"...นายมนัส สร้อยพลอย ได้เข้ายืนยันความถูกต้องในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จำหน่ายมันสำปะหลังเส้นแบบรัฐต่อรัฐ และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำสัญญากับบริษัท JiangsuLight Industrail Product Import & Export (Group) Corporation และบริษัท High Hope Int’l Group Jiangsu Native Produce Imp & Exp. Corp. Ltd. รวม 3 สัญญา..."
คดีทุจริตการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาล ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา และส่งสำนวนการไต่สวน พยานหลักฐาน ให้อัยการสูงสูด (อสส.) ยื่นเรื่องฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฏหมายไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดสำนวนคดีแรก กรณีกล่าวหา นางพรทิวา นาคาศัย หรือนางสาวพรทิวา นิพาริน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ มานำเสนอไปแล้ว โดย นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ พ้นข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มข้าราชการ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และยังปรากฏชื่อ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ด้วย
- เบื้องลึก! มติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทุจริตระบายมันฯจีทูจี 'บุญยิ่ง' สส.พปชร.โดนด้วย -ลูกสาวรอด
- ไม่ได้ทำอะไรผิด! กำนันตุ้ย แจง 'บุญยิ่ง' ถูกชี้มูลคดีมันฯ ไปสู้ในศาลว่าตามข้อเท็จจริง
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดสำนวนคดีสอง กล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตในการระบายมันสำปะหลังเส้น ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 โดยการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 3 สัญญา ซึ่งผลการชี้มูลความผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นางพรทิวา นาคาศัย ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย ถูกชี้มูลความผิดเป็นสำนวนที่ 2
ทำไม นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นางพรทิวา นาคาศัย ถึงรอดพ้นข้อกล่าวหา นายมนัส สร้อยพลอย ถึงถูกชี้มูลความผิด ปรากฏรายละเอียดนับจากบรรทัดต่อไปนี้
ในสำนวนการไต่สวน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์คดีนี้ ว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2552 คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังได้เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2551/2552 โดยวิธีเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดย G ของประเทศผู้ซื้อให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้แทนในการเจรจาต่อรองราคากับผู้แทนรัฐบาลจากต่างประเทศ นายมนัส สร้อยพลอย อฺธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและประธานคณะทำงานดำเนินการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายและให้จำหน่ายมันสำปะหลังเส้นแบบรัฐต่อรัฐ และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นประธาน
นายมนัส สร้อยพลอย ได้เข้ายืนยันความถูกต้องในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จำหน่ายมันสำปะหลังเส้นแบบรัฐต่อรัฐ และนายมนัส สร้อยพลอย อฺธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำสัญญากับบริษัท JiangsuLight Industrail Product Import & Export (Group) Corporation และบริษัท High Hope Int’l Group Jiangsu Native Produce Imp & Exp. Corp. Ltd. รวม 3 สัญญา
โดยที่รัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าวไม่ได้รับมอบหมายหรือรับมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการเจรจาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าว และบริษัท ที เอช แค็ปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการรับมอบมันสำปะหลังเส้นออกจากคลังสินค้า เข้าเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และได้มันสำปะหลังเส้นในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตนในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนแล้ว มีมติเห็นชอบดังนี้
1. การกระทำของนายมนัส สร้อยพลอย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 7 ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้
2. การกระทำของบริษัท ที เอช แค็ปปิตอล จำกัด กรรมการบริษัท และผู้จัดการโรงงานของบริษัท มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ได้ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานนี้
3. การกระทำของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นางพรทิวา นาคาศัย หรือนางสาวพรทิวา นิพาริน นางสาววรัญญา ตั้งติพงศ์กูล หรือนางวรัญญา นฤนาทวาณิช นางสาวบุญชรัสมิ์ ตั้งติพงศ์กูล Mr. TANG SIULUI และนายพงษ์ศิริ ต้นสูง จากการไต่สวน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
4. ให้จำหน่ายคดีนายสมชาย ไพรสณฑรางกูร ออกจากสารบบ เนื่องจากได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)
สำหรับบริษัท Jiangsu Light Industrial Products Import & Export (Group) Corporation บริษัท High Hope Int’l Group Jiangsu Native Produce Imp & Exp. Corp. Ltd. และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นบุคคลที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะมีการจัดจ้างแปลเอกสารภาษาต่างประเทศ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาผ่านอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 จึงให้แยกออกเลขเรื่องกล่าวหาใหม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไป
@ การดำเนินการ
สำหรับการดำเนินการทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
ส่วนการดำเนินการทางวินัย ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98
ขณะที่การดำเนินการอื่น ๆ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดสำนวนคดีระบายมันสำปะหลัง กรณีกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก ทุจริตในการระบายมันสำปะหลังเส้น ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 โดยการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 3 สัญญา ซึ่งผลการชี้มูลความผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นางพรทิวา นาคาศัย ส่วนนายมนัส สร้อยพลอย ถูกชี้มูลความผิดเป็นสำนวนที่ 2 ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยเป็นทางการมาก่อน
ทั้งนี้ คดีทุจริตการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาล ยังมีอีก 1 สำนวน กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จำนวน 7 สัญญา โดยมี พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวละครสำคัญ
รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป