“…แค่ศาลนำชื่อ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ไปนำเสนอข่าวของศาลคดีทุจริตประพฤติมิชอบ คำมันพ่วงกันก็สามารถทำให้สังคมสรุปได้ว่า กสทช. ท่านนี้ประพฤติมิชอบหรือไม่ เป็นต้น ด้วยความที่กสทช.มีเพียง 4-5 คน หลังจากที่มีการฟ้องไปแล้ว พอจะมีการพิจารณาเรื่องอะไรก็ตามเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายนี้ ก็จะมีหนังสือไปถึงสำนักงาน กสทช.ว่าไม่สามารถพิจารณาใช้อำนาจไม่ได้ เพราะมีคู่ขัดแย้งอยู่ ขาดความเป็นกลาง ตามกฎหมายของทางราชการ เป็นต้น…”
“กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลปกป้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ของประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่บางครั้งกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างผลกระทบที่ทำให้ผู้คนเกิดความกลัว เป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า SLAPP หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation ที่มักจะถูกนำมาใช้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมาย หรือการฟ้องคดี เพื่อจะปิดปากหรือทำให้เกิดความกลัวในการออกมาเรียกร้องเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามเวลาที่มีการฟ้องคดีในลักษณะข้างต้น บางทีอาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบุคคลที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่ตอนนี้ยังเห็นว่ามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในคดีอาญาเช่นเดียวกัน” นี่เป็นใจความส่วนหนึ่งที่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้กล่าวเปิดงานเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ในประเด็น 'เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา' เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวงานเสวนาครั้งนี้ไปแล้วโดยสังเขป โดยนำเสนอข้อเสนอที่น่าสนใจของ ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอว่า ในคดีอาญาแผ่นดินผู้เสียหายที่เป็นเอกชนไม่ควรมีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สามารถเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ โดยมีกลไกการตรวจสอบอำนาจในการฟ้องของอัยการ
อย่างไรก็ดีการเสวนาข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า ‘เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องกลั่นแกล้งในสังคมไทย มีลักษณะเป็นอย่างไร มีทางออกหรือแก้ไขปัญหาข้างต้นหรือไม่?’
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงและนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ เริ่มที่สถิติคดีของศาลปกครอง
เนื่องจากศาลปกครองมีหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทที่เกิดระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ opend-playground/admincourt.gdcatalog.go.th ระบุว่า สถิติคดีปกครอง ตามประเภทคดี ปี 2567 ศาลปกครองชั้นต้น มีคดีปกครองเป็นคดีใหม่ จำนวน 128,973 คดี และศาลปกครองสูงสุด มีคดีปกครองใหม่ จำนวน 48,405 คดี (ดูภาพประกอบ) ซึ่งใบบรรดาจำนวนคดีข้างต้นก็อนุมานได้ว่าคงมีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อกลั่นแกล้งรวมอยู่ด้วย
@ ไม่อาจทราบจำนวนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องกลั่นแกล้งได้
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าการแสดงออกที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มักจะถูกบุคคลหรือนิติบุคคลที่ต้องการใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง อ้างว่ามีการใช้สิทธิ์โดยมิชอบ แล้วดำเนินคดีเป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งในประเทศไทยคดีหมิ่นประมาทเป็นคดีที่มีโทษทางอาญา ไม่ได้เป็นโทษทางแพ่ง อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เห็นการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ เพราะโทษทางอาญาจะรุนแรงมากกว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่าในปัจจุบันมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) เป็นเครื่องมือในการฟ้องปิดปาก จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นการฟ้องหมิ่นประมาทควบคู่กับการฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
“ในตัวสารบบของกฎหมายหมิ่นประมาท ก็อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่มีโทษทางอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังสามารถถูกตีความใช้กับการแสดงออกทางออนไลน์ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทหรือบุคคลต่าง ๆ ที่อยากจะใช้กฎหมายกลั่นแกล้งฉวยใช้ได้”
ทั้งนี้หลายคนอาจไม่ทราบว่าในปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกใช้กฎหมายต่าง ๆ กลั่นแกล้ง หรือการร้องเรียนว่าทุจริตเพื่อกลั่นแกล้ง ที่ไม่อาจทราบได้ว่ามีจำนวนเท่าใด เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการบางท่านส่งข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ในหน่วยงานมาให้ โดยที่บางคนไม่กล้าเปิดเผยชื่อจริง เนื่องจากกลัวว่าถ้าเปิดเผยชื่อจริงแล้วจะไม่มีความปลอดภัย
“จากการสังเกตหลาย ๆ ข่าวที่ผ่านมา ส่วนตัวจึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือรู้สึกไม่สบายใจว่าตนเองทำหน้าที่แต่กำลังจะถูกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง มีจำนวนไม่น้อย แต่เราอาจจะไม่ทราบหรือไม่ได้เป็นข่าว เพราะเขาคงไม่สามารถและไม่กล้าออกมาเท่าไรนัก แต่บางกรณีที่เป็นข่าว เราก็ได้เห็นว่าบางทีก็ไม่สามารถคาดหวังความยุติธรรมจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ คิดว่านี่เป็นประเด็นที่ซับซ้อน เพราะบางทีหน่วยงานต้นสังกัดอาจจะมีการแบ่งพรรคพวก ไม่สามารถไว้ใจได้ว่าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาสูงสุดสามารถให้ความยุติธรรมได้” นางสาวสฤณีกล่าว
@ ที่มาที่ไปการใช้กฎหมายฟ้องกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่รัฐ
ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน
ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยยึดถือการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ โดยสังเกตจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 32 ที่ให้อัยการสามารถไปร้องศาลว่าผู้เสียหายกำลังทำให้คดีของอัยการเสียหาย ศาลช่วยสั่งให้ผู้เสียหายหยุดการกระทำดังกล่าว จะเห็นว่าอัยการมีบทบาทสูงกว่า อีกกรณีหนึ่งคือ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ชัดเจนว่า เมื่อผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ผู้เสียหายจะต้องยึดคำฟ้องของอัยการเป็นคำฟ้องของตนเอง จะเห็นว่าอัยการมีบทบาทอยู่เหนือกว่า
อย่างไรก็ตามในช่วงก่อตั้งองค์กรอัยการไม่ได้ยกเลิกอำนาจการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหาย เนื่องจากอำนาจฟ้องคดีอาญาของผู้เสียหายในประเทศไทย ถือเป็นขนบธรรมเนียมของประเทศไทย อยู่คู่สังคมไทย จึงยังคงไว้ เมื่อคงไว้ในปัจจุบันผู้เสียหายจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาเช่นเดียวกับอัยการ เท่าเทียมกับอัยการ เป็นเอกเทศพร้อมอัยการ แทบจะเป็นการคู่ขนานไปกับอัยการ โดยเฉพาะคดีอาญาแผ่นดิน เช่น คดีทุจริตประพฤติมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ชัดเจนว่าผู้เสียหายคือรัฐ แต่เราอนุญาตให้ผู้เสียหายคดีอาญาที่เป็นเอกชนไปฟ้องคดีอาญาประเภทนี้ด้วย รวมถึงคดีกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
@ ปัญหาและผลกระทบฟ้องปิดปาก/ฟ้องกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่รัฐ
ผศ.ดร.กรรภิรมย์ กล่าวต่อว่าเมื่อมีสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้ มีปัญหา ดังนี้
1. การใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ของตนเอง เช่น เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ฐานฉ้อโกง เมื่อตกลงกันได้ก็ถอนฟ้อง ทำให้รัฐสิ้นเปลือง เป็นต้น
2. กรณีผู้เสียหายเอกชนทำให้คดีของรัฐเสียหาย เช่น คดีผู้เสียหายตั้งใจหรือบกพร่องทำให้ศาลยกฟ้อง เมื่อศาลยกฟ้องในกรณีที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้อัยการฟ้องใหม่ไม่ได้
3. การแกล้งฟ้องหมิ่นประมาทนักสิทธิมนุษยชน เช่น คดีฟาร์มไก่ที่เจ้าของฟาร์มฟ้องอดีตลูกจ้าง ที่ไปแจ้งความว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังมีการฟ้องนักวิชาการ
4. การฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ เดิมมาตรา 157 เป็นมาตราที่ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางที่เอกชนนำมาขู่เจ้าหน้าที่
และเมื่อมีปัญหาก็มีผลกระทบตามมา
ประการที่ 1 การฟ้องคดีอาญาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเดิมมาตรา 157 มีไว้เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้อยู่ในความเที่ยงธรรม ดูแลประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อผู้เสียหายไปฟ้องกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่เกรงกลัว เจ้าหน้าที่จึงต้องทำตามที่เอกชนข่มขู่
ประการที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยโดยไม่จำเป็น ทำให้เสียเงินและเสียเวลาในการดำเนินคดี บางกรณีถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่ตกเป็นจำเลย
ประการที่ 3 ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำความผิดจริง แต่เอกชนมาแกล้งฟ้องหรือฟ้องโดยไม่สุจริต กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดไม่ถูกลงโทษตามที่กระทำความผิด กลายเป็นช่องทางที่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำผิดจริงหลุดรอดจากคดีอาญาไปได้ เพราะคดีมีข้อบกพร่อง
ประการที่ 4 กรณีที่ทำความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปฟ้องความผิดฐานเบา ทำให้ศาลลงโทษตามความผิดฐานเบา ส่วนความผิดฐานหนักก็ไม่สามารถลงโทษได้เพราะเป็นเรื่องเดิม ฟ้องซ้ำไม่ได้
ต่อมามีการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 161/1 มาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนใช้มาตรา 157 ในการกลั่นแกล้งหรือเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยวิธี คือ ถ้าในชั้นก่อนไต่สวน ศาลพิจารณาแล้วว่าเอกชนหรือโจทก์ฟ้องคดีไม่สุจริต ศาลสามารถยกฟ้องได้และห้ามโจทก์ฟ้องซ้ำในคดีเดิม
อย่างไรก็ตามมาตรา 161/1 ยังมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนว่า คำว่า 'สุจริต' มีความหมายที่ชัดเจนอย่างไร หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร และยังมีปัญหาสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดจริง แต่ผู้เสียหายมาฟ้องโดยไม่สุจริต ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดหลุดจากคดี
@ กรณีตัวอย่าง : กรรมการ กสทช. ถูกบริษัท ‘ทรู’ ฟ้อง
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงการให้กำลังใจ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ปจำกัด ฟ้อง ซึ่งกล่าวหาว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไปฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
“แค่ศาลนำชื่อ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ไปนำเสนอข่าวของศาลคดีทุจริตประพฤติมิชอบ คำมันพ่วงกันก็สามารถทำให้สังคมสรุปได้ว่า กสทช. ท่านนี้ประพฤติมิชอบหรือไม่ เป็นต้น ด้วยความที่กสทช.มีเพียง 4-5 คน หลังจากที่มีการฟ้องไปแล้ว พอจะมีการพิจารณาเรื่องอะไรก็ตามเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายนี้ ก็จะมีหนังสือไปถึงสำนักงาน กสทช.ว่าไม่สามารถพิจารณาใช้อำนาจได้ เพราะมีคู่ขัดแย้งอยู่ ขาดความเป็นกลาง ตามกฎหมายของทางราชการ เป็นต้น”
ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีของศ.กิตติคุณ พิรงรอง ไม่ใช่เรื่องการฟ้องหรือไม่ฟ้องศ.กิตติคุณ พิรงรอง เพียงอย่างเดียว หรือฟ้องถูกหรือไม่ บริษัทไม่ได้ต้องการผลแพ้ชนะ เพราะกสทช.มีกรรมการ 7 ราย มีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเลือกเลขาธิการกสทช.ที่มีฝ่ายหนึ่ง 3 ราย ฝ่ายหนึ่ง 4 ราย โดยประธานกสทช.อาศัยช่วงที่มีกรรมการรายหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ จนเสียงที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เหลือเท่ากัน แล้วใช้เสียงในฐานะประธานกสทช.เลือกเลขาฯ เมื่อไปฟ้องศาลปกครองก็ใช้เวลานาน จึงเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า (Delayed Justice) ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ากรณีที่มีเสียงเท่ากันประธานจะเป็นคนชี้ขาดไม่ได้ ส่วนประเด็นควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ที่เป็นมูลเหตุในการฟ้องศ.กิตติคุณ พิรงรอง เรื่องการพิจารณาประเด็นดังกล่ามล่มมาแล้ว 6 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่ามีส่วนได้เสียมาตั้งแต่ขั้นตอนข้างต้น โดยคดีการพิจารณาว่าสามารถควบรวมได้หรือไม่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง แต่ทางบริษัทก็ดำเนินการควบรวมไปแล้ว ต่อมาศาลปกครองบอกว่าการควบรวมไม่ถูกต้อง แต่ก็สายไปแล้ว นี่คือสิ่งที่บริษัทต้องการ
“ฉะนั้นคดีนี้ไม่ได้ต้องการแพ้ชนะ ต้องการให้ศาลรับฟ้องเท่านั้น แล้วฉวยโอกาสใช้ความล่าช้าให้เป็นประโยชน์ ใช้ศาลเป็นเครื่องมือ” ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งยกคำร้องของ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลฯมีคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ในระหว่างที่ยังพิจารณาคดีฯ เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ในขณะนี้ ยังฟังไม่ได้ว่า ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง (จำเลย) มีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับโจทก์หรือกลุ่มบริษัทโจทก์
จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะสั่งให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ในชั้นนี้ยกคำร้องโจทก์
ทั้งนี้ จากคำสั่งของศาลฯดังกล่าว ทำให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง สามารถปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ กสทช. ได้ตามปกติ
@ ข้อเสนอ/ทางออก แก้ฟ้องปิดปาก
นางสาวสฤณี กล่าวว่า ในคดีฟ้องปิดปาก การทำสัญญาประนีประนอม หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นการไปยอมความ หรือมองว่าไม่สามารถต่อรองได้ แต่จากประสบการณ์ของตนเองพบว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เราสามารถต่อรองได้ เชื่อว่าถ้าเรามีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมของตนเองและมีผู้เชี่ยวชาญช่วยกันเผยแพร่ โดยในเนื้อหาสัญญาจะต้องมีเนื้อหาที่เป็นคุณต่อผู้กล่าวหา เช่น การลงนามในข้อตกลงนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกล่าวหายอมรับผิด เป็นต้น กรณีนี้อาจเป็นทางเลือกใหม่นอกจากการต่อสู้จนถึงที่สิ้นสุด หรือการยอมรับผิด และฝากถึงศาลในฐานะประชาชนคิดว่าศาลควรเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าฟังได้ หรือควรให้มีการถ่ายทอดสดในคดีที่มีการฟ้องปิดปากที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงบริษัทเอกชนที่มีการประกาศว่าเคารพสิทธิมนุษยชน ควรอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของสหประชาติ ซึ่งมีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อบริษัท
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ควรนำงานวิชาการ ข้อเท็จจริง ฯลฯ เกี่ยวกับกรณีการฟ้องปิดปากและฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง ไปคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายโดยตรง จะทำให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกรังแกด้วยกระบวนการที่มิชอบตั้งแต่ต้น เพราะถ้าศาลยังคงใช้วิธีรับฟ้องไว้ก่อน แล้วค่อยมาสู้ในชั้นศาล กรณีเช่นนี้จะทำให้คนที่ถูกฟ้องขาดความมั่นคงในจิตใจ ถูกทำลายชื่อเสียง ถูกทำลายภาพลักษณ์
“ข้าราชการจะยิ่งหนัก เพราะเขามีอำนาจหน้าที่ ตำแหน่งต่าง ๆ เพราะเป็นการเอาโคลนไปแปะเขา เช่น การฟ้องคดีที่ใช้ศาลคดีทุจริต จะเห็นว่าเวลาโจทก์จั่วหัว ‘ศาลทุจริตรับฟ้องนู่นนี่นั่น’ ฉะนั้นชื่อของเราจะคู่กับคำว่าทุจริต ฉะนั้นเวลาที่คนเสพสื่อในปัจจุบันเราก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร ที่เอาแค่นี้ (พาดหัว) แล้วจบ นั่นคือการพิพากษาของสังคมเกิดขึ้น ฉะนั้นเจตนาของผู้ประกอบธุรกิจบางรายก็มีเจตนาแบบนั้น แต่ที่มากกว่านั้นบางรายมีเจตนาลึกซึ้ง คือ สกัดไม่ให้ทำหน้าที่ เพราะเห็นว่าคนนี้มีความชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ แต่บางคนที่สีเทา ๆ ก็พอคุยกันได้ แต่คนนี้คุยไม่ได้แน่นอน จึงต้องตัดหัวด้วยวิธีการอื่น” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวว่า มีข้อเสนอ 3 ประการ ได้แก่
- แก้ไข ป.วิอาญามาตรา 161/1 ให้ฟ้องใหม่ในคดีเดิมได้ ถ้าพบหลักฐานใหม่
- หากศาลเห็นว่าการฟ้องของโจทก์เข้าข่ายเป็นไปตามมาตรา 161/1 แต่จะรับฟ้องไว้พิจารณา ให้โจทก์วางเงินประกันให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และเมื่อศาลยกฟ้องให้จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นแก่จำเลยหรือตกเป็นของแผ่นดิน ห้ามคืนโจทก์ เป็นการยับยั้งการฟ้องปิดปากได้
- กำหนดเวลาให้ศาลไต่สวนและพิจารณารับฟ้องหรือไม่รับฟ้องโดยเร็ว โดยให้องค์คณะพิจารณาประกอบด้วยอัยการหรือผู้พิพากษาอาวุโส เนื่องจากมีประสบการณ์มาก แต่ถ้าให้เป็นอัยการหรือผู้พิพากษาที่อายุน้อย ยังมีประสบการณ์ไม่มากอาจถูกล่อลวงด้วยผลประโยชน์ได้ง่าย
ผศ.ดร.กรรภิรมย์ กล่าวว่า การฟ้องคดีอาญาของผู้เสียหายมีประโยชน์ แต่ก่อให้เกิดผลเสียหลายประการ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ในคดีอาญาแผ่นดิน คิดว่าผู้เสียหายที่เป็นเอกชนไม่ควรมีอำนาจฟ้อง อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ละเลยสิทธิในการมีส่วนร่วมในคดีอาญา เห็นว่าผู้เสียหายสามารถเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง โดยนำกลไกการตรวจสอบอำนาจในการฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการในต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในประเทศเยอรมนีอัยการไม่สั่งฟ้องผู้เสียหายก็ไปร้องที่ศาลได้ โดยให้ศาลมีคำสั่งอัยการให้สั่งฟ้อง หรือในประเทศฝรั่งเศสถ้าอัยการไม่ฟ้องคดีผู้เสียหายก็สามารถฟ้องคดีเองได้ เป็นต้น
“ข้อเสนอของตัวเองเป็นแบบนี้ คือ อำนาจฟ้องของผู้เสียหายคดีอาญาในแผ่นดินควรจะยกเลิกไป แล้วหาวิธีการในการตรวจสอบดุลพินิจการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการด้วยวิธีอื่นที่เราเห็นว่าเหมาะสม” ผศ.ดร.กรรภิรมย์ กล่าว
จากกรณีที่บริษัททรูการฟ้องกรรมการกสทช. เป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่รัฐและหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง
ในการแก้ปัญหาดังกล่าวนักวิชาการได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจต่าง ๆ ซึ่งแนวทางที่น่าคาดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ การแก้ไขกฎหมายป.วิอาญามาตรา 161/1 ให้โจทก์ฟ้องซ้ำได้
นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่น่าสนใจ คือ การไม่ให้ผู้เสียหายที่เป็นเอกชนไม่ควรมีอำนาจฟ้องโดยตรง แต่เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ
อย่างไรก็ดีแนวทางต่าง ๆ ที่นักวิชาการเสนอจะเป็นจริงได้ รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการและต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงจะสามารถแก้หรือลดปัญหาการฟ้องปิดปากได้อย่างแท้จริง