“...การยกร่างระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น) แต่เกิดข้อขัดข้องในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปริมาณนักโทษล้นเรือนจำซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) จนถึงปี พ.ศ.2566 มีสถานะเป็นโรคประจำถิ่น และเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ผู้บริหารคนปัจจุบันได้มีนโยบายให้ดำเนินการประกาศระเบียบฉบับดังกล่าว (พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรมว.ยุติธรรมในขณะนั้น) ซึ่งหลักเกณฑ์และกระบวนการนั้นยังไม่ได้มีการดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประชุมพิจารณาร่วมกัน...”
สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน เป็นประธานกมธ.ด้านความมั่นคงฯ นัดประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีกรมราชทัณฑ์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และได้ทำหนังสือเชิญบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม ให้ชี้แจงและให้ข้อมูล เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา
แม้นายทักษิณไม่มาเอง-ไม่ส่งตัวแทนมา แต่พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มาชี้แจงต่อกมธ.ความมั่นคงฯ ด้วยตัวเอง
ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาแถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องไปชี้แจงต่อกมธ.ความมั่นคงฯ พร้อมกับหยิบยกรัฐธรรมนูญ ปี 60 มาตรา 129 วรรคสอง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 90 (9) และ ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562 ขึ้นมาให้เห็นว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีหน้าที่-อำนาจ ไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตรวจสอบ และเป็นการดำเนินการซ้ำซ้อนกับกมธ.ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอบันทึกการประชุมของกมธ.ตำรวจ ฯ ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ดำเนินการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ-อนุญาตนำตัวนายทักษิณ มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ก่อนหน้านี้ ในการประชุมครั้งที่ 8 และ ครั้งที่ 9 เพื่อเป็นข้อมูลต่อไป ดังนี้
@ ‘วัชระ’ ร้อง ‘ชัยชนะ’ สอบ ‘ทักษิณ’ ปม ชั้น 14
บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช เป็นประธาน ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา 3.1 พิจารณาเรื่องร้องเรียน (ของนายวัชระ เพชรทอง) ขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
นายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร
ประธานกรรมาธิการกล่าวต่อที่ประชุมว่า ด้วยคณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบว่านักโทษเด็ดขาดชายคนหนึ่ง เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ (เรื่องร้องเรียน ลำดับที่ 8) ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 6 วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมาธิการได้รับทราบรายงานการกลั่นกรองเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่า
เรื่องร้องเรียนกรณีนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรได้มีการขี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนและสังคมได้เข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้งคลายความสงสัยในเรื่องต่าง ๆ คณะกรรมาธิการจึงได้กำหนดให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ และผู้ร้อง เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผู้ร้อง กล่าวต่อที่ประชุมว่า ด้วยประชาชนและสังคมมีความสงสัยต่อการเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของนักโทษเด็ดขาดหรือผู้ต้องขังคนหนึ่ง เพราะปรากฎภาพในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ก่อนการเดินทางกลับมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บุคคลดังกล่าวมีสุขภาพแข็งแรง
อีกทั้งต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการออกระเบียบดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดหรือไม่ ผู้ร้องจึงได้มีหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ตรวจสอบว่านักโทษชายดังกล่าว พักรักษาตัวตลอดเวลาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ร้องมีความประสงค์ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการ ดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบว่า บุคคลดังกล่าวพักรักษาตัวตลอดเวลาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน หรือไม่ 2.ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว 3.เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลตำรวจ และ 4.ให้กรมราชทัณฑ์จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ ดังนี้
- รายนามพร้อมลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ชุดควบคุมบุคคลดังกล่าวทุกผลัด ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน
- รายนามพร้อมลายมือชื่อของผู้ตรวจเวรพิเศษที่เข้าตรวจการปฏิบัติหน้าที่ชุดควบคุมบุคคลดังกล่าว
- ภาพถ่ายประกอบการรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมบุคคลดังกล่าว ขณะที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
- บันทึกความเห็นของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ใช้ประกอบการอนุญาตให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
@ แจงโรคประจำตัวหลายโรค-มีอาการป่วยฉุกเฉิน
จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.ขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การรับตัวผู้ต้องขังใหม่จะดำเนินการเมื่อศาลได้ออกหมายขังหรือจำคุกบุคคลไว้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะทำการตรวจสอบและยืนยืนยันตัวบุคคลตามหมายศาล เมื่อถูกต้องจึงจะรับตัวผู้ต้องขังไว้ และนำมาส่งที่เรือนจำพิเศษกรงเทพมหานคร
เมื่อรับตัวผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว ผู้ต้องขังจะต้องผ่านกระบวนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) โดยจะมีการตรวจสอบประวัติ สอบถามเรื่องคดี ตรวจร่างกาย ถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ และนำข้อมูลผู้ต้องขังเข้าสู่ระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งในการตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพแรกรับแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะทำการซักประวัติ สุขภาพ และโรคของผู้ต้องขัง เพื่อแยกปฏิบัติเรื่องโรคและเฝ้าระวังโรคระบาด เมื่อผู้ต้องขังผ่านการเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพแล้ว จะถูกส่งไปอยู่ในสถานที่กักโรคเพื่อกักตัว จำนวนรวม 10 วัน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดแยกผู้ต้องขังไปยังแดนต่าง ๆ ต่อไป
สำหรับกรณีของนักโทษเด็ดขาดหรือผู้ต้องขังตามเรื่องร้องเรียนนี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้รับตัวผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยผู้ต้องขังได้ผ่านกระบวนการรับตัวผู้ต้องขังใหม่ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขังแล้ว และได้รับการตรวจสุขภาพแรกรับเบื้องต้นจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งแพทย์ได้พบข้อมูลว่าผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวหลายโรค จึงได้บันทึกรายละเอียดของโรคประจำตัวและให้คำแนะนะนำกับทางเจ้าหน้าที่เรือนจำให้เฝ้าระวังสุขภาพของผู้ต้องขังดังกล่าว
โดยในระหว่างที่พยาบาลประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตรวจร่างกายของผู้ต้องขัง เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ พบว่า ผู้ต้องขังมีอาการป่วยฉุกเฉิน ต่อมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงได้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
@ ข้าราชการระดับ ผอ.ส่วน-เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคุมเข้ม
2.การควบคุมนักโทษที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การส่งตัวผู้ต้องขังกรณีนี้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำ โดยมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเรือนจำทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังป่วย และประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมทั้งได้จัดข้าราชการระดับผู้อำนวยการส่วน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เวรตรวจการปฏิบัติหน้าที่ชุดควบคุมผู้ต้องขังป่วย และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้เดินทางไปเข้าตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนมีการรายงานภาพถ่ายการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังป่วยต่อผู้บังคับบัญชาเป็นระยะด้วย
3.การตัดผมผู้ต้องขังป่วยที่ออกไปรักษาตัวโนโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การตัดผมผู้ต้องขังจะกระทำเมื่อผู้ต้องขังผ่านกระบวนการกักโรคแล้ว สำหรับผู้ต้องขังที่ออกไปรักษาและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์จะไม่ติดตามไปดำเนินการตัดผมของผู้ต้องขัง
4.โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในการรับผู้ต้องขังไปรักษาพยาบาล
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เรือนจำทั่วประเทศทุกแห่งจะมีสถานพยาบาลที่มีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ประจำในสถานพยาบาล แต่มีสถานพยาบาลเพียง 2 แห่งที่จะมีแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ประจำ คือ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และสถานพยาบาลของเรือนจำกลางบางขวาง โดยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายให้แก่เรือนจำ 7 แห่งซึ่งรวมถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครด้วย
ทั้งนี้ การรักษาผู้ต้องขังทั่วประเทศจะเป็นการใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการส่งตัวตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจะเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
5.การรักษาตัวของผู้ต้องขังในโรงพยาบาลตำรวจ
ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โรงพยาบาลตำรวจเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้น เรื่องการควบคุมผู้ต้องขังที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจจึงเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ สำหรับสถานที่ในการพักรักษาตัวของผู้ต้องขังป่วยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากสถานการณ์และอาการป่วยของผู้ต้องขังในขณะรับตัวมารักษา
@ 10 คำถาม 10 คำตอบ ?
ภายหลังที่ประชุมได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้แทนหน่วยงานแล้ว ได้มีการแสดงความคิดเห็น มีข้อสังเกต และมีประเด็นคำถาม ดังนี้
- ขอให้กรมราชทัณฑ์จัดทำข้อมูลรายชื่อและจำนวนโรงพยาบาลที่มีความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในการรับรักษาผู้ต้องขัง
- การเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจของผู้ต้องขังกรณีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์กำหนดระยะในการรักษาตัวบุคคลดังกล่าวไว้หรือไม่ อย่างไร
- การที่กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง การดำเนินการเพื่อออกระเบียบดังกล่าวมีปัญหาอุปสรรค และข้อขัดข้องประการใด หรือไม่ อย่างไร
- ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกผู้ต้องขังเพื่อให้คุมขังในสถานที่คุมขังไว้อย่างไร รวมทั้งกำหนดสัดส่วนของคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังไว้อย่างไร
- เหตุใดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงต้องส่งผู้ต้องขังกรณีนี้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลดำรวจ โดยไม่ส่งไปยังโรงพยาบาลของรัฐแห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง
- ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ครอบคลุมผู้ต้องขังในคดีการเมือง หรือไม่
- เหตุใดผู้ต้องขังกรณีนี้จึงไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการกักโรค
- แพทย์ทัณฑ์สถานโรงพยาบาลตำรวจใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาและให้คำแนะนำว่า ควรส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใด
- ในการรายงานภาพถ่ายการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังป่วยเป็นระยะอาจเป็นการบันทึกภาพไว้ล่วงหน้าเพื่อส่งให้ผู้บังคับบัญชาตามกำหนดเวลาหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจส่งผลให้ผู้บังคับบัญชาไม่ได้รับทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน
- ผู้ต้องขังกรณีนี้จะเข้าเกณฑ์พักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่
ความเห็นของที่ประชุม
1.ที่ประชุมมีมติให้พิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจอีกครั้ง โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมยังไม่ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและชัดเจน
2.ที่ประชุมมีมติให้กรมราชทัณฑ์จัดทำเอกสารให้แก่คณะกรรมาธิการ ดังนี้
- รายนามพร้อมลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ชุดควบคุมผู้ต้องขังป่วยทุกผลัด ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน
- รายนามพร้อมลายมือชื่อของผู้ตรวจเวรพิเศษที่เข้าตรวจการปฏิบัติหน้าที่ชุดควบคุมผู้ต้องขังป่วย
- ภาพถ่ายประกอบการรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมผู้ต้องขังป่วยขณะที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
- บันทึกความเห็นของแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ใช้ประกอบการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังกรณีนี้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
- ข้อมูลรายชื่อและจำนวนโรงพยาบาลที่มีความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในการรับรักษาผู้ต้องขัง
@ ขยี้ปม ‘ชั้น 14’ วันที่สอง
บันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา พิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
สืบเนื่องจากในคราวประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 8 วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและชัดเจนคณะกรรมาธิการจึงได้กำหนดให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ และผู้ร้องเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวต่อที่ประชุมว่า อนุญาตให้ผู้ร้องแถลงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมโดยถือเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะทำการสอบถามข้อมูล ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นสิทธิของผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
จากนั้น ที่ประชุมได้สอบถามข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ และได้รับการชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.ผู้ร้องสอบถามข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่านักโทษเด็ดขาดชายไม่ได้กรอกเอกสารแบบฟอร์มข้อมูลระบบผู้ต้องขัง (รท.101) เช่นเดียวกับนักโทษรายอื่น โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่เป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องดำเนินการ ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการขออายัดตัวผู้ต้องขัง การขอพระราชทานอภัยโทษ การพักโทษ และการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง รวมถึงปรากฎข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของบุคคลดังกล่าว
โดยขอให้กรมราชทัณฑ์แสดงเอกสารข้อมูลระบบผู้ต้องขัง (รท.101) ซึ่งนักโทษเด็ดขาดชายได้กรอกข้อมูลในเอกสารแบบฟอร์มจำนวน 4 หน้า และคำยืนยันว่านักโทษเด็ดขาดชายได้รับการตรวจจากนายแพทย์ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รวมถึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องดังกล่าวซึ่งมีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
