ครม. มีมติ ส่งคืน ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับ ‘พรรคประชาชน’ – ตีกลับ สภาผู้แทนราษฎร ก่อนรับหลักการ เปิดความเห็นกฤษฎีกา-หน่วยงานความมั่นคง สภาพัฒน์-สำนักงบฯ รุมค้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติให้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยเรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม. พรรคประชาชนกับคณะ ที่ครม.ขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการไปยังสภาผู้แทนราษฎร พร้อมแจ้งข้อสังเกตดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
นายจิรายุกล่าวว่า นอกจากนี้ครม.ยังรับทราบข้อสังเกตและผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ รวมถึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเร่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของกระทรวงกลาโหม ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ต่อครม.ต่อไป
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฉบับดังกล่าวและความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว มีข้อพิจารณาว่า โดยที่การปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารราชการของกระทรวงกลาโหมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญซึ่งจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ
ประกอบกับในส่วนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ยังคงบัญญัติให้สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อเป็นบุคคลล้มละลาย ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมายตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ก.ค.65
นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมยังอยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอยู่ระหว่างการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์จัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562
ดังนั้น เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มีความครบถ้วนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในชั้นนี้ ครม.จึงยังไม่สมควรมีมติรับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้และเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เร่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของ กระทรวงกลาโหม ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ต่อ ครม. ต่อไป
ขณะที่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
- กระทรวงกลาโหม ไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากการกำหนดหลักการของร่างพ.ร.บ.นี้ ในส่วนที่ระบุว่า แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และการกำหนดเหตุผลให้ส่วนที่ระบุว่า โครงสร้างการบริหารจัดการและการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เห็นว่า ยังไม่มีความชัดเจน และการที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ตัดอำนาจของสภากลาโหมในการให้ความเห็นชอบสำหรับการดำเนินการที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสภากลาโหมไปเป็น ‘คณะที่ปรึกษา’ ก็อาจทำให้การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขาดความรอบคอบ รวมทั้งเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลนั้น โดยที่กระบวนการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นการพิจารณาร่วมกันของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลจึงมีลักษณะทำนองเดียวกับการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน โดยแตกต่างเฉพาะในส่วนที่ไม่มีการเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเท่านั้น ทั้งนี้ ในการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย
- กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มีความเห็นว่า ไม่ควรรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับเหตุผลของกระทรวงกลาโหม
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เห็นว่า ไม่ควรรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ในส่วนที่เป็นการปรับโครงสร้างของกระทรวงกลาโหม จากการดำเนินการในระบบของสภากลาโหม ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนที่อาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้ง 2 ด้าน
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เห็นว่า ไม่ควรรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราที่ให้อำนาจในการสั่งการ อนุมัติ อนุญาตแก่บุคคล ยังไม่มีกลไกในการป้องกันการใช้ดุลพินิจไว้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบทบัญญัติเพิ่มเติมในหลายประเด็น
- สำนักงบประมาณ เห็นว่า ไม่ควรรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.นี้ ยังไม่มีความชัดเจน
- กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ขัดข้องต่อการปรับแก้ มาตรา 38 วรรคหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ หากกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับแก้ข้อบทดังกล่าวมีความเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย