"...พฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกเรียกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจงใจของผู้ถูกร้องว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่การปฏิรูป..."
"คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีมูล จึงมีมติสั่งไต่สวน 44 สส. ส่วนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน และจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม"
คือ คำชี้แจงของ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติสั่งไต่สวนคดี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่ปรากฏต่อสาธารณชนไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปในการสอบสวนคดีของ ป.ป.ช. เพิ่มเติมดังนี้
หนึ่ง.
คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่องไว้ไต่สวนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566
สอง.
การรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 51 ที่ระบุว่า ในการไต่สวนเรื่องใดที่เป็นเรื่องสําคัญมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการไต่สวนเอง หรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่น เป็นคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
มีกรรมการ ป.ป.ช. 2 ราย รวมเป็นคณะกรรมการไต่สวน คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ , นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ
สาม.
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กับพวก 43 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐาน หมิ่นประมาท)
ข้อกล่าวหาเป็นทางการ คือ กระทำการอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 กรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐาน หมิ่นประมาท)
ทั้งที่ทราบดีว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจมีกรณีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ได้แจ้งถึงข้อบกพร่องดังกล่าวให้ผู้ถูกร้องทราบแล้ว แต่ผู้ถูกร้องกับพวกก็ยังยืนยืนยันจะเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอีก ย่อมแสดงให้เห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะอันอาจจะนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มีผลกระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ผลสอบเบื้องต้น
ในผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ที่นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวน ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา เป็นกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ......(แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการดำเนินการ ตามรายละเอียดดังนี้
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลกับคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท)
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุมได้ตรวจสอบพบว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อบกพร่อง จึงได้ทำบันทึกข้อความ ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อแจ้งข้อบกพร่องให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทราบ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอถอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขข้อความที่ขาด และซ้ำซ้อน และจะกลับมานำเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
วันที่ 25 มีนาคม 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีหนังสือพรรคก้าวไกลถึงผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม สรุปความได้ว่ามาตรา 135/7 และมาตราตรา 135/8 ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) นั้น มิได้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 แต่อย่างใด
ในวันเดียวกันผู้ถูกร้องกับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .....
มาตรา 4 ให้ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
"ลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา 135/5 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 135/6 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6
มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย นาม หรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุสำนักพระราชวังเป็นคู่กรณีหรือคู่ความ" ...
พร้อมด้วยบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสมาชิกเสนอมาถูกต้อง ตามมาตรา 133 (2) ของรัฐธรรมนูญ และบันทึกหลักการและเหตุผล (การเสนอครั้งนี้ เป็นการเสนอครั้งที่ 2 เนื่องจากการเสนอครั้งแรกได้ขอถอนการเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 256564)
วันที่ 7 เมษายน 2564 กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม ได้มีบันทึกแจ้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.ศ.....(แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 มีข้อบกพร่อง (ในรูปแบบ) คือ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ในลำดับที่ 2 - ลำดับที่ 44 รวมจำนวน 5 หน้า ไม่ปรากฏข้อความแจ้งชัดว่ามีความประสงค์จะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับใด จึงเห็นควรแก้โขโดยขอให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้เสนอลำดับที่ 1 เติมข้อความชื่อร่างพระราชบัญญัติทั้ง 5 หน้า ให้ตรงกับความเป็นจริงว่าผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติในลำดับที่ 2 - ลำดับที่ 44 มีความประสงค์จะร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับใด พร้อมลงนามกำกับรับรับรองให้ครบทั้ง 5 หน้า ซึ่งต่อมานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว
วันที่ 8 เมษายน 2564 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ข้อความในมาตรา135/7 และ มาตรา 135/8 (ร่างมาตรา 6) เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" เนื่องจากมาตรา 135/7 และ มาตรา 135/8 ใช้บังคับมิได้ในส่วนเกี่ยวกับการยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยหากมาตรา 135/7 และ มาตรา 135/8 มีผลเป็นบังคับเป็นกฎหมายจะส่งผลให้การติชม การแสดงความคิดเห็น การแสดงข้อความและการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หากเป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นปะมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรรมนูญ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นจะไม่มีความผิดหรือหากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จึงเป็นบทบัญญัติที่ทำให้พระมหากษัตริย์อาจไม่ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะหรืออาจถูกละเมิดได้
โดยกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม จึงได้บันทึกเสนอความเห็นเพื่อเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) มีข้อบกพร่อง (ในเนื้อหา)
กล่าวคือ มาตรา 135/7 และมาตรา 135/8 (ร่างมาตรา 6) เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ซึ่งควรแก้โขโดยควรตัดข้อความ ในมาตรา 135/7 ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 135/5 ออก และเพิ่มข้อความใน มาตรา 135/8 โดยระบุว่า "ความผิดฐานในลักษณะนี้ ยกเว้น มาตรา135/5 ถ้าผู้ถูกกล่าวหา..." และต้องตัดและเพิ่มข้อความที่มี ความสัมพันธ์กับ 2 มาตรานี้ออก ซึ่งได้แก่ข้อความใน หลักการ เหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ จึงเห็นควรแจ้งผู้เสนอทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผู้เสนอที่ลงชื่อเดิมไว้ทุกคนร่วมลงชื่อ แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อไป ตามข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2466 ข้อ 111 และ ข้อ 112
วันที่ 21 เมษายน 2564 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งปฏิบัติหน้าที่ แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยว่า "แจ้งผู้เสนอแก้ไขข้อบกพร่องของร่างพระราชบัญญัติตามข้อบังคับฯ ข้อ 111 ประกอบข้อ 112" (เนื่องจากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มอบหมายให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับญัตติและกระทู้ถาม)
วันที่ 23 เมษายน 2564 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/5853 ลงวันที่ 23 เมษายน 2564 แจ้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า "..ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาว่า ข้อความในมาตรา 135/7 และ มาตรา 135/8 (ร่างมาตรา 6) อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้"
ถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อบกพร่องจึงควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตราดังกล่าว โดยให้ผู้เสนอที่ลงชื่อไว้เดิมทุกคนร่วมลงชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติด้วย ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2462 ข้อ 111 และข้อ 122"
วันที่ 23 เมษายน 2564 - วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่สำนักงานฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรไป เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ไม่ปรากฏว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กับคณะ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เพื่อจะดำเนินการต่อคำวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือดำเนินการต่อร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ฉบับนี้แต่อย่างใด
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พรรคก้าวไกลได้ประกาศข้อค วามผ่านทาง facebook เพจพรรคก้าวไกล Move Forward Party เกี่ยวกับ "จุดยืนพรรคก้าวไกลต่อกฎหมายอาญา มาตรา 112" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท)
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มีหนังสือพรรคก้าวไกล ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เรียน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สรุปความได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับคณะขอยืนยันความเห็นว่า ข้อความในมาตรา 135/7 และมาตรา 135/8 ตามร่างพระราชบัญญัติแก่ไขเพิ่มเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) มิได้เป็นข้อความที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2460 มาตรา 6 และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์กับคณะ ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการยื่นร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
หากข้อความในร่างพระราชบัญญัตินี้มีปัญหาประการใด ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา อภิปราย และตรวจสอบตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม ได้บันทึกเสนอความเห็นเพื่อเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมินประมาท)
โดยเสนอออกเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 เห็นว่าควรดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมฯ และอนุญาตบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และแนวทางที่ 2 เห็นว่าควรชะลอการดำเนินการต่อไปจนกว่าผู้เสนอจะได้แก้ไขข้อบกพร่องของร่างพระราชบัญญัติ หรือพิจารณาสั่งไม่อนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมีดำริให้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสนอความเห็นโดยด่วน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 สำนักการประชุมได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอความเห็นโดยด่วน ตามดำริของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมเรื่องนี้ในครั้งที่ 1
วันที่ 1 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมเรื่องนี้ในครั้งที่ 2
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การดำเนินการกรณีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ให้แก่สำนักการประชุมซึ่งคณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องอีก 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยนำมาตรา 112 ออกจากภาค 2 ความผิดลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แก้ไขเป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
คณะกรรมการฯ เห็นว่า อาจเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธธรรมนูญ ที่ 28 - 29/2555 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธธธรรมนูญที่ 19/2564
ประเด็นที่สอง กรณีการลดโทษ การยกเว้นความผิด และการยกเว้นโทษ สำหรับการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
คณะกรรมการฯ เห็นว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่อาจไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธธรรมนูญที่ 28 - 29/2555
ประเด็นที่สาม กรณีให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รวมทั้งให้เป็นคู่กรณีหรือคู่ความในความผิดดังกล่าว
คณะกรรมการฯ เห็นว่า อาจไม่สอดคล้องกับเหตุผลการตราพระราชบัญญัติและบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
ประเด็นที่สี่ กรณีกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
คณะกรรมการฯ เห็นว่า อาจไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 - 29/2555 และหลักกฎหมายของความผิดอันยอมความได้ ตามบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. พ.ศ. ... (อายุความ) เรื่องเสร็จที่ 115/2553 ซึ่งได้อธิบายว่า "ความผิดอันยอมความได้ คือ ความผิดต่อส่วนตัวหรือคดีอาญาที่ก่อความเสียหายต่อเอกชนคนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัวซึ่งห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามมาตรา 121 วรรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การที่จะทราบว่าความผิดใดยอมความได้ต้องดูว่าความผิดฐานนั้น มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือไม่ ถ้ามีบัญญัติไว้ย่อมเป็นความผิดอาญาส่วนตัวเจ้าพนักงานสอบสวนฟ้องร้องได้ต้องมีผู้ร้องทุกข์และสามารถถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกัน จะมีผลทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ" โดยคณะกรรมการฯ มีมติเห็นควรให้สำนักการประชุมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 - 29/2555 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ได้บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ หลักการตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งให้ความคุ้มครองแก่สถาบันพระมหากษัตริย์
โดยกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนประกอบกับเพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม ได้บันทึกเสนอ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโปรดทราบความเห็นของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และโปรดพิจารณาเห็นชอบให้แจ้งผู้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ตามมติของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ตามข้อบังคับฯ ข้อ 111 และข้อ 112 และเพื่อโปรดพิจารณาเห็นชอบให้ชะลอการรับฟังความคิดเห็นเพื่อรอผลการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก่อน หรือประทานดำริเป็นอย่างอื่น
วันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งการ ดังนี้
- เห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ
-ให้แจ้งผู้เสนอให้แก้ไขข้อบกพร้องตามข้อบังคับฯ ข้อ 111 และ 112
- ร่วมกันกับผู้เสนอหาทางแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้จัดประชุมร่วมกันแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ โดยให้ประชุมกันระหว่างผู้เสนอกับเจ้าหน้าที่สำนักการประชุมและสำนักฝ่ายกฎหมาย เพื่อให้การเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้รับการแก้ไขและดำเนินการต่อไป (ถ้าผู้เสนอยังมีความประสงค์ที่จะดำเนินการต่อ)
วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/13994 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2564 แจ้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า "...ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาว่า ประเด็นที่หนึ่ง กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยนำมาตรา 112 ออกจากภาค 2 ความผิด ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราขอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แก้ไขเป็นลักษณะ 1/2 ความผิด เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประเด็นที่สอง กรณีการลดโทษ การยกเว้นความผิด และการยกเว้นโทษ สำหรับการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประเด็นที่สาม กรณีให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมทั้งให้เป็นคู่กรณีหรือคู่ความในความผิดดังกล่าว
และประเด็นที่สี่ กรณีกำหนดให้ ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ อาจเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ที่ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 - 29/2555 คำวินิจฉัยศาลรัฐธธธรรญที่ 15/2564 และเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติและบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อบกพร่อง จึงควรแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยให้ผู้เสนอที่ลงชื่อไว้เดิมทุกคนร่วมลงชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติด้วย ตามข้อบังคับการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ขอ 111 และขอ 112"
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิบไตย การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผู้ถูกร้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของบุคคลถึงกับล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นเห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความจริง ซึ่งปรากฎข้อเท็จจริงประจักษ์ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องมีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องมีส่วนจุดประกายการปราศรัยปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมืองทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักการความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้อง เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา
ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกเรียกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจงใจของผู้ถูกร้องว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่การปฏิรูป
ปัจจุบัน ( ณ 21 กันยายน 2565) ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามดำริของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สำนักงานฯ แจ้งผู้เสนอให้แก้ไขข้อบกพร่องตามข้อบังคับฯ ข้อ 111 และ 112 (ได้แจ้งผู้เสนอทราบแล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564)
ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงยังไม่ได้รับการอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ตามข้อบังคับฯ ข้อ 110 วรรคสี่
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย
********
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปในการสอบสวนคดี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีอ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงเวลา 24 ม.ค. 2564-31 ม.ค.2567 เป็นเวลา 10 ปี กรณีหาเสียงว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ในช่วงปี 2566 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลงมติเป็นเอกฉันทน์ได้ให้เหตุผลว่าการหาเสียงเพื่อแก้ไขมาตรา 112 นั้นเป็นการล้มล้างการปกครองไปแล้ว
บทสรุปสุดท้ายการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. เป็นกรณีกระทำการอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีบทลงโทษรุนแรง นักการเมืองหลายราย ถูกตัดสิทธิห้ามดำรงตำแหน่งทางการการเมืองตลอดชีวิต รวมไปถึงห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ไปแล้ว จะออกมาเป็นอย่างไร
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
สำหรับ สส.ทั้ง 44 คน พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ประกอบด้วย
1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี
5.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
6.นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
7.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
9.นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
10.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.
11.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.
12.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
13.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก
14.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
15.นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
16.นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
17.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
18.นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม.
19.น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
20.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม
21.นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
22.นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
23.นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม.
24.นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.สมุทรสาคร
25.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา
26.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี
27.นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
28.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
29.นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
30.นายองค์การ ชัยบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
32.นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
33.นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด
34.นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
35.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
36.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
37.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
38.นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิส.ส.บัญชีรายชื่อ
39.นายทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
40.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
41.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุลส.ส.บัญชีรายชื่อ
42.นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ
43.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
44.นายสุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- มติเอกฉันท์! ศาล รธน.ยุบก้าวไกลหาเสียงแก้ ม.112 ตัดสิทธิการเมือง 'พิธา-พวก' 10 ปี
- เช็กรายชื่อ กก.บริหารก้าวไกล ใครบ้าง? ถูกเพิกถอนสิทธิ 10 ปี คดียุบพรรค