“…โดยที่นิยามของใบกระท่อมตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 หมายความรวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อมด้วย จึงทำให้อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ที่ไม่มีบทบัญญัติควบคุมการผลิตและบริโภคน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ที่มีสาร Mitragynine อย่างเพียงพอ ซึ่งการบริโภคในปริมาณมากจะมีอันตรายต่อร่างกายได้ จึงสมควรที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข จะได้พิจารณาให้มีการควบคุมปริมาณในการบริโภคของประชาชนต่อไป…”
.............................................
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2565 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมผู้ผลิตและจำหน่าย ‘น้ำต้มใบของพืชกระท่อม’ โดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดฯดังกล่าว ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่า จะดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับใด
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือเกี่ยวกับแนวทางการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.2567 คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ดังนี้
@ขอหารือแนวปฏิบัติดำเนินคดีผู้ขาย‘น้ำต้มใบกระท่อม’
เรื่องเสร็จที่ 282/2567 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับน้ำต้มใบของพืชกระท่อม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1017/831 ลงวันที่ 15 ม.ค.2567 สรุปความได้ว่า โดยที่ พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค.2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับน้ำต้มใบของพืชกระท่อมตาม พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สรุปความว่า
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า น้ำต้มใบของพืชกระท่อม ไม่ว่าจะบรรจุในภาชนะรูปแบบใด โดยไม่แสดงสรรพคุณ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง และไม่มีข้อบ่งชี้ หรือไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพใดในกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
น้ำต้มใบของพืชกระท่อมดังกล่าว ย่อมเป็นไปตามนิยาม “ใบกระท่อม” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ที่ให้หมายความรวมถึงน้ำต้มใบกระท่อมของพืชกระท่อม และสารสกัดของพืชกระท่อมด้วย
กรณีที่มีการขาย ‘น้ำต้มใบของพืชกระท่อม’ ดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่กำกับดูแลใบกระท่อมดังกล่าว คือ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1804/2566 คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งผลิตน้ำต้มใบกระท่อมบรรจุขวด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง มาตรา 58(4) มาตรา 91 และมาตรา 106 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522มาตรา 6(8) และมาตรา 50 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
และเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2566 ศาลแขวงนครราชสีมา ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ 3072/2566 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องที่ว่า จำเลยได้จำหน่าย โดยการขายน้ำต้มพืชกระท่อม อันเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และลงโทษตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4 มาตรา 6(8) และมาตรา 50 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินคดีต่อผู้ผลิตขายน้ำต้มใบของพืชกระท่อม เห็นควรสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า น้ำต้มใบของพืชกระท่อมอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ใด หากมีผู้ผลิต ขายน้ำต้มใบของพืชกระท่อม โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ใด ในแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
1.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตไว้เพื่อรับประทานเอง
2.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขาย ซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวด และไม่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
3.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขาย โดยตักใส่แก้ว และไม่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
4.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขาย และมีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
@‘กฤษฎีกา’แนะ‘ยธ.-สธ.’ควบคุมบริโภค‘น้ำต้มใบกระท่อม’
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานปลัดกระทรวงกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า โดยที่มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า “ใบกระท่อม” หมายความว่า ใบของพืชกระท่อม และให้หมายความรวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อม และสารสกัดที่ได้จากใบของพืชกระท่อม
และมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 บัญญัติว่า การใช้ใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เนื่องจากกฎหมายเฉพาะดังกล่าว มีมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยกับผู้บริโภคไว้ครอบคลุมอยู่แล้ว สมควรดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการนั้น
เว้นแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 การคุ้มครองบุคคล ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อม และการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด โดยการกระทำนั้น จะเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ด้วย
ในการพิจารณาว่าน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ในกรณี 1.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตไว้เพื่อรับประทานเอง 2.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขาย ซึ่งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวด และไม่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
3.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขายโดยตักใส่แก้ว และไม่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่า ส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทาหรือรักษาโรค และ 4.น้ำต้มใบของพืชกระท่อมที่ผลิตเพื่อขาย และมีการกล่าวอ้างสรรพคุณว่าส่งผลต่อร่างกาย บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายใด นั้น
จะต้องพิจารณาว่า หากเป็นการใช้น้ำต้มใบของพืชกระท่อม เพื่อเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้
น้ำต้มใบของพืชกระท่อม ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือกฎหมายเฉพาะตามที่บัญญัติไว้แล้วแต่กรณี
เว้นแต่เป็นการกระทำตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 การคุ้มครองบุคคล ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคใบกระท่อมและการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 การกระทำนั้น จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ด้วย
แต่หากน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ได้จากการต้มใบกระท่อมกับน้ำ โดยไม่มีการปรุงหรือผสมสิ่งอื่น หรือไม่ได้ใช้น้ำต้มใบของพืชกระท่อม เพื่อเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้
น้ำต้มใบของพืชกระท่อมนั้น ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) มีข้อสังเกตว่า โดยที่นิยามของใบกระท่อมตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 หมายความรวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อมด้วย จึงทำให้อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565 ที่ไม่มีบทบัญญัติควบคุมการผลิตและบริโภคน้ำต้มใบของพืชกระท่อม ที่มีสาร Mitragynine อย่างเพียงพอ ซึ่งการบริโภคในปริมาณมากจะมีอันตรายต่อร่างกายได้
จึงสมควรที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข จะได้พิจารณาให้มีการควบคุมปริมาณในการบริโภคของประชาชนต่อไป
อ่านประกอบ :
ชาวจารูไม่ทน! ขึ้นป้ายห้ามซื้อขายน้ำกระท่อม-กัญชา-สารพัดยานรก
ตะลุยจับ-สั่งปิดร้านขายน้ำกระท่อม 7 จว.ใต้ - นักเสพอย่าเพิ่งดีใจปมยาบ้า 5 เม็ด
สธ.ประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม ต้องติดป้ายห้ามจำหน่ายให้เด็ก-หญิงท้อง มีผลแล้ววันนี้
บังคับใช้แล้ว! พ.ร.บ.พืชกระท่อม ห้ามขายเด็กต่ำ 18 หญิงมีครรภ์/ให้นมบุตร ฝ่าฝืนมีโทษ