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(13) เสนาธิการทหารอากาศ
(14) อธิบดีกรมบัญชีกลาง
(15) สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม จำนวนไม่เกินสามคนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ให้รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นเลขาธิการสภากลาโหมโดยตำแหน่งและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นรองเลขาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเชิญบุคคลอื่นเข้าชีแจงและแสดงความคิดเห็นต่อสภากลาโหมเฉพาะเรื่องใดก็ได้”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 44 สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (15) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ
ในกรณีสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 42 (15) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกซึ่งได้แต่งตั้งไว้เดิม”
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 45 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภากลาโหม ตามมาตรา 42 (15) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(6) สมาชิกสภากลาโหมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการกระทำหรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภากลาโหม”
มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่)..... พ.ศ... ฉบับ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย กับคณะ และต้องติดตามกันต่อไปว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ อย่างไร?
อ่านเพิ่มเติม : ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
อ่านประกอบ :
เว็บสภาเปิดฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯ กห.เนื้อหาห้ามใช้ทหารยึดอำนาจ-ทำผิด กม.