“...เดิมทีที่ประชาชนเจ็บป่วยด้วยอาการเล็กน้อย ก็มักจะไปซื้อยาในร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่แล้ว แต่ต้องจ่ายเอง ซึ่งต่อมาทางสภาเภสัชกรรมได้เสนอมายัง สปสช.ว่า สามารถดำเนินการตรงนี้ให้ได้ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ยา เพื่อแบ่งเบาภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาล รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ดังนั้น จากเดิมที่ผู้ป่วยเมื่อไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ต้องการยา เมื่อไปซื้อยาต้องจ่ายเงินเอง ก็มาใช้บริการตรงนี้ โดยมี สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามกรอบวงเงิน จึงมีการเปิดบริการตรงนี้...”
ตามที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่ กทม.’ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยนวัตกรรมต่างๆของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีโลโก้ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ โดย สปสช. ได้ขยายขอบเขตการให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illnesses) ของร้านยาคุณภาพ ให้จ่ายยาตามกลุ่มอาการเพิ่มขึ้นเป็น 32 กลุ่มอาการ จากเดิม 16 กลุ่มอาการ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
จากนโยบายดังกล่าว นำมาสู่การที่แพทยสภายื่นฟ้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายยาตามกลุ่มอาการ 16 กลุ่มอาการ โดยไม่มีการตรวจโดยแพทย์ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน เนื่องจากขัดต่อกฎหมายวิชาชีพ
สำหรับรายละเอียดคำฟ้องได้ระบุว่า การกำหนดให้ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาหาร สามารถรับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นโดยไม่เสียค่าใช่จ่าย เห็นว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2545 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมายถึงบุคคลซี่งได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภา (ผู้ฟ้อง) แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถสั่งจ่ายาให้แก่ผู้ป่วยหลังการซักประวัติ การตรวจร่างกาย หรือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้ ข้อตกลงพิพาทเป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เภสัชกรรม พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2556 ซึ่งไม่ได้บัญญัติให้อำนาจสภาเภสัชกรรม (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ออกประกาศ ข้อบังคับ หรือทำข้อตกลงที่มีเนื้อหาในทำนองที่อนุญาตให้เภสัชกรสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ ประกอบกับ ร้านยามิใช่สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ทั้งนี้ ร้านยาเป็นสถานที่จำหน่ายยาภายใต้การดูแลของเภสัชกรในการให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา อันตรายของยา เป็นต้น
ดังนั้น ข้อพิพาท จึงส่งผลให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ โดยไม่ผ่านการตรวจวินิจฉัยโรคของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และทำให้แพทยสภา (ผู้ฟ้อง) ไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยได้
ต่อมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รับฟ้อง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้น ได้มีการพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
@
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ตามข่าวที่ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด รับเรื่องที่ทางแพทยสภายื่นฟ้อง มีจำเลยคือ สปสช. และ สภาเภสัชกรรม โดยตามหลักกฎหมายในการรับเรื่องนี้ ยังไม่ได้ถือว่าเป็นการตัดสิน ฉะนั้น ทาง สปสช. ก็ขอยืนยันว่ารับบริการได้ตามปกติ เพราะยังไม่ได้มีข้อวินิจฉัยหรือคำสั่งเด็ดขาดอะไรที่ต้องถือว่าเป็นทางการที่หน่วยราชการต้องรับมาปฏิบัติ
นพ.จเด็จ กล่าวถึงที่มาของโครงการรับยาใกล้บ้าน ว่า เบื้องต้น เราเชื่อว่าระบบของโรงพยาบาลของเราในปัจจุบัน ถ้าให้ทุกคนที่รู้สึกไม่สบายเข้าไปรับบริการ ระบบไม่สามารถรองรับทั้งหมดได้ไหว ดังนั้น จึงมีการหาทางออกว่ามีบริการอะไรที่สามารถจะช่วยลดความแออัด หรือว่าลดภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ได้
"เดิมทีที่ประชาชนเจ็บป่วยด้วยอาการเล็กน้อย ก็มักจะไปซื้อยาในร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่แล้ว แต่ต้องจ่ายเอง ซึ่งต่อมาทางสภาเภสัชกรรมได้เสนอมายัง สปสช.ว่า สามารถดำเนินการตรงนี้ให้ได้ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ยา เพื่อแบ่งเบาภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาล รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ดังนั้น จากเดิมที่ผู้ป่วยเมื่อไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ต้องการยา เมื่อไปซื้อยาต้องจ่ายเงินเอง ก็มาใช้บริการตรงนี้ โดยมี สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามกรอบวงเงิน จึงมีการเปิดบริการตรงนี้" นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับร้านขายยาที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นประเภท ขย.1 ซึ่งจะมีเภสัชกรประจำการตลอดในการให้บริการ ถ้าไม่ใช่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ ก็จะไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในโครงการฯ นอกจากนี้ ยังต้องมีการอบรมเพิ่มเติม หรือเรียกว่าอบรมความรู้เพิ่มเติมให้กับ เภสัชกร เมื่อมีการอบรมความรู้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีการซักซ้อมการทำงานว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้นเข้ามารับบริการ สามารถให้บริการได้อย่างไร และระบบติดตามผู้ป่วยต่ออีก 72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น ก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์
นพ.จเด็จ กล่าวเน้นย้ำว่า ระบบของ สปสช.ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ หน่วยบริการที่เข้ามาอยู่ในระบบ สปสช.ต้องเข้าร่วมเป็นระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม ทั้งหมด จะต้องผูกโยงกันเป็นเครือข่าย เพื่อว่าติดตาม หากเกิดมีปัญหาอะไร จะต้องมีระบบส่งต่อให้กับผู้ป่วย ซึ่ง สปสช.ไม่ได้ให้ร้านขายยา หรือคลินิกต่างๆ ที่เข้าร่วม ทำโดยอิสระ หรือเป็นเอกเทศ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า อยากให้มองในเรื่องความเป็นจริงของสภาพสังคม การให้บริการด้านสาธารณสุขในร้ายขายยานั้น สปสช.ไม่ได้เริ่มทำใน 1-2 ปี แต่ทำมาหลายปี โดยที่ใช้ร้านยาเข้ามาช่วยบริการบางอย่าง เช่น ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค จ่ายยาคุมให้กับคนไข้ที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อไปรับยาคุมหนึ่งแผง จ่ายถุงยางอนามัย ร่วมถึงให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนครอบครัว นอกจากนั้นการให้การดูแลให้ยา สปสช.ก็เลยก็เคยทำมาแล้ว เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ก็มีระบบให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้
"ในช่วงโควิด ก็จะเห็นว่าเราก็มีช่วงหนึ่ง ตอนจะไปไปโควิด เราก็บอกว่า ถ้าท่านตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ท่านก็ไปรับยาที่ร้านยาได้เลย ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมา ทาง สปสช.ไม่ได้ทำเองโดยที่ไม่ปรึกษาหารือใคร แต่ก็ต้องมีแพทย์ มีผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมหา เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น คนไข้ก็จะล้นโรงพยาบาล และไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ในส่วนเรื่องของกฎหมายก็คงต้องเป็นทางศาลพิจารณา ซึ่งทางสภาของแต่ละท่าน ก็จะมี พ.ร.บ.ของแต่ละสภาที่ถืออยู่" นพ.จเด็จ กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการสภาเภสัชกรรม และอดีตนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกร ว่า เภสัชกรโดยเฉพาะในร้านขายยา ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยา เภสัชกรมีสิทธิ์ที่จะจ่ายยา ซึ่งเป็นยาอันตรายให้แก่ผู้ป่วย โดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าใครจะมาซื้อยาอะไร ก็ขายให้ เนื่องด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพที่ว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาโดยเฉพาะอาการเบื้องต้น
“ในการเรียนเภสัชกร เรียน 6 ปี เขาก็รู้เรื่องโรค รู้เรื่องหลักการใช้ยา เพราะฉะนั้นในการให้บริการ หรือว่าการทำหน้าที่ของเภสัชกรนั้น เขาก็ทำหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยาอย่างดี” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว
ในส่วนประเด็นการฟ้องร้องของแพทยสภา รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า อยากให้พิจารณาภาพรวมและความเป็นจริงเชิงระบบ ว่า ระบบที่สามารถให้เภสัชกรสามารถจ่ายยาช่วยดูแลปฐมภูมิได้ เพื่อลดความแน่นในโรงพยาบาล แพทย์ก็ไม่ต้องทำงานหนัก เภสัชกรก็จะได้มีเวลาแนะนำยาให้คนไข้ ซึ่งจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไม่ดีกว่าหรือ
"เมื่อพิจารณาสถานการณ์จริงในประเทศไทย ไม่มีการส่งใบสั่งยามาให้ร้านขายยา นอกจากนี้ แพทย์และเภสัชกร ต่างแยกบทบาทหน้าที่ แม้ว่าแพทย์จะมีหน้าที่วินิจฉัยและดำเนินการรักษาต่ออาจจะเป็นการใช้ยาหรือผ่าตัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การดูแลเบื้องต้นโดยเภสัชกรเป็นก้าวล่วงหน้าที่ของแพทย์" รศ.ดร.จิราพร กล่าว
รศ.ดร.จิราพร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างในคลินิก มีแค่แพทย์คนเดียว ไม่เห็นมีเภสัชกรไปจ่ายยา เภสัชกรก็ไม่เห็นว่าอะไร เพราะว่าแพทย์ในคลินิก ก็ไม่ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไร ก็ถามอาการถูกไหม ก็เหมือนกัน เพราะนั่นเป็นการลักษณะเบื้องต้น ปฐมภูมิ (primary care) ซึ่งในระบบของ primary care ต้องเน้นด้วยการว่าด้านศักยภาพของตัวผู้ป่วยเอง เพราะฉะนั้น อย่างร้านยาไม่ใช่ว่าทุกรายไปปรึกษาแล้วจะได้ยา แต่จะมีการให้ความรู้สามารถที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของการดูแลตนเอง
รศ.ดร.จิราพร ยังกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของร้านขายยาและการกระจายเพื่อลดความแออัดว่า ในต่างประเทศ ช่วงที่มีการฉีดวัคซีนโควิด ประชาชนสามารถเข้าได้รับวัคซีนได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้บริการอยู่ ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนเร็วและทั่วถึง ขณะที่ประเทศไทย เภสัชกรไม่สามารถทำได้ พอถึงเวลาก็ต้องแออัดเข้าไปในโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ร้านยามีอยู่ทั่วประเทศ
"ปัจจุบัน พัฒนาการของการให้บริการวิชาชีพนั้น เราจะเห็นว่ามันก้าวหน้าไปเป็นเยอะ อะไรง่ายๆ ควรจะให้ประชาชนทำได้เองด้วยซ้ำ ส่วนที่ยาก ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ก็ให้วิชาชีพที่ก็ทำไป เช่น การให้ชาวบ้านใช้ยาสามัญประจำบ้าน เภสัชกรจ่ายยาอันตรายได้ แต่การมาบอกว่าให้เภสัชกรจ่ายได้เฉพาะยาประจำบ้านนั้น มันตลก" รศ.ดร.จิราพร กล่าว
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญตัวแทนแพทยสภา เข้าพบเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและยุติข้อขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว
โดยผู้แทนแพทยสภายืนยันว่า ในภาพรวมเห็นด้วยกับการให้บริการดูแลประชาชน ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในบางกลุ่มอาการของ สปสช. เพราะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ ลดความแออัดของผู้จะไปเข้ารับบริการในโรงพยาบาล และยังเป็นความสะดวกกับประชาชนอีกด้วย
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อมาพิจารณากำหนดกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่เภสัชกรในร้านขายยาคุณภาพสามารถจ่ายยาให้ได้โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งหากได้มีการพิจารณาและเห็นพ้องร่วมกันในประเด็นดังกล่าว ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขประกาศของ สปสช. ที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามต่อไปว่า ข้อพิพาทนี้จะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนึกถึงเป็นอันดับหนึ่งคือ ผลประโยชน์ของประชาชน
ทั้งนี้ ระหว่างที่รอศาลชี้ขาด ทาง สปสช. ยืนยันว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ยังคงเข้ารับบริการที่ร้านยาคุณภาพได้ จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอื่นออกมา
สำหรับ 32 กลุ่มอาการที่ร้านยา สามารถให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยสภาเภสัชกรรม ประกอบด้วย
-
1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว
-
11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด 17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
-
21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันสปสช.จ่ายเงินให้ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ Common Illnesses หรือ เภสัชกรรมปฐมภูมิ คิดเป็น 180 บาทต่อครั้งที่มารับบริการ (pay per visit) ภายใต้เงื่อนไข คือ เภสัชกรต้องมีการซักประวัติ ให้คำแนะนำพร้อมจ่ายยา และต้องติดตามอาการภายหลังจ่ายยา 3 วัน ไม่เกิน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นต้องส่งต่อระบบเครือข่ายศักยภาพสูงกว่าทันที
ประชาชนที่จะเข้าร่วมเพียงยื่นบัตรประชาชน และแจ้งอาการที่เข้าข่าย 32 อาการ โดยสามารถเข้ารับบริการร้านยาที่มีโลโก้ หรือติดสติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลสายด่วน สปสช. โทร 1330 หรือหาร้านยาที่เข้าร่วมตามพื้นที่ผ่านเว็บไซต์ https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘สมศักดิ์’ถกแพทยสภา ตั้ง คกก.ร่วม แก้ปมฟ้อง สปสช.ให้เภสัชฯจ่ายยารักษาเจ็บป่วยเล็กน้อย
- สภาเภสัชฯโต้แพทยสภา หวังเปิดใจ เผย 90% หายป่วย-ทุเลาหลังรับยา ไม่มีเจ็บหนัก-ตาย
- แพทยสภาออกแถลงการณ์แจงเหตุฟ้องศาลปกครอง ปมโครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
- 'สมศักดิ์'เตรียมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท'แพทยสภา-สปสช.'-เสนอ'ตู้ห่วงใย'เป็นทางออก-ยกระดับ 30 บาทฯ
- 'สมศักดิ์'เรียกถกหาทางออก หลังแพทยสภายื่นฟ้อง กรณีจ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 13 พ.ย.