@ จี้ตอบ กรอกเอกสาร ‘รท.101’ หรือไม่
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ผู้ต้องขังทุกคนต้องดำเนินการกรอกเอกสารแบบฟอร์มข้อมูลระบบผู้ต้องขัง (รท.101) กรณีของนักโทษเด็ดขาดชายได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยขอให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือขอสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวที่นำมาชี้แจงและส่งให้ประธานคณะกรรมาธิการตามที่ผู้ร้องขอตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเท่านั้น
สำหรับแพทย์ผู้ทำการตรวจอาการของนักโทษเด็ดขาดชาย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แผนกอายุรกรรมทั่วไป ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในวันนี้ ส่วนผู้ที่จะให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการจะเป็นนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์
สำหรับอาการป่วยที่เป็นโรคประจำตัวของนักโทษเด็ดขาดชาย กรมราชทัณฑ์ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลในต่างประเทศ ได้แก่ อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมีการตรวจและติดตามภายหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งมีการตรวจติดตามภายหลังการรักษาอย่างใกล้ชิด และมีการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฎว่ามีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อน รวมทั้งอาการของโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อบริเวณลำคอ กระดูกสันหลัง และอาการของโรคที่เกี่ยวกับเส้นเอ็นในบางส่วนของร่างกายที่เกิดจากปัญหาความเสื่อมหรือฉีกขาด
@ อ้างอิง เอ็มโอยู ราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ
2.คำวินิจฉัยของนายแพทย์ชำนาญการพิเศษที่ให้ส่งตัวนักโทษเด็ดขาดชายไปรักษาอาการป่วย ณ โรงพยาบาลตำรวจนั้น มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรที่นำมาประกอบการวินิจฉัย
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากนักโทษเด็ดขาดชายมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์วิกฤต ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำร่วมกับอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อย รวมถึงอาการทางปอดอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการตรวจวินิจฉัยของนายแพทย์ผู้ทำการตรวจได้เรียบเรียงประวัติโดยละเอียด เห็นว่าเป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อนในขณะนั้น
สังเกตได้จากในช่วงแรกที่เดินทางเข้ามาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยมีลักษณะอาการร่างกายผิดปกติ มีสภาพอิดโรยในเวลากลางคืน นายแพทย์ผู้ทำการตรวจได้พิจารณาตามมาตรการ โดยคำนึงถึงถึงศักยภาพและข้อจำกัดในการให้บริการทารการแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงได้ให้คำแนะนำต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้อนุญาตส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพ ซึ่งโดยทั่วไปอาการป่วยของโรคต่าง ๆ ดังกล่าวครอบคลุมถึงกรณีที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันกันกับโรงพยาบาลตำรวจ จึงเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด
3.การดำเนินการให้นักโทษเด็ดขาดชายได้รับการกักตัวตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรมราชทัณฑ์ได้มีการดำเนินการหรือไม่ และห้องที่ใช้พักรักษาตัวของบุคคลดังกล่าว ณ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นห้องปลอดเชื้อหรือไม่
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า นักโทษเด็ดขาดชายได้รับการกักตัวแล้วในพื้นที่แดนรักษาพยาบาลในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 แต่เนื่องจากมีเหตุฉุกเฉินต้องส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ณ โรงพยาบาลตำรวจ ในเวลากลางคืน
ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กรณีโรงพยาบาลตำรวจได้รับตัวนักโทษเด็ดขาดชายมาอยู่ในความดูแลและให้การรักษาเนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการประสานส่งตัวมาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน
สำหรับห้องพักรักษาตัว บริเวณ ชั้น 14 นั้น แต่เดิมถูกปิดไม่มีการใช้งานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COMD-19) เครื่องปรับอากาศชำรุดตามที่ปรากฎเป็นข่าว และยังมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ภายในอาคารชำรุดทั้งหมดมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีอุบัติเหตุในบริเวณลานจอดรถและที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณในการดำเนินการซ่อมแชม
@ ใช้สิทธิบัตรทอง-ญาติจ่ายค่ารักษา
4.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของนักโทษเด็ดขาดชาย ณ โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่เข้ารับการรักษาจนถึงปัจจุบัน มีบุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อไป
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โดยทั่วไปผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) รวมถึงนักโทษเด็ดขาดชายคนดังกล่าวด้วยเช่นกัน กรณีที่บุคคลเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลและใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) เกินสิทธิที่กำหนดแล้ว แนวทางปฏิบัติสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลส่วนที่เกินสิทธินั้น ญาติของผู้ป่วยจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้รองรับในกรณีดังกล่าวและหากไม่สามารถชำระได้ เช่น กรณีของคนต่างด้าว โรงพยาบาลผู้ทำการรักษาจะให้ความอนุเคราะห์ สำหรับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดของนักโทษเด็ดขาดชาย โรงพยาบาลตำรวจเป็นผู้ดำเนินการรวบรวม
5.การดำเนินการตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 7 วรรคหนึ่ง (3) ที่กำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบในกรณีที่ผู้ต้องขังพักรักษาตัวเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งกรณีนักโทษเด็ดขาดชายพักรักษาตัวครบกำหนด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นั้น
กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการแล้วหรือไม่ และในส่วนส่วนเรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่ และกรมราชทัณฑ์สามารถเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวออกไปอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี ได้หรือไม่
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลตำรวจอยู่ในระหว่างประสานข้อมูลกับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะได้รับทราบข้อมูลในวันนี้ และในขั้นตอนต่อไป เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะได้มีหนังสือเสนอความเห็นไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาดำเนินการอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป
ในส่วนระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น เป็นไปตามกรอบของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้นำข้อสังเกตในเรื่องการเลื่อนกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวเสนอให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับทราบต่อไป
@ ระเบียบสถานที่คุมขังฯ ปี66 ร่างใน ‘ยุคสมศักดิ์’ - ใช้ใน ‘ยุคทวี’
6.เหตุใดระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่กำหนดตามกรอบของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 จึงได้มีการประกาศบังคับใช้ในปัจจุบัน ขั้นตอนและกระบวนการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผู้ต้องขังประเภทใดที่จะได้รับสิทธิตามระเบียบดังกล่าว และเนื่องจากมีการกำหนดให้ใช้ดุลพินิจในการตีความได้ ในอนาคตจะเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ได้หรือไม่
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การยกร่างระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น) แต่เกิดข้อขัดข้องในเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปริมาณนักโทษล้นเรือนจำซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) จนถึงปี พ.ศ.2566 มีสถานะเป็นโรคประจำถิ่น และเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ผู้บริหารคนปัจจุบันได้มีนโยบายให้ดำเนินการประกาศระเบียบฉบับดังกล่าว” (พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เป็นรมว.ยุติธรรมในขณะนั้น) ซึ่งหลักเกณฑ์และกระบวนการนั้นยังไม่ได้มีการดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประชุมพิจารณาร่วมกัน
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายตามระเบียบฉบับดังกล่าว คือ กลุ่มผู้ต้องขังซึ่งได้รับโทษสถานเบา ซึ่งเป็นการนำตัวอย่างในต่างประเทศมากำหนดเป็นหลักการ โดยให้มีการพัฒนาพฤตินิสัยนอกเรือนจำเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้ต่อไป เป็นไปตามนโยบายของอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบันที่ประสงค์ให้มีการยกระดับดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมทำให้จำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับการบริหารโทษ
7.การใช้ยานพาหนะของหน่วยงานรับตัวจำเลยจากศาลเพื่อเดินทางมาส่งยังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีระเบียบกำหนดไว้หรือไม่
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หากเป็นกรณีคดีที่จำเลยเป็นบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะดำเนินการรับส่งให้ เช่น กรณีตัวอย่างของจำเลยชาวจีนในคดียาเสพติดและคดีฟอกเงิน โดยเป็นระเบียบที่มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน
@ ชง ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา แก้ ‘ล้นคุก’
8.การดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ในเรื่องปริมาณนักโทษล้นเรือนจำ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในเรือนจำแต่ละแห่งควรมีคณะแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ และมีการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงมีแนวทางการบริหารโทษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพักโทษ เพื่อป้องกันและหรือแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคตต่อไปได้
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สภาพปัญหาเรื่องปริมาณนักโทษล้นเรือนจำเคยมีสถิติจำนวนนักโทษสูงถึงถึง 380,000 คน โดยที่กรมราชทัณฑ์ไม่อาจปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาลได้ อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์ได้พยายามหาเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย ภายใต้สิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การพักการลงโทษ หรือได้รับการพระราชทานอภัยโทษ เป็นต้น
ในส่วนของงบประมาณ กรมราชทัณฑ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปีเพื่อสร้างเรือนจำใหม่ได้ไม่เกินปีละ 1 แห่ง เพื่อทดแทนเรือนจำเดิมเท่านั้น ไม่ใช่กรณีการสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ในพื้นที่อื่น ๆ ปัจจุบัน พื้นที่เรือนนอนของผู้ต้องขังมีไม่เพียงพอโดยมีขนาดพื้นที่ 1.6 ตารางเมตรต่อหนึ่งคน จากขนาดพื้นที่ตามมาตรฐานสากลที่มีขนาด 2.25 ตารางเมตรต่อหนึ่งคน
ทั้งนี้ การพักการลงโทษ หรือได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นช่วยลดปริมาณผู้ต้องขังลงได้มากพอสมควร กรมราชทัณฑ์ได้เคยมีการหารือกับศาลยุติธรรมเพื่อขอให้พิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการอุทธรณ์และหรือฎีกา
@ เรียกเอกสาร 5 เอกสารสำคัญ
ภายหลังที่ประชุมได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้แทนหน่วยงานแล้ว ได้มีการแสดงความคิดเห็น มีข้อสังเกต และมีประเด็นคำถาม ดังนี้
1.ขอให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบเร่งรัดการนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อคณะกรรมาธิการให้ครบถ้วนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 ได้แก่
- สำเนาเอกสารแบบฟอร์มข้อมูลระบบผู้ต้องขัง (รท.101) ของนักโทษเด็ดขาดชาย
- สำเนาหนังสือโรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในกรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
- สำเนาบันทึกการประชุมของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566
- ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบที่รองรับการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีที่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และข้อมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลของนักโทษเด็ดขาดชายทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน
- ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบและหรือบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันที่รองรับการใช้ยานพาหนะของหน่วยงานรับตัวจำเลยจากศาลเพื่อเดินทางไปส่งยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
2.คำวินิจฉัยของนายแพทย์ผู้ตรวจอาการมีนัยสำคัญมากกว่าการดำเนินการหรือไม่ได้ดำเนินการกรอกประวัติข้อมูลต่าง ๆ ตามเอกสารแบบฟอร์มข้อมูลระบบผู้ต้องขัง (รท.101) ของนักโทษเด็ดขาดชายคนดังกล่าว
ทั้งนี้ เอกสารที่กรมราชทัณฑ์ส่งให้ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาในที่ประชุมเป็นรูปแบบที่มีการพิมพ์จากไฟล์เอกสารของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเชื่อมโยงกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์อีกจำนวน 17 ระบบ ในปัจจุบันดำเนินการควบคู่กับระบบ manual (แบบฟอร์มกระดาษ) โดยเจ้าหน้าที่จะพยายามดำเนินการกรอกข้อมูลให้เสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งผู้ต้องขังเพียงแต่ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือลงในเอกสารดังกล่าวเท่านั้น
3.ข้อพึงระวังและผลกระทบจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
4.ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ชำรุด
5.ข้อพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และหรือบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้รองรับการดำเนินการกรณีการใช้ยานพาหนะของหน่วยงานเพื่อนำตัวจำเลยจากศาลไปส่งยังเรือนจำ
ความเห็นของที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติให้กรมราชทัณฑ์นำส่งเอกสารให้แก่คณะกรรมาธิการ ดังนี้
- ข้อมูลในระบผู้ต้องขัง (รท.101) ของนักโทษเด็ดขาดชาย
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์กรณีนักโทษเด็ดขาดชายพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เช่น ความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- สำเนาบันทึกการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566
- ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ต้องขังในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกินสิทธิการรักษา
- ระเบียบ ข้อบังคับ แนวทางปฏิบัติ หรือความตกลงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานพาหนะของส่วนราชการอื่นในการนำผู้ต้องขังมาส่งที่เรือนจำ
ทั้งหมดคือบันทึกการประชุมของกมธ.ตำรวจ ฯ ในยุคที่ประธานกมธ.ตำรวจ ยังรับบทบาทเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เห็นการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อแต่อย่างใด แม้จะมี ‘ข้อมูลใหม่’ ตามที่กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญมาชี้แจง เช่น ‘พลตำรวจเอก เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส’ อดีตผบ.ตร. และ ‘พลตำรวจเอก สุรเชชษฐ์ หักพาล’ อดีตรองผบ.ตร.ที่เคยกล่าวอ้างว่า ได้ไปพบกับนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 คำถามที่ตามมา คือ อะไร คือ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการประชุมดังกล่าวคืออะไร เพราะทุกอย่างถูกอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
ความจริงที่ควรจะปรากฎต่อสาธารณะชนจึงกลายเป็นความลับ บ่มเพาะความเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรม จนกมธ.ความมั่นคงฯ ต้องหยิบเรื่อง ‘ชั้น 14’ กลับมาฉายหนังม้วนเดิมอีกครั้ง