"...เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ผู้ต้องขังป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตังตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำต่อไป ..."
นับเป็นอีกหนึ่งข้อร้องเรียนที่น่าจับตามอง!
กรณีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ไม่ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่
คณะนิติชนฯ ระบุว่า การกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ทำให้หลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จึงไม่ควรมีการก้าวล่วงกัน การกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นอำนาจฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการทั้งหมด แต่หากปล่อยให้กระทำเช่นนี้ได้ ต่อไปก็จะมีการใช้อำนาจฝ่ายบริหารล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรที่อัยการสูงสุดจะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลิกการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไปอีก พร้อมกับเพิกถอนผลจากการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ผ่านมา และสั่งมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือฝ่ายบริหารอื่นออกกฎกระทรวงที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น
"ก่อนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมายังประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรายหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคการเมืองเดิมมาอยู่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การออกกฎกระทรวงที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า และนำไปสู่การตีความว่าเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ทั้งที่ กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบัญญัติให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ จึงทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำให้ฝ่ายบริหารง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยช่องทางตามกฎกระทรวงฉบับนี้หลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับการส่งตัวไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน" คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุ
เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 มาเสนอ ณ ที่นี้
หนึ่ง.
กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 55 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราทัณฑ์ มีข้อกำหนดจำนวน 8 ข้อ ให้ไว้ ณ วันที่ 25 ก.ย.2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ลงนามในกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
สอง.
ด้านท้ายกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ ระบุหมายเหตุ เกี่ยวกับเหตุผลในการประกาศใช้กฏกระทรวงฉบับนี้ คือ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บัญญัติให้ผู้ต้องขังป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้านหรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตังตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำต่อไป ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัวรวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ (ดูเอกสารประกอบ)
สาม.
ขณะที่ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุในหนังสือ ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ว่า สาระสำคัญในการออกกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ เป็นเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลนอกเรือนจำ เนื่องจากถ้ายังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น โดยมีทั้งกรณีไปและกลับในวันเดียวกัน และกรณีสถานพยาบาลนอกเรือนจำรับตัวไว้รักษา ซึ่งในกรณีต้องพักรักษาตัวในสถานพยาบาลนอกเรือนจำเป็นเวลานานไม่เกิน 30 วัน เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำ ถ้าเกินกว่า 30 วัน ถึง 60 วัน กำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมกับความเห็นของแพทย์และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเกินกว่า 60 วัน ถึง 120 วัน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีไม่เกิน 60 วัน แต่ให้รายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบด้วย ถ้าเกินกว่า 120 วัน ไม่ว่าจะเกินเป็นเวลานานเพียงใดก็ตาม ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีไม่เกิน 60 วัน แต่ให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบด้วย
ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
"เหตที่จะส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามกฎกระทรวง กับเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกเพื่อให้จำเลยหรือผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นเหตุในทำนองเดียวกันคือปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นกฎกระทรวงที่มีศักดิ์ต่ำกว่า จึงต้องออกมาใช้บังคับให้สอดคล้องหรือไม่ขัดหรือแย้งต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีศักดิ์สูงกว่า หรือจะต้องออกมาโดยไม่ทำให้ตีความได้ว่าเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงแล้ว ไม่จำต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีก"
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยังระบุอีกว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาล ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับหมายจำคุกจำเลย (ผู้ต้องขัง) ในกรณีที่จำเลย (ผู้ต้องขัง) มีเหตุที่จะทุเลาการบังคับตามหมายจำคุก เพื่อนำตัวจำเลย (ผู้ต้องขัง) ออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งมี 4 เหตุคือ สุขภาพจิต สุขภาพกาย การตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูบุตร แต่กฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำหนดให้การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำ หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยเพียงแต่ให้รายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ เมื่อเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยไม่ต้องร้องขอต่อศาล อันเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวงเพื่อนำเอาอำนาจของฝ่ายตุลาการมาเป็นอำนาจของตนเองที่เป็นฝ่ายบริหาร และเป็นกฎกระทรวงที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในระดับประมวลกฎหมาย
"การที่กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ให้ยกเลิกข้อ 38 ข้อ 39 และข้อ 73 ของกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ไว้ ณ วันที่ 21 เมษายน 2480 ซึ่งกฎกระทรวงเดิมในข้อที่ยกเลิก มิได้กำหนดในเรื่องผู้มีอำนาจอนุญาตส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ จึงทำให้กฎกระทรวงเดิมในข้อที่ยกเลิกไม่ขัดหรือแย้ง หรือล้มล้างอำนาจในการทุเลาการบังคับให้จำคุกของศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ทำให้การนำผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพยังคงเป็นอำนาจของศาลหรือฝ่ายตุลาการ แต่กฎกระทรวงที่ออกใหม่ในปี 2563 ฉบับนี้ ได้ยกเลิกวิธีการเดิมและเพิ่มวิธีการใหม่ โดยกำหนดไว้ในกฎกระทรวงเสียเลยให้ฝ่ายบริหารเป็นมีผู้มีอำนาจอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยไม่ต้องร้องขอไปยังศาลหรือฝ่ายตุลาการ จึงทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถอ้างกฎกระทรวงนี้เพื่อใช้เพียงอำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น เมื่อจะส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยตัดอำนาจของฝ่ายตุลาการออกไป ทำให้อำนาจของฝ่ายตุลาการในเรื่องนี้ถูกล้มล้างและเปลี่ยนไปเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร"
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยังระบุย้ำว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวออกโดยฝ่ายบริหารที่เป็นรัฐมนตรีว่าการของกระทรวงที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นอย่างดี แต่ได้กระทำการในลักษณะเปลี่ยนแปลงล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการมาเป็นอำนาจฝ่ายบริหารของตน ซึ่งทำให้ฝ่ายบริหารสามารถเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการเสียก่อน ส่งผลให้เกิดปรากฏการที่เป็นการกระทำของผู้เกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์ ที่ได้อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับนี้ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล และฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม กับผู้ต้องขังรายนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้ตรวจสอบตามที่มีผู้ร้องเรียนและรายงานผลการตรวจสอบว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่จะกระทำมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับนี้ ข้อ 5 (2) และข้อ 7 ด้วย อีกทั้งวิญญูชนที่รับรู้เหตุการณ์นี้จากสื่อมวลชนต่าง ๆ พึงเห็นได้ถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกวงการ และมีผู้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยังกล่าวอ้างว่า นอกจากนี้ การออกกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เมื่อปี 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังอาจเป็นการเตรียมการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นได้หลบหนีโทษจำคุกไปอยู่ต่างประเทศ และต้องการเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยไม่ต้องถูกจำคุก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ออกกฎกระทรวงนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร โดยก่อนที่นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมายังประเทศไทย รัฐมนตรีคนดังกล่าวได้ลาออกจากพรรคการเมืองเดิมมาอยู่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การออกกฎกระทรวงที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าโดยไม่สุจริต และนำไปสู่การตีความว่าเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ทั้งที่กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบัญญัติให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ จึงทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ฝ่ายบริหารง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยช่องทางตามกฎกระทรวงฉบับนี้หลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับการส่งตัวไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน
ขณะที่การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษที่จะต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้รับโทษจำคุก และโรงพยาบาลตำรวจได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไว้ และให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ได้รับโทษจำคุก โดยไม่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ตามรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าว ที่กระทำได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการเสียก่อน
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม จึงขอให้อัยการสูงสุด เสนอเรื่องพร้อมความเห็น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลิกการกระทำที่เป็นการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ต่อไปอีก พร้อมกับเพิกถอนผลจากการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ผ่านมา และสั่งมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือฝ่ายบริหารอื่นออกกฎกระทรวงที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น
**********
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และเหตุผลของ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ไม่ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
ส่วนผู้เกี่ยวข้องรวมถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ลงนามในกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ จะมีคำชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง-ข้อกล่าวอ้างของ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ว่าเป็นการเตรียมการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน จริงหรือไม่?
นับเป็นข้อมูลสำคัญอีกชุดในเรื่องนี้ ที่ต้องติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด!