ต้องยอมรับว่าตำแหน่งของนายทักษิณนั้นมีความชัดเจนกว่านายนาจิบ เพราะคนไทยจำนวนมากยังให้การสนับสนุนนายทักษิณและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสถาบันผู้ทรงอำนาจต่างๆในประเทศ ยอมรับการกลับมาของนายทักษิณอย่างชัดเจนและความจริงที่ว่านายทักษิณนั้นจะมีบทบาททางการเมืองอย่างแน่นอนในอนาคต หลังจากที่เขากลับมา
สืบเนื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวไปว่านายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน มีผลในปี 2568
เรื่องนี้ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทางนักวิชาการมาเลเซีย โดยมีการกล่าวว่านายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ถูกตั้งข้อหาว่าทุจริต และถูกจำคุก ณ เวลานี้นั้น น่าจะมีคุณสมบัติเหมาะสมกว่านายทักษิณ ในการเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างนายนาจิบ ราซัค และนายทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงบทวิเคราะห์จากสื่อมาแลเซีย มาเปรียบเทียบกัน มีรายละเอียดดังนี้
การกลับมาที่ประเทศไทยของนายทักษิณในช่วงเดือน ส.ค. 2566 และการถูกจําคุกในข้อหาทุจริตเกิดขึ้นเกือบหนึ่งปีนับจากวันที่อดีตนายนาจิบ กลายเป็นผู้ต้องขังที่เรือนจํากาจัง ใกล้กัวลาลัมเปอร์
สื่อทั้งในมาเลเซียและในไทยต่างพยายามที่จะระบุว่านายทักษิณและนายนาจิบนั้นมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพื่อแยกทั้งสองคนออกจากฐานสนับสนุนแบบดั้งเดิม จึงได้เห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ คำกล่าวว่า ทักษิณเลวร้ายกว่าฮิตเลอร์ และคำว่า นาจิบเป็นราชันย์แห่งระบอบโจราธิปไตย
ในกรณีของนายนาจิบนั้น แม้จะถูกคุมขัง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาลดบทบาททางการเมืองไปเลย และคาดว่าเขาน่าจะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในพรรคอัมโนอยู่
ข่าวการกลับมาของนายทักษิณ ในช่วงวันที่ 22 ส.ค. 2566 ดูเหมือนจะกลบกระแสข่าวการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมตรีคนที่ 30 ไปโดยสิ้นเชิง
โดยภาพการมาถึงของนายทักษิณบนเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวที่สนามบินนานาชาติดอนเมืองเป็นภาพของการต้อนรับของวีรบุรุษมากกว่าการมาถึงของผู้หลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม
ดูเหมือนว่าโชคชะตา (หรือโอกาส) จะทําให้อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองมีบทบาทสําคัญในสภาพแวดล้อมทางการเมืองระดับชาติในประเทศของตัวเอง
มีการคาดเดากันว่ามีการทำข้อตกลงบางอย่าง ในทั้งกรณีของนายทักษิณ และนายนาจิบ
กรณีนายทักษิณ เป็นที่ทราบกันดีตามที่เผยแพร่ ในประกาศพระราชกฤษฎีกา บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย นายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี
ส่วนกรณีของนายนาจิบ หลายคนคาดเดาว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงบางรูปแบบ สืบเนื่องจากที่ "รัฐบาลเอกภาพ" ถูกจัดตั้งขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. 2565 อย่างไรก็ตาม นายนาจิบก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสาธารณชนที่ยังต้องการให้ตัวนายนาจิบใช้เวลาส่วนหนึ่งอยู่ในคุกจากโทษเต็มทั้งหมด 12 ปี
ดังนั้นการปล่อยตัวของทั้งนายทักษิณและกรณีนายนาจิบจึงดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับสายตาของสาธารณชนด้วยส่วนหนึ่ง
ต้องยอมรับว่าตำแหน่งของนายทักษิณนั้นมีความชัดเจนกว่านายนาจิบ เพราะคนไทยจำนวนมากยังให้การสนับสนุนนายทักษิณและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสถาบันผู้ทรงอำนาจต่างๆในประเทศ ยอมรับการกลับมาของนายทักษิณอย่างชัดเจนและความจริงที่ว่านายทักษิณนั้นจะมีบทบาททางการเมืองอย่างแน่นอนในอนาคต หลังจากที่เขากลับมา
สำหรับนายนาจิบ เรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่ามาก เพราะดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความเห็นเกี่ยวกับการปล่อยตัวเขาตลอดเวลา
@เทียบประวัติ นาจิบ-นายทักษิณ
สำหรับประวัติของนายนาจิบ ราซัค นั้นพบว่าเขาเกิดในครอบครัวนักการเมืองในช่วงปี 2496 โดยพ่อของนายนาจิบซึ่งก็คือนายอับดุล ราซัค เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในช่วงปี 2513-2519 นายฮุสเซน ออนน์ ลุงของนายนาจิบ เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2519-2524
นายนาจิบเข้าเรียนที่โรงเรียนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยได้รับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กลับมาที่มาเลเซียในปี 2517 ซึ่งหลังจากกลับมาเขาก็ได้ทำงานในบริษัท Nasional Berhad (Petronas) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านปิโตรเลียม พอหลังจากนายอับดุลเสียชีวิตในปี 2519 นายนาจิบก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น สส.แทนพ่อของเขา
ในช่วงต้นอาชีพนักการเมือง นายนาจิบทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและชนชั้นปกครองที่ดำเนินมาจากรุ่นสู่รุ่นในภูมิภาคปะหังราบรื่น และเขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในดาวรุ่งภายในพรรคองค์การแห่งชาติมาเลย์ (อัมโน) เขาดํารงตําแหน่งในกระทรวงหลายกระทรวง รวมถึงดำรงตำแหน่งสองวาระในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (2534-2538 และ 2542-2547) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 2547 และในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553 นายนาจิบได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค อัมโน เพื่อเตรียมทางสําหรับการถ่ายโอนอํานาจจากนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี
นายนาจิบสาบานตนเข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2552 และกลายเป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan Nasional (BN) นำโดยพรรคอัมโนและพันธมิตร ต่อมาในการเลือกตั้งเดือน พ.ค. 2556 กลุ่ม BN พ่ายแพ้คะแนนปอปปูลาร์โหวต แต่ยังคงสามารถรักษาที่นั่งส่วนมากในรัฐสภาได้ และนายนาจิบยังคงดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายนาจิบสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปี 2552 (อ้างอิงวิดีโอจาก The Star)
อย่างไรก็ตามความนิยมของนายนาจิบนั้นเริ่มลดน้อยถอยลงไป เมื่อเขาประกาศใช้อัตราภาษี 6 เปอร์เซ็นต์ในเดือน เม.ย. 2558 ซึ่งนี่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากภาคส่วนสินค้าและบริการ
ต่อมาหลังจากนั้นในช่วงปี 2558 เช่นกัน นายนาจิบก็เข้าไปมีส่วนพัวพันกับกรณีทุจริตกองทุน 1MDB หรือ 1Malaysia Development Berhad ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อการลงทุนของรัฐมาเลเซีย โดยการสืบสวนที่แยกต่างหาก ซึ่งดำเนินการโดยทั้งทางการสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่ามีการยักยอกเงินประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (121,030,000,000 บาท) จาก 1MDB และฟอกเงินผ่านช่องทางต่างๆ
หน่วยต่อต้านการโจรกรรมของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พยายามกู้คืนทรัพย์สินมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (34,591,000,000)ที่เชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาว ซึ่งเป็นการดําเนินการกู้คืนทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของหน่วยงานนี้ ส่วนทางการมาเลเซียก็ยืนยันว่าจำเลยชื่อ Malaysian Official 1 ซึ่งไม่ระบุนามและถูกอ้างถึงอย่างกว้างขวางในการยื่นฟ้อง แท้จริงแล้วก็คือนายนาจิบ
จากกรณีดังกล่าวทำให้นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นักการเมืองอาวุโสของพรรคอัมโน ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2524-2546 ได้เข้ามาเป็นผู้นำของฝ่ายค้าน หลังจากที่ปรากฏกรณีการทุจริต 1MDB ขึ้นมา ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 9 พ.ค. 2561 ผู้ลงคะแนนเสียงก็ได้โหวตเลือกกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านที่มีนายมหาเธร์เป็นผู้นำส่งผลให้นายนาจิบต้องหลุดจากตำแหน่งในวันถัดมา
หลังจากที่นายนาจิบพ้นจากตำแหน่งไม่นาน เขาถูกห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศและในเดือน ก.ค. 2561 นายนาจิบก็ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมเกี่ยวกับ 1MDB โดยนายนาจิบยืนยันว่าตัวเองไม่ผิด และต่อมาก็ต้องเผชิญกับข้อหาอีก 42 กระทงเกี่ยวกับการทุจริตและการฟอกเงิน ในปี 2562 เขาเผชิญกับข้อหาอีกเจ็ดกระทง ในเดือน ก.ค. 2563 นายนาจิบก็ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในเจ็ดข้อหาและถูกจำคุกเป็นเวลา 12 ปี
นายนาจิบยังคงเป็นอิสระจากการประกันตัวเองจนถึงเดือน ส.ค. 2565 เมื่อศาลสูงของมาเลเซียปฏิเสธการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายของนาจิบและเขาต้องรับโทษจําคุก ต่อมาในเดือน มี.ค. 2566 ศาลสูงได้ตัดสินให้นายนาจิบพ้นผิดในข้อหาหนึ่งข้อหา นั่นคือการแทรกแซงการตรวจสอบ หลังจากตัดสินว่าอัยการล้มเหลวในการพิสูจน์การกระทําผิดที่ถูกกล่าวหาของนายนาจิบ เกือบหนึ่งปีต่อมาในเดือน ก.พ.2567 คณะกรรมการอภัยโทษของมาเลเซียประกาศว่าได้ลดโทษจําคุก 12 ปีของนาจิบลงครึ่งหนึ่งและลดค่าปรับของเขา
โดยคณะกรรมการไม่ได้ให้เหตุผลในการลดโทษซึ่งนําไปสู่ความโกรธแค้นของสาธารณชน แต่นายนาจิบไม่พอใจที่เขาไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างเต็มที่ และทนายความของเขาระบุว่าเขาอาจขออภัยโทษอีกครั้งเร็วๆนี้
และล่าสุดในวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลสูงมาเลเซียมีคำสั่งยกฟ้องข้อหาทุจริตของนายนาจิบ ในคดีกองทุน 1MDB
ข่าวการลดโทษนายนาจิบลงเหลือหกปี (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
สำหรับประวัติของนายทักษิณ ชินวัตร นายทักษิณเกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2492 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2508 และระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512) และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้ที่หนึ่งของรุ่นต่อมา นายทักษิณศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต เมื่อปี พ.ศ. 2521 เขาได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2537
นายทักษิณเริ่มทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาลและรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล เขายังเคยเป็นอาจารย์สอน ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในปี พ.ศ. 2518–2519
ในปี 2523 นายทักษิณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่างระหว่างรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม, กิจการโรงภาพยนตร์, ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ล้มเหลว รวมถึงที่ดินโรงหนังเก่าบริเวณราชวัตรที่จะลงทุนสร้างเป็นคอนโด 15 ชั้น แต่ต่อมามีกฎกระทรวงห้ามสร้างตึกสูง ส่งผลให้สามารถสร้างได้เพียง 7 ชั้น ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้สินร่วมถึง 50 ล้านบาท นายทักษิณเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยส่วนมากเป็นการนำภาพยนตร์ที่เคยได้รับความนิยมกลับมาสร้างใหม่ แต่ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้
หลังจากการประกอบธุรกิจมาหลายประเภท นายทักษิณก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (เดิมชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2526 เพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมแก่หน่วยงานของรัฐโดยประสบความสำเร็จอย่างจำกัด แต่ธุรกิจระบบความมั่นคง (SOS) และบริการวิทยุรถโดยสารประจำทางสาธารณะล้มเหลวทั้งสิ้น จากนั้นเขาก่อตั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ในวันที่ 24 เม.ย. 2529
ในปี พ.ศ. 2530 นายทักษิณลาออกจากราชการตำรวจ ด้วยยศ พันตำรวจโท ในปี พ.ศ. 2531 เขาเข้าร่วมกับแปซิฟิกเทเลซิสเพื่อดำเนินการและจัดจำหน่ายบริการเพจเจอร์ แพ็กลิงก์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างจำกัด แต่ต่อมาเขาขายหุ้นเพื่อไปตั้งบริษัทเพจเจอร์ของตนเอง ในปี พ.ศ. 2532 เขาเปิดบริษัทโทรทัศน์เคเบิลไอบีซี แต่สุดท้ายบริษัทขาดทุนจนต้องรวมบริษัทกับยูทีวีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จนกลายเป็นยูบีซีและทรูวิชั่นส์ในเวลาต่อมา ในปีเดียวกันเขาตั้งบริษัทบริการเครือข่ายข้อมูล ชินวัตรดอตคอม ซึ่งปัจจุบันชื่อ แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวิร์ค และมีเอไอเอสและทีโอทีเป็นเจ้าของ ธุรกิจของนายทักษิณหลายอย่างต่อมารวมกันเป็นชิน คอร์เปอเรชัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอินทัช โฮลดิ้งส์
ในปี 2537 นายทักษิณลาออกจากตำแหน่งประธาน บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น และเริ่มต้นลงสู่สนามการเมือง โดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นผู้ชักชวน หลังการปลดรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรมที่เป็นสายบุญชู โรจนเสถียร อดีตหัวหน้าพรรค นายทักษิณได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนธันวาคม 2537 ในรัฐบาลชวน หลีกภัยและในปีต่อมา เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทนจำลอง และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในปี 2539 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
เมื่อวันที 14 กรกฎาคม 2541 นายทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ก.พ. 2544 จนกระทั่งในวันที่ 23 ม.ค. 2549 นายทักษิณได้ดำเนินการขายหุ้นชินคอร์ป ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (เทมาเส็ก) ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และทำให้ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ได้นำกำลังทหารออกมารัฐประหารในขณะที่นายทักษิณไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก
นายทักษิณเคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนซึ่งสืบทอดจากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง โดยเขาได้มอบตัวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ซึ่งศาลอนุมัติให้ประกันตัว
ระหว่างนั้นทั้ง 2 คน ได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยระบุวันเดินทางระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 ในรายละเอียดคุณหญิงพจมาน ให้เหตุผลขอเดินทางไปร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ระหว่างในวันที่ 5-10 สิงหาคม 2551
และเมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ทั้งสองคน ไม่มารายงานตัวต่อศาล แต่ไปปรากฎตัวที่ประเทศลอนดอนพร้อมครอบครัว วันที่ 21 ตุลาคม 2551 แล้วหลังจากวันนั้นนายทักษิณก็อาศัยอยู่ที่ต่างประเทศโดยตลอด
จนกระทั่งวันที่ 22 ส.ค. 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. นายทักษิณเดินทางจึงได้กลับมายังประเทศไทย โดยหลังจากถึงท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เขาก็ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ทันที ก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยกรมราชทัณฑ์แถลงว่า ได้แยกคุมขังเดี่ยวที่แดน 7 เหตุเพราะว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง มี 4 โรค ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะเกี่ยวกับปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ
นายทักษิณก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ที่สนามบินดอนเมือง
ต่อมาในวันที่ 1 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีการะบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย นายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี
จนกระทั่งในวันที่ 13 ก.พ. 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาระบุว่าชื่อของนายทักษิณ เป็น 1 ในนักโทษจำนวน 945 คน ที่ได้รับการพักโทษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ที่เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป
และในวันที่ 17 ส.ค. พ.ต.อ.ทวีก็ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่านายทักษิณนั้นพ้นโทษแล้ว หลังจากที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษนักโทษจำนวน 31,000 คนในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 โดยมีชื่อของนายทักษิณอยู่ในจำนวน 31,000 คนนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้นายทักษิณจะพ้นโทษคดีทุจริตต่างๆไปแล้ว แต่ก็ยังมีคดีกล่าวหาที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)อีก 1 คดี ได้แก่
1. คดี นายทักษิณ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รอง ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมืองแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
นอกจากนี้นายทักษิณยังมีคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของศาลอาญา ได้แก่คดีกระทำความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นกรณีในช่วงปี 2558 ที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ ไปแจ้งความเอาผิด พ.ต.ท.นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และพูดพาดพิงสถาบันฯ โดยในคดีนี้ศาลจะนัดสืบพยานโจทก์ปากเเรก 1 ก.ค. 2568
- ขุดคดีค้าง 'นายทักษิณ' ขี่มอไซค์ไม่สวมหมวก-หมิ่นสถาบันฯเพียบ อสส.สั่งฟ้อง ม.112 แล้ว 1 คดี
- มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ตีตกคดี 'นายทักษิณ-สุริยะ' เอื้อปย.ชินคอร์ปฯ ช่วงถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย
- 'นายทักษิณ' ย่องเงียบรายงานตัวศาลฯ คดี ม.112 - สืบพยานโจทก์ปากเเรก 1 ก.ค.68
@มรดกทางการเมืองของนายทักษิณ และนายนาจิบ
ต้องยอมรับว่านายกรัฐมนตรีทั้งสองคนได้สร้างมรดกบางอย่างให้กับประเทศเอาไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายนาจิบถือได้ว่าเป็นนักปฏิรูปสายอ่อนเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเขาได้ช่วยเหลือคนยากจนผ่านการแจกและริเริ่มโครงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และพยายามเปลี่ยนแปลงระบบข้าราชการพลเรือน ซึ่งการปฏิรูประบบราชการพลเรือนของนายนาจิบนั้นถือว่ามากกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆที่ได้ดำเนินการตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา
บทบาทของนายทักษิณเองก็มีการวิจารณ์ว่าเขาอาจจะมีความสำคัญมาก เนื่องจากพรรคเพื่อไทยอยู่ในแนวร่วมที่มีลักษณะค่อนไปทางกระอักกระอ่วน กับทางพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังนั้นจึงต้องมีบางคนทำหน้าที่ยึดแนวร่วมนี้เอาไว้ ความอยู่รอดสูงสุดของรัฐบาลนี้จะขึ้นอยู่กับการรักษาความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีระหว่างนักการเมืองพลเรือน และกองทัพ
โดยใครบางคนต้องเอาใจกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความผิดหวังและเยาวชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลเดิมที่ตอนนี้กลายเป็นพรรคประชาชน กลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าถูกทรยศ ดังนั้นมีเพียงนายทักษิณเท่านั้นที่สามารถรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้
@กรณีพรรคอัมโนและกลุ่มปากาตันฮาราปัน
สำหรับนายนาจิบ ดูเหมือนว่าตอนนี้เขาอาจจะถูกเก็บเอาไว้บนหิ้ง ผลงานที่ย่ำแย่ของพรรคอัมโนในการเลือกตั้งสภาทั้งหกรัฐของมาเลเซีย เองก็นำไปสู่การอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับตัวผู้นำของพรรค
ชะตากรรมของพรรคอัมโนและกลุ่มปากาตันฮาราปัน ของนายกรัฐมนตรีอันวาร์อิบราฮิม ที่ตอนนี้เป็นรัฐบาลร่วมกันนั้นจะขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนมาเลเซียในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ถ้าหากพรรคอัมโนทำงานไม่สำเร็จ มีคะแนนความนิยมที่ลดลง ก็มีความเป็นไปได้ที่ปากาตันฮาราปันจะหลุดจากการเป็นรัฐบาล
สิ่งนี้นําไปสู่การคาดเดาว่านายนาจิบอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถนำอัมโนฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง และสถาปนาพรรคขึ้นมาใหม่ในฐานะคู่แข่งในใจกลางมลายู
การเคลื่อนไหวดังกล่าวของนายนาจิบอาจเพิ่มโอกาสที่รัฐบาลเอกภาพจะอยู่รอดจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปก็เป็นได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยที่นายนาจิบจะได้รับการปล่อยตัวด้วยเช่นกัน
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงนายนาจิบก็จะมีสถานะไม่ต่างจากนายทักษิณก็คือเป็นผู้มีอาวุโสที่จะทำให้รัฐบาลเอกภาพอยู่รอดไปได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันว่านาจิบอาจมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลที่หลงทางกับนโยบายเศรษฐกิจของตัวเอง
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทั้งนายทักษิณและนายนาจิบถูกกำหนดให้มีบทบาทในอนาคตในประเทศของตัวเอง ต้องยอมรับว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ผันผวนทางการเมืองทั้งในไทยและในมาเลเซีย ในอนาคตที่มีความผันผวนนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.britannica.com/biography/Thaksin-Shinawatra,https://www.britannica.com/biography/Najib-Razak,https://www.freemalaysiatoday.com/category/opinion/2023/09/01/powerful-new-roles-seen-for-deposed-najib-and-thaksin/