ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนสถานะพร้อมความเป็นผู้นำให้พรรคก้าวไกล และนําประเทศไทยกลับสู่รูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ และเคารพต่อความต้องการของคนไทยหลายล้านคนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหีบบัตรเลือกตั้ง สภาคองเกรสสหรัฐฯ จะประเมินต่อไปว่าเหตุการณ์ล่าสุดในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และไทยอย่างไร
จากเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112 พร้อมทั้งตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงเวลา 24 ม.ค. 2564-31 ม.ค.2567 ด้วยเหตุผลสำคัญว่าในประเด็นแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้นอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในอนาคต
หลังจากมีคำวินิจฉัยออกมา ก็มีให้ความเห็นสะท้อนผลคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว ไม่ใช่จากในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในต่างประเทศทั่วโลกด้วย
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้ประมวลความเห็นจากต่างประเทศ จากฟากฝั่งตะวันตกว่าสะท้อนอย่างไรบ้าง ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกล มีรายละเอียดดังนี้
เริ่มกันที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากมีคำวินิจฉัยออกมาไม่นาน สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกรณีการยุบพรรคก้าวไกลในประเทศไทย ระบุว่า
สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน
คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วถึงเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันระดับชาติที่เข้มแข็ง สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศของประเทศออสเตรเลียก็ได้ออกแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกันระบุว่า ออสเตรเลียรับทราบคําตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ให้ยุบพรรคก้าวไกลและสั่งแบนทางการเมืองกับสมาชิกผู้บริหารทั้งในปัจจุบันและอดีตจำนวน 11 คน
ออสเตรเลียเชื่อว่าการไม่แบ่งแยก ความเป็นพหุนิยม และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักการประชาธิปไตยที่สําคัญ และหลักการเหล่านี้ไม่ได้ถูกไม่ได้บังคับใช้ด้วยการยุบพรรคก้าวไกล
ประชาชนไทยสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 อย่างท่วมท้นด้วยอัตราการลงคะแนนเสียงเป็นประวัติการณ์ร้อยละ 75.22 พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 14 ล้านเสียง
ในฐานะเพื่อนสนิทและพันธมิตร ออสเตรเลียสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ครอบคลุมซึ่งสะท้อนเจตจํานงของประชาชน
ส่วนกระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ระบุว่านิวซีแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคําตัดสินเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่สั่งยุบพรรคก้าวไกลและห้ามผู้นําเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง
นิวซีแลนด์สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิประชาธิปไตยทั่วโลกและสิทธิสําหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกอย่างอิสระว่าพวกเขาต้องการเป็นตัวแทนของใครในรัฐสภา
นิวซีแลนด์เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาไทย พรรคฝ่ายค้านมีบทบาทสําคัญในระบอบประชาธิปไตยได้โดยเป็นตัวแทนของผู้คนที่ลงคะแนนให้พวกเขาในการเลือกตั้ง
ทางด้านสหภาพยุโรปหรืออียูได้กล่าวถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็น "ความพ่ายแพ้ของความเป็นพหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทย" โดยตั้งข้อสังเกตว่าพรรคก้าวไกลได้อันดับหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ด้วยคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงจาก 39 ล้านเสียง
"ไม่มีระบบประชาธิปไตยใดสามารถทํางานได้หากไม่มีพรรคและผู้สมัครหลายพรรค" แถลงการณ์จากทีมสื่อมวลชน European External Action Service ของอียูกล่าวและกล่าวต่อไปว่า
"ข้อจํากัดใด ๆ เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง"
แถลงการณ์อียูทิ้งท้ายว่า EU พร้อมที่จะขยายการมีส่วนร่วมกับไทย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามในปี 2565 ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่างๆ รวมถึง "พหุนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน"
ขณะที่นักการเมืองสหรัฐฯ อย่างนายเบ็น คาร์ดิน สว.จากรัฐแมรีแลนด์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภากล่าวตอนหนึ่งว่าการยุบพรรคก้าวไกลทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนสถานะพร้อมความเป็นผู้นำให้พรรคก้าวไกล และนําประเทศไทยกลับสู่รูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ และเคารพต่อความต้องการของคนไทยหลายล้านคนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหีบบัตรเลือกตั้ง สภาคองเกรสสหรัฐฯ จะประเมินต่อไปว่าเหตุการณ์ล่าสุดในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และไทยอย่างไร
ส่วนนางแอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทวีตผ่านทวิตเตอร์ตอนหนึ่งระบุว่าคําตัดสินดังกล่าวเน้นย้ำถึงการเพิกเฉยต่อภาระผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยโดยสิ้นเชิง
การยุบพรรคเพียงเพราะสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิการสมาคมอย่างร้ายแรงต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย
ประเทศไทยได้ให้คํามั่นสัญญาต่อสาธารณชนในการเป็นผู้นําระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชนโดยยื่นขอนั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การคุกคามฝ่ายค้านทางการเมืองอย่างไม่หยุดยั้งแสดงให้เห็นว่าความมุ่งมั่นที่ระบุไว้ของพวกเขาไม่สามารถไว้วางใจได้
ทางการไทยต้องยกเลิกการยุบพรรคอย่างเร่งด่วน และหยุดใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อข่มขู่และคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน