'กรรภิรมย์ โกมลารชุน' ชี้เอกชนไม่ควรมีอำนาจฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ เสนอทางออกให้เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ เหตุป้องกันการใช้กฎหมายฟ้องกลั่นแกล้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ประเด็น 'เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา'
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานว่า คณะนิติศาสตร์จุฬามีการจัดเวทีเสวนาประเด็นที่น่าสนใจเป็นระยะ เพราะกฎหมายมีผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ในครั้งนี้เห็นว่ากฎหมายบางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลปกป้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ แต่บางครั้งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเกิดความกลัว หวังว่าเวทีเสวนาในวันนี้จะมีประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่ามีประเด็น 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่
1. การใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกในการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อมีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งก็จะเป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งในประเทศไทยคดีหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา ซึ่งโทษทางอาญาจะรุนแรงกว่าโทษทางแพ่ง ในตัวสารบบกฎหมายหมิ่นประมาทอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทหรือบุคคลต่าง ๆ ใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งได้
2. ส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ประชาชนคาดหวังให้ทำหน้าที่อย่างสุจริต แต่ในปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกลั่นแกล้งโดยการใช้กฎหมายมีจำนวนไม่น้อย ในกรณีที่เป็นข่าวจะเห็นว่าบางทีก็ไม่สามารถคาดหวังความยุติธรรมจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ เนื่องจากหน่วยงานต้นสังกัดอาจมีพรรคพวกของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของตำรวจที่เป็นข่าวในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข้อเสนอในคดีฟ้องปิดปากคือ การทำสัญญาประนีประนอมในคดีฟ้องปิดปากที่มีการทำสัญญาต่าง ๆ อาจเป็นทางเลือกใหม่นอกจากการต่อสู้จนถึงที่สิ้นสุด หรือการยอมรับผิด และควรเปิดให้มีการถ่ายทอดสดในคดีที่มีการฟ้องปิดปากที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ฟ้องผู้บริโภคที่ศาลปกครองพิจารณายกฟ้องเนื่องจากการใช้พ.ร.บ.ฟ้องบุคคลนั้น ๆ จะต้องมีเจตนาพิเศษ และยังกล่าวถึงตัวอย่างการใช้กฎหมายและพ.ร.บ.ต่าง ๆ มาใช้ฟ้องผู้บริโภคที่วิพากษ์วิจารณ์เอกชน
"การฟ้องปิดปากจะทำให้ประชาชนเกิดความกลัว ถ้าไม่มีหลักพิง ต้องประนีประนอมยอมความ ยอมรับความผิดส่วนหนึ่ง ปิดโอกาสในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความสุจริตของตนเอง แต่ของทางราชการยังไม่ต้องไปพิสูจน์แค่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง ก็เริ่มมีการตั้งเรื่องว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะปฏิบัติหน้าที่แล้วจะขาดความเป็นกลาง อย่างนี้เป็นต้น" นายอิฐบูรณ์ กล่าว
ผศ.ดร.วรพล มาลสุขุม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นการพิจารณาความเป็นกลางตามมาตรา 16 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยใช้หลัก ICAP ที่ประกอบด้วย
1. Interest คือ ความมีส่วนได้เสีย
2. Conduct คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้น
3. Association คือ ความเกี่ยวพัน
4. Prejudgment คือ การตัดสินในเรื่องเดียวกันที่มีผลลัพธ์แบบเดิม
ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นการใช้คดีอาญาในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีการฟ้องคดีอาญาลูกหนี้เพื่อให้จ่ายหนี้ กรณีการฟ้องหมิ่นประมาทนัดสิทธิมนุษยชนที่เจ้าของฟาร์มไก่ ฟ้องลูกจ้าง นักวิชาการ กรณีปัญหาการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ที่ในปัจจุบันเอกชนนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ต่อมามีการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 มาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนใช้มาตรา 157 ในการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าในชั้นก่อนไต่สวนศาลพิจารณาแล้วว่าเอกชนหรือโจทก์ไม่สุจริตสามารถยกฟ้องได้
อย่างไรก็ตามมาตรา 161/1 ยังมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนว่า คำว่า 'สุจริต' มีความหมายที่ชัดเจนอย่างไร หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร และยังมีปัญหาสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดจริง แต่ผู้เสียหายมาฟ้องโดยไม่สุจริต ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดหลุดจากคดี
"ในคดีอาญาแผ่นดิน คิดว่าผู้เสียหายที่เป็นเอกชนไม่ควรมีอำนาจฟ้อง แต่สามารถเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ โดยมีกลไกการตรวจสอบอำนาจในการฟ้องของอัยการ เช่น ในประเทศเยอรมนีอัยการไม่สั่งฟ้องผู้เสียหายก็ไปร้องที่ศาลได้ โดยให้ศาลมีคำสั่งอัยการให้สั่งฟ้อง" ผศ.ดร.กรรภิรมย์ กล่าว
ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เหตุที่ทำให้ถูกฟ้องปิดปาก มีดังนี้
1. การแสดงความเห็นทางออนไลน์
2. ร่วมการชุมนุม
3. จัดกิจกรรมเป็นสัญลักษณ์
4. เขียนข้อร้องเรียนถึงรัฐบาล
5. เผยแพร่งานวิจัย ซึ่งในส่วนนี้เป็น 1% จากสาเหตุทั้งหมดที่ถูกฟ้องปิดปาก
และยังกล่าวถึงการตีความถ้อยคำต่าง ๆ ในการพิจารณาทางกฎหมาย การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีหมิ่นประมาท