พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ยัน 'อิศรา' มีส่งเรื่องพิจารณาจริยธรรม 'หมอ' กรณีรับตัว 'ทักษิณ' รักษาชั้น 14 รพ.ตำรวจ จริง อยู่ในความรับผิดชอบ คณะอนุฯ ชุด นายแพทย์อมร แต่เป็นขั้นตอนลับ เปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เผยดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน มีกรอบระยะเวลาบังคับ หากพบทำผิดจริง โทษจะเป็นไปตามความผิดที่เกิดขึ้น - คนในชี้สถิติเรื่องคำร้องมีมูลส่วนใหญ่รอดยาก
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ของ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ได้ทำหนังสือแจ้งถึงนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานวัตถุพยานเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจริยธรรมแพทย์ที่เกี่ยวข้องกรณีนายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ทั้งที่ ไม่มีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ออกใบวินิจฉัยโรค และรับรองให้ผู้ป่วยไปพักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นความเท็จหรือไม่
- คำร้องมีมูล! แพทยสภาฯสั่งพิจารณาจริยธรรมกรณี 'ทักษิณ' แจ้ง รพ.ตร.ส่งหลักฐาน 15 ม.ค.68
- ฉบับเต็ม! หนังสือแพทยสภา แจ้ง รพ.ตร.ส่งหลักฐานพิจารณาจริยธรรม กรณี 'ทักษิณ' ชั้น 14
ล่าสุด พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า มีการสอบสวนกรณีนี้จริง อยู่ในความรับผิดชอบของ คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ที่มีนายแพทย์อมร ลีลารัศมี แต่เป็นขั้นตอนลับ คงไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดอะไรได้
พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาโทษขึ้นอยู่ว่า มีความผิดจริงหรือไม่ ผิดจริงมากน้อยแค่ไหน ตั้งใจ จงใจ เจตนาหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปดูว่าต้นเหตุมีแพทย์เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือแพทย์ไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย
"ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าจะมีใครผิดหรือไม่ จนกว่าจะพิสูจน์พยานหลักฐานได้ชัดเจนก่อน แต่หากผิดจริยธรรมก็ต้องไปดูว่ามากน้อยแค่ไหน โทษก็จะเป็นไปตามความผิดที่เกิดขึ้น" พล.อ.อ.นพ.อิทธพร ระบุ
@ พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ
พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวว่า สำหรับกระบวนการตรวจสอบกรณีนี้ เป็นไปขั้นตอนการตรวจสอบกรณีที่คำร้องมีมูลและมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ จะมีการพิจารณาภายใน 180 วัน ขยายได้ 120 วัน และขยายได้อีกตามที่กรรมการเห็นสมควรพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องประพฤติผิดจริยธรรมหรือไม่จากนั้นเสนอคณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า เพียงพอหรือไม่ หากเพียงพอก็จะพิจารณาว่าประพฤติผิดหรือไม่ หากผิดต้องพิจารณาว่าผิดหมวดใด และพิจารณาโทษต่อไป หากไม่มีมูลก็ยกฟ้อง แต่หากมีมูลก็จะตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน หลังจากนั้นจะดำเนินการเป็นการลับ เพราะต้องเร็ว ยุติธรรม และที่ต้องเป็นการลับเพื่อให้ไม่มีผลต่อใครมากระทบกระเทือนเรื่องการสอบสวน พิจารณาได้ กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการตามข้อบังคับของแพทยสภา
เลขาธิการแพทยสภา ยังอธิบายรายละเอียดการดำเนินคดีทางจริยธรรม ว่า ขั้นตอนหลังจากที่ได้รับ เรื่องร้องเรียน จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ตั้งแต่อายุความ รายละเอียด ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง อำนาจการร้องเรียน ประเด็นที่ถูกร้องเรียน และข้อความผิดที่ถูกกล่าวหา เช่นผิดมาตรฐาน ผิดโฆษณา เป็นต้น หลังจากนั้นนำเข้าสู่คณะกรรมการแพทยสภา ตั้งคณะอนุกรรมการ จริยธรรมเพื่อตรวจสอบมูลของคำร้อง ตัวผู้ร้องผู้ถูกร้องและหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานต่างๆ ว่ามีมูลหรือไม่ แล้วจึงผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรม โดยกรรมการนักกฎหมายก่อน แล้วจึง ผ่านคณะกรรมการแพทยสภา เพื่อมีมติมีมูลหรือ ไม่มีมูล เป็นขั้นตอนแรก
หากมีมูล จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อสอบข้อเท็จจริง ในรายละเอียด โดยอนุกรรมการแต่ละท่านจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นเดียวกัน อนุกรรมการชุดแรก ทำการตรวจสอบเป็นความลับ ขอข้อมูลหน่วยที่เกี่ยวข้องทางลับ รวมถึงราชวิทยาลัยแพทย์ เชิญผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเรียน มาสอบสวน สรุปว่ามีความผิดทางจริยธรรมหรือไม่อย่างไร ควรลงโทษใน ระดับใด และนำเสนอ คณะกรรมการ กลั่นกรอง จริยธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ ตรวจสอบก่อนนำเข้าสู่แพทยสภา และเสนอสภานายกพิเศษเพื่อลงโทษต่อไป เป็นขั้นตอนสุดท้าย
ในแต่ละคดีจะมี step ขั้นตอน แม่นยำและรัดกุมตามข้อบังคับของแพทยสภา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยอิงข้อมูลวิชาการหลักจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีศาลปกครอง ที่สามารถร้องอุทธรณ์ได้เป็นผู้กำกับกฎหมาย และขั้นตอน ในกรณีแพทยสภาตัดสินแล้วถ้าไม่เห็นชอบด้วยสามารถร้องศาลปกครองได้ทุกกรณี เพื่อพิสูจน์ ข้อกฎหมายและ ความแม่นยำของกระบวนการ ของแพทย์สภา (ดูตารางประกอบท้ายเรื่อง)
ขณะที่แหล่งข่าวจากแพทยสภา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำนักข่าวอิศราว่า หากพิจารณาตามรายละเอียดการสอบสวน ตามที่ เลขาธิการแพทยสภา ระบุ จะพบว่า คำร้องพิจารณาจริยธรรมของแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกรณีรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นขั้นต้นที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภา และพบว่าคำร้องมีมูลไปแล้ว ก่อนจะมีการส่งเรื่องให้ คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ที่มีนายแพทย์อมร สอบข้อเท็จจริง ในรายละเอียด ก่อนที่จะมีการสรุปผลการสอบสวนให้ คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาอีกครั้ง
"ตามสถิติการตรวจสอบกรณีจริยธรรม มีหลายคดีก่อนหน้านี้ ที่คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาคำร้องว่ามีมูลแพทย์ที่เกี่ยวข้องมักจะถูกตัดสินว่ามีความผิด ส่วนคดีนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอผลการสรุปเรื่องเป็นทางการอีกครั้ง" แหล่งข่าวแพทยสภา ระบุ