ครม.รับทราบ 2 ข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ป้องกันทุจริต ‘ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร-ขุดดินโดยมิชอบ’ มอบ ‘มหาดไทย’ เป็น 'เจ้าภาพ' หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปข้อพิจารณาเสนอ 'สลค.' ภายใน 30 วัน
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ครม. มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และมอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการพิจารณาส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ประกอบด้วย 5 ข้อ ได้แก่
1.เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งรัดในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ และการขอใบรับรองการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดแผนและระยะเวลาเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้าง หรืออาคารออนไลน์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้ อปท. และ อปท. รูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารออนไลน์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตออนไลน์ เพื่อตรวจสอบถึงสถานะของการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารของหน่วยงานได้ เพื่อเป็นการลดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง จะทำให้การดำเนินการอนุญาตเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้มาติดต่อ และลดการใช้ดุลพินิจ การทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.กระทรวงมหาดไทย (มท.) ควรพัฒนาระบบ One Stop Service โดยการเชื่อมโยงการอนุมัติ อนุญาต ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน รวมถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงาน
โดยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานของข้อมูล คุณภาพของข้อมูล ความสะดวก ในการนำไปใช้ต่อขอผู้ใช้งานข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐเปิดเผยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
3.ควรใช้กลไกการตรวจสอบโดยเอกชน (Third Party Inspector) เข้ามามีบทบาทร่วมตรวจแบบแปลนและการก่อสร้างทั้งในขั้นตอนก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง เช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตยังคงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบความปลอดภัยอาคารมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายตรวจเอกชนให้รัดกุม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายตรวจเอกชนเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้การพิจารณารวดเร็ว ลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ได้ รวมถึงแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพออีกด้วย
4.ควรจัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประชาชนที่ขอใบอนุญาตดังกล่าว โดยเป็นคู่มือเกี่ยวกับรายละเอียดการพิจารณาอาคาร หรือดัดแปลงอาคารแต่ละประเภท พร้อมทั้งจัดทำในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ รวมถึงการมีรายการตรวจสอบ (Checklist) ที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต และควรจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน
5.ควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ.2553
@ครม.รับทราบมาตรการป้องกันทุจริต‘ขุดดิน-ถมดิน’
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน และเสนอ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้ มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายของ ป.ป.ช. ประกอบด้วย 6 ข้อ ได้แก่
1.การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน โดย (1) ควรปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้การควบคุม ดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้น โดยให้กำหนดถึงแนวทางในการขนย้ายดินหลังจากที่มีการขุดดินและถมดินด้วย
(2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติ อนุญาตในการขุดดินและถมดิน ทำความตกลงเพื่อลดขั้นตอนในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาต มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ร่วมกันพิจารณาออกกฎระเบียบการใช้หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นกฎระเบียบร่วม พร้อมทั้งให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต
(3) ควรร่วมกันจัดทำแผนที่แสดงเขตพื้นที่ที่สามารถขออนุญาตขุดดินและถมดินได้โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เพื่อป้องกันมิให้เกิดการให้ใบอนุญาตในพื้นที่ห้ามขุดดิน และ (4) ควรมีการวิเคราะห์ว่าในแต่ละสภาพพื้นที่สามารถขุดดินและถมดินได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบจากการขุดดินและถมดิน และแนวทางในการฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม
2.การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตชุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลงและจัดทำคู่มือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
3.การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน การบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแลตามภารกิจ หน้าที่ และอำนาจ
โดย (1) ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมีชอบในการออกเอกสารสิทธิ ในที่ดิน และควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมายและมีระบบป้องกันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด
(2) ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ (3) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการชุดดินและถมดิน
4.ปัญหาการขาดความโปร่งใส่ในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลของตนเองสร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการชุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูล โดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสมซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วยและต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน
5.ปัญหาในภาพรวมที่มีความเกี่ยวกับหลายหน่วยหน่วยงาน การลักลอบชุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน การชุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัยการบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดทำให้ถนนเกิดความชำรุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบำรุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังเป็นรายกรณี
6.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้ มท. รายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการฯ เสนอ ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย