คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ลุยต่อเนื่องยื่น อสส. ส่งศาล รธน. วินิจฉัยปมรมว.ยุติธรรม ออกกฎกระทรวงฯ ปี 63 ใช้ส่งตัว 'ทักษิณ ชินวัตร' ไปรักษาตัวนอกเรือนจำโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการต้องยกเลิก ชี้พิรุธย้ายพรรคล่วงหน้า ส่อเตรียมการเอื้อประโยชน์ไม่ให้ต้องถูกจำคุกหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใช้สิทธิและหน้าที่ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ในการส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง รวมถึงเป็นการเอื้อประโยชน์ไม่ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องจำคุก ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน หรือไม่
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม กล่าวอ้างว่า การกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ทำให้หลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จึงไม่ควรมีการก้าวล่วงกัน การกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นอำนาจฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการทั้งหมด แต่หากปล่อยให้กระทำเช่นนี้ได้ ต่อไปก็จะมีการใช้อำนาจฝ่ายบริหารล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรที่อัยการสูงสุดจะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลิกการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไปอีก พร้อมกับเพิกถอนผลจากการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ผ่านมา และสั่งมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือฝ่ายบริหารอื่นออกกฎกระทรวงที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น
"ก่อนที่ นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมายังประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรายหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคการเมืองเดิมมาอยู่พรรคเพื่อไทยซึ่งมีบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การออกกฎกระทรวงที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า และนำไปสู่การตีความว่าเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ทั้งที่ กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบัญญัติให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ จึงทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำให้ฝ่ายบริหารง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยช่องทางตามกฎกระทรวงฉบับนี้หลีกเลี่ยงอำนาจตุลาการ เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ได้รับการส่งตัวไปพักอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดระยะเวลาที่ถูกลงโทษจำคุก 181 วัน" คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุ
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยังกล่าวอ้างด้วยว่า การออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เมื่อปี 2563 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังอาจเป็นการเตรียมการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ ซึ่งในเวลานั้นได้หลบหนีโทษจำคุกไปอยู่ต่างประเทศ และต้องการเดินทางกลับมายังประเทศไทยโดยไม่ต้องถูกจำคุก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ออกกฎกระทรวงนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยังกล่าวอ้างต่อว่า ขณะที่การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ได้ส่งตัวนายทักษิณ ซึ่งมีสถานะเป็นนักโทษที่จะต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้รับโทษจำคุก และโรงพยาบาลตำรวจได้รับตัวนายทักษิณไว้ และให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ได้รับโทษจำคุก โดยไม่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ตามรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ ดังกล่าว เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างอิงกฎกระทรวงดังกล่าว ที่กระทำได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการเสียก่อน
"คณะนิติชน-เชิดชูธรรม จึงขอให้อัยการสูงสุด เสนอเรื่องพร้อมความเห็น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลิกการกระทำที่เป็นการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ต่อไปอีก พร้อมกับเพิกถอนผลจากการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ผ่านมา และสั่งมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือฝ่ายบริหารอื่นออกกฎกระทรวงที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยของฝ่ายอื่น" คณะนิติชน-เชิดชูธรรมระบุทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2563 คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายสมศักดิ์ได้แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และได้ย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งปี 2566 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อมาถูกโยกย้ายตำแหน่งไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย
- เหตุที่ชั้น14 จะนำไปสู่ห้องพิจารณาศาล รธน.? แพทองธาร (พึง) ระวังตั้ง รมต.กระทรวงสำคัญ
- คำร้องที่ 4! คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นกกต.ขอศาล รธน.สั่ง 'แพทองธาร-ทวี' พ้นตำแหน่ง
- แถลงนโยบายขัด รธน.! คณะนิติชนฯยื่นคำร้องที่ 5 'ครม.แพทองธาร' ผิดเงื่อนไขเข้าบริหาร ปท.
- คำร้องที่ 6! คณะนิติชนฯยื่นกกต.ส่งศาลรธน. 'แพทองธาร-อนุทิน-ชูศักดิ์' เพิกเฉยกรณีอัลไพน์
- เบื้องลึก! คณะนิติชนฯให้ถ้อยคำร้องยุบเพื่อไทย ชงสอบเพิ่ม'ทักษิณ' ตั้งรบ.-นอนชั้น14