“…เจ้าหน้าที่มีความเกรงกลัวหรือเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบ่อดินลูกรัง ซึ่งมักเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เช่น นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงหลีกเลี่ยงการเข้าไปตรวจสอบ ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด…”
..........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน และเสนอ ครม.ต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบ 2 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต‘ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร-ขุดดินโดยมิชอบ’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘ที่มา’ และ ‘ข้อพิจารณา’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนจะมีข้อเสนอ ‘มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ ไปยัง ครม. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@อำนาจออก‘ใบอนุญาตฯ’ซ้ำซ้อน-เปิดช่อง‘จนท.’หาประโยชน์
ความเป็นมา
ตามที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับการขุดดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี อาทิ การลักลอบขุดหน้าดินขายในพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
และข่าวในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศพบว่า มีการลักลอบขุดหน้าดินโดยไม่ได้แจ้งขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือใบอนุญาตหมดอายุ ซึ่งกระทบต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมที่รัฐควรได้ มีการขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการเกินกว่าที่ขออนุญาต หรือจำนวนแรงม้าของเครื่องยนต์ไม่ได้เป็นไปตามขนาดที่ขออนุญาต ส่งผลทำให้พื้นที่ที่ดินบริเวณข้างเคียงเกิดการทรุดตัวและพังทลายได้รับความเสียหาย
และมีการบรรทุกดินน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนหนทางชํารุดเสียหาย ซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบํารุง รวมถึงการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้พิจารณาการให้ใบอนุญาตขุดดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เข้าไปตรวจสอบควบคุมการประกอบกิจการขุดดินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ประกอบกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตสำหรับ ขุด ตัก ลอก หรือดูดทรายหรือดิน ที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 63/2567 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 ให้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อ ครม. ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญวาด้วยการปองกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ข้อพิจารณา
1.การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมายกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน
1.1 ปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตสำหรับขุดดิน มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่
รวมถึงหน่วยงานรัฐที่กฎหมายมอบอำนาจให้รับผิดชอบพื้นที่เฉพาะ เช่น กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นตน ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎระเบียบของหน่วยงานตนเอง และดำเนินการเฉพาะส่วนของตนเอง ทำให้มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดินหลายฉบับ
การกำกับติดตามการให้อนุญาตขุดดินและถมดินมีความแตกต่างกันไป ส่งผลให้ต้องใช้ใบอนุญาตหลายฉบับและมีกระบวนการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลานานเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์ เพื่ออํานวยความสะดวกและเร่งรัดการอนุญาต รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ในการกำกับดูแล ควบคุมตรวจสอบการดำเนินการขุดดินและถมดิน
ในปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายที่ดินแหงชาติ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการตรา แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
รวมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกัน ตามมาตรา 10 (6) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแหงชาติ พ.ศ.2562 จึงอาจใช้กลไกของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
1.2 การขุดดินและถมดินดำเนินการตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 ซึ่งบัญญัติถึงการขุดดินและถมดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และความปลอดภัยของประชาชน แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นถึงการควบคุมการกำกับดูแลการขุดดินและถมดินที่มีประสิทธิภาพ
จากขอเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า กฎระเบียบที่เกี่ยวของกับการขุดดินและถมดินมีหลายฉบับ และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงเห็นควรบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุม กำกับดูแลการขุดดินและ ถมดินให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน จึงเห็นควรดำเนินการ โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้การควบคุมดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้น
@‘จังหวัด’ดำเนินการ‘ไม่ถูกต้อง-ครบถ้วน’ตามระเบียบฯ‘มท.’
2.การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด
ปัญหาที่พบ คือ จังหวัดยังดำเนินการไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งมีประเด็นปัญหา ดังนี้
2.1 หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย เช่น อำเภอ ท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสอบสวนประวัติความเป็นมาไม่ชัดเจน และไม่เป็นที่ยุติว่า ปัจจุบันประชาชนได้เลิกใช้ประโยชน์ที่ดินหรือยังคงใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่
2.2 ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า การเลิกใช้เป็นการเลิกใช้โดยสิ้นสภาพตามธรรมชาติหรือเป็นการเลิกใช้ เพราะถูกขัดขวางการใช้ประโยชน์
2.3 หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นบางท้องที่ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาต เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางพื้นที่ อนุญาตให้เอกชนหรือหน่วยงานราชการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยไม่ได้ยื่นขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน
2.4 การดำเนินการอนุญาตขุดดินลูกรังในที่รกร้างว่างเปล่า ภายใต้มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พบปัญหาการพิสูจน์ว่า สถานะที่ดินนั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผนดินซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุญาต หรือเป็นที่ดินที่ประชาชนอาจถือสิทธิครอบครอง ในกรณีนี้ตามกฎหมายกำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้ดูแลที่ดิน เว้นแต่รัฐมนตรีจะมอบหมายทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ดูแล
ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร จังหวัด เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารสวนตำบลเป็นผู้ดูแลรักษา ซึ่งบริเวณที่ไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองเฉพาะบริเวณที่เปนที่หิน ที่กรวด หรือที่ทราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศหวงห้ามไว้
แต่ไม่รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่าที่บุคคลอาจถือสิทธิครอบครองได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งที่เขาหรือภูเขา หากรัฐไม่ได้สงวนไว้หรือจัดให้ประชาชนใช้ประโยชนร่วมกัน ย่อมเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่บุคคลอาจถือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพงและพาณิชยได้
2.5 จังหวัดยังดำเนินการไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ได้แก่ ความเห็นของประชาชนในพื้นที่และหรือความเห็นของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ชัดเจนว่า ขัดข้องหรือเห็นชอบการขออนุญาตฯ
2.6 การขุดลอกคลองในความรับผิดชอบของอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าในบางพื้นที่มีความเข้าใจว่า เป็นอำนาจการพิจารณาของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนทองถิ่น
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวของทำความตกลงและจัดทำคู่มือในการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด
@ชี้ 3 อุปสรรค‘เจ้าหน้าที่รัฐ’บังคับใช้กม.‘ขุดดิน’ไม่มีประสิทธิภาพ
3.การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแล ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
3.1 เจ้าหน้าที่มีความเกรงกลัวหรือเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบ่อดินลูกรัง ซึ่งมักเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เช่น นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงหลีกเลี่ยงการเข้าไปตรวจสอบ ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด
การตรวจสอบแต่ละครั้งต้องมีการสนธิกําลัง เพื่อเข้าตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน อาทิ กองทัพ ตำรวจท้องที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
3.2 การขาดแคลนบุคลากรที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และงบประมาณสำหรับใช้ในการตรวจสอบการขุดดินให้ทั่วถึง สม่ำเสมอว่า การดำเนินการขุดดินตรงตามเงื่อนไขหรือแบบแปลนที่ยื่นขออนุญาตหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีระบบการตรวจสอบ และกำกับดูแลการขุดดินและถมดิน ให้เป็นไปตามการขออนุญาต บางหน่วยงานไม่มีการกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการปฏิบัติ เมื่อเกิดการร้องเรียนร้องทุกข์ขึ้น บางหน่วยงานกำหนดไว้อย่างกว้างๆ ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตยตกหรือในระหว่างเวลาทำการเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแล ตามภารกิจหน้าที่และอำนาจ เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
1) ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีระบบป้องกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด
2) ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และ 3) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดลอมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการขุดดินและถมดิน
@สร้างกลไกจูงใจ‘ประชาชน’แจ้งเบาะ‘ขุดดิน’โดยไม่ชอบด้วยกม.
4.ปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรดำเนินการ ดังนี้
ในการขุดดิน ซึ่งมีความที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและพิทักษ์รักษาที่ดินของรัฐ อันหมายถึงที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินทุกประเภท เช่น ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สงวนหวงห้าม ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบปัญหาการลักลอบขุดดิน การแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ช่วยในการสอดส่องดูแล จะต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจงเบาะแสด้วย
ดังนั้น ปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนควรดำเนินการ ดังนี้
ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ความดูแลของตนเอง สร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการขุดดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจง โดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสม ซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์
และรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วย และจะต้องมีกลไกในการคุมครองประชาชนผู้แจงเบาะแสด้วยเช่นกัน
5.ปัญหาในภาพรวมที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
5.1 การลักลอบขุดดิน ได้แก่ 1) การลักลอบขุดหน้าดินขายในพื้นที่ ส.ป.ก. และ 2) การลักลอบขุดหน้าดินโดยไม่ได้แจงขออนุญาตอย่างถูกต้อง
5.2 การออกใบอนุญาต ได้แก่ 1) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ 2) การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ
5.3 การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ
5.4 การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต
5.5 การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน
5.6 การขุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัย
5.7 การบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนเกิดความชํารุดเสียหาย ซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบํารุงเส้นทาง
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
การลักลอบขุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน การขุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัย
การบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนเกิดความชํารุดเสียหาย ซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบํารุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังเป็นรายกรณี
@‘ป.ป.ช.’ชง 6 มาตรการป้องกันทุจริตขุดดินฯ-ให้‘มท.’รายงานทุกปี
ข้อเสนอ
จากขอเท็จจริง สภาพปัญหา พบว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดินมีหลายฉบับ ส่งผลให้การกำกับติดตามการให้อนุญาตขุดดินและถมดิน มีความแตกต่างกันไป ส่งผลให้ต้องใช้ใบอนุญาตหลายฉบับ
และมีกระบวนการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลานาน เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์เพื่ออํานวยความสะดวกและเร่งรัดการอนุญาต รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ในการกำกับดูแล การควบคุมตรวจสอบการดำเนินการขุดดินและถมดิน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรเสนอมาตรการปองกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.การแก้ไขประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน
1.1 ควรปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินและถมดิน เพื่อให้การควบคุม ดูแลการขุดดินและถมดินมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการทุจริตได้มากยิ่งขึ้น โดยในกฎหมายดังกล่าว ให้กำหนดถึงแนวทางในการขนย้ายดินหลังจากที่มีการขุดดินและถมดินด้วย
1.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวของในการอนุมัติ อนุญาตในการขุดดินและถมดิน ทำความตกลง เพื่อลดขั้นตอนในการขออนุมัติ อนุญาต ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาต มีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น ร่วมกันพิจารณาออกกฎระเบียบการใช้หน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตเป็นกฎระเบียบรวม พร้อมทั้งให้นําวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้การอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต
1.3 ควรร่วมกันจัดทำแผนที่แสดงเขตพื้นที่ที่สามารถขออนุญาตขุดดินและถมดินได้ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS เพื่อป้องกันมิให้เกิดการให้ใบอนุญาตในพื้นที่ห้ามขุดดิน
1.4 ควรมีการวิเคราะห์ว่าในแต่ละสภาพพื้นที่สามารถขุดดินและถมดินได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบจากการขุดดินและถมดิน และแนวทางในการฟื้นฟูสภาพดินและสิ่งแวดล้อม
2.การแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตในการดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งสำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลง
และจัดทำคู่มือในการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตขุดดินลูกรังในที่เขาหรือภูเขาและพื้นที่นอกเขตเขาและปริมณฑลรอบเขา 40 เมตร การแก้ไขปัญหาการอนุญาตดูดทราย และการขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้ง สำหรับแม่น้ำภายในเขตจังหวัด
3.การแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลการดำเนินการขุดดินและถมดิน การบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัดหรือมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม ดูแล ตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่
3.1 ต้องมีมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และควรมีการสร้างระบบของการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำถูกต้องตามกฎหมาย และมีระบบป้องกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำความผิด
3.2 ต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้อย่างเพียงพอ มีการกำหนดระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
3.3 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแหงชาติ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดลอมเกี่ยวกับการขุดดินและถมดิน
4.ปัญหาการขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลของตนเอง สร้างกลไกในการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องสร้างระบบการแจ้งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งข้อมูล
โดยจัดให้มีช่องทางที่เหมาะสม ซึ่งอาจใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือเครือขายสังคมออนไลน์ และรายงานผลการดำเนินการภายหลังได้รับการแจ้งเบาะแสให้ประชาชนผู้แจ้งเบาะแสรับทราบด้วย และต้องมีกลไกในการคุ้มครองประชาชนผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน
5.ปัญหาในภาพรวมที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การลักลอบขุดดิน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการขุดดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การขุดดินขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุ การขุดดินผิดไปจากแบบแปลนตามหลักวิชาการ การขุดดินเกินกว่าที่ขออนุญาต การขุดดินในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินเอกชน
การขุดดินที่กระทบถึงความปลอดภัย การบรรทุกดินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนเกิดความชํารุดเสียหายซึ่งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจำนวนมากในการซ่อมบํารุงเส้นทาง การแก้ไขปัญหาในข้อนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังเป็นรายกรณี
6.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเสนอตอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย
เหล่านี้เป็นข้อเสนอ ‘มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการขุดดินและถมดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ ที่ ป.ป.ช. เสนอให้ ครม. รับทราบ และต้องติดตามว่า ‘กระทรวงมหาดไทย’ จะรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ไปดำเนินการมากน้อยเพียงใด?
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบ 2 ข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’ป้องกันทุจริต‘ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร-ขุดดินโดยมิชอบ’