'สมศักดิ์' เตรียมไกล่เกลี่ย 'แพทยสภา-สปสช.' ปมเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาใกล้บ้าน ชี้ต่างมีกฎหมายคนละฉบับ พร้อมเสนอ 'ตู้ห่วงใย' ทางออกความขัดแย้ง ยกระดับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ รักษาครอบคลุม 42 กลุ่มโรค
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการฟ้องร้องกันระหว่างแพทยสภากับสภาเภสัชกรรม ว่า เรื่องคดีก็ต้องเจรจาว่าถอยกันได้เท่าไหร่ ตนไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ร้อนแรงอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่าเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องพี่กับน้องที่มีปัญหากัน เพราะต่างคนก็ต่างมีกฎหมายถือกันคนละฉบับ เพราะดูเหมือนเภสัชจะมีกฎหมายบางมาตราสามารถจ่ายยาได้บางประเภท ก็ต้องมาดูว่าบางประเภทนั้นเมื่อเทียบกับ 16 กลุ่มอาการจะเข้าประเภทไหนบ้าง ไม่เข้าเลย หรือเข้าทั้งหมด โดยตนยอมรับไม่สามารถทำให้จบได้เลย และไม่รับปากว่าจะจบยังไง เพราะเป็นเรื่องที่เข้าศาลแล้ว ต้องไปจบที่ศาล แต่ถ้าไม่จบก็ว่ากันต่อไปในทางคดี ไม่รับปากว่าจะจบอย่างไร แต่ขอคุยตามเหตุผลของตนก่อน ทั้งนี้ เรื่องที่ถกเถียงกันเป็นปัญหาชาวบ้าน หรือปัญหาของใคร
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังเปิดเผยถึงการนัดเข้ามาพูดคุย ว่า จะมีการนีดหมายพูดคุยกันช่วงสัปดาห์หน้า หลังจากที่เลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้กล่าวโยงไปถึงโครงการนวัตกรรม 'ตู้ห่วงใย' ซึ่งนำร่องในชุมชนเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ กทม. ยกระดับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้หมอพบคนไข้ด้วยระบบเทเลเมดิซีน สามารถรักษาครอบคลุม 42 กลุ่มโรค ไม่ต้องรอคิวในโรงพยาบาลและให้ไรเดอร์ส่งยารักษาให้ถึงบ้านทันทีว่า ตนมองว่าบริการ 'ตู้ห่วงใย' จะแก้ปัญหาฟ้องร้องได้ เพราะอันที่ฟ้องนั้น 16 กลุ่มอาการ แต่โครงการตู้ห่วงใย 42 กลุ่มอาการ และสปสช.มีค่าใช้จ่ายน้อยลง และยังเปิดรับผู้ประกอบการที่จะเปิดตู้แข่งกันเพิ่มเติมขึ้นอีก หากใครอยากจะลงทุน
“ผมว่าเรามีบริการตู้ห่วงใยมาจะสามารถแก้ปัญหานี้ด้วยด้วย เพราะเรื่องนี้แค่ 16 กลุ่มโรค แต่ตู้ห่วงใย 42 กลุ่มโรค สะดวก เข้าตู้แล้ว คลีนิกส่งยาให้ไม่ต้องไปร้านเอง แต่ว่าถ้าหากไม่ใช้ตู้ห่วงใยก็ยังไปใช้ร้านขายยาได้เหมือนเดิม เพราะยังฟ้องร้องและเคลียร์ไม่จบ โดยมองว่าตอนแรกคิดว่าตู้ห่วงใยจะเป็นนวัตกรรมเสริม แต่เมื่อเห็นโครงการแล้วมองว่าเป็นนวัตกรรมหลักได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับ 'ตู้ห่วงใย' เป็นบริการการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชนด้วย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อช่วยให้ประชาชน เข้าถึงบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ผ่านระบบออนไลน์ ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและใกล้บ้าน พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และจะช่วยลดความแออัด และระยะเวลารอคอย การรักษาพยาบาลได้อีกด้วย การนำร่องให้บริการตู้ห่วงใย จะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยติดตั้งที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่เป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป ขอขอบคุณ กระทรวงสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร สปสช. รวมถึงบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนาบริการนี้ขึ้น เชื่อว่า ตู้ห่วงใยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ส่งมอบบริการสุขภาพที่ดีแก่พี่น้องประชาชนทุกคนต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แนวนโยบายรัฐบาลในการตรวจรักษาประชาชนด้วยระบบเทเลเมดิซีนจากตู้ห่วงใย รักษา 42 กลุ่มโรค เพื่อให้หมอกับคนไข้ได้คุยกันใกล้ชิดโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล สปสช.ได้จัดตู้ห่วงใยมาให้บริการ ใช้พื้นที่ไม่มาก มีการตรวจวัด ส่วนสูง น้ำหนัก ความดัน ถามประวัติคนไข้ จากนั้นข้อมูลส่งไปยังศูนย์บริการ มีแพทย์รับสาย วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้ เพราะแต่ละปี มีประชาชนใช้บริการในโรงพยาบาลประมาณ 304 ล้านครั้ง ดังนั้น เมื่อมีตู้ห่วงใยจะลดความแออัดในโรงพยาบาลลง ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ลดระยะเวลาในการไปรอคิวตรวจรักษา โดย 1 วัน ตู้ห่วงใยสามารถให้บริการได้ 72 คน เฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อ 6 คน ประชาชนในจังหวัดอื่นที่ถือบัตรทองก็สามารถรับบริการได้ และสามารถรับยาได้ทันทีผ่านไรเดอร์
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ภายในปีนี้จะพยายามขยายให้ได้ 50 แห่งในกรุงเทพฯ ส่วนปีหน้าจะเริ่มขยายการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด อยากขอเชิญชวนบริษัทอื่นเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อการให้บริการประชาชนครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากการให้บริการด้านการรักษาแล้ว ตนได้ทำเรื่องการป้องกันลดความเจ็บป่วย ลดการเข้ารักษาในสถานบริการทางการแพทย์ และลดค่าใช้จ่าย สปสช. โดยให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ช่วยกันรณรงค์กินถูกวิธี กินเป็นไม่ป่วย สวยขึ้น หล่อขึ้น ผอมลง
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ได้พัฒนาระบบบัตรทองมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นการดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 23 และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของระบบบัตรทอง ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนผู้มีสิทธิร่วม 48 ล้านคน ที่นอกจากเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิหรือประจำแล้ว ยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง และในกรุงเทพมหานครยังได้มีหน่วยบริการนวัตกรรม 18 ประเภท จำนวนกว่า 1,600 แห่ง เข้ามาร่วมให้บริการ
"ตู้ห่วงใยเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ สปสช. ได้เพิ่มเติมเป็นบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นรูปแบบของการให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชนที่ให้การดูแลหากเกิดภาวะเจ็บป่วยขึ้นโดยครอบคลุม 42 กลุ่มโรค เบื้องต้นจะเป็นการนำร่องในกรุงเทพมหานครก่อน และได้ทำการติดตั้งที่ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่เป็นแห่งแรก และในเร็วๆ นี้ จะติดตั้งที่ สถานีกลางบางซื่อ โครงการเคหะชุมชนดินแดง 1 และ 2 และมีแผนที่จะขยายการติดตั้งตู้ห่วงใยไปยังสถานที่ต่างๆ ต่อไป" นพ.จเด็จ กล่าว
นายวิเชียร แสงพลอย ประธานชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ กล่าวว่า ชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ มีประชากรร่วมอยู่อาศัยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยมีครอบคลุมทุกๆ กลุ่มวัย อย่างไรก็ดี บ่อยครั้งที่มีคนในชุมชนมักเกิดภาวะเจ็บป่วย และมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล หรือพบแพทย์ ซึ่งหากต้องการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท จะต้องเดินทางไปใช้สิทธิรับบริการ ที่สถานพยาบาลในระบบเท่านั้น ก่อให้เกิดความไม่สะดวก แม้ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปก็ตาม
"การติดตั้งตู้ห่วงใยในครั้งนี้ จะทำให้ชาวชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิบัตรทองฯ ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น จากนวัตกรรมบริการใหม่ ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าเดินทาง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวชุมชน" นายวิเชียร กล่าว