“…เมื่อมีการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง หากดำเนินการยื่นแบบปกติตามขั้นตอน เจ้าหน้าที่มักจะส่งไปติดต่อกับฝ่ายโยธา แล้วจะมีผู้ประสานงานติดต่อให้ที่เรียกกันว่า “หลงจู๊” จะเป็นผู้ที่จัดการจัดคิวรวมถึงผลประโยชน์ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากดำเนินการยื่นแบบก่อสร้าง จะมีการกำหนดอัตรา (rate) ไว้ …”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการพิจารณาส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน ก่อนนำเสนอ ครม. ต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบ 2 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต‘ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร-ขุดดินโดยมิชอบ’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการจัดทำ ‘มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร’ ดังกล่าว นอกจากการติดตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตในการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ยังได้รับข้อเท็จจริงจากการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์ผู้แทนสมาคม 4 แห่ง และหน่วยงานของรัฐ 1 แห่ง และพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ก่อนนำไปสู่การจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร สรุปได้ ดังนี้
@‘วิศวกรรมสถานฯ’ชี้ช่อง‘เจ้าหน้าที่’เรียกรับผลประโยชน์
1.สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักพบว่า กรณีการทุจริตในขั้นตอนยื่นแบบก่อสร้างฯ นั้น หากเป็นการยื่นแบบธรรมดา จะทำในลักษณะเป็นขบวนการ ทั้งนี้ เมื่อกรุงเทพมหานครกระจายอำนาจมาให้ ‘สำนักงานเขต’ แต่เนื่องจากในแต่ละเขตอาจมีวิศวกรไม่ครบ หากมีการยื่นแบบตรงไปตรงมา ก็อาจจะมีการเรียกรับผลประโยชน์ได้
ในเรื่องของสถาปัตย์ฯ เช่น ระยะร่น 2-3 เมตร ,การเปิดช่องหน้าต่าง และการต่อเติมในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องนั้น ในส่วนนี้ก็เป็นช่องว่างในการเรียกรับเงินได้ เช่น ทาวน์เฮ้าส์ กฎหมายกำหนดให้ต้องเว้นพื้นที่ด้านหลังทาวน์เฮ้าส์ตลอด 2 เมตร แต่เมื่อมีนายตรวจอาคารมาตรวจ และเห็นว่ามีการต่อเติมที่ผิดกฎหมาย ก็จะไปเรียกรับทรัพย์ได้
หรือกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ในพื้นที่ก่อสร้างอาคารจะต้องมีพื้นที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่า 30% นั้น ซึ่งตอนยื่นขออนุญาตฯและก่อสร้างในตอนแรกทำถูกต้องทั้งหมด แต่ต่อมามีการต่อเติมที่ผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจไปตรวจ เจ้าหน้าที่ก็จะอาศัยจังหวะนี้เรียกรับเงิน
-แนวทางและมาตรการในการป้องกันการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
กรณีที่กฎหมายกำหนดว่าบ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ด้านหลังต้องเว้นระยะตลอด 2 เมตร นั้น ควรแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดไปเลยว่า ให้เจ้าของโครงการสามารถก่อสร้างส่วนนี้ได้เลยตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเรียกรับเงินส่วนนี้ได้เมื่อประชาชนจะต่อเติมบ้าน
ส่วนมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับอาคาร ควรส่งเสริมให้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างฯ โดยใช้ความสามารถของวิศวกรและสถาปนิกที่มีคุณภาพดี เพื่อลดปัญหาในการยื่นขออนุญาตฯ รวมทั้งต้องสร้างจิตสำนึกของการไม่จ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ และดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต
การแก้ไขการทุจริต โดยการยื่นขออนุญาตผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้น ก็มีความเป็นไปได้ เช่น ที่ทำให้สิงคโปร์ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการแบ่งงานของเจ้าหน้าที่ฯ มาให้วิศวกรหรือองค์กรนอก (Out Source) เข้ามาดำเนินการตรวจสอบและรับรองการยื่นขอใบอนุญาตฯ เพื่อลดทอนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
ในกรณียื่นขออนุญาตตามปกติ หากเจ้าของอาคารต้องการสร้างอาคารให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว และเจ้าหน้าที่เองก็ต้องการเรียกรับเงิน หากถูกสั่งแก้ไขบ่อยครั้ง อาจจะทำให้การดำเนินธุรกิจล่าช้าหรือเสียผลประโยชน์ได้ จึงยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างได้รวดเร็ว กรณีเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดคู่ และดำเนินคดีให้จริงจัง
@เรียก‘รับเงิน’แลกใบอนุญาตฯทำเป็น‘ขบวนการ’-มี‘หลงจู๊’จัดคิว
2.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักพบว่า รูปแบบการทุจริตจะมีการดำเนินการเป็น ‘ขบวนการ’ โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขั้นตอน ‘การยื่นขออนุญาต’ ซึ่งจะมีการเรียกรับผลประโยชน์ก่อน เมื่อมีการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง แต่จะไม่สามารถตรวจพบหลักฐานได้ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานครหรือตามสำนักงานเขตต่างๆ
เมื่อดำเนินการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง หากดำเนินการยื่นแบบปกติตามขั้นตอน ‘เจ้าหน้าที่’ มักจะส่งไปติดต่อกับ ‘ฝ่ายโยธา’ แล้วจะมีคนประสานงานติดต่อให้ เรียกกันว่า ‘หลงจู๊’ ซึ่งจะเป็นผู้ที่จัดการจัดคิว รวมถึงผลประโยชน์ทั้งหมด แม้แต่การยื่นแบบก่อสร้างบ้าน ก็ไม่ได้รับการยกเว้น จะมีการกำหนดอัตรา (rate) ไว้
เช่น บ้านหลังแบบนี้ จะมีกำหนดราคาไว้แล้วว่า ‘จะต้องจ่ายเท่าไหร่’ หลังจากนั้นเงินก็จะไหลเข้าสู่กระบวนการจัดสรรปันส่วนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่ามีใครบ้าง
หากเป็นอาคารใหญ่ จะเสียเงินในส่วนนี้มากกว่าบ้านปกติ แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ และยังคงยื่นแบบตามปกติ ก็อาจจะติดขัด มีความพยายามดึงเรื่องหาเหตุ ทำให้ใบอนุญาตออก ‘ช้าถึงช้ามาก’ หากไม่เข้าระบบการเรียกรับเงิน แต่ถ้าเข้าระบบฯ จะมีการจัดการแบบฯที่ได้ยื่นไป หากมีการจ่ายเงิน ก็จะไม่พบปัญหาอะไร และได้รับใบอนุญาตในที่สุด
ทั้งนี้ ใบอนุญาตฯที่เข้า ‘ระบบการเรียกรับเงิน’ เมื่อนำไปก่อสร้าง ก็จะไม่มีปัญหาอะไรใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย หากเป็นกรณีที่อาคารต้องออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร หรือ อ.6 ก็จะไม่ค่อยมี สามารถเรียกได้ว่าจากต้นน้ำไปปลายน้ำตลอดสาย ‘ผ่านตลอด’
ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนมากจะยินดีจ่าย หรือไม่ก็อยู่ในภาวะ ‘จำต้องจ่าย’ เพื่อซื้อความสะดวก แต่ถ้าไม่เข้าระบบเรียกรับเงิน จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกฎหมายหรือเรื่องอื่นๆ ที่จะสามารถใช้ดุลยพินิจ เพื่อไม่ให้ได้รับความสะดวก
เมื่อมาถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ก็จะมี ‘นายตรวจอาคาร’ มาตรวจสอบ แม้ว่าในตรงส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ ‘นายตรวจอาคาร’ ที่จะต้องมาทำการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว เช่น เรื่องป้องกันวัสดุ ฝุ่นละออง เป็นต้น แต่จะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันมากระหว่างใบอนุญาตที่ ‘เข้าระบบเรียกรับเงิน’ กับ ‘ไม่เข้าระบบเรียกรับเงิน’
-แนวทางและมาตรการในการป้องกันการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
การลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันการทุจริตได้
อีกประเด็น คือ หากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างไปแล้ว แต่การก่อสร้างอาจจะไม่ตรงตามแบบแปลน ซึ่งในบางครั้งเจ้าหน้าที่เองก็รับทราบ หรือมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ก็จะมีการดำเนินการเสมือนว่า ได้มีการดำเนินการกับเจ้าของอาคารนั้นแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าแบบแปลนตามที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่เจ้าของอาคารไปสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเอง
ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร กรณีที่กฎหมายที่ออกไปแล้ว ไม่สอดคล้องกับหลักการปฏิบัติ ก็ต้องมีการแก้ไข และควรมีการปรับแก้ไขข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อเป็นการลดช่องว่างที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้
@‘เอกชน’ชี้ทำถูกต้องก็ยังต้องจ่าย-เฉลี่ย 16-22 จุดต่อโครงการ
3.สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักพบว่า ขั้นตอนการทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร มาจากโครงสร้างของระบบการขออนุญาตที่ได้กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการในขั้นตอนใด ถ้าไม่ได้รับ ‘การสนับสนุน’ จากผู้ขออนุญาต ก็จะไม่ได้รับการบริการจากหน่วยงาน จะติดขัดในข้อบังคับ ระเบียบ กฎหมาย
ในขั้นตอนของกฎหมายปกติ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายต่างๆที่เสียไป ไม่ว่าจะเป็นใต้โต๊ะหรือบนโต๊ะ สิ่งที่เสียไปนั้น ไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ประกอบการได้ จึงอยากเสนอการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือควรมีการปฏิรูปกฎหมายควบคุมอาคารทั้งระบบ
เนื่องจากกฎหมาย ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตและมีการแข็งขันสูง และเป็นช่องว่างของกฎหมายนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้กฎหมายในส่วนของที่ว่างหลังอาคารให้เจ้าของอาคารสามารถต่อเติมและประโยชน์ได้เต็มที่
ในการขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ผู้ประกอบการไม่ต้องการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากมีเงื่อนเวลาในการกำหนดดุลพินิจ ถ้าไม่จ่ายเงิน ต้องมีการปรับแก้ไขแบบแปลน ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการทางธุรกิจ จึงเป็นเหตุให้ผู้ยื่นขออนุญาตพร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับความเสียหายของโครงการ
ส่วนการยื่นแจ้งฯ ตามมาตรา 39 ทวิ นั้น จะไม่มีการลงรับเรื่อง เพื่อที่จะไม่ให้ระยะเวลาในการพิจารณา ‘เริ่มต้น’ และจะมีการแจ้งข้อทักท้วงให้แก้ไขแบบแปลน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทราบได้ว่า เรื่องที่ขออนุญาตฯจะทราบผลการดำเนินการเมื่อใด ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
“ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการแก้ไข มาตรา 39 ทวิ ในส่วนของวิศวกรผู้รับรองแบบแปลนแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2558 ก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องมาเข้ากระบวนการพิจารณาอนุญาตของเจ้าหน้าที่อยู่ดี ทำให้เกิดช่องทางการทุจริตเช่นเดิม”
ปัจจุบันการขออนุญาตต่อกรุงเทพมหานคร จะมีการกำหนดอัตรา (rate) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารฯหรือยื่นแจ้งฯ เริ่มต้นอยู่ที่ 5,000-8,000 บาทต่อหลัง หากเป็นโครงการจัดสรรก็จะคูณตามจำนวนหลังในแผนผังจัดสรร ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องยอมจ่าย เพื่อซื้อความสะดวกรวดเร็วในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากเงินลงทุนที่ได้มามีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน
แม้ผู้ประกอบการไม่ได้เต็มใจจะจ่ายให้ แต่ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้องยอมจ่าย เพื่อแลกกับการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าในธุรกิจบ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก หากใบอนุญาตออกช้า ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ หรือดำเนินการได้แต่ ก็ค่อนข้างที่จะมีอุปสรรคตามมาในภายหลัง ในลักษณะที่มีการตรวจสอบและถูกระงับการก่อสร้างฯ
กรณีการตรวจแบบแปลน หากมีการรับมาดำเนินการแก้ไขเอง ก็จะถูกแจ้งให้แก้ไขหลายครั้ง โดยจะใช้วิธีการแจ้งให้แก้ไขในแต่ละอย่างที่ละครั้ง ไม่ได้แจ้งให้แก้ไขในครั้งเดียวทั้งหมด แต่หากมีการจ่ายค่าแก้ไขแบบแปลนให้กับนายช่างโยธาที่รับผิดชอบ ก็จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และจะผ่านการอนุมัติได้ง่าย หรือในบางครั้งที่มีการแจ้งให้แก้ไขแต่พอให้ค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะได้รับอนุมัติทั้งที่เป็นแบบแปลนเดิม
การขออนุญาตสร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เช่นเดียวกัน ก่อนเริ่มโครงการจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น การรังวัด การขอเชื่อมต่อทางถนน การสร้างสะพานข้ามคลองสาธารณะ การขุดดินถมดิน การขอระบายน้ำทิ้ง การจัดเก็บขยะมูลฝอย เรื่องสิ่งแวดล้อม และไซด์ของคนงานก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งจะมีเอกสารหลักฐานประกอบการขออนุญาตมากมาย
หากผู้ประกอบการทำไม่ถูกต้องหรือแม้จะทำถูกต้อง ก็ยังต้องจ่าย เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกขั้นตอนภาคเอกชนมีอัตราค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอน โดยเฉลี่ยต่อโครงการภาคเอกชนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ประมาณ 16-22 จุดต่อโครงการ
-แนวทางและมาตรการในการป้องกันการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
การแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอาคาร ควรที่จะมีตัวแทนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเข้าร่วมเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในการพิจารณาด้วย
เช่น สมาคมผู้ประกอบการต่าง ๆ สภาหอการค้าไทย สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก เป็นต้น เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาให้รอบด้านก่อนออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันจะมีแต่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสนอเท่านั้น โดยมิได้มีการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน แต่ประการใด
นอกจากนี้ ควรที่จะให้มีองค์กรภาคเอกชน หรือ Out Source ทำการตรวจสอบและรับรองแบบแปลนได้เอง โดยที่เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องมาตรวจสอบ เนื่องจากมีการตรวจสอบโดยวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเกี่ยวกับอาคาร ซึ่งจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับแบบแปลนด้านโครงสร้างและความมั่นคงแข็งแรงของอาคารอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความล้าช้าในการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ มีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง และมีพฤติกรรมหน่วงเหนี่ยวจะแจ้งข้อทักท้วงให้แก้ไข เพื่อเรียกรับผลประโยชน์
ปัจจุบันค่าธรรมเนียมในการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารมีอัตราที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินใต้โต๊ะที่จ่ายให้แก่กลุ่มข้าราชการ ซึ่งราชการได้รับประโยชน์น้อยมาก จึงควรกำหนดค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น
โดยเอาเงินขึ้นมาบนโต๊ะและใช้จ่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลก็จะได้รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเข้าเป็นงบประมาณของประเทศมากขึ้น แล้วนำไปกำหนดเป็นเงินเพิ่มให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์อีก ซึ่งในส่วนของเอกชนยินดีที่จะจ่ายให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ทุกวันนี้ภาคเอกชนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่ถูกต้อง (บนโต๊ะ) ประมาณ 20% แต่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ประมาณ 80% เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้
@ยกเคสไม่จ่าย‘เจ้าหน้าที่’กว่าจะได้ใบอนุญาตฯใช้เวลา 1 ปี
4.สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักให้ข้อมูลว่า จากที่ได้รับฟังข้อมูลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ว่าด้วยการควบคุมอาคาร) ปรากฏว่า ปัญหาจะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ ‘คนกลุ่มเดียว’ ตั้งแต่การกำหนดแบบแปลน การพิจารณา การตรวจสอบ ซึ่งการอนุญาตรวมถึงกระบวนการต่างๆ
ในขณะที่ภาคเอกชนจะไม่กล้าที่จะมีปัญหากับหน่วยงานราชการ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะที่เบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว ทั้งนี้ ในการยื่นขออนุญาตฯ ก็ต้องไปดำเนินการใน ‘บางสิ่งบางอย่าง’ เพื่อให้มีการออกใบอนุญาตฯให้
และในขั้นตอนระหว่างการก่อสร้าง ก็มีการปฏิบัติในอีกขั้นตอนหนึ่ง ตลอดจนมีการก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็จะมีการปฏิบัติงานในลักษณะที่เอื้อประโยชน์และมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกัน
“ถ้ามีปัญหาก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ผู้ประกอบการจะเสียเวลาในการดำเนินการทางธุรกิจ จึงต้องมีการยอมจ่ายเงิน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น มีพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานหนึ่ง มีผู้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม ยื่นอย่างไรก็ไม่ผ่าน
โดยผู้รับเหมาได้บอกไปว่า ให้ไปคุยกับทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ยื่นขออนุญาตฯแจ้งว่า ไม่ไปคุย เพราะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง แต่ปรากฏว่า กว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะเห็นได้ว่าที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะอำนาจในการดำเนินการอยู่ที่กลุ่มบุคคลเดียวกันทั้งหมด”
ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างการขออนุญาตก่อสร้างที่สิงคโปร์ จะมีการตั้งผู้ตรวจสอบอาคารจากภายนอกที่เป็น Third parties หรือ Out Source เข้ามาดำเนินการแทน ซึ่งผู้ประกอบการจะไม่สามารถทราบได้เลยว่า บุคคลที่จะมาตรวจสอบอาคารเป็นใคร โดยจะมาในของรูปคณะทำงานฯ ทำให้การพิจารณาและละการตรวจสอบ มิใช่อยู่ในกลุ่มบุคคลเดียวกัน
-แนวทางและมาตรการในการป้องกันการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตฯ ควรที่จะส่งเรื่องไปให้องค์กรอื่น ในการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรวมอำนาจหน้าที่อยู่ในจุดเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานอีกด้วย
@ชี้‘ดุลพินิจ’เป็นช่องทางในการทำมาหากินของ‘เจ้าหน้าที่เขต’
5.สมาคมอาคารชุดไทย
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักพบว่า การขอใบอนุญาตฯ มีช่องว่างในการตีความของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีระยะเวลาในการออกใบอนุญาต ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น โดยการยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่
อีกกรณีในเรื่องของทางหรือถนนว่าเป็นสาธารณประโยชน์หรือไม่ ในการขออนุญาตสร้างคอนโดมิเนียมต้องติดทางสาธารณะ เนื่องจากมีประปา ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ ซึ่งปกติจะไปทำในที่ของเอกชนไม่ได้ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อพิพากษาให้เป็นทางสาธารณะ ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะมีคำพิพากษา
แต่เมื่อมีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เขตว่า สามารถช่วยเหลือในประเด็นนี้ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า สามารถช่วยได้แต่จะมีการต้องจ่ายเงิน ผู้ประกอบการจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตอบหนังสือตามความเป็นจริง มิใช่จ่ายเงินให้เพื่อให้ตอบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนจะต้องมีการระบุให้ชัดเจนในรายละเอียดของซอยว่า แต่ละซอยมีความกว้างของถนนเท่าไร เพื่อจะได้ลดการจ่ายเงินในการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่
ส่วนเรื่องประเด็นขอเชื่อมทาง ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจมาก และจะกำหนดค่าใช้จ่ายอย่างไร ผู้ประกอบก็ต้องจ่าย ซึ่งจากกรณีของโครงการฯ ขอเชื่อมทางกับเจ้าหน้าที่เขตได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เขตว่ายังไม่อนุญาตจะต้องเข้ามาพูดคุยก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องการตีความตามกฎหมาย
“การใช้ดุลพินิจ เป็นช่องทางในการทำมาหากินของเจ้าหน้าที่เขต เช่น กรณีโครงการฯตั้งอยู่ระหว่างทาง 2 สาย จะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องระมัดระวังด้วยเกรงว่าจะทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ผลก็คือเป็นการเรียกเพื่อตกลงว่าจะเชื่อมแบบไหนและเป็นที่มาของตัวเงิน
หากมีการกำหนดไว้ชัดเจน ก็จะลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างมาก เพราะผู้ประกอบการมีการลงทุนไปแล้ว อย่างไรก็ต้องทำให้โครงการฯ เกิดให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากมายมีการแข็งขันทางธุรกิจสูง”
ในขั้นตอนก่อนออกใบอนุญาต การยื่นเอกสารต้องกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากไม่มีขั้นตอนของการรับเรื่องไว้ดำเนินการ แต่จะเป็นวิธีการ ‘ยื่นแล้วยื่นอีก’ และมีการสั่งให้แก้ไข เพื่อต้องการเรียกให้ผู้ประกอบการเข้าไปพบ แต่หากยืนยันว่าจะยื่นก็จะมีการแจ้งข้อทักท้วงมากมายหลายประการ
กรณีนี้จึงควรที่จะมีมาตรการเรื่องของการรับเรื่องว่าจะต้องรับเรื่อง หากไม่รับเรื่องก็ต้องบอกว่าสาเหตุที่ไม่รับเรื่องเพราะอะไร และหากมีการรับเรื่องแล้วก็จะแจ้งข้อทักท้วงหลายครั้ง ไม่แจ้งในคราวเดียวกัน เพื่อที่จะได้แก้ไขในครั้งเดียว และใช้เวลานานหลายเดือน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีผลกระทบในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก จนทำให้ผู้ประกอบการต้องยอมจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่
แต่หากมีการตกลงจ่ายเงินกันตั้งแต่ยื่นขออนุญาตฯ ก็จะได้รับใบอนุญาตที่รวดเร็ว ในระหว่างการก่อสร้าง ก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่มารบกวน รวมถึงการขอออกใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ก็จะได้รับความสะดวกไม่เกิดปัญหาอะไร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะต้องประกอบธุรกิจในเขตพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว จึงไม่อยากที่จะมีปัญหากับเจ้าหน้าที่
-แนวทางและมาตรการในการป้องกันการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ในขั้นตอนการพิจารณาขออนุญาตควรให้องค์กรนอก หรือ Out Source เป็นผู้ดำเนินการแทน และควรที่จะมีการแก้กฎหมาย เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ ไม่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง กลัวมวลชน กลัวนักข่าว ทำให้ประชาชนมากล่าวอ้างเพื่อตบทรัพย์จากผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐจะต้องออกมาตัดสินในสิ่งที่ถูกต้องแต่กลับเพิกเฉย เป็นต้น
@สรุป 7 รูปแบบเสี่ยงทุจริตขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สรุปปัญหาที่ค้นพบ ดังนี้
รูปแบบการทุจริตจะมีการดำเนินการเป็นขบวนการโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนการยื่นขออนุญาต ซึ่งจะมีการเรียกรับผลประโยชน์ก่อน แต่จะไม่สามารถตรวจพบหลักฐานได้
ในขั้นตอนออกใบอนุญาตฯ ที่มีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่รับเรื่องการยื่นขออนุญาต หรือรับเรื่องล่าช้า เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการเรียกรับเงินเพื่อให้ดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วตามที่ควรจะเป็น โดยเจ้าหน้าที่ไม่ลงทะเบียนรับเรื่อง และแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้มายื่นคำร้องแก้ไขรายการแบบแปลน ตลอดจนเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อเรียกรับผลประโยชน์
รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต โดยปฏิบัติตามความพึงพอใจของตน ซึ่งผู้บังคับบัญชามิได้กวดขันและลงโทษกรณีดังกล่างอย่างสม่ำเสมอ เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์ขอออกใบอนุญาตไม่ได้รับความเป็นธรรม และในภาวะที่ค่าต้นทุนการก่อสร้างแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่สามารถทำการเริ่มก่อสร้างได้ เพราะถูกกลั่นแกล้งไม่ออกใบอนุญาตในเวลาอันสมควรหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่ผู้ขอออกใบอนุญาตเป็นอย่างมาก
“เมื่อมีการยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง หากดำเนินการยื่นแบบปกติตามขั้นตอน เจ้าหน้าที่มักจะส่งไปติดต่อกับฝ่ายโยธา แล้วจะมีผู้ประสานงานติดต่อให้ที่เรียกกันว่า “หลงจู๊” จะเป็นผู้ที่จัดการจัดคิวรวมถึงผลประโยชน์ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากดำเนินการยื่นแบบก่อสร้าง จะมีการกำหนดอัตรา (rate) ไว้
ยกตัวอย่างเช่น โครงการแต่ละแบบจะมีกำหนดไว้ว่าจะเรียกรับผลประโยชน์เป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นเงินก็จะไหลเข้าสู่กระบวนการจัดสรรปันส่วนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งไม่อาจทราบได้ว่ามีใครบ้าง หากเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่ก็จะถูกเรียกรับผลประโยชน์เยอะกว่าโครงการขนาดเล็ก
แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้และยังคงยื่นแบบตามปกติก็อาจจะติดขัด มีความพยายามดึงเรื่องหาเหตุทำให้ใบอนุญาตออกช้าถึงช้ามากหากไม่เข้าระบบของเขา แต่ถ้าเข้าระบบการเรียกรับเงินก็จะมีการจัดการแบบที่ได้ยื่นไป ซึ่งหากถ้ามีการจ่ายเงิน ก็จะไม่พบปัญหาอะไรและได้รับใบอนุญาตในที่สุด”
โดยสามารถแบ่งรูปแบบความเสี่ยงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ได้ดังนี้
1.การใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
2.การตรวจเอกสารไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคำขอแต่มีการรับเรื่องไว้
3.การพิจารณาตรวจสอบและเสนอความเห็นของการอนุมัติ อนุญาต ไม่ดำเนินการตามลำดับคำขอ
4.การเก็บเรื่องไว้ไม่แจ้งผู้ประกอบการเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
5.เจ้าหน้าที่ของรัฐสมยอม หรือมีส่วนรู้เห็นกับบุคคลหรือนิติบุคคลในการดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้าง การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
6.การพิจารณาอนุมัติ อนุญาต อาจมีคณะกรรมการบางท่านเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขออนุญาตบางรายที่คุณสมบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์
7.ผลประโยชน์ทับซ้อน รับจ้างเขียนแบบแปลน และตรวจเอง (ถึงแม้ราชการจะให้มีแบบมาตรฐาน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนก็ตาม แต่การขออนุญาตต้องมีผังประกอบ จึงต้องว่าจ้างผู้ตรวจ หรือผู้อนุมัติ อนุญาต จะได้ผ่านง่าย)
เหล่านี้เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. ค้นพบเกี่ยวกับรูปแบบความเสี่ยงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตฯ พร้อมทั้งจัดทำเป็นข้อเสนอ ‘มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร’ ก่อนที่ ‘ป.ป.ช.’ จะมีมติเห็นชอบ และนำเสนอให้ ครม.!
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบ 2 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต‘ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร-ขุดดินโดยมิชอบ’