การที่ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองสําหรับประเทศไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเปิดกว้างสําหรับประเทศหรือกลุ่มใหญ่ทั้งหมดในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์โดยไม่ถูกมองข้ามจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับแนวทางโดยรวมของอาเซียน
หนึ่งในข่าวที่ทำให้นานาชาติให้ความสนใจประเทศไทย คงหนีไม่พ้นข่าวที่คณะรัฐมนตรีของไทยเห็นชอบร่างใบสมัครในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อันประกอบด้วยชาติกำลังพัฒนา ได้แก่ บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ และล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้ยื่นหนังสืออย่างป็นทางการกับ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ประธาน BRICS ในปัจจุบัน ในการแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาได้ออกบทวิเคราะห์ว่าการเข้าร่วมของไทยนั้นดูจะเป็นความพยายามในหาประโยชน์เชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ประเทศไทยนั้นแสดงความปรารถนาที่จะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่าการที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียนเข้าร่วมกับ BRICS ประโยชน์ที่ไทยจะได้น่าจะมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์มากกว่าประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆรวมถึงประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วางแผนที่จะเดินหน้ายื่นใบสมัครในระหว่างการประชุมสุดยอด BRICS ซึ่งมีกําหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย
@ระเบียบโลกใหม่
ที่ผ่านมา นายชัย วัชรงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยออกมาให้ข่าวว่าประเทศไทยคาดหวังว่าการเป็นสมาชิกจะเพิ่มการมีส่วนร่วมในนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและ “สร้างระเบียบโลกใหม่”
แต่ทางด้านของนางมิฮาเอลา ปาป้า อาจารย์ที่วิทยาลัยเฟลตเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออฟอเมริกาว่าการเข้าร่วม BRICS แน่นอนว่าหมายถึงการเปิดรับวาระนโยบายและอิทธิพลของจีนและรัสเซียมากขึ้น
ขณะที่นายสุมยา โบว์มิค สมาชิกอาวุโสที่มูลนิธิวิจัยผู้สังเกตการณ์ (Observer Research Foundation)โกลกาตา, อินเดีย กล่าวว่าการที่ไทยมีความมุ่งมั่นในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ย่อมเป็นการสนับสนุนจีนและรัสเซียในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ด้วยการเข้าร่วม BRICS ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในอิทธิพลร่วมกันของกลุ่มในนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนและรัสเซียในภูมิภาค” นายโบว์มิคกล่าว
สำหรับประวัติของกลุ่ม BRICS นั้นถูกก่อตั้งร่วมกันโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ในปี 2549 และต่อมาปี 2553 กลุ่มนี้ก็ได้รวมเอาประเทศแอฟริกาใต้เข้าไปด้วย พอมาถึงต้นปี 2567 ก็มีรายงานว่าประเทศอย่างอิหร่าน,อียิปต์,เอธิโอเปียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้เข้าไปเป็นสมาชิก
มีการวิเคราะห์ว่าเหตุผลเนื่องมาจากการคว่ำบาตรของตะวันตก ทำให้กลุ่มนี้พยายามพัฒนาทางเลือกให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก ผ่านโครงการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ โครงการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่หรือ New Development Bank และข้อตกลง Contingent Reserve Arrangementหรือ CRA เป็นต้น
ข่าวว่ากลุ่ม BRICS จะใช้ค่าเงินของตัวเองเพื่อลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงวิดีโอจาก APMEX)
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่นั้นจะเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ เงินให้กู้ยืมและตราสารทุนในกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งธนาคารนี้จะมีลักษณะคล้ายกับธนาคารโลกที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐฯ ซึ่งให้ความช่วยเหลือกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ในขณะเดียวกัน CRA เป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารกลาง BRICS สําหรับการสนับสนุนซึ่งกันและกันในช่วงวิกฤตค่าเงินอย่างกะทันหัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิก กลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประสิทธิภาพของกลุ่ม BRICS
นายโบว์มิคกล่าวว่าในขณะที่ "BRICS มีความก้าวหน้าอย่างมากในพลวัตทางการค้า แต่ความหลากหลายในหมู่สมาชิก BRICS ทำให้เกิดความท้าทายในการปรับผลประโยชน์ให้สอดคล้องกันและบรรลุฉันทามติ การไม่มีข้อตกลงการค้าและการลงทุนอย่างเป็นทางการ ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของกลุ่มนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
"การเข้าร่วม BRICS ในขั้นตอนนี้หมายถึงการเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มใหญ่ที่ไม่เป็นทางการซึ่งทําหน้าที่เป็นกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการออกแบบของกลุ่ม การรวมกันของสมาชิกขนาดใหญ่ การหมุนเวียนตําแหน่งประธานของแต่ละประเทศ และการตัดสินใจตามฉันทามติ ทั้งหมดนี้จึงทำให้ประเทศในกลุ่ม BRICS ไม่ได้รับความสนใจมากนัก” นายโบว์มิคกล่าว
ข่าวว่า 59 ประเทศอาจตัดสินใจร่วมBRICS ในเดือน ต.ค.นี้ (อ้างอิงวิดีโอจาก We love Africa)
สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อยู่แล้ว โดยข้อตกลง RCEP นั้นเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่มีความครอบคลุมไปถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอีก 11 ประเทศในเอเชีย
จากข้อมูลของนายฮุง ทราน (Hung Tran) สมาชิกอาวุโสไม่ถาวร ในสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) การเข้าร่วม BRICS อาจไม่นำผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเป็นรูปธรรมมาสู่ตัวเอง หรือว่ามาสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกเสียจากว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
นายทรานกล่าวว่าประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิก RCEP อยู่แล้ว และการที่เป็นสมาชิกก็ทำให้ไทยเพิ่มการค้ากับประเทศอื่นๆในเอเชีย นับแต่ที่มีการจัดตั้งกลุ่มในปี 2565 ปริมาณการค้าของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2566 โดยจีนได้รวมตําแหน่งเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทย คิดเป็น 20% ของการค้าทั้งหมด
นายทรานกล่าวอีกว่ากลุ่มต่างๆที่ไทยเข้าไปมีบทบาท เช่น APEC และ IPEF ทั้งหมดก็ได้แรงบันดาลใจมาจากทางประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
“การที่ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองสําหรับประเทศไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเปิดกว้างสําหรับประเทศหรือกลุ่มใหญ่ทั้งหมดในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์โดยไม่ถูกมองข้ามจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับแนวทางโดยรวมของอาเซียน” นายทรานกล่าว
@เน้นพหุภาคีนิยม
ตามเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลไทยระบุว่า ประเทศไทย "ให้ความสําคัญกับความเป็นพหุภาคีนิยมและการเป็นตัวแทนของประเทศกําลังพัฒนาในระบบระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ BRICS"
นางปาป้ากล่าวว่าการเดินหน้าสมัคร BRICS ของไทยในปัจจุบันเป็นเพียงการเริ่มต้นการพูดคุย และจะชัดเจนขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดเดือนตุลาคมว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS อย่างไร
“ประเทศไทยมีเวลาศึกษาว่ากลุ่ม BRICS เสนออะไร และเหมาะสมกับการพัฒนาหรือไม่" นางปาป้ากล่าวและกล่าวต่อไปว่า "ที่ผ่านมา หลังจากได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม ประเทศอาร์เจนตินาก็เปลี่ยนใจ และซาอุดิอาระเบียได้ชะลอการตัดสินใจการเข้ากลุ่ม”
ทางด้านของนางเอริจิกา ปันกาจ ผู้อํานวยการองค์การเพื่อการวิจัยจีนและเอเชียในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า การที่ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ไม่น่าจะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตัดสินใจตามๆกันไป
“ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจได้รับแรงบันดาลใจ แต่จะยังคงเดินหน้าอย่างระมัดระวังท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน” นางปันกาจกล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://www.voanews.com/a/experts-thailand-s-bid-to-join-brics-is-mostly-symbolic-/7655219.html