"...มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 7 สัญญา โดยมี พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวละครสำคัญ ขณะที่ข้อมูลสำคัญที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน คือ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป..."
คดีทุจริตการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาล ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 3 สำนวน และส่งสำนวนการไต่สวน พยานหลักฐาน ให้อัยการสูงสูด (อสส.) ยื่นเรื่องฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฏหมายไปแล้ว
ในตอนก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 2 สำนวนแรก มานำเสนอไปแล้ว คือ
1. สำนวนแรก กรณีกล่าวหา นางพรทิวา นาคาศัย หรือนางสาวพรทิวา นิพาริน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ มานำเสนอไปแล้ว โดย นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ พ้นข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มข้าราชการ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และยังปรากฏชื่อ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ด้วย (มีข้อมูลไม่เป็นทางการว่า นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ กำนันตุ้ย สามีนางบุญยิ่ง ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ก็อาจจะถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ด้วย)
2. สำนวนสอง กรณีกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตในการระบายมันสำปะหลังเส้น ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 โดยการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 3 สัญญา ซึ่งผลการชี้มูลความผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นางพรทิวา นาคาศัย ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย ถูกชี้มูลความผิดเป็นสำนวนที่ 2
- เบื้องลึก! มติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริตระบายมันฯจีทูจี 'บุญยิ่ง' สส.พปชร.โดนด้วย -ลูกสาวรอด
- ไม่ได้ทำอะไรผิด! กำนันตุ้ย แจง 'บุญยิ่ง' ถูกชี้มูลคดีมันฯ ไปสู้ในศาลว่าตามข้อเท็จจริง
- จริงหรือ? 'กำนันตุ้ย-บุญยิ่ง'โดนชี้มูลคู่ 'ผัว-เมีย' ถูกยื่นฟ้องคดีมันฯ-เจ้าตัวให้ไปถามศาล
- สำนวนที่ 2 ล้วงมติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีระบายมันฯจีทูจี 'มนัส' โดนเดี่ยว 'ไตรรงค์-พรทิวา' รอด
คราวนี้ มาดูรายละเอียดมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องกรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 7 สัญญา โดยมี พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวละครสำคัญ
ขณะที่ข้อมูลสำคัญที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน คือ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้อกล่าวหา
คดีนี้ ป.ป.ช.ระบุข้อกล่าวหาเป็นทางการว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 7 สัญญา
พฤติการณ์
ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ได้ให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และมีมติว่าการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดย G ของประเทศผู้ซื้อให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ
แต่ปรากฏว่าแผนการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันสำปะหลังเส้นและแป้งมันสำปะหลัง) ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2554/55 ที่นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการยกร่าง โดยนำแผนการระบายข้าวมาใช้เป็นแนวทาง ได้กำหนดเจรจาขายแบบ รัฐต่อรัฐ (G to G) โดย G ของประเทศผู้ซื้อให้หมายถึง รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ และรัฐวิสาหกิจของประเทศผู้ซื้อ และอาจพิจารณาขายในราคามิตรภาพ
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังดังกล่าว หลังจากนั้น นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการเจรจา กับบริษัทรัฐวิสาหากิจจีนผู้ยื่นข้อเสนอ และได้เสนอสรุปผลการเจรจาต่อรองผ่านพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง พิจารณาให้ ความเห็นชอบ
จนกระทั่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศในนามของรัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง กับ บริษัท Hainan Province Grain and Oil Trading Company ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 บริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ตามสัญญาเลขที่ 2/2555 และ 3/2555 และบริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company ตามสัญญาเลขที่ 4/2555 ในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2555/2556
คณะรัฐมนตรีได้ให้ ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การระบายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 โดยกำหนดให้มีการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เช่นเดียวกัน
นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการเจรจากับบริษัทรัฐวิสาหากิจจีนผู้ยื่นข้อเสนอ และได้เสนอสรุปผลการเจรจาต่อรอง ผ่านพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง พิจารณาให้ความเห็นชอบ จนกระทั่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศในนามของรัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง กับบริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation ตามสัญญาเลขที่ 1/2556 และ 2/2556 และบริษัท Hainan Province Grain and Oil Trading Company ตามสัญญาเลขที่ 3/2556
โดยปรากฏว่า การทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐทั้ง 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท นั้น เป็นการทำสัญญากับบริษัทซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ได้รับมอบหมายหรือได้รับมอบ อำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส บี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด ได้รับอำนาจให้ดำเนินการแทนรัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าว และราคาที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายเป็นการขายต่ำกว่าราคาขายเป็นการทั่วไป
ต่อมาเมื่อมีการมอบอำนาจให้ชำระเงินและรับมอบมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแล้ว พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายคณิต วาสิกานนท์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานสินค้านำเข้า ส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ กับพวก ได้นำมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามสัญญาซื้อขายทั้ง 7 สัญญา ไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้ามันสำปะหลังในประเทศในราคาท้องตลาด ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคา ซื้อขายตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
มีมูลค่าความเสียหายคำณวณตามราคาขาย ณ หน้าโกดังสินค้า โดยอ้างอิงเกณฑ์การขายเป็นการทั่วไปในวันที่ ผู้มีอำนาจเห็นชอบให้ขายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 38,270,908,100 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนแล้ว มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ มีมูลความผิด ทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
2. การกระทำของนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีมูลความผิดทาง อาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 มาตรา 12 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
3. การกระทำของนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จากการไต่สวนไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ากระทำการอันมีมูลความผิดในทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญา ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
4. การกระทำของนายคณิต วาสิกานนท์ มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123 และมาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 และ มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัย อย่างร้ายแรง
5. การกระทำของบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส บี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด แล้วแต่กรณี
6. การกระทำของนายสุมนต์ เสรีธรณกุล นายสิรินทร์ เสรีธรณกุล นายสราวุธ เสรีธรณกุล นายชู หมิง คิน นายสรัญ เสรีธรณกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา นางสาวสุธิดา จันทะเอหรือสุทธิดา ผลดี บริษัท ไทเกอร์ดิสทริบิวชั่นแอนด์โลจิสติคส์ จำกัด นายบุญเกียรติ โชควัฒนา นายวิเชียร กันตถาวร นางสาวสุรีย์รัตน์ ปิยะอารีธรรม นางกอบสุข แสงสวัสดิ์ นายวิทยา จีระผานุกร นายธรรมรัตน์โชควัฒนา นายเวทิต โชควัฒนา นางสาวปัทมา มหาพรหม นายไพโรจน์ หิรัญวงศ์สว่าง นายดีเชง ดิง นายจรัล พูลสวัสดิ์ นายธราพงษ์ ตั้งนุศาสน์ บริษัท ยิ่งวัฒนาทาปิโอก้า จำกัด นางรัชนี วีระกุล นางจุไรรัตน์ วีระกุล บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ นายชัยวัฒน์นิ้มวัฒนา นายพรชัย โตนิติวงศ์ นายวิชัย บุญธนาพิบูลย์ นางกุลภัทรา ปรีชา นายสมศักดิ์ พงศ์มณีรัตน์ นางสาวพรลภัส วรรณจักร นายชาญวิทย์ มงคลวัฒนา นางสาววิไลลักษณ์ ปิติพรสัมฤทธิ์ นางสาวรุ่งรวี สง่าเขียว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ปรากฏ พยานหลักฐานเพียงพอว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
โดยให้กันบริษัท ส.(ตัวย่อ) นาย จ. และพันตำรวจโท ธ. ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง
สำหรับบริษัท Hainan Province Grain and Oil Trading Company บริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation บริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company และ กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบริษัทและบุคคลที่มิได้มีภูมิลำเนาและไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และอยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งคำสั่งและแจ้งข้อกล่าวหา หากรอดำเนินการจะทำให้การไต่สวนล่าช้า จึงให้แยกออกเป็นเลขเรื่องกล่าวหาใหม่และเลขคดีใหม่ เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไป
ส่วนการดำเนินการทางอาญา ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76
การดำเนินการทางวินัย ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยัง ผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 การดำเนินการอื่น ๆ ให้แจ้งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย
******
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ปัจจุบันรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ จากคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 42 ปี นอกจากนี้ ศาลปกครองกลาง ยังมีคำพิพากษาให้นายบุญทรง กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รวมเกือบ 15,000 ล้านบาท เฉพาะค่าเสียหายที่นายบุญทรง ต้องชดใช้อยู่ที่ตัวเลข 1,768 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 72 ปี แต่โทษจำคุกสูงสุดได้ไม่เกิน 50 ปี และยังถูกศาลฯ พิพากษายึดทรัพย์สินมูลค่า 896,554,760.28 บาท พร้อมดอกผล เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนี
ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นั้น ก่อนหน้านี้ ถูกไต่สวนคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ด้วย แต่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ว่าไม่มีความผิดให้พ้นข้อกล่าวหา โดยในส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหตุผลที่ตีตกข้อกล่าวหา เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำกับคดีระบายข้าวจีทูจีที่ถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่วนนายทักษิณ และ นางเยาวภา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคำให้การของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่มีการกันตัวไว้เป็นพยาน ให้การกล่าวพาดพิงถึงนายทักษิณ และ นางเยาวภา ไม่ได้เป็นประโยชน์ ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่ได้พาดพิงว่าใครทำผิดอะไร และเป็นพยานที่เคยถูกลงโทษแต่มากลับคำให้การภายหลัง
ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย ถูกชี้มูลความผิดคดีระบายมันฯ เป็นสำนวนที่ 3
อย่างไรด็ การชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นอันสิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